Skip to content
บทบาทของภาคการเกษตรต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทย (ผศ.ดร.สันติ)
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข
ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)
www.econ.nida.ac.th; Santi_nida@yahoo.com
www.econ.nida.ac.th; Santi_nida@yahoo.com
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าภาคการเกษตรได้ทำหน้าที่ในการบรรเทาความรุนแรงของผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งในแง่การรักษาระดับและเพิ่มมูลค่าของผลผลิตในภาคเศรษฐกิจได้บ้างทดแทนกับการสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการขาดรายได้ในสาขาบริการท่องเที่ยวซึ่งได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง
อีกทั้งยังช่วยรองรับแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดการจ้างงานอย่างเฉียบพลันและสูญเสียรายได้ที่จำเป็นต่อการครองชีพ ที่ได้หันหน้ากลับไปสู่การหารายได้และการจ้างงานในภาคเกษตรทดแทนในลักษณะของแรงงานคืนถิ่นจำนวนหนึ่ง
แม้ว่าสัดส่วนของมูลค่าทางเศรษฐกิจที่วัดโดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของไทยจะมีสัดส่วนของมูลค่าจากภาคการเกษตรน้อยกว่าภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการมาก บทบาทของภาคเกษตรในระบบเศรษฐกิจไทยในฐานะที่เป็นภาคเศรษฐกิจในการรักษาสมดุล รักษาความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง
มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์แปรรูปการเกษตรในช่วงที่ผ่านมาน่าจะเป็นตัวบ่งชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของภาคการเกษตรต่อระบบเศรษฐกิจไทยนอกเหนือจากการเป็นภาคเศรษฐกิจที่สร้างรายได้หรือสร้างมูลค่าได้อย่างเป็นกอบเป็นกำอย่างภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ
แต่บทบาทของภาคเกษตรในการลดผลกระทบและบรรเทาความเดือดร้อนจากการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจในช่วงที่เศรษฐกิจต้องมีการปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อความผันผวนของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจก็มีความสำคัญไม่น้อย และก็ต้องถือว่าเป็นความโชคดีของระบบเศรษฐกิจไทยที่ยังคงความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบในภาคเกษตรได้พอสมควรแม้ว่าความได้เปรียบในการแข่งขันจะมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างพอสมควรเช่นเดียวกัน
การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยที่ตั้งความหวังไว้กับ 2 ภาคเศรษฐกิจหลัก (เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจ) ได้แก่
(1) การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ที่คาดหวังว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้นตามระดับการเปิดประเทศที่เปิดมากขึ้นเข้าใกล้สู่ภาวะปกติที่จะไม่มีเงื่อนไขกำหนดพิเศษสำหรับการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย
และ (2) การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการส่งออก ซึ่งก็ยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ เช่น ข้อติดขัดทางด้านระบบโลจิสติกส์ระหว่างประเทศที่ส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นมา การปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางโดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาพลังงานที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจนอาจส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของภูมิรัฐศาสตร์ของโลกที่มีความเชื่อมโยงไปถึงการใช้มาตรการทางเศรษฐกิจเป็นเครื่องมือตอบโต้กันระหว่างประเทศจนอาจเกิดการแบ่งฝักฝ่ายมากขึ้นในกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งทางด้านการค้าและการลงทุน ฯลฯ
เมื่อพิจารณาจากกลไกหลักใน 2 ภาคเศรษฐกิจที่จะขับเคลื่อนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยก็จะพบว่า คงจะต้องอาศัยระยะเวลาพอสมควรในกระบวนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทย
ซึ่งก็จะทำให้เกิดข้อคำถามขึ้นมาได้ว่า ในระหว่างที่เศรษฐกิจกำลังค่อย ๆ ฟื้นตัวอยู่นี้ ภาคส่วนใดในระบบเศรษฐกิจจะสามารถทำหน้าที่ในการประคับประคองให้กระบวนการปรับตัวเพื่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจนี้เป็นไปอย่างเรียบร้อย ไม่เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นจนเป็นเหตุให้กระบวนการฟื้นตัวต้องสะดุดลงหรือล่าช้าออกไปมาก ๆ ซึ่งก็ย่อมทำให้ประชาชนที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจต้องได้รับผลกระทบมากขึ้น
เช่น การที่ประชาชนหรือครัวเรือนจะต้องก่อหนี้หรือมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นทั้งที่มีหนี้จำนวนมากอยู่แล้ว ความล่าช้าของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจบั่นทอนโอกาสและชะลอการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศซึ่งเป็นเหตุให้การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศต้องล่าช้าออกไปด้วย ฯลฯ
