เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมกับการลงจากดอย (ศ.ดร.สรศาสตร์)

การลงจากดอย” ก็ต้องแก้ไขอคตินี้ เมื่อนักลงทุนตัดสินใจผิดพลาด ก็ต้องปรับทัศนคติในการลงทุน เปลี่ยนพฤติกรรมโดยเลิกยึดติดกับความสูญเสีย

ศาสตราจารย์ ดร.สรศาสตร์ สุขเจริญสิน
คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)
www.econ.nida.ac.th

อาการ “ติดดอย” เป็นพฤติกรรมการลงทุนประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นเวลาที่นักลงทุนซื้อสินทรัพย์ทางการเงินต่าง ๆ มาในราคาที่สูงหรือราคาแพงมาก (มักใช้กับการซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ) จึงถูกเปรียบเปรยเสมือนขึ้นไปอยู่บนยอดดอยอันหนาวเหน็บ เพราะเวลาที่นักลงทุนอยากจะขาย ราคาสินทรัพย์ทางการเงินก็มักจะร่วงต่ำลงมาอย่างมาก และมีแนวโน้มต่ำลงเรื่อย ๆ ทำให้ตัดสินใจขายไม่ได้ เพราะต้องขาดทุนหนัก ได้แต่ทำใจถือไปเรื่อย ๆ ซึ่งเวลาพูดถึง “ดอย” ในการลงทุนนั้น มีหลายดอยครับ ไม่ว่าจะเป็นดอยหุ้น ดอยทองคำหรือที่กำลังมาแรงแซงดอยอื่น ๆ ก็คือ ดอยคริปโตหรือดอยสินทรัพย์ดิจิทัลนั่นเอง ซึ่งที่ผ่านมาล่าสุดที่เป็นที่โจษจันในช่วงนี้ก็คือ ดอยเหรียญ LUNA ที่เป็น Governance Token ของ DeFi Protocol ประจำแพลตฟอร์ม Terra ซึ่งเป็นบริษัทบล็อกเชนสัญชาติเกาหลีที่ราคาร่วงหนักจนแทบไม่เหลือมูลค่า ก็เป็นตัวอย่างที่อธิบายได้ถึงความหนาวเหน็บของนักลงทุนที่ซื้อไว้ในราคาสูงได้เป็นอย่างดี

Daniel Kahneman นักจิตวิทยาชาวอเมริกันที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ และเป็นผู้ที่ร่วมบุกเบิกสาขาเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า “คนเราเกลียดการสูญเสียมากกว่าดีใจกับการได้มา” หากพิจารณาในแง่มุมของการติดดอยจากการลงทุนแล้ว เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพราะนักลงทุนยึดติดกับสินทรัพย์ที่ได้มา เมื่อนักลงทุนต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ราคาสินทรัพย์จากการลงทุนลดลง ก็จะทำให้นักลงทุนเกิดการหลีกเลี่ยงความเสียใจ (regret aversion) ไม่อยากเกิดการสูญเสียหรือขาดทุนจากการลงทุนในสินทรัพย์ อันเป็นผลจากการตัดสินใจลงทุนที่ผิดพลาด ส่งผลให้นักลงทุนเกิดพฤติกรรมหลีกเลี่ยงการขาดทุน (loss aversion) หรือที่เรียกภาษาชาวบ้านว่า “ไม่ขายก็ไม่ขาดทุน” เงินในพอร์ตที่ยังไม่รับรู้ก็สามารถเก็บต่อไปได้ บางครั้งก็ถึงกับหลอกตัวเอง โดยฝันลม ๆ แล้ง ๆ หวังให้ราคากลับมาเหมือนเดิม แต่สถานการณ์จริงทุกอย่างมีแต่จะเลวร้ายลงเรื่อย ๆ จนถึงขนาดอาจจะหมดเนื้อหมดตัวก็เป็นได้ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวไม่สอดคล้องกับหลักการเป็นผู้มีเหตุมีผล (rationale expectation) และการเป็นผู้หลีกเลี่ยงความเสี่ยง (risk aversion) ตามสมมติฐานทางการเงินแบบดั้งเดิม จนนำไปสู่พฤติกรรมที่เรียกว่า ตรรกะวิบัติ (misbehaving) จนทำให้พอร์ตพังเพราะแพ้ภัยตัวเอง

ดังนั้น “การลงจากดอย” ก็ต้องแก้ไขอคตินี้ เมื่อนักลงทุนตัดสินใจผิดพลาด ก็ต้องปรับทัศนคติในการลงทุน เปลี่ยนพฤติกรรมโดยเลิกยึดติดกับความสูญเสีย แต่ต้องคำนึงถึงความเสี่ยงเป็นหลัก และปรับเปลี่ยน เป้าหมายที่แสวงหาผลตอบแทนสูงสุดเป็นการตัดสินใจที่เกิดการสูญเสียน้อยที่สุด (minimize loss) โดยมี 2 วิธีด้วยกัน คือ

วิธีที่หนึ่ง การตัดใจขายขาดทุนเพื่อรักษาเงินต้นไว้ให้สูญเสียน้อยที่สุด ก่อนจะสายเกินไปจนขาดทุนมากมายมหาศาล ดังนั้น นักลงทุนก็ต้องใช้หลักการบริหารความเสี่ยง โดยควรมีการตั้งจุดตัดใจเพื่อหยุดขาดทุน (stop loss) เอาไว้ เช่น หากขาดทุน 10% ก็ให้ขายตัดขายขาดทุนไปเลยเพื่อจำกัดจำนวนเงินที่สูญเสีย โดยในปัจจุบัน นักลงทุนก็สามารถตั้งเงื่อนไขการขายเอาไว้ล่วงหน้าในกรณีที่ตลาดไม่เป็นไปตามที่คิดไว้ได้ ซึ่งอาจพิจารณาเก็บเงินไว้รอจังหวะใหม่ หรือเปลี่ยนสินทรัพย์ลงทุนตัวอื่นที่ปัจจัยพื้นฐานดีกว่า หรืออีกทางเลือกหนึ่งก็คือการทำธุรกรรมที่เรียกว่า Short against Port ซึ่งเป็นการขายสินทรัพย์ออกไปบางส่วน เพื่อนำเงินกลับไปซื้อสินทรัพย์เดิมในราคาที่ถูกลงในอนาคต ในทุกกรณีนั้น การลงจากดอยในลักษณะขาดตัดขาดทุนเป็นการตัดสินใจที่อาจจะเจ็บแต่ก็จบ ไม่ยืดเยื้อจนทำให้มูลค่าการลงทุนลดลงไปอีก

วิธีที่สอง เหมาะกับนักลงทุนที่ยังตัดใจไม่ได้ที่จะขายตัดขาดทุนออกไป ยังมี Loss Aversion อยู่ และลงทุนในสินทรัพย์ที่มีคุณภาพดี นักลงทุนก็สามารถลดผลกระทบของการขาดทุนจากการติดดอยโดยนำสินทรัพย์ที่มีไปให้ยืมในธุรกรรมให้บริการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ หรือ SBL (Securities Borrowing and Lending) จากนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ สำหรับนักลงทุนที่ติดดอยในหุ้นพื้นฐานดีและมีสภาพคล่องสูง ก็จะได้รับผลตอบแทนเพิ่มจากค่าธรรมเนียมการให้ยืมในระหว่างรอให้ราคากลับมาอีกครั้ง หรือในกรณีเหรียญคริปโต โดยการนำเหรียญไปวางค้ำประกันไว้กับแพลตฟอร์มต่าง ๆ และจะได้รับผลตอบแทนเป็นเหรียญผ่านการ Stake เหรียญ ก็จะทำให้นักลงทุนสามารถรับผลตอบแทนตามที่ระบุไว้ตามแพลตฟอร์มการซื้อขายเหรียญต่าง ๆ หรือนักลงทุนก็อาจพิจารณาการทำ Farm หรือ Yield Farming โดยนำเหรียญไปฝากไว้ในแพลตฟอร์ม DeFi ที่ไว้ใจได้เพื่อสร้างสภาพคล่องให้กับแพลตฟอร์ม DeFi นั้น และนักลงทุนจะได้รับค่าตอบแทนจากค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มนั้น ๆ ในระหว่างที่รอให้ราคากลับขึ้นมาที่ดอย ก็ถือว่าเป็นการแวะพักที่จุดชมวิวระหว่างติดดอยก็ได้ครับ

อย่างไรก็ตาม การจะลงจากดอยแบบถาวรได้นั้น นักลงทุนจะต้องทลายกำแพงแห่งมายาคติที่นักลงทุนมีแนวโน้มในการยึดติดกับราคาหรือมูลค่าสินทรัพย์ที่ซื้อมา Daniel Kahneman ได้กล่าวไว้ว่า ความทรงจำของการลงทุนในสินทรัพย์จะคงอยู่ในจิตใจ ทำให้เกิดมายาคติที่เกี่ยวกับต้นทุนจม (sunk cost fallacy) ที่ทำให้ไม่สามารถตัดใจขายสินทรัพย์ในราคาขาดทุนได้ออกไปเสียก่อน ตามทฤษฎีแล้ว เมื่อตลาดขาลง (bear market) หรือเข้าซื้อผิดตัวหรือผิดจังหวะแล้วประสบปัญหาขาดทุน (underwater) นักลงทุนก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงความจริงนั้นไปได้ จำนวนเงินที่ลงทุนไปแล้วจึงถือเป็นต้นทุนจมในทางเศรษฐศาสตร์ ไม่สามารถเรียกคืนกลับมาได้ ดังนั้น สิ่งที่นักลงทุนจะต้องพิจารณาว่าจะถือสินทรัพย์ตัวนี้ต่อไปดีหรือไม่คือ ปัจจัยพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์นั้น ทั้งในปัจจุบันและอนาคต (ไม่ใช่อดีต) เช่น การเติบโตและความสามารถในการทำกำไร เป็นต้น ซึ่งหากพิจารณาแล้วว่าสินทรัพย์นี้ไม่มีอนาคตอีกต่อไป ก็ต้องขายออกไป แต่นักลงทุนส่วนใหญ่ไม่ตัดใจขายเพราะเสียดายต้นทุนที่ซื้อมา จึงทำให้เกิดมายาคติในการลงทุนจนไม่สามารถลงจากดอยได้สำเร็จนั่นเอง ดังนั้น ชาวดอยจะลงจากดอยได้สำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมการลงทุนนั่นเอง