ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทัศนีย์ สติมานนท์
ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)
www.econ.nida.ac.th; ttonganupong@gmail.com
“การศึกษาผลกระทบของโควิด 19 ต่อประเด็นเกี่ยวกับการเกิดนั้นอาจต้องใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นทางการ จึงใช้วิธีการรวบรวมข้อมูลจากดัชนีคำค้นหาของ Google ในช่วงก่อนมีโควิด”
ประเทศไทยมีจำนวนเด็กแรกเกิดลดลงเรื่อยมา ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า มีเด็กแรกเกิดในปี 2564 จำนวน 544,570 คนลดลงจากปี 2563 ในอัตราร้อยละ 7.29 การลดลงของจำนวนเด็กแรกเกิดนั้นมิใช่ปรากฏการณ์ใหม่แต่อัตราการลดลงของจำนวนเด็กแรกเกิดในปีที่ผ่านมานั้นมีค่าสูงที่สุด ซึ่งจะส่งผลให้จำนวนประชากรวัยแรงงานลดลงในอนาคต
ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2565
การแพร่ระบาดของโควิด 19 นั้นถูกกล่าวถึงว่าเป็นต้นเหตุที่สำคัญซึ่งเร่งให้จำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลง โควิด 19 เข้ามาในประเทศไทยในช่วงต้นปี 2563 ผู้เขียนจึงสนใจว่า มีการศึกษาเชิงประจักษ์ในเรื่องนี้หรือไม่ และได้อ่านงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่มีข้อค้นพบน่าสนใจที่อยากจะเล่าสู่กันฟัง งานวิจัยนี้ศึกษาโดยศาสตราจารย์ Lawrence M. Berger และคณะ ได้รับการตีพิมพ์ในปี 2021 ซึ่งกล่าวว่า การศึกษาผลกระทบของโควิด 19 ต่อประเด็นเกี่ยวกับการเกิดนั้นอาจต้องใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นทางการ จึงใช้วิธีการรวบรวมข้อมูลจากดัชนีคำค้นหาของ Google ในช่วงก่อนมีโควิด ก่อนการล็อกดาวน์ ระหว่างการล็อกดาวน์ และภายหลังการล็อกดาวน์ (มกราคม 2559 – มิถุนายน 2563) โดยมีการเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศในสหภาพยุโรป (ออสเตรีย ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี สเปน และสหราชอาณาจักร) และมีสมมติฐานว่า ประชากรมีการรับรู้เกี่ยวกับโควิด 19 และรัฐมีมาตรการตอบสนองที่แตกต่างกันอาจส่งผลที่แตกต่างกัน โดยผู้วิจัยศึกษาคำค้นหาสำคัญต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกับการเกิด อาทิ การมีบุตร การแต่งงาน การคุมกำเนิด การทำแท้ง การหย่า ตลอดจนคำที่แสดงถึงรายละเอียด อาทิ การออกเดต การตรวจการตั้งครรภ์ การวางแผนมีบุตร เป็นต้น งานวิจัยข้างต้นมีข้อสรุปที่น่าสนใจที่สำคัญดังนี้
ประการแรก จากการทบทวนงานวิจัยที่ผ่านมา การตัดสินใจมีบุตรจะลดลงในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งการตัดสินใจมีบุตรคนแรก เนื่องจากช่วงเศรษฐกิจตกต่ำนั้นมีอัตราการว่างงานสูงและผู้ที่ยังคงมีงานทำไม่แน่ใจว่าตนจะถูกให้ออกจากงานหรือไม่ (job insecurity) ดังนั้น การว่างงานและความรู้สึกไม่มั่นคงทางอาชีพที่เพิ่มขึ้นจากการล็อกดาวน์ อาจส่งผลให้ตัดสินใจมีบุตรลดลง ซึ่งเป็นสมมติฐานที่สำคัญของงานวิจัยนี้
ประการที่สอง จากข้อมูลในงานวิจัยพบว่า ผลจากการล็อกดาวน์ทำให้ดัชนีการค้นหาคำอันได้แก่ การแต่งงาน การใช้ถุงยางอนามัย การคุมกำเนิดแบบฉุกเฉิน การตรวจการตั้งครรภ์ และการทำแท้ง ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่สำหรับดัชนีการค้นหาคำว่า การมีบุตรนั้นไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเท่าใดนัก
ประการที่สาม จากผลการวิจัยนั้นไม่เป็นที่แน่ชัดว่าการล็อกดาวน์ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจตกต่ำนั้นส่งผลให้เกิดการแยกทางกันเพิ่มขึ้นหรือไม่ โดยมีสมมติฐานซึ่งขัดแย้งกันสองทาง คือ
1) เศรษฐกิจตกต่ำทำให้เกิดความเครียดในด้านการเงินส่งผลให้มีความเสี่ยงในการแยกทางกันเพิ่มสูงขึ้น
และ 2) การอยู่ร่วมกันนั้นทำให้เกิดการร่วมกันรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่งผลให้เกิดการประหยัดค่าใช้จ่ายเมื่ออยู่ร่วมกัน (economies of scale) ทำให้การแยกทางนั้นมีต้นทุน ดังนั้นโอกาสในการตัดสินใจแยกทางกันในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำจึงลดลง ซึ่งนักวิจัยพบว่า ดัชนีการค้นหาคำที่เกี่ยวกับการหย่า (divorce) ลดลง ในขณะที่ดัชนีการค้นหาคำที่เกี่ยวกับการเลิกคบกัน (break-up) เพิ่มขึ้น โดยการเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ ในช่วงเริ่มต้นการล็อกดาวน์ และ
ประการสุดท้าย แม้ดัชนีการค้นหาคำเกี่ยวกับการเริ่มต้นใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน หรือการแยกทางกันจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากช่วงเวลาปกติ แต่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญเฉพาะช่วงเริ่มการล็อกดาวน์และหลังจากนั้นเพียง 2 – 3 เดือน โดยหากเปรียบเทียบระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศในสหภาพยุโรป พบว่า ดัชนีการค้นหาคำของประเทศในสหภาพยุโรปกลับมามีค่าเท่ากับช่วงเวลาปกติเร็วกว่าของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งผู้วิจัยได้ให้เหตุผลว่า เกิดจากสหรัฐอเมริกาได้รับผลกระทบจากโควิด 19 มากกว่า และมีมาตรการที่ตอบสนองต่อการแพร่ระบาดช้ากว่า อีกทั้งมาตรการของรัฐนั้นไม่ครอบคลุมเท่ากับประเทศในสหภาพยุโรป ผู้วิจัยจึงสรุปว่า ประเทศที่มีมาตรการการจัดการโควิดที่รวดเร็วและครอบคลุมมากกว่าจะมีผลกระทบของโควิดต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการมีบุตรน้อยกว่าและจะได้รับผลกระทบในระยะเวลาที่สั้นกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีมาตรการการจัดการโควิดที่ช้าและไม่ครอบคลุม
จากบทความข้างต้น พบว่า แม้การแพร่ระบาดของโควิดอาจส่งผลต่อพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการมีบุตร แต่จะส่งผลกระทบไม่มากและเป็นระยะเวลาสั้นหากรัฐบาลมีการจัดการเกี่ยวกับการแพร่ระบาดที่ดี ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ การลดลงของจำนวนเด็กแรกเกิดจากโควิดจะมากหรือน้อยเพียงใดคงต้องขึ้นกับการจัดการกับเจ้าโควิด 19 ของภาครัฐแล้วค่ะ สวัสดีปีใหม่ไทยล่วงหน้าค่ะ
เอกสารอ้าง อิงBerger, L. M., Ferrari, G., Leturcq, M., Panico, L., & Solaz, A. (2021). COVID-19 lockdowns and demographically-relevant Google Trends: A cross-national analysis. PLoS ONE, 16(3), e0248072. https://doi.org/10.1371/journal.pone.0248072สถิติประชากรศาสตร์ ประชากรและเคหะ. (2565). สำนักงานสถิติแห่งชาติ. http://statbbi.nso.go.th/staticreport/page/sector/th/01.aspx
ที่มาภาพข่าว : https://www.posttoday.com