ส่วนหนึ่งของคำตอบสำหรับคำถามที่กล่าวถึงข้างต้นอาจจะอยู่ที่ภาคเกษตรในการทำหน้าที่สร้างความสมดุลของการพัฒนา เป็นพื้นที่ในการรองรับผลกระทบและการปรับตัวในช่วงของการเปลี่ยนผ่านไปสู่โครงสร้างทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับโครงสร้างปัจจัยการผลิตที่เป็นฐานของความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
การยกระดับผลิตภาพการผลิตของภาคเกษตร การประยุกต์เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยที่ไม่เพียงแต่อาศัยการใช้ทุนและเครื่องจักร แต่เป็นการผสมผสานทุนในรูปแบบของการพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ในภาคเกษตรจึงเป็นก้าวย่างที่สำคัญในกระบวนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจด้วยเพราะภาคเกษตรเป็นภาคเศรษฐกิจที่สามารถขับเคลื่อนได้จากภายในประเทศ สามารถกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจไปสู่ครัวเรือนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากเขตเมืองให้สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรการผลิตพื้นฐาน ได้แก่ ที่ดิน และแรงงาน เป็นต้น
ในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น ในขณะที่ภาคเศรษฐกิจอื่นยังต้องเผชิญกับเงื่อนไขความท้าทายต่อการขับเคลื่อนไปสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะปัจจัยทางเศรษฐกิจในต่างประเทศที่สามารถควบคุมได้ยาก มีการเปลี่ยนแปลงของขีดความสามารถในการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการที่จำเป็นต้องมีการปรับตัวและจำเป็นต้องมีภาคเศรษฐกิจอื่นที่จะรองรับผู้ที่ไม่สามารถปรับตัวได้และไม่สามารถแข่งขันได้ในบริบทของการแข่งขันในตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก ทำให้จำเป็นต้องมีการทบทวนและริเริ่มสะสมทุนเพื่อพัฒนาไปสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นที่สอดคล้องกับศักยภาพที่มีหรือที่พัฒนาขึ้น
ในระหว่างนี้ ภาคเกษตรสามารถเป็นฐานในการรองรับเพื่อให้เกิดการบ่มเพาะ และพัฒนาศักยภาพใหม่ ๆ ที่จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันที่สอดคล้องกับความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ที่สร้างให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มาก ภาคเกษตรจึงเปรียบได้กับการเป็นฐานเพื่อก้าวกระโดดไปสู่โครงสร้างทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ ในอนาคตได้
อย่างไรก็ตาม ภาคเกษตรเองก็เผชิญกับความเสี่ยงและความท้าทายในกระบวนการเปลี่ยนแปลงนี้เช่นเดียวกันกับภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ แนวทางการพัฒนาด้านการเกษตรเปลี่ยนแปลงไปสู่การเกษตรที่ใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีเป็นทุนที่สำคัญในการสร้างมูลค่าของผลิตผลทางการเกษตร แรงงานที่เข้าสู่ภาคเกษตรไม่ได้เป็นแรงงานทักษะต่ำ แต่จะเป็นแรงงานที่มีทักษะเฉพาะ มีทั้งทักษะทางด้านการบริหารจัดการฟาร์ม มีทักษะทางด้านเทคโนโลยีที่เพียงพอ (ไม่ใช่เฉพาะเพียงเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น) และมีองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำการเกษตร สามารถปรับเปลี่ยนวิธีการเพาะปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตที่เป็นไปตามมาตรฐานที่ตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศต้องการได้
ผลตอบแทนในภาคเกษตรในแนวทางการทำการเกษตรในยุคต่อไปที่ได้กล่าวถึงนั้นจะสูงขึ้นกว่าระดับผลตอบแทนเดิมที่เคยต่ำจนกระทั่งเกิดการไหลของแรงงานออกจากภาคการเกษตรไปยังภาคเศรษฐกิจอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า
ในทางตรงกันข้าม ผลตอบแทนในภาคเกษตรด้วยแนวทางการผลิตที่ทันสมัยจะเป็นแรงจูงใจให้ผู้สนใจที่มีทักษะไหลกลับเข้าสู่ภาคการเกษตรมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มแรงงานที่มีอายุไม่มาก มีประสบการณ์การทำงานมาพอสมควร มองเห็นการทำงานของตลาดสินค้าเกษตรและการตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคได้ ก็จะเห็นโอกาสในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วยช่องทางด้านการเกษตร
ดังนั้น กลไกหนึ่งในการสนับสนุนให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยได้อย่างยั่งยืน จึงควรจะได้ให้ความสำคัญ ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนายกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการเกษตร การดึงดูดแรงงาน หรือผู้ประกอบการรายย่อยที่มีความสนใจแนวทางการทำการเกษตรที่ทันสมัยให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุน การสนับสนุนให้เกิดการกระจายองค์ความรู้และการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมด้านการเกษตร ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนและเป็นฐานของการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยจากผลกระทบที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