Gen Z กับการเลือกผลิตภัณฑ์ทางการเงิน (รศ.ดร.ปริยดา)
” Gen Z ยอมรับความเสี่ยงได้สูง สนใจและเลือกลงทุนกำไรสูงในเวลาอันรวดเร็ว หรือหากขาดทุนก็จะตัดใจวิ่งออกได้รวดเร็วเช่นกัน ประเภทเงินคริปโตและสินทรัพย์ดิจิทัลทั้ง “
Gen Z คือประชากรที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 จึงอยู่ในกลุ่มช่วงอายุตั้งแต่ 9-24 ปี ซึ่งมีประมาณ 13 ล้านคน คิดเป็นประมาณร้อยละ 20.23 ของประชากรในประเทศไทย โดยเป็นกลุ่มนักเรียนนักศึกษา หรือกลุ่มคนที่เพิ่งเริ่มทำงาน ซึ่งเป็นเจเนอเรชั่นที่จะกลายมาเป็นผู้บริโภคหลักต่อไปและมีความสําคัญต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการเติบโตของกลุ่ม Gen Z ภายใต้ภาวะแวดล้อมที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย เจนนี้จึงมีความสามารถในการใช้งานเทคโนโลยีต่าง ๆ ใช้เวลาส่วนใหญ่ในโลกออนไลน์ จึงรับข้อมูลข่าวสารอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว ทำให้กลุ่ม Gen Z มีแนวโน้มที่จะอดทนต่ำ ชอบตัดสินใจทำอะไรอย่างรวดเร็ว ต้องการพัฒนาและก้าวหน้าในการงาน และอาจทำงานหลายอย่างพร้อมกัน รวมถึงมีความกล้าแสดงออกทางความคิดและความมั่นใจสูง
หากพิจารณาข้อมูลในส่วนของพฤติกรรมกลุ่มคน Gen Z นี้จะเห็นได้ว่า Gen Z สามารถยอมรับความเสี่ยงได้ค่อนข้างสูง ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่คนเจนนี้จะสนใจและเลือกลงทุน ต้องทันสมัยและตอบโจทย์การสร้างผลกำไรที่สูงในเวลาอันรวดเร็ว หรือหากขาดทุน คนเจนนี้ก็พร้อมจะตัดใจวิ่งออกได้รวดเร็วเช่นกัน จึงทำให้เมื่อเรานึกถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ Gen Z นิยมลงทุนนั้น แน่นอนว่า เงินคริปโตและสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งหลายน่าจะเป็นสิ่งที่ตรงกับพฤติกรรมและความต้องการของคนเจนนี้ แต่สินทรัพย์เหล่านี้เป็นสิ่งที่คน Gen Z ตั้งใจจะถือในระยะยาวหรือไม่
งานวิจัยของกรณ์กนก สาครสุขกิจ และ ปริยดา สุขเจริญสิน (2565) แสดงให้เห็นว่า แม้คน Gen Z จะมีเงินลงทุนจำนวนไม่มากและให้ความสนใจกับการลงทุนในเงินคริปโต แต่ก็มิได้นำเงินทั้งหมดไปลงทุนในเงินคริปโต โดยผลิตภัณฑ์แรกที่ Gen Z เข้ามาเลือกลงทุนคือหุ้นสามัญ และยังคงเป็นสัดส่วนในพอร์ตการลงทุนที่มากที่สุด โดยมีการกระจายการลงทุนในเงินคริปโตและกองทุนรวมด้วย ซึ่งเมื่อสำรวจถึงทัศนคติที่มีต่อการลงทุนในหุ้น กลุ่ม Gen Z มีมุมมองที่ดีเกี่ยวกับการลงทุนในตลาดทุน ไม่ว่าจะเคยลงทุนหรือไม่ก็ตาม โดยเมื่อเข้ามาลงทุนก็จะมีการศึกษาหาความรู้และข้อมูลด้านการลงทุนจากสื่อสังคมออนไลน์ที่ต่าง ๆ และมักตัดสินใจในการลงทุนด้วยตนเอง โดยนักลงทุนกลุ่มเจนนี้ให้ความสนใจกับการลงทุนในหุ้นเพื่อผลตอบแทนระยะยาวมากกว่าผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นที่อาจเข้าไปลงทุนเพื่อกำไรระยะสั้น
เมื่อพิจารณาอีกแง่มุมของทัศนคติคน Gen Z มีประเด็นที่น่าสนใจจากผลการสำรวจในหลายประเทศ ซึ่งพบว่า นอกจากเรื่องความสนใจในเทคโนโลยีและการใช้สื่อสังคมออนไลน์แล้ว Gen Z ยังให้ความสนใจเรื่องการให้คุณค่าต่อสังคมและความเป็นไปของโลก ต้องการขับเคลื่อนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อผู้อื่น เชื่อว่าสามารถมีส่วนในการสร้างสรรค์สังคมและชุมชนที่อาศัยอยู่ได้ ชื่นชมองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม จึงชื่นชอบแบรนด์ที่จริงใจรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและมีจริยธรรมทางสังคม และเต็มใจจะจ่ายให้แบรนด์ เพราะคนเจนนี้มีความกังวลเกี่ยวกับมลพิษและสิ่งแวดล้อม ภัยธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แม้แต่ในการวางแผนการเดินทางท่องเที่ยว ยังมองว่าปัจจัยสำคัญก่อนออกเดินทางต้องดูเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในจุดต่าง ๆ ที่เกิดจากการเดินทาง และมองหาที่พักแนวอนุรักษ์หรือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยความที่ว่า Gen Z เป็นเจนที่ต้องการมีส่วนร่วมในการทำให้โลกที่พวกเขาอยู่ดีขึ้น
ในส่วนของนักลงทุน Gen Z ซึ่งเป็นกลุ่มที่เติบโตมาพร้อมกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและมีพฤติกรรมที่ใส่ใจในสังคมและสิ่งแวดล้อมนั้น จากงานวิจัยของกรณ์กนก สาครสุขกิจ และ ปริยดา สุขเจริญสิน (2565) ที่ได้สำรวจความสนใจของนักลงทุน Gen Z ต่อผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อความยั่งยืน พบว่า กลุ่ม Gen Z ที่ลงทุนในหุ้นอยู่ในปัจจุบันนั้น ส่วนใหญ่เลือกถือครองหุ้นยั่งยืนเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 10-30 ของพอร์ตการลงทุน ส่วนกลุ่มที่ไม่สนใจลงทุนในหุ้นยั่งยืนและผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อความยั่งยืนอื่นนั้นเกิดจากขาดความรู้ความเข้าใจ รวมถึงยังมองว่าการลงทุนอื่นยังน่าสนใจมากกว่าในแง่ผลตอบแทน แต่มีแนวโน้มที่จะเลือกลงทุนในหุ้นยั่งยืนในอนาคตเพราะให้ความสำคัญอย่างมากกับการลงทุนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมและผลตอบแทนระยะยาว
จากข้อมูลด้านความสนใจในสังคมและสิ่งแวดล้อมของกลุ่มคน Gen Z ที่กล่าวไปข้างต้น จึงไม่ควรละเลยในการเผยแพร่ความรู้ด้านการลงทุนยั่งยืนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ที่เหมาะกับการเรียนรู้ของคนเจนนี้ ปลูกฝังทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการลงทุนของคน Gen Z ให้มีวินัย รู้จักการอคอยเพื่อหาจังหวะการลงทุนที่เหมาะสม เพื่อสนับสนุนให้กลุ่ม Gen Z ที่จะเป็นฐานนักลงทุนรายใหม่นี้ เลือกลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เสริมความแข็งแกร่งให้กับตลาดการเงินและมีส่วนขับเคลื่อนสังคมและประเทศยั่งยืนต่อไป
เอกสารอ้างอิง: กรณ์กนก สาครสุขกิจ และ ปริยดา สุขเจริญสิน. 2565. ความสนใจของนักลงทุน Gen Z ต่อหุ้นยั่งยืน. Working paper. คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์