โครงการซื้อหุ้นคืน ถ้าซื้อหุ้นตามจะได้กำไรหรือไม่? (ศ.ดร.สรศาสตร์)

ศาสตราจารย์ ดร.สรศาสตร์ สุขเจริญสิน
คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) www.econ.nida.ac.th;
sorasart@nida.ac.th

“ผู้บริหารอาจใช้วิธีการการซื้อหุ้นคืนในการทำราคาของหลักทรัพย์ผ่านช่องทางการส่งสัญญาณ (Signaling) ให้ผู้ลงทุนเข้าใจว่าราคาหุ้น ณ ขณะนั้นต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง”

ในช่วงที่ผ่านมา พวกเราอาจได้ยินว่าบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โครงการซื้อหุ้นคืนจำนวนมากเกิดขึ้น โครงการเหล่านี้คืออะไร และหลายคนอาจมีคำถามในใจว่าหากนักลงทุนทั่วไปซื้อหุ้นตาม จะได้กำไรหรือไม่?

วันนี้ ผมขอมาเล่าเรื่องนี้ให้ฟังครับ ก่อนอื่น ต้องขอเริ่มต้นจากนิยามของการซื้อหุ้นคืน (Stock Repurchase) ก่อนครับ การซื้อหุ้นคืน เป็นการที่บริษัทจดทะเบียนนำเงินสดส่วนเกินของกิจการไปซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้น การซื้อหุ้นคืนจึงนับเป็นการบริหารกระแสเงินสดสำหรับบริษัทที่มีกระแสเงินสดมากหรือมีสภาพคล่องส่วนเกิน หรือเป็นการแก้ปัญหาที่ผู้ถือหุ้นไม่เห็นด้วยกับมติที่ประชุม

ซึ่งประโยชน์ของการทำโครงการซื้อหุ้นคืนนั้น ในมุมของบริษัทถือเป็นการช่วยเพิ่มอุปสงค์ของหุ้นและเพิ่มมูลค่าหุ้นให้แก่บริษัท ส่งผลให้ผู้ถือหุ้นที่ยังคงถือหุ้นอยู่ มีความมั่งคั่งมากขึ้นและเป็นเครื่องมือในการปรับโครงสร้างทางการเงินของบริษัทอีกทางหนึ่งด้วย

โดยการซื้อหุ้นคืนของบริษัทในแต่ละครั้งจะส่งผลให้จำนวนหุ้นที่หมุนเวียนซื้อขายในตลาดลดลง ส่งผลให้กำไรสุทธิต่อหุ้น (Earnings Per Share: EPS) และมูลค่าตามบัญชีต่อหุ้นเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลให้ราคาหุ้นของบริษัทสูงขึ้นตามไปด้วย

และสำหรับบริษัทจดทะเบียนในบ้านเรา ก็มักจะใช้การซื้อหุ้นคืนนี้ เพื่อเป็นเครื่องมือหนึ่งในการส่งสัญญาณถึงมูลค่าที่แท้จริงของกิจการอีกด้วย หากผู้บริหารหรือกิจการใดที่มีสภาพคล่องส่วนเกินสูงและเห็นว่าราคาหุ้นของบริษัทตกต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐานที่ควรจะเป็น บริษัทก็จะประกาศดำเนินโครงการซื้อหุ้นคืน ซึ่งจำนวนการซื้อคืนจะมากหรือจะน้อยก็แล้วแต่หน้าตักและกระแสเงินสดส่วนเกินจากการดำเนินงานจะอำนวย

ดังจะเห็นได้จากจำนวนโครงการประกาศซื้อหุ้นคืนของกิจการในตลาดหลักทรัพย์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 จนถึงปี พ.ศ. 2563 จะมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงเกิดวิกฤตการณ์ต่างๆ เช่น ช่วงวิกฤต Lehman Brothers ในระหว่างปี พ.ศ. 2550 ถึง พ.ศ. 2553 ที่เศรษฐกิจโลกประสบภาวะผันผวนอย่างหนัก กระทบต่อความมั่นคงของตลาดเงินทั่วโลก ทำให้ตลาดหุ้นตกและราคาหุ้นของกิจการต่างๆ ลดลงอย่างรวดเร็ว และโครงการซื้อหุ้นคืนก็มีจำนวนโครงการเพิ่มขึ้นอีกครั้งในช่วงวิกฤตโควิด-19 ในช่วงปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นมา ที่มีจำนวนโครงการซื้อหุ้นคืนมากกว่าปกติ ดังแสดงในภาพที่ 1

ในขณะที่เงินปันผลถูกมองว่าเป็นภาระผูกพันของบริษัทที่จะต้องรักษาระดับการจ่ายเงินปันผลให้มีความสม่ำเสมออยู่ตลอดเพื่อตอบสนองความคาดหวังของผู้ลงทุน ดังนั้น การเพิ่มหรือลดระดับของการจ่ายเงินปันผลจะเกิดผลกระทบในเชิงลบต่อมูลค่าหุ้นของบริษัท แต่การซื้อหุ้นคืนนั้นถูกมองว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งเป็นคราว ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้บริหารและระดับของกระแสเงินสดอิสระส่วนเกินของบริษัท ซึ่งผู้บริหารอาจใช้วิธีการการซื้อหุ้นคืนในการทำราคาของหลักทรัพย์ผ่านช่องทางการส่งสัญญาณ (Signaling) ให้ผู้ลงทุนเข้าใจว่าราคาหุ้น ณ ขณะนั้นต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง (Undervalue) เนื่องจากในช่วงเวลาวิกฤติที่นักลงทุนในตลาด มักเกิดภาวะตื่นตระหนก (panic) หุ้นทุกตัวมีราคาที่ดิ่งลง แต่ไม่จำเป็นว่ากิจการทุกกิจการจะได้รับผลจากวิกฤตที่เท่ากัน กิจการใดที่ได้รับผลกระทบน้อย ยังมีผลการดำเนินงานที่ดี และมีกระแสเงินสดส่วนเกินมาก

