Skip to content
วิบากกรรมคนชั้นกลาง (ผศ.ดร.สันติ)
“กลุ่มผู้มีรายได้น้อยคงจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจรุนแรงเพราะเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพน้อยกว่าในการสร้างรายได้”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข
ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)
www.econ.nida.ac.th;
Santi_nida@yahoo.com
รายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือน พ.ค. 2565 แสดงถึงระดับเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 7.1% โดยมีค่าเฉลี่ย 5 เดือนอยู่ที่ 5.19% การเพิ่มขึ้นของระดับราคาสะท้อนให้เห็นถึงภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นของครัวเรือนในทุกระดับรายได้ ซึ่งบทความนี้ก็มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อจะให้มีการเปรียบเที8ยบว่ากลุ่มคนรายได้ระดับใดได้รับผลกระทบมากกว่าระดับใด
แน่นอนกลุ่มผู้มีรายได้น้อยคงจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบที่รุนแรงเพราะเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพน้อยกว่าในการสร้างรายได้เพื่อชดเชยกับรายจ่ายที่เพิ่มมากขึ้นจากราคาสินค้าที่แพงขึ้น แต่ที่อยากพูดถึงภาระค่าครองชีพหรือผลกระทบของเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นกับคนชั้นกลาง (คนที่มีรายได้ปานกลาง และมักจะเป็นผู้ที่มีรายได้ประจำจากเงินเดือนคือ อยู่ในสถานะที่เป็นลูกจ้าง) เพราะเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมาก และมักจะเป็นกลุ่มที่ถูกมองข้ามไปเมื่อมีการพิจารณาถึงมาตรการในการช่วยเหลือบรรเทา เนื่องจากมักจะเป็นกลุ่มที่ถูกมองว่ามีขีดความสามารถในการปรับตัวรองรับกับภาระที่เพิ่มขึ้นนี้ได้ ซึ่งก็คงจะจริงสำหรับบางครัวเรือนที่มีความมั่งคั่งหรือมีความมั่นคงทางการเงินดีพอสมควร แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าในครัวเรือนที่มีรายได้ปานกลางนี้ มีอยู่จำนวนไม่น้อยเลยที่ไม่ได้มีสถานะทางการเงินที่เข้มแข็งพอที่จะรองรับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกันนับตั้งแต่ก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 ระหว่างการระบาดที่มีการออกมาตรการในการควบคุมโรคจนมีผลต่อการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
จนกระทั่งถึงการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้ออย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อภาระเงินเฟ้อดูเหมือนจะมีปัจจัยชี้ไปในทิศทางว่าคงจะเป็นปัญหาต่อเศรษฐกิจไทยได้เป็นระยะเวลาพอสมควร (ไม่ได้เป็นการเพิ่มขึ้นของราคาเพียงชั่วคราวและราคาก็จะปรับตัวลดลง) ซึ่งกลุ่มนี้ก็จะเป็นกลุ่มที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อการที่จะต้องถูกผลักให้ตกลงไปอยู่ในสภาวะความยากลำบากจากความยากจนและมีแนวโน้มว่ากลุ่มนี้จะต้องเผชิญกับอุปสรรคหลายประการในการที่จะยกระดับรายได้ของตนเองให้สูงขึ้นจากความยากจนเมื่อภาวะเงินเฟ้อของประเทศมีโอกาสที่จะทอดยาวออกไปนานในระบบเศรษฐกิจไทยตามสาเหตุของการเกิดเงินเฟ้อที่ทราบกันดีแล้วว่ามาจากทางด้านอุปทาน (Cost push inflation)
การรับมือกับภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่การอาศัยเพียงแค่นโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพทางด้านราคาเท่านั้น เพราะมาตรการทางการเงินจะมีประสิทธิภาพเพียงการควบคุมดูแลเงินเฟ้อไม่ให้สูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนเกินไปโดยการควบคุมการขยายตัวของปัจจัยทางด้านอุปสงค์ ซึ่งต้องแลก (Trade off) ด้วยความเสี่ยงที่จะเกิดการถดถอยทางเศรษฐกิจ
