ประวัติคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ
คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ เป็นหนึ่งในสี่คณะที่ถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2509 โดย คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ ได้แยกตัวมาจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ตามพระประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังความตอนหนึ่งในพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2513 ณ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
“…ตามที่อธิการบดีกล่าวถึงการจัดตั้งสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ว่ามีความเกี่ยวข้องอยู่กับข้าพเจ้านั้น ขอกล่าวเสริมว่า เดิมทีเดียวข้าพเจ้าตั้งข้อคิดเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจ
ต่าง ๆ จะต้องอาศัยข้อมูลที่ถูกต้องเป็นหลัก และจะต้องใช้นักสถิติที่มีความรู้ความสามารถขั้นสูงเป็นผู้ปฏิบัติ ในประเทศไทยนั้น นักสถิติดังกล่าวยังหาได้น้อย ถ้าจะหาให้ได้เพียงพอก็จะต้องจัดส่งนักสถิติออกไปศึกษา ณ ต่างประเทศ ให้เขามีโอกาสเข้าศึกษาเพิ่มเติมและนำความรู้มาใช้ประโยชน์ เมื่อได้แสดงความคิดนี้แก่ นายเดวิด รอกกิเฟลเลอร์ อีก นายเดวิด รอกกิเฟลเลอร์ ให้ความเห็นว่า น่าจะให้ผู้เชี่ยวชาญมาสำรวจสภาวะเศรษฐกิจ และมาทำการสอนในประเทศไทย จะได้ประโยชน์ยิ่งกว่าส่งคนออกไปต่างประเทศ แล้ว นายเดวิด รอกกิเฟลเลอร์ ได้เลือกเฟ้นหานักเศรษฐกิจและนักบริหารที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งของสหรัฐอเมริกา คือ ดอกเตอร์ สเตชี เมย์ ให้เข้ามาช่วยเหลือ ดอกเตอร์ สเตชี เมย์ เข้ามาพบข้าพเจ้าและมาสำรวจแล้วทำรายงานเสนอว่า รัฐบาลควรดำเนินการอย่างไรในการจัดตั้งสถาบันการศึกษาที่ต้องการที่สุด เมื่อรัฐบาลรับไปดำเนินการก็ได้รับความร่วมมือช่วยเหลือจากมูลนิธิฟอร์ดอีกทางหนึ่ง และตั้งสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์นี้ขึ้นได้สำเร็จ เป็นสถานศึกษาขั้นสูงเพื่ออบรมวิชาเศรษฐกิจ ตลอดจนวิชาการบริหาร สำหรับผู้ที่จะมีหน้าที่พัฒนาการเศรษฐกิจของประเทศ นับเป็นความสำเร็จที่น่ายินดีอย่างยิ่ง…”
หลักสูตรที่เปิดสอนในปัจจุบัน
เศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต (เศรษฐศาสตร์)
หลักสูตรเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต (เศรษฐศาสตร์) มุ่งเน้นสร้างความเข้าใจในทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ การวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ และวิธีการใช้เครื่องมือการวิเคราะห์เชิงปริมาณ เพื่อประยุกต์ใช้ในองค์กรภาครัฐ องค์กรธุรกิจเอกชน องค์กรระหว่างประเทศ และองค์กรสาธารณประโยชน์ ซึ่งมหาบัณฑิตทางเศรษฐศาสตร์จะมีความรู้และความเข้าใจการทำงานของระบบเศรษฐกิจและบทบาทของรัฐบาลที่มีผลต่อระบบเศรษฐกิจ มีทักษะทางวิชาการเศรษฐศาสตร์ และการประยุกต์ใชในการวิเคราะห์ วิจัย มีศักยภาพในการเพิ่มพูนความรู้ไปตามพลวัตของการเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจโลก และมีจริยธรรมในทางวิชาการและการประกอบอาชีพ
เศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต (เศรษฐศาสตร์ธุรกิจ)
หลักสูตรเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต (เศรษฐศาสตร์ธุรกิจ) มีการเปิดสอนในเวลาราชการตั้นแต่ 2535 และได้เปิดสอนภาคพิเศษในปีต่อมา โดยมีการปรับปรุุงหลักสูตรให้ทันสมัย สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานเน้นการพัฒนาบุคลากรในสายอาชีพต่าง ๆ ดังนั้น หลักสูตรเศรษฐศาสตร์ธุรกิจจึงมุ่งเน้นสร้างความเข้าใจทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ และวิธีการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ รวมทั้งการประยุกต์ใช้เครื่องมือวิเคราะห์เชิงปริมาณเพื่อองค์กรธุรกิจเอกชน องค์กรภาครัฐและองค์กรสาธารณประโยชน์
เศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต (เศรษฐศาสตร์การเงิน)
หลักสูตรเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต (เศรษฐศาสตร์การเงิน) มีการเปิดสอนในเวลาราชการตั้นแต่ 2551 โดยมุ่งเน้นในการจัดสรรทรัพยากร (เงินทุน) ที่มีอยู่อย่างจำกัด ภายใต้ความเสี่ยง และความไม่เท่าเทียมกันของข้อมูลข่าวสาร ดังนั้น เศรษฐศาสตร์การเงินจึงเกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์กิจกรรมในตลาตการเงินซึ่ง ได้แก่ ตลาดเงิน ตลาดทุน และตลาดตราสารอนุพันธ์ ตลอดจนกิยกรรมการจัดหาเงินทุนของกิจการต่าง ๆ ซึ่งจุดเด่นของหลักสูตรเศรษฐศาสตร์การเงินเป็นการผสมผสานของ 3 สาขาวิชาหลัก ได้แก่ ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ ทฤษฎีทางการเงิน และเครื่องมือทางเศรษฐมิติเข้าด้วยกัน เพื่อผลิตบุคลากรทางการเงินที่สามารถเชื่อมโยงเศรษฐกิจมหภาค ตลาดทุน ตลาดเงิน ทั้งในและระหว่างประเทศ และสามารถประยุกต์ใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์ และตัดสินใจทางการเงินได้อย่างเหมาะสม
ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (เศรษฐศาสตร์)
หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณทิต สาขาวิขาเศรษฐศาสตร์ (หลักสูตรนานาชาติ) เป็นหลักสูตรที่ออกแบบสำหรับอาจารย์ นักวิชาการในมหาวิทยาลัย ผู้บริหารหรือนักวิจัยในหน่วยงาน ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนที่ต้องการนำความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ขั้นสูงมาใช้เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติงาน จึงมีลักษณะของการมุ่งเน้นสร้างความเข้าใจองค์ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ขั้นสูงที่สำคัญ ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ขั้นสูง และวิธีการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ขั้นสูง รวมทั้งการประยุกต์ใช้เครื่องมือวิเคราะห์เชิงปริมาณเพื่อองค์กรภาครัฐและองค์กรธุรกิจเอกชน
เศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต (เศรษฐศาสตร์และการบริหาร)
หลักสูตรเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต (เศรษฐศาสตร์และการบริหาร) เป็นหลักสูตรแรกและหลักสูตรเดียวในประเทศไทย ที่ออกแบบขึ้นเพื่อเสริมสร้างความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ที่จำเป็น สำหรับนักบริหารทั้งในภาครัฐและเอกชน รวมถึงผู้ประกอบการและเจ้าของกิจการ ที่ต้องการนำความรู้ทางเศรษฐศาสตร์มาใช้เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจทางการบริหาร หลักสูตรมีลักษณะของการบูรณาการองค์ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ที่จำเป็นสำหรับนักบริหารรุ่นใหม่ เพื่อสร้างวิสัยทัศน์และเพิ่มมุมมองทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง และเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน
นอกจากนี้ ผู้สำเร็จการศึกษายังสามารถนำหลักจุลเศรษฐศาสตร์ไปใช้ในการบริหารองค์การ และตัดสินใจด้านต่าง ๆ เช่น กำหนดกลยุทธ์ขององค์การ บริหารการเงินและความเสี่ยง รวมถึงการบริหารงานทรัพยากรมนุษย์ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันขององค์การในระดับสากล นอกจากนี้นักศึกษาจะได้รับความรู้และพัฒนาทักษะการเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนองค์การอย่างมีประสิทธิภาพผ่านประสบการณ์และมุมมองของผู้บริหารองค์การชั้นนำของประเทศ หลักสูตรระดับปริญญาโทด้านพัฒนาการเศรษฐกิจ เศรษฐศาสตร์ธุรกิจ และเศรษฐศาสตร์การเงิน เศรษฐศาสตร์และการบริหาร ของคณะมุ่งเน้นการสร้างนักเศรษฐศาสตร์ที่สามารถ ปฏิบัติงานได้ทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์การระหว่างประเทศ นักศึกษาจะได้รับการฝึกฝนให้มีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับการวิเคราะห์ เศรษฐกิจและการทำวิจัยในหัวข้อและประเด็นปัญหาด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสภาพทางธุรกิจของประเทศไทยที่สังคมกำลังให้ความสนใจ ในขณะที่หลักสูตรระดับปริญญาเอกเน้นทั้งการเรียนการสอนและทักษะการวิจัย โดยคณาจารย์ที่มีประสบการณ์ด้านการสอนและการวิจัยทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เพื่อให้ผู้สำเร็จการศึกษามีความพร้อมในงานเชิงวิชาการทั้งในภาครัฐ และภาคเอกชน