โดยที่ผู้บริหารมองแล้วว่าราคาหุ้นในช่วงนั้นตกเกินกว่าปัจจัยพื้นฐานของกิจการ ก็อาจประกาศโครงการซื้อหุ้นคืนได้ ถือได้ว่ากิจการได้บริหารสภาพคล่องและซื้อหุ้นคืนได้ในราคาถูก และหากสถานการณ์คลี่คลายแล้วลดจำนวนหุ้นที่มีอยู่ลงก็ทำให้กำไรต่อหุ้นเพิ่มสูงขึ้น หรืออาจขายหุ้นออกไปในช่วงเวลาต่อมา เพื่อรับรู้กำไรก็ได้

จากสมมติฐานนี้ ทำให้นักลงทุนกลุ่มหนึ่งหัวใส คิดสร้างกลยุทธ์การลงทุนตามโครงการซื้อหุ้นคืนนี้ได้ หากสมมติฐานนี้เป็นจริง นักลงทุนจะซื้อหุ้นเมื่อมีประกาศโครงการซื้อหุ้นคืน ทำให้อุปสงค์ในหุ้นตัวนั้นเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลทำให้ราคาของหลักทรัพย์ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น จึงเกิดคำถามว่า หากจำลองกลยุทธ์การซื้อหุ้นตามโครงการซื้อหุ้นคืนของบริษัทต่างๆ จะสามารถสร้างผลตอบแทนเกินปกติได้หรือไม่

การศึกษาของ พรพิมล เทียนมณี และสรศาสตร์ สุขเจริญสิน (2565) เกี่ยวกับการจำลองกลยุทธ์การซื้อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตลาด เอ็ม เอ ไอ ที่ประกาศโครงการซื้อหุ้นคืน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550-2563 รวมระยะเวลา 13 ปี เป็นจำนวนทั้งสิ้น 158 เหตุการณ์ พบว่ามีอัตราผลตอบแทนที่ผิดปกติเกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อมีการประกาศโครงการซื้อหุ้นคืนของกิจการในช่วงเวลาดังกล่าว นั่นก็คือ การประกาศโครงการซื้อหุ้นคืนในประเทศไทยสอดคล้องกับสมมติฐานการส่งสัญญาณของบริษัทในช่วงวิกฤต หากบริษัทใดที่มีสภาพคล่องสูงและมองว่าหุ้นของกิจการมีราคาต่ำเกินไปก็จะดำเนินโครงการ แต่เมื่อนักลงทุนทั่วไปจำลองกลยุทธ์ซื้อตามโครงการดังกล่าวก็จะสามารถทำกำไรระยะสั้นได้นั่นเอง

ซึ่งผลการศึกษาทั้งสองช่วงเวลาสอดคล้องกับงานวิจัยในต่างประเทศ ที่พบว่าราคาหุ้นมักจะเพิ่มสูงขึ้นหลังจากที่บริษัทมีการประกาศซื้อหุ้นคืนแล้ว นอกจากนี้ ผู้วิจัยยังพบว่า การประกาศโครงการซื้อหุ้นคืนของบริษัทที่มีขนาดเล็กจะมีโอกาสทำให้เกิดอัตราผลตอบแทนที่มากกว่าบริษัทขนาดใหญ่อีกด้วย

ดังนั้น อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า การซื้อหุ้นคืนจึงเป็นเครื่องมือในการช่วยพยุงราคาหุ้นในช่วงระยะเวลาที่ทำการซื้อหุ้นคืนได้อย่างมีประสิทธิผลอีกเครื่องมือหนึ่งด้วย และนักลงทุนอาจใช้กลยุทธ์ในการเก็งกำไรเมื่อบริษัทประกาศซื้อหุ้นคืนได้ในระยะสั้นได้ ส่วนในระยะยาวผู้ถือหุ้นอาจต้องวิเคราะห์เพิ่มเติมในเรื่องของปัจจัยพื้นฐานประกอบด้วย เช่น ปัจจัยที่เกี่ยวกับผลการดำเนินงาน ฐานะทางการเงินของบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ ปัจจัยด้านภาวะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญควรคำนึงถึงปัจจัยด้านภาวะเศรษฐกิจประกอบการตัดสินใจลงทุนด้วยนะครับ

เอกสารอ้างอิง: พรพิมล เทียนมณี และ สรศาสตร์ สุขเจริญสิน. (2565). การซื้อหุ้นคืน ให้ผลประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้นจริงหรือไม่. Working paper. คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

ที่มาภาพข่าว : https://www.posttoday.com