บาดแผลที่เกิดขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อคงจะสร้างความเจ็บปวดให้กับระบบเศรษฐกิจไทยได้มากทีเดียว เรียกได้ว่าคงจะเป็นแผลลึก (ประชาชนมีความเดือดร้อนมาก) และจะเป็นแผลเป็นในเศรษฐกิจไทยด้วย (มีผลกระทบต่อการพัฒนาและคุณภาพชีวิตของคนจำนวนมากในระยะยาว) ทั้งนี้เนื่องจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยมีความเหลื่อมล้ำสูง มีกลุ่มคนที่มีความมั่งคั่งทางการเงินในสัดส่วนน้อย คนส่วนใหญ่มีสถานะทางการเงินที่จะรองรับภาระค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ หรือถ้ารองรับได้ก็ทำได้อย่างยากลำบาก ข้อมูลหนี้ของภาคครัวเรือนที่สูงกว่าร้อยละ 90 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศชี้ให้เห็นถึงความเปราะบางของครัวเรือนที่มีรายได้กลาง ๆได้เป็นอย่างดีเมื่อต้องเผชิญกับค่าครองชีพที่สูงมากขึ้นเกินกว่าที่คาดหมายไว้อย่างมากใน
ขณะที่โอกาสทางเศรษฐกิจหรือโอกาสในการสร้างรายได้กลับมีข้อจำกัดมากขึ้นเรื่อย ๆ กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ปานกลางนี้มีสัดส่วนมากทีเดียวที่ยังมีหนี้ผ่อนค่าบ้าน ค่ารถ หนี้บัตรเครดิต ข้อมูลหนี้ครัวเรือนของเครดิตบูโร แสดงให้เห็นว่าการเป็นหนี้ของครัวเรือนเริ่มต้นตั้งแต่อายุน้อย (คนที่มีอายุน้อยเป็นหนี้มากขึ้น) และกลุ่มที่มีอายุ 40-50 ปีเป็นกลุ่มที่มีหนี้มากที่สุด (เมื่อพิจารณาจากมูลหนี้) และทั้ง 2 กลุ่มนี้ก็มีแนวโน้มที่จะผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น
ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาวะเงินเฟ้อที่กำลังก่อตัวขึ้นนี้คงจะทับถมเป็นภาระทางการเงินของครัวเรือนเหล่านี้อย่างรุนแรง ยิ่งเงินเฟ้อขยายตัวเป็นระยะเวลานานเท่าไหร่ ความยากลำบากของคนกลุ่มนี้ก็จะมากขึ้นเป็นเงาตามตัว และเมื่อถึงจุดที่ไม่สามารถรองรับได้ หนี้ภาคครัวเรือนเกิดมีปัญหาไม่สามารถชำระหนี้ได้เป็นจำนวนมาก ก็จะกระทบต่อสถาบันการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวมต่อไปเป็นลูกโซ่ จะเป็นระเบิดลูกต่อไปที่จะนำพาไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจในรอบต่อไปหรือไม่?
มีโอกาสมากน้อยแค่ไหน? ก็คงอยู่ที่ศักยภาพของครัวเรือนกลุ่มนี้ในการรองรับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นและภาครัฐจะมีบทบาทอย่างไรในการสนับสนุนค้ำจุนให้ครัวเรือนสามารถต่อสู้ให้ผ่านพ้นช่วงระยะเวลาที่ยากลำบากนี้ไปได้ อุปสรรคสำคัญประการหนึ่งสำหรับเศรษฐกิจไทยในการต่อสู้กับเงินเฟ้อในรอบนี้นอกจากสาเหตุของเงินเฟ้อที่มาจากปัจจัยทางด้านอุปทานมากกว่าปัจจัยทางด้านอุปสงค์แล้ว สาเหตุของเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นหลายสาเหตุเกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอกประเทศที่ควบคุมได้ยาก เช่น การเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน การเพิ่มขึ้นของราคาอาหาร ฯลฯ ที่มีสาเหตุเชื่อมโยงกับการเปิดข้อพิพาทจนมีการทำสงครามกันในต่างประเทศ รวมทั้งการดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อจัดการกับปัญหาเงินเฟ้อในประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกาที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทยด้วย
นอกจากผลกระทบที่ได้กล่าวถึงข้างต้นแล้ว การต่อสู้กับเงินเฟ้อนั้นยังจะสร้างความเจ็บปวดให้กับเศรษฐกิจในระยะยาวอีกอย่างน้อย 2 แง่มุมคือ
1) การพัฒนาทางเศรษฐกิจมักจะเกิดความล่าช้าขึ้นเมื่อมีปัญหาเงินเฟ้อเกิดขึ้น (Delay of economic development) ทั้งนี้เกิดขึ้นจากการที่ครัวเรือนต้องปรับตัวเพื่อลดค่าใช้จ่ายให้สามารถดำรงชีพได้ภายใต้สภาวะเงินเฟ้อ ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทักษะ พัฒนาผลิตภาพ (Productivity) ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นอาวุธหลักของการต่อสู้กับเงินเฟ้อ เพียงแต่ว่าครัวเรือนโดยส่วนใหญ่มักจะไม่มีกำลังพอที่จะใช้จ่ายเพื่อให้ได้อาวุธที่มีประสิทธิภาพสำหรับต่อสู้กับเงินเฟ้อเหล่านี้มา หวังว่าคนชั้นกลางจะไม่ตัดลดทอนค่าใช้จ่ายทางด้านการศึกษาของบุตรหลานที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับคนในรุ่นถัด ๆ ไปลง เพราะถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนั้นขึ้น แรงงานหรือทุนมนุษย์ในรุ่นถัด ๆ ไปของประเทศของจะขาดทักษะ และประเทศไม่มีขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้วยเหตุนี้ ถ้าภาครัฐจะได้ตระหนักเห็นถึงความสำคัญตรงนี้โดยการออกมาตรการช่วยเหลือที่เป็นการแบ่งเบาภาระของครัวเรือนทางด้านการสนับสนุนการศึกษาก็จะดีกว่าการใช้มาตรการกระตุ้นการบริโภคเพื่อหวังการเติบโตทางเศรษฐกิจเท่านั้น
และ 2) ผลกระทบของเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในวงกว้าง โดยเฉพาะเงินเฟ้อที่มีสาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานและราคาอาหารมักจะส่งผลให้เกิดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำในสังคมมากขึ้น เพราะคนจนหรือคนที่ด้อยกว่าทางเศรษฐกิจมักจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงและมีศักยภาพน้อยกว่าในการรองรับภาระค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นนี้ ทำให้ครัวเรือนจำนวนไม่น้อยที่มีความเปราะบาง (Vulnerable household) ไม่สามารถปรับตัวตามสภาวะการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจได้ เกิดเป็นช่องว่างความแตกต่างในหลากหลายมิติซึ่งก็จะกลายเป็นปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจต่อไป (แผลเป็น) ข้อมูลปริมาณเงินฝากในตลาดการเงินของไทยที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมาหลายแสนล้านบาท ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของเงินฝากในบัญชีที่มีเงินฝากมากกว่า 10 ล้านบาท ในขณะที่เงินฝากลดลงในบัญชีที่มีเงินฝากน้อยกว่า ไม่ได้เป็นบ่งชี้แต่เพียงว่าประชาชน (นักลงทุน) ลดความเสี่ยงจากการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงและหันมาถือครองสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงคือ เงินสด เท่านั้น แต่เป็นสิ่งบ่งชี้เบื้องต้นที่สะท้อนให้เห็นถึงช่องว่างความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่งที่จะกว้างมากขึ้นที่กำลังเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการสูงขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในระบบเศรษฐกิจ
ดังนั้น เพื่อให้สามารถรับมือกับปัญหาเงินเฟ้อที่กำลังก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ ผู้กำหนดนโยบายจำเป็นต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับเงินเฟ้อซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นของราคาในระบบเศรษฐกิจอย่างชัดเจนมากขึ้นว่าจะมีผลกระทบอย่างไร? กับใคร? และน่าจะถึงเวลาที่เราจะได้พัฒนาดัชนีชี้วัดการเปลี่ยนแปลงของราคาที่มากกว่าเพียงการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) หรือดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งในต่างประเทศมีการพัฒนาดัชนีที่ใช้ชี้วัดสภาวะการเปลี่ยนแปลงของราคา และผลกระทบหลากหลายดัชนีเพื่อประกอบการตัดสินใจกำหนดนโยบายหรือมาตรการในการรองรับปัญหาเงินเฟ้อได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การจัดทำดัชนี Personal Consumption Expenditures Price Index ที่จะช่วยให้เห็นภาพได้ดีขึ้นว่าครัวเรือนระดับใดจะต้องแบกรับภาระค่าครองชีพอย่างไรบ้าง การจัดเก็บข้อมูลเพื่อสร้างดัชนีชี้วัดที่สอดคล้องกับพฤติกรรมการดำรงชีพของครัวเรือนจะเป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารความเสี่ยงทางเศรษฐกิจด้านนี้ การจัดเก็บข้อมูลราคาและการสร้างดัชนีราคาอาจจะถึงละเลยไปเพราะเงินเฟ้อไม่ได้สร้างปัญหากับเศรษฐกิจของประเทศไทยเลยในช่วง 20-25 ปีที่ผ่านมา (เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ หรืออยู่ในระดับที่ควบคุมได้มาโดยตลอดแม้แต่ในช่วงที่เศรษฐกิจมีการเติบโตได้ดี) การสร้างฐานข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการในระบบเศรษฐกิจที่มีความแม่นยำและมีความละเอียดเพียงพอต่อการใช้ประกอบการตัดสินใจในเชิงนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นเครื่องมือที่จำเป็นที่จะช่วยให้การกำหนดมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อประคับประคองให้ก้าวผ่านปัญหาเงินเฟ้อในคราวนี้ไปได้โดยมีผลกระทบน้อยที่สุด
“โลกไม่ได้เต็มไปด้วยผู้ชนะ แต่โลกเต็มไปด้วยคนที่พยายามและมีความหวัง ผมพยายามและบางครั้งก็ชนะร่วมกับคนอื่น ๆ ผมมีความสุขกับสิ่งนั้น” (เยอร์เกน คลอปป์, ไทยรัฐออนไลน์)