Skip to content
มอง Luna ผ่านการโจมตีค่าเงินยุคต้มยำกุ้ง (ผศ.ดร. ดร.อัธกฤตย์)
June 8 2022 June 8 2022
“การดิ่งลงเหวของเงิน Luna ซึ่งเป็นเงินคริปโตสกุลหนึ่งในเครือ Terra โดยความสยดสยองคือ 99.7% ของมูลค่า Luna อันตรธานหายไปเลยในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัธกฤตย์ เทพมงคล
ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) www.econ.nida.ac.th; athakrit.t@nida.ac.th
ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เราได้เห็นปรากฏการณ์การดิ่งลงเหวของเงิน Luna ซึ่งเป็นเงินคริปโตสกุลหนึ่งในเครือ Terra โดยความสยดสยองคือ 99.7% ของมูลค่า Luna อันตรธานหายไปเลยในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งเบื้องหลังก็เกิดจากการ “โจมตีค่าเงิน” นั่นเอง
สำหรับคนที่อายุเกิน 35 ขึ้นไปอย่างผู้เขียนก็ต้องคุ้นเคยกับคำว่า “โจมตีค่าเงิน” เป็นอย่างดี เพราะประเทศไทยได้ผ่านประสบการณ์ตรงกับการถูกโจมตีค่าเงินครั้งใหญ่ ซึ่งนำมาสู่วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 1997 นั้นเอง เป็นวิกฤติครั้งใหญ่ที่ส่งผลขจรขจายไปทั่วทั้งโลกเลยทีเดียว
การจะทำความเข้าใจการโจมตีค่าเงินนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งกับเงินคริปโตซึ่งก็เป็นเรื่องใหม่และมีความซับซ้อนสูงในเชิงเทคโนโลยี ยิ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจยากขึ้นไปอีก ผู้เขียนเองก็ต้องขอออกตัวว่าไม่ได้เป็นผู้คร่ำหวอดในวงการคริปโตหรือบล็อคเชนแต่อย่างใด แต่ก็จะพยายามใช้ความรู้พื้นฐานเศรษฐศาสตร์ที่มีมาในการอธิบายการโจมตีค่าเงินคริปโตครั้งนี้ให้ทุกคนเข้าใจได้ง่ายนะครับ
จะมีการโจมตีค่าเงินได้ก็ต้องมีการตรึงค่าเงินก่อน การตรึงค่าเงินคือการที่เรากำหนดอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินของเรากับสินทรัพย์ชนิดอื่นให้คงที่ ยกตัวอย่างเช่นในช่วงก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง ประเทศไทยตรึงค่าเงินบาทไว้กับเงินดอลลาร์ในอัตรา 25 บาทต่อดอลลาร์ แต่อย่างที่เราคงรู้กันแล้วว่าการตรึงค่าเงินมันไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่แค่ใช้ปากประกาศออกไปแล้วก็จบ เพราะถ้าอัตราแลกเปลี่ยนที่เราตรึงไว้ไม่ตรงกับความต้องการซื้อและขายในตลาด คนก็จะแห่มาแลกเปลี่ยนกับเราที่เป็นคนตรึงค่าเงิน นั่นหมายความว่าธนาคารแห่งประเทศไทยในขณะนั้นจะต้องพร้อมที่จะรับแลกเงิน 1 ดอลลาร์ด้วยเงิน 25 บาท และพร้อมที่จะรับแลกเงิน 25 บาทด้วยเงิน 1 ดอลลาร์เสมอ การหาเงินบาทมาสำรองไว้ในการแลกอาจจะไม่ใช่เรื่องยากนักสำหรับธนาคารแห่งประเทศไทย แต่การจะสำรองเงินดอลลาร์ไม่ใช่เรื่องง่าย และทำได้ในปริมาณจำกัดเท่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเคยสะสมเอาไว้ในอดีต และนี่คือจุดอ่อนที่อาจจะโดนโจมตีค่าเงินได้
คุณจอร์จ โซรอส เป็นตัวละครสำคัญในเหตุการณ์ครั้งนั้น เขาเป็นผู้นำกองทุนขนาดใหญ่ระดับโลก และเล็งเห็นว่าเงินบาทในอัตรา 25 บาทต่อดอลลาร์นั้นแข็งเกินไปเมื่อเทียบกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทย นำมาซึ่งความเป็นไปได้ในการทำกำไรจากการโจมตีค่าเงินบาท วิธีการคือการรวบรวมเงินบาทจำนวนมหาศาลจากการกู้ แล้วทำการเทขายเงินบาทในราคาที่ขาดทุน เช่น เสนอรับซื้อเงิน 1 ดอลลาร์ในราคา 26 บาท ทั้ง ๆ ที่ ธนาคารแห่งประเทศไทยรับแลกในอัตรา 25 บาท การทำแบบนี้ทำให้คนสามารถเอาเงิน 1 ดอลลาร์ ไปแลกกับคุณโซรอส ได้เงิน 26 บาท แล้วเอาเงินเพียง 25 บาทกลับไปแลกเงิน 1 ดอลลาร์กับธนาคารแห่งประเทศไทย แล้วได้ส่วนต่างกำไร 1 บาททันที การแลกเปลี่ยนไปมาเพื่อทำกำไรทันทีทันได้แบบนี้เราเรียกว่า arbitrage
สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาจากการทำ arbitrage นี้คือความต้องการขายเงินบาทที่เพิ่มขึ้นซึ่งเริ่มจะผลาญเงินดอลลาร์ในคลังที่ธนาคารแห่งประเทศไทยสะสมไว้ และเมื่อคุณโซรอสเริ่มปรับอัตราการรับแลกให้เข้าเนื้อตัวเองมากขึ้นเป็น 27 และ 28 บาทต่อดอลลาร์ แรงขายเงินบาทก็ทวีความรุนแรงมากขึ้น คราวนี้ไม่ใช่แค่กลุ่มนักลงทุนค่าเงินระยะสั้นแล้วที่เทขายเงินบาทเพื่อ arbitrage แต่คนทั่วไปก็เริ่มที่จะตื่นตระหนกแล้วว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีเงินดอลลาร์สำรองมากพอที่จะสามารถตรึงค่าเงินบาทต่อไปได้หรือไม่ กลายเป็นทั้งตลาดแห่ไปแลกเงินบาทกับธนาคารแห่งประเทศไทยจนเงินดอลลาร์ในคลังหมด ค่าเงินบาทก็ถูกปล่อยลอยตัวไปตามกลไกตลาด ซึ่งในภาวะที่คนตื่นตระหนกแบบนี้ แรงขายมหาศาลก็ทำให้ค่าเงินบาทร่วงไปที่ 51 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงข้ามคืน ด้วยส่วนต่างมหาศาลนี้ คุณโซรอสสามารถนำเงินดอลลาร์เพียงเล็กน้อยที่ได้จากการยอมแลกขาดทุนในช่วงแรก มาแลกเป็นเงินบาทเพื่อใช้หนี้เงินบาทที่กู้มา เงินดอลลาร์ที่เหลือก็กลายเป็นกำไรของการโจมตีค่าเงินของเขานั้นเอง
กลับมาที่กรณีของเงิน Luna เรื่องราวมันทวีความซับซ้อนไปอีก เพราะ Luna เป็นเพียงกลไกในการตรึงค่าเงินคริปโต UST กับเงินดอลลาร์แบบไม่ต้องมีทุนสำรอง หรือที่คนในวงการคริปโตเรียกกันว่า algorithmic stablecoin พูดง่าย ๆ ก็คือ เจ้าของ UST ต้องการตรึงค่าเงิน UST ไว้ที่ 1 UST ต่อดอลลาร์โดยที่ตัวระบบไม่ได้กักตุนเงินดอลลาร์สำรองเอาไว้ แต่ใช้วิธีผูกค่า UST ไว้กับ Luna ซึ่งเป็นเงินคริปโตในเครือเดียวกัน โดยใครก็จะสามารถนำเงิน 1 UST มาแลกเงิน Luna กับระบบได้ ซึ่งจำนวนเงิน Luna ที่ได้จะมีมูลค่า 1 ดอลลาร์เสมอ หรือในทางกลับกันจะนำ Luna มาแลก UST กับระบบก็ได้ ซึ่งนี่ไม่ใช่การแลกเปลี่ยนธรรมดา แต่เป็นการเผา (burn) เงินสกุลนั้นเพื่อได้เงินอีกสกุลที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่เลย (mint) ทำให้ปริมาณเงินสกุลที่ถูกเผาลดลง ในขณะที่ปริมาณเงินสกุลที่ถูกสร้างใหม่เพิ่มขึ้น
จะเห็นได้ว่าตัวระบบคริปโตนี้ทำตัวเหมือนธนาคารกลางที่เก็บเงินออกและเติมเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ การปรับปริมาณเงินโดยอัตโนมัตินี้เองคือกลไกที่ช่วยตรึงราคา UST ไว้กับดอลลาร์ ถ้าเกิดวันไหนตลาดเกิดให้ค่า 1 UST น้อยกว่า 1 ดอลลาร์ คนจะสามารถ arbitrage โดยนำ เงินที่ไม่ถึง 1 ดอลลาร์ไปแลก 1 UST แล้วนำ UST ไปแลกเป็น Luna แล้วเอา Luna ไปแลกเป็นเงิน 1 ดอลลาร์ ก็จะได้กำไรทันที และการแลก UST เป็น Luna จะทำให้ปริมาณเงิน UST ในระบบลดลง ทำให้เงิน UST แข็งค่าขึ้นมาที่ 1 ดอลลาร์ตามเดิมโดยอัตโนมัติ ในขณะที่ปริมาณเงินของ Luna ในตลาดจะเพิ่มขึ้นทำให้ค่าเงิน Luna อ่อนลง กลไลนี้จึงทำให้ค่าเงิน UST เสถียร
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นก็ยังคงคล้ายคลึงกับการโจมตีค่าเงินบาทในปี 1997 การกู้เงิน UST จำนวนมหาศาลเพื่อเทขายอย่างรุนแรงจนเกิดความตื่นตระหนกไปทั้งตลาด ทำให้ความต้องการขาย UST มากเกินกว่าที่ระบบจะเผาเงิน UST ได้ทัน และปริมาณเงิน Luna ที่เพิ่มขึ้นจากการสร้างใหม่ถูกนำมาเทขายเป็นเงินดอลลาร์ที่น่าเชื่อถือกว่า ทำให้ค่าเงิน Luna สูญไปจนแทบจะไม่เหลือค่า นี่ยังไม่นับค่าของ Bitcoin ที่ก็อ่อนค่าลองอย่างมากเช่นกันจากการที่ระบบของ UST พยายามใช้เงิน Bitcoin ที่มีอยู่ในมือเพื่อผูกและค้ำค่าเงิน UST ในลักษณะเดียวกันกับที่ใช้ Luna นั่นเอ