ขณะเดียวกัน คณะได้ดำเนินกิจกรรมอื่น ๆ ควบคู่กับการจัดการเรียนการสอน เช่น การทำวิจัย, การจัดหลักสูตรฝึกอบรม, สัมมนาวิชาการ, หลักสูตรการศึกษาต่อเนื่อง และการให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงการมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศ
จุดเด่นของคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ
คณะพัฒนาการเศรษฐกิจเป็นคณะเศรษฐศาสตร์แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศที่มีคณาจารย์ผู้สอนทั้งหมด สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มีชื่อเสียงทั่วโลก โดยคณาจารย์ของคณะต่างมีความเชี่ยวชาญทั้งด้านการสอนและการวิจัยในหลากหลายสาขา และเนื่องด้วยคณะพัฒนาการเศรษฐกิจเปิดสอนเฉพาะระดับมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิต จึงทำให้สัดส่วนของนักศึกษาต่ออาจารย์ผู้สอนค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับคณะเศรษฐศาสตร์อื่น ๆ ภายในประเทศ นักศึกษาจึงมั่นใจได้ถึงคุณภาพของการเรียนการสอน และยังสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงทำงานร่วมกับคณาจารย์ของคณะได้อย่างใกล้ชิด
การสนับสนุนเชิงวิชาการ/ทุนการศึกษา
คณะพัฒนาการเศรษฐกิจได้สนับสนุนในเชิงวิชาการและให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษามาอย่างต่อเนื่อง โดยมีทุนผู้ช่วยอาจารย์ เพื่อสนับสนุนให้นักศึกษาได้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานกับอาจารย์ทั้งในด้านงานสอนและงานวิจัย และมีทุนการศึกษาอื่น ๆ เช่น ทุนเรียนดี,ทุนค่าธรรมเนียมการศึกษา, ทุนส่งเสริมการศึกษาประเภท 1 (Full scholarship), ทุนส่งเสริมการศึกษาประเภท 2 เป็นต้น
ความร่วมมือกับต่างประเทศ
คณะพัฒนาการเศรษฐกิจได้มีความตกลงร่วมมือด้านวิชาการกับสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียง ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เช่น ประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น บาห์เรน สวิสเซอร์แลนด์ สวีเดน สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐประชาชนจีน ออสเตรเลีย และอิตาลี ซึ่งเพิ่มโอกาสในการศึกษาต่อ และการทำวิจัยของนักศึกษา
วัตถุประสงค์
- เพื่อผลิตมหาบัณฑิตให้มีความรู้ความสามารถในการประยุกต์ใช้ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์กับสภาพความเป็นจริงและมีจริยธรรม
- เพื่อศึกษาค้นคว้าและวิจัยเพื่อประโยชน์ในด้านการเรียนการสอน การสร้างสรรค์ความรู้และเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
- เพื่อให้บริการวิชาการทางด้านเศรษฐศาสตร์และธุรกิจที่มีคุณภาพแก่สังคม
- พัฒนาสมรรถนะของคณะพัฒนาการเศรษฐกจในด้านการบริหารจัดการให้มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และประสิทธิผล
ปรัชญาคณะ
“คลังสมองทางเศรษฐศาสตร์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ”
วิสัยทัศน์ (Vision)
“เป็นส่วนหนึ่งของกลไกการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยการผลิตบัณฑิตและองค์ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ที่มีมาตรฐานสากล”
พันธกิจ (Mission)
1. ผลิตมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตด้านเศรษฐศาสตร์ด้วยหลักสูตรที่ใช้เกณฑ์มาตรฐานสากล
2. วิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
3. ให้บริการวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ที่มีคุณภาพเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
4. หน่วยงานมีกระบวนการทำงานที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล