Skip to content
เลี้ยงลูกให้ดีที่สุด….ด้วยหลักคิดทางเศรษฐศาสตร์ (ศ.ดร.ปังปอน,ศ.ดร.พิริยะ)
ศาสตราจารย์ ดร.ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ
– ผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนานโยบายและการจัดการ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (pungpond_r@yahoo.com) และศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ – ศาสตราจารย์ได้รับเงินเดือนขั้นสูง (ศาสตราจารย์ 11) และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) www.econ.nida.ac.th; piriya@nida.ac.th
ด้วยสังคมในปัจจุบัน การที่คู่สามีภรรยาสักคู่หนึ่งเลือกที่จะตัดสินใจที่จะมีลูกสักคนกลับกลายเป็นเรื่องยาก ในขณะที่ถ้ามีลูกคนหนึ่งแล้ว การที่ตัดสินใจที่จะมีคนที่สองกลับเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่า ถ้าเราจะถามถึงสาเหตุว่าเพราะเหตุใดการตัดสินใจจะมีลูกสักคนหรือสองคนจึงเป็นเรื่องที่ยากในโลกปัจจุบัน คำตอบที่ได้รับก็คงจะเดา ๆ กันไม่ยาก นั่นก็คือ “การมีลูกดูจะเป็นภาระอันใหญ่หลวงของหลาย ๆ คน” ไม่ว่าจะเป็นภาระทางด้านค่าใช้จ่าย ภาระด้านเวลา หรือภาระในการเลี้ยงดู จนอาจจะมีประโยคหนึ่งที่หลายคนอาจจะเคยได้ยินก็คือ “ถ้ามี (ลูก) แล้วเลี้ยงไม่ได้ดี สู้ที่จะไม่มีดีกว่า” สุดท้ายด้วยระนาบทางความคิดดังกล่าวจึงส่งให้สังคมไทยเรา มีประชากรเด็กเกิดใหม่ลดลงอย่างน่าใจหาย และแน่นอนว่าปัญหาเด็กเกิดใหม่น้อยนี้เป็นหนึ่งในปัญหาระดับชาติที่ยากต่อการแก้ไข
จะว่าไปแล้ว “การเลี้ยงลูกให้ดีที่สุด” เป็นคำพูดที่เป็นมโนคติที่หลายคนมักจะตกหลุมสื่อ ตกหลุมนักการตลาด และตกหลุมในสัญชาตญาณของมนุษย์เราเองที่มักเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนใดคนหนึ่งอย่างไม่มีที่ไม่สิ้นสุด แต่แท้จริงแล้ว ในทางเศรษฐศาสตร์ “การทำให้ดีที่สุด (maximize utility)” มีนัยยะพื้นฐานที่จะต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่า หนึ่ง เรากำลังเอาอะไรเป็นตัววัดอรรถประโยชน์ของการมีลูก และ ต้นทุนหรือทรัพยากรที่จำกัดของเราคืออะไร (budget constraints)
เอาเฉพาะข้อแรกเองก็ยากเกินกว่าที่มนุษย์พ่อมนุษย์แม่จะรู้ตัว เพราะการมีลูกมันเป็น “สินค้าประสบการณ์ (Experience Goods)” อย่างหนึ่ง เพราะคนมีลูกอยู่แล้วเท่านั้นถึงจะทราบว่าความสุข (และความทุกข์) ของการมีลูกมันเป็นเช่นไร ในขณะที่คนที่ไม่เคยมีประสบการณ์ของการมีลูกเองก็คงจะไม่สามารถประเมินผลประโยชน์จากการมีลูกได้
นอกจากนั้น ต่อให้คนเป็นพ่อเป็นแม่ที่มีลูกเองก็อาจจะยากที่จะเข้าใจความรู้สึกของตัวเองว่าเราควรที่จะเอาอะไรเป็นตัววัดถึง “ความสำเร็จของลูก” ไม่ว่าจะเป็น จะเอาความสุข เอาเกรดดี ๆ ต้องการลูกตัวสูงหุ่นดี ลูกมีอารมณ์ดี เรียนโรงเรียนดี ๆ คิดเลขเก่ง วาดรูปสวย เป็นแชมป์กีฬา สอบติดหมอ ไม่ติดยา ไม่ทำใครท้อง ไม่ท้องก่อนวัยอันควร ฯลฯ หรือแค่ลูกได้กินข้าวสามมื้อ พ่อแม่มีเวลาอยู่กับลูก กลางคืนนอนหลับดี ไม่งอแง ไม่เป็นโรค ร่างกายแข็งแรงก็พอแล้ว อย่าลืมว่าตอนลูกคลอดพ่อแม่ทุกคนพูดคล้าย ๆ กัน “ขอให้ลูกปลอดภัย ครบ 32 แข็งแรงก็พอแล้ว”
ฉะนั้นแล้ว เวลาเลี้ยงลูกแล้วเครียด กลุ้มใจสารพัด กลับมาถามตัวเองก่อนว่า ถ้าต้องการที่จะ “เลี้ยงลูกให้ดีที่สุด” ตัววัด “ดีที่สุด” ของเราคืออะไร มันเปลี่ยนไปจากเดิมหรือไม่ มันรวม “อยากได้ อยากมี และอยากเป็น” ที่เพิ่มขึ้นหรือเปล่า
แต่ในทางกลับกัน สมมติว่าเราได้ลูกเรียนเก่ง แต่เราต้องหมดเวลาไปกับการให้ลูกต้องไปนั่งติวหลังเลิกเรียนและเสาร์อาทิตย์เต็มวัน พ่อแม่ก็ทำงานหนักหาเงินมาจ่ายค่าสารพัด อาจเป็น “ที่สุดในเรื่องการเรียน และอนาคตที่ดี” แต่ความสุขของลูกก็อาจจะอยู่ “ที่สุดท้าย”
อย่าลืมว่า คำว่า “ลำบากก่อนสบายทีหลัง” เป็นเรื่องที่ใช้ได้กับบางเรื่อง เราอยาก “ทำดีที่สุด” กับลูกแบบไหน?
บางคนขอแค่ลูกมีกิน 3 มื้อ เรียนกลาง ๆ อยู่โรงเรียนธรรมดา ๆ ก็มีความสุขมากแล้ว และถ้าเขาเลือกแบบนั้นจริง ๆ จุดนั้นก็คือจุดที่เขาได้ “ทำดีที่สุด” แล้ว
ในขณะที่ในประเด็นของข้อที่สอง ในเรื่องทรัพยากรและข้อจำกัดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ให้ความสำคัญมาตั้งแต่แรกเริ่ม เพราะถ้าไม่รู้ว่าทรัพยากรของตัวเองมีอะไรบ้าง เราข้อจำกัดอยู่ที่ตรงไหน พอตัดสินใจอะไรออกมามันก็จะ “ขาด ๆ เกิน ๆ” (หรือที่ทางเศรษฐศาสตร์บอกว่า มันไม่ Optimum) เช่น อยากส่งลูกเรียนอินเตอร์ก็เครียด อยากให้ลูกเป็นแชมป์ว่ายน้ำก็เครียด มีเงินทองมากมายแต่ลูกไม่เก่งก็ยังเครียดได้ เพราะข้อจำกัดไม่ได้อยู่ที่เงินเท่านั้น แต่กลับต้องกลับมามองในข้อที่ 1 ก็คือ “คำว่าที่สุด” เราวัดกันที่ตรงไหน
ด้วยหลักการทางเศรษฐศาสตร์ที่ต้องการหาจุดเหมาะสม (Optimum) ในการเลี้ยงลูก เราควรต้องกลับมามองกันว่า “เรามีอะไรที่จะทำได้” พร้อมทั้ง “ขีดเส้นทรัพยากรและข้อจำกัดวงไว้ให้ดี” และเอาเท่าที่ได้ ไว้อนาคตข้างหน้า ถ้าข้อจำกัดของเราลดลง เราค่อยขยายความต้องการออกไปได้ ถ้าเงินมีไม่มีพอ ต้องเรียนโรงเรียนรัฐธรรมดา แข่งอะไรก็แพ้ หรือลูกฉลาดอย่างลูกเพื่อน ๆ เราจะได้ไม่เครียด ความสุขมันอาจจะอยู่ที่การยอมรับและความพอใจที่ตรงนั้น หาความ “ดีที่สุดหรือเหมาะสมที่สุด” ให้เจอระหว่างทาง (ระหว่างการเลี้ยงดู) ให้ได้
พ่อแม่ที่ชาญฉลาดจะรู้ข้อที่ 2. นี้ดี และพยายามขยายทรัพยากรและลดข้อจำกัดบนพื้นฐานของความเป็นไปได้ โดยคงไว้ซึ่งข้อที่ 1. ที่เราตกลงกันไว้ว่า “ดีที่สุด” ของเราคืออะไร
เราจะไม่โวยวาย เราจะวางแผน และเราจะมีความสุขกับกระบวนการ (Enjoy with the process) ที่จะไปถึงจุดที่ “ดีที่สุด” ที่เราทำได้ ที่ไม่เหมือน “ดีที่สุด” ของคนอื่น หรือ “ดีที่สุด” ในมโนคติของเราเอง
ต้องเข้าใจตรงกันว่าการกระทำไม่ใช่มโนคติ โดยเฉพาะการเลี้ยงลูกที่เกี่ยวข้องกับปัจจุบันและอนาคตของตัวลูกเอง
เราคงต้องเปลี่ยนเป้าหมาย
“เลี้ยงลูกให้ดีที่สุด” ให้เป็น
“เลี้ยงลูกให้ดีเท่าที่เราจะทำได้” ก็พอ