รองศาสตราจารย์ ดร.อภิรดา ชิณประทีป
ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)
www.econ.nida.ac.th;
apirada.ch@gmail.com; apirada.c@nida.ac.th
จากที่ผู้เขียนได้มีโอกาสลงโพสต์ทูเดย์หลายฉบับเกี่ยวกับ โควิด-19 กับ การพลิกวิกฤติเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ และได้พูดถึงสถานการณ์โรงเรียน ไปบ้างแล้ว ตั้งแต่ปี 2563 และปี 2564 และประเทศเราได้มีการสร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจเป็นระยะ
โอกาสนี้ ก่อนอื่นขอกล่าวถึงข่าวดีที่ผลสรุปการจัดกิจกรรมการทบทวนการเตรียมความพร้อมกรณีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า หรือ Universal Health and Preparedness Review (UHPR) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 21-29 เมษายน 2565 องค์การอนามัยโลก (WHO) เลือกประเทศไทยให้เป็นประเทศต้นแบบลำดับที่ 3 ในการนำร่องจัดกิจกรรมการทบทวนการเตรียมความพร้อมกรณีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า จากการรับมือการระบาดใหญ่ของโรคโควิด 19 เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แนวปฏิบัติที่ดี และข้อเสนอแนะระหว่างประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลก ซึ่งข้อสรุปเบื้องต้นจากการจัดกิจกรรมฯ โดยคณะผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลกและทีมประเทศไทย พบว่า ประเทศไทยมีการบริหารจัดการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขกรณีโควิด 19 เป็นอย่างดี มีความยืดหยุ่น ปรับตัวไปตามสถานการณ์ และเน้นการปฏิบัติได้จริง
นอกจากนี้ในเดือนพฤษภาคม 2565 นี้ ผลสำรวจเกี่ยวกับแผนการท่องเที่ยวระดับโลกฉบับล่าสุดของวีซ่า (Visa Global Travel Intentions Study) ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวอันดับที่ 4 ที่น่าเดินทางเยือนมากที่สุดในโลก รองจากสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และอินเดีย โดยเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมในประเทศไทยที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกค้นหาข้อมูลผ่านช่องทางออนไลน์มากที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต เชียงใหม่ และหัวหิน
ในขณะที่สถานการณ์ยังคงเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และยังคงมีสายพันธุ์ใหม่ ที่เราอาจจะยังต้องระวังและรับมือเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดการฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างราบรื่น
1. เสนอร่างความคิดเพื่อการรับมือโควิด-19 (covid-19) ณ พ.ค. 65
ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 นี้ จะมีการเปิดเรียนแบบ On-Site เต็มรูปแบบ 100% ทุกระดับชั้น ของโรงเรียนสังกัด กทม. ตามการประชุมผู้บริหารสำนักการศึกษา และหัวหน้าฝ่ายการศึกษา สำนักงานเขต และผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัด กทม. ครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 ได้แจ้งแนวทางการเตรียมความพร้อมการเปิดภาคเรียนที่ 1/2565 โดยจะดำเนินการมาตรการความปลอดภัยของโรงเรียนในสังกัด กทม. อย่างเต็มที่เข้มงวดและมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ผู้เขียนเห็นด้วยกับแนวทางที่เตรียมการอย่างระมัดระวังดังกล่าว ซึ่งในปี 2563 ที่ผ่านมาแนวทางการเปิดโรงเรียนที่ควรระวังนำเสนอแล้วในโพสต์ทูเดย์ฉบับวันที่ 21 กรกฎาคม 2563 เรื่อง การเปิดโรงเรียนในสถานการณ์โควิด-19 (https://www.posttoday.com/finance-stock/columnist/628859)
ซึ่ง ณ ปัจจุบันปี 2565 ผ่านมาแล้ว 2 ปี น่าจะมีความพร้อมมากขึ้นแล้วไม่น่ากังวลในเรื่องความเข้าใจโรคที่มีมากขึ้นและความพร้อมของแต่ละโรงเรียน เพียงแต่อาจจะต้องระมัดระวังในกรณีที่อาจจะมีการติดได้ในกลุ่มเด็ก และกรณีของโอไมครอนยังมีความพิเศษคือเด็กสามารถติดกันได้มากขึ้นกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
นอกจากนี้ ในวันที่ 1 พฤษภาคม 65 ประเทศไทยเราเริ่มใช้มาตรการเดินทางเข้าประเทศ โดยไม่ต้องมีการเทสต์แอนด์โก ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ปรับวิธีการเข้าประเทศเป็น 2 รูปแบบ คือ สำหรับผู้ได้รับวัคซีนตามเกณฑ์จะต้องลงทะเบียนผ่านระบบไทยแลนด์พาสเพื่อแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีน ต้องมีวงเงินประกันจำนวน 1 หมื่นดอลลาร์ เมื่อเดินทางมาถึงไทยไม่ต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 เพียงแต่แนะนำให้ตรวจเอทีเคด้วยตัวเองระหว่างพำนัก ถ้าติดเชื้อให้เข้ารักษาตามที่มีประกัน ส่วนกรณีไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับไม่ครบเกณฑ์ สามารถยื่นหลักฐานตรวจ RT-PCR ไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทางถึงประเทศไทย และลงทะเบียนผ่านระบบไทยแลนด์พาสก็สามารถเดินทางเข้าราชอาณาจักรไทยได้ มีวงเงินประกัน 1 หมื่นดอลลาร์ เช่นเดียวกับผู้ที่ฉีดวัคซีนครบเกณฑ์ แต่กรณีไม่ได้ตรวจ RT-PCR มาก่อน ต้องกักตัวในสถานกักตัวใน AQ โดยตรวจ RT-PCR วันที่ 4-5 และแนะนำให้ตรวจเอทีเคด้วยตัวเองระหว่างพำนัก ขณะที่ผู้ที่เดินทางมาทางบก อนุญาตเดินทางเข้าประเทศเฉพาะจุดผ่านแดนถาวรเท่านั้น โดยผู้ที่ได้รับวัคซีนครบเกณฑ์แล้ว สามารถแสดงหลักฐานและเข้าประเทศได้ ส่วนผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนหรือได้วัคซีนไม่ครบ ให้กักตัวที่ SQ จำนวน 5 วัน
ในส่วนที่เรากำลังเปิดด้านท่องเที่ยวซึ่งถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดี เนื่องจากปัจจุบันเราได้มีความพร้อมในหลาย ๆ ด้าน อย่างไรก็ตามในเรื่องของสายพันธุ์ย่อยใหม่ เช่น BA.5 คงจะต้องจับตามองเพิ่มเติมเนื่องจากกรณีของประเทศอิสราเอลซึ่งเป็นประเทศหนึ่งที่ถือว่าประสบความสำเร็จสูงในการฉีดวัคซีนไปจำนวนมากแล้วก็ยังมีการติดได้ หรือแม้แต่ในแอฟริกาซึ่งพบว่ามีจำนวนคนติดมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากสายพันธุ์ย่อยนี้ที่เริ่มมีแล้วและพบว่ามีการหลบภูมิคุ้มกันได้ด้วย หากเราสามารถติดตามเพื่อให้แน่ใจว่าประเด็นปัญหาของการติดไม่รุนแรงและหายได้ และหากจะเป็นเช่นนั้นได้ก็น่าจะทำให้เรามั่นใจได้มากขึ้น
ในกรณีการฉีดวัคซีนที่มากกว่าเข็มกระตุ้นมากขึ้นไป ยังมีความเห็นหลากหลายจากในต่างประเทศที่พูดถึงผลข้างเคียงต่าง ๆ ซึ่งอาจจะต้องฟังจากผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ต่อไป และหากมีความเป็นไปได้จริงเช่นนั้นในที่สุดอาจจะต้องชั่งน้ำหนัก ดังนั้น จึงพบว่ามีบางประเทศในยุโรป ไม่ได้มีการบังคับฉีดวัคซีนแล้ว เช่น เดนมาร์ก เป็นต้น
ณ สัปดาห์แรกของเดือน พ.ค. 65 ขณะที่เขียนบทความนี้ มีความเป็นไปได้ว่าสำหรับกรณีประเทศไทย ภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคกลางบางส่วน อาจจะยังมีจำนวนคนเสียชีวิตสูงไปอีกระยะเวลาหนึ่ง อาจจะลองพิจารณาในส่วนนี้หากมีจำนวนสูงขึ้นอีก
ณ เวลานี้เท่านั้น ผู้เขียนขอนำเสนอแนวความคิดเห็นการแบ่งเป็น 3 สถานการณ์ (scenarios) ประมาณการรูปแบบการรับมือ (เฉพาะจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกโอไมครอนเมื่อ พ.ค. 65 เท่านั้น) ดังแสดงในรูปที่ 1
scenario 1: ติดเป็นปรกติ
ในกรณีนี้หากปล่อยให้คนติดแบบเป็นปรกตินั้นหมายความว่าการตรวจน้อยมีการดูแลน้อยโดยมีสมมุติฐานว่าโรคไม่รุนแรง ไม่มีสายพันธุ์ใหม่พิเศษที่หลบภูมิวัคซีนยังคงใช้ได้และคนส่วนใหญ่สุขภาพแข็งแรงเช่นนี้อาจพอเป็นไปได้
อย่างไรก็ดียังคงมีข้อเสียได้แก่หากโรคโควิดมีการติดสินค้า เช่น อาหาร และต้องส่งออกไปยังประเทศที่มีความเข้มงวด เช่น ประเทศจีน เป็นต้น ขณะนี้ที่จีนยังคงความเข้มงวดให้โควิดเป็น 0 หรือ zero-covid strategy หรือหากจะมีประเทศเพิ่มอีกในอนาคตที่เข้มงวดมากขึ้น ก็จะมีปัญหาในเรื่องของการส่งออกของประเทศไทยเราได้
อีกประการหนึ่งคือ หากการรักษาน้อย อาจเกิดการละเลยของผู้ป่วย เช่น การป่วยหนักหรือการตายที่อาจจะมีจำนวนที่มากขึ้นหากไม่มีการดูแลตั้งแต่เริ่มต้น
(ยิ่งกรณีที่กลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเปราะบาง กลุ่มสูงอายุและเด็กที่ไม่มีความรู้เพียงพอหรือแม้แต่คนที่อยู่ในเมืองแต่เกิดความละเลย ยิ่งไปกว่านั้นการตายที่ไม่ทราบว่าเป็นผู้ติดโควิดหรือไม่ ก็จะมีการดูแลไม่รัดกุมเพียงพอ และก็อาจจะมีการแพร่กระจายในกรณีนี้ได้อีกด้วย)
ข้อควรระวังอีกประการหนึ่งคือหากมีการเข้ามาของสายพันธุ์ใหม่ ๆ หรือมีการกลายพันธุ์ใหม่เข้ามาด้วยปัจจัยเหล่านี้ เราอาจจะไม่สามารถควบคุมได้อย่างทันทีทันใดอาจจะทำให้เกิดการปล่อยระยะเวลาไปอีกระยะเวลาหนึ่ง
scenario 2: ป้องกันคนในประเทศ และกลุ่มเสี่ยง
กรณีที่ 2 ถ้าเราป้องกันคนในประเทศ เช่น กลุ่มเปราะบาง กลุ่มสูงอายุ กลุ่มเด็ก และมีการฉีดวัคซีนอย่างระมัดระวังโดยที่พยายามพิจารณาลดผลข้างเคียงของวัคซีนควบคู่ไปด้วยให้มากที่สุดแก่ทุกกลุ่มและพยายามดูแลกลุ่มที่เป็นกลุ่มเสี่ยง โดยที่ยังคงมาตรการการใส่หน้ากากและมีการเตือนอยู่สม่ำเสมอโดยเฉพาะกลุ่มที่สุขภาพเปราะบาง
ในขณะที่กลุ่มที่เป็นกลุ่มแข็งแรงก็อาจจะให้มีการค่อย ๆ ผ่อนปรนได้แต่จะต้องให้มีการตระหนักถึงการจะนำไปติดกับกลุ่มที่เป็นกลุ่มเสี่ยงได้อีก หรือกรณีผู้แข็งแรงมีความเป็นไปได้ในโอกาสการเป็นพาหะด้วย ซึ่งต้องพยายามให้เกิดความรับรู้เกิดความเข้าใจและอยู่ร่วมกับโรคซึ่งถ้าเป็นกรณีนี้จะสามารถพิจารณาในมาตรการการจัดการใน Step ต่อไปที่จะนำเสนอในแผนภาพถัดไป
scenario 3: เคร่งครัดเข้มงวด
กรณีที่ 3 นี้เป็นกรณีที่เข้มงวดมากที่สุดซึ่งเราสามารถจะพิจารณาจากกรณีศึกษาของประเทศจีนได้ ในกรณีนี้จะมีการเสียสละหรือ sacrifice ด้านเศรษฐกิจซึ่งประเทศจีนเป็นประเทศพิเศษ เนื่องจากเศรษฐกิจค่อนข้างใหญ่และยังสามารถส่งออกสินค้าไปทั่วโลก ดังนั้นการพิจารณาวิธีการนี้อาจจะไม่น่าสนใจเท่าที่ควรสำหรับประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเล็กและไม่สามารถที่จะทำได้อย่างประเทศจีน
ข้อเสียของวิธีการนี้คือการรักษาพยาบาล การตรวจจะต้องมีอย่างเข้มงวดและสม่ำเสมอ ข้อดีคือสามารถลดคนเจ็บและคนตายได้ค่อนข้างดีที่สุดเมื่อเทียบในทั้ง 3 scenarios
Note ผู้เขียนมีความเห็นว่าสำหรับกรณีประเทศจีนหากสามารถคุมได้ในเวลาที่ไม่นานจนเกินไปรอบนี้ก็อาจจะสามารถ pick up หรือฟื้นตัวได้ในเวลาไม่นานนัก แต่มีข้อสังเกตว่าจะต้องพยายามไม่ให้ระบาดเนื่องจากประชาชนน่าจะอาศัยภูมิคุ้มกันจากทางวัคซีนเป็นหลัก
รูป ที่มา: อภิรดา ชิณประทีป สำหรับลงโพสต์ทูเดย์ฉบับ 10 พฤษภาคม 2565
รูปที่ 1 ความเห็นการแบ่งเป็น 3 สถานการณ์ (scenarios) ประมาณการรูปแบบการรับมือ (เฉพาะจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกโอไมครอนเมื่อ พ.ค. 65 เท่านั้น)
นอกจากนั้นแล้วเนื่องจากในช่วงนี้เป็นช่วงที่เรากำลังจะเปิดเรียนในวันที่ 17 พฤษภาคม ในขณะที่เราเพิ่งเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวอย่างค่อนข้างมีอิสระเสรีในวันที่ 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมา
ในสถานการณ์เฉพาะช่วงนี้ผู้เขียนจึงอยากนำเสนอแนวความคิดในการจัดการแบ่งกลุ่มตามสถานการณ์เฉพาะช่วงนี้จึงแบ่งกลุ่มจังหวัดหรือ area เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ด้วยกัน
ดังแสดงในรูปที่ 2 การแบ่งการดูแลรับมือโควิด-19 (covid-19) ณ พ.ค. 65 เป็น 3 กลุ่มจังหวัด เขตหรือ areaในจังหวัดที่มีกลุ่มที่เราเป็นห่วงพิเศษ เขตหรือ areaในจังหวัดที่มีโรงเรียนหรือเด็ก/ผู้สูงอายุ/กลุ่มเปราะบางจำนวนมาก VS จังหวัดที่มีโควิดระบาด VS จังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลัก (เฉพาะจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกโอไมครอนเมื่อ พ.ค. 65 เท่านั้น)
![](https://static.posttoday.com/media/content/2022/05/10/4A650829158BD89C71986EECDD6D834A_1000.jpg)