เศรษฐศาสตร์กับความจริงที่จมน้ำ (ผศ.ดร.อัธกฤตย์)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัธกฤตย์ เทพมงคล
ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)
www.econ.nida.ac.th; athakrit.t@nida.ac.th

คำให้การของแก๊งค์สปีดโบ๊ทน่าจะเป็น “ความจริงที่มีเงื่อนงำ” หรืออีกนัยหนึ่งก็คือเป็น “ความจริงที่ไม่หมด” น่าจะมีบางอย่างที่บอกออกมาไม่ได้เนื่องจากมี “ต้นทุนบางอย่าง” ที่ไม่อยากให้ใครรู้

สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ใหญ่ ๆ โหด ๆ เกิดขึ้นมากมาย โหดที่หนึ่งต้องยกให้ความ “โหดสัสรัสเซีย” กับการตัดสินใจใช้กำลังทหารเปิดฉากโจมตีใส่ประเทศยูเครน จนคาดการณ์กันว่านี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามเย็นระดับโลกครั้งใหม่ โหดที่สองก็ยังคงแรงไม่แผ่วกับไวรัสโควิด 19 กับสายพันธุ์โอไมครอนในไทยที่พุ่งทะยานขึ้นอย่างรวดเร็วและชัดเจนว่าจะพุ่งต่อไปเรื่อย ๆ ในช่วงเดือนมีนาคมนี้ แต่ไม่ว่าจะเรื่องโหดไหนก็ตาม ผู้เขียนต้องขอสารภาพว่าสมองผู้เขียนวนเวียนแต่เรื่องโหดที่สามที่เกิดขึ้นกลางแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงค้ำของวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ใช่ครับ เรื่องราวการจมน้ำของคุณแตงโมดาราชื่อดังกับปริศนาแก๊งค์สปีดโบ๊ททั้งห้านั่นเอง

คดีของคุณแตงโมเป็นที่สนใจของสังคมไทยเป็นอย่างมาก มีการวิพากษ์วิจารณ์แสดงทรรศนะกันอย่างหลากหลายกว้างขวางจากคนทุกสายอาชีพ ผู้เขียนเองก็จะลองมองเรื่องราวนี้ผ่านมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ดู เผื่อจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย ทั้งนี้ต้องขอออกตัวโดยยืมคำของพี่หนุ่ม กรรชัย ไว้เลยว่าทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นการชี้นำสังคมแต่อย่างใด เป็นการลองคิดต่อจากข้อมูลที่สื่อต่าง ๆ ได้นำเสนอออกมาเท่านั้น

วันที่ผู้เขียนกำลังเขียนบทความนี้คือวันที่ 4 มีนาคม 2565 สังคมยังคงตั้งคำถามมากมายกับทั้งกับท่าทีของคุณแม่คุณแตงโม และปริศนาต่าง ๆ ของแก๊งค์สปีดโบ๊ท ในส่วนของรูปคดี คำถามใหญ่ที่สุดยังคงหนีไม่พ้นพฤติกรรมของคนทั้งห้าที่เลือกจะหายตัวไปจากที่เกิดเหตุ หายไปจากทีมกู้ภัยที่แห่กันมาให้ความช่วยเหลือ หายไปจากสื่อจากตำรวจจากสังคมที่อยากจะให้ความช่วยเหลือ แต่ไม่รู้รายละเอียดของเหตุการณ์ ทั้ง ๆ ที่พวกเขาเองบอกว่า ณ ตอนนั้นก็ยังไม่รู้ชะตากรรมของเพื่อนที่หายไปกับสายน้ำเลย มันขัดกับธรรมชาติของมนุษย์ที่เป็นเพื่อนกันเป็นอย่างมาก ซึ่งจากคำอธิบายของคนทั้งห้าจับใจความได้ว่า ได้ทำการขับช่วยวนหาแล้วกว่าสองชั่วโมง จึงเอาเรือไปเก็บ แล้วแต่ละคนก็แยกย้ายกันด้วยความตกใจกลัว เมื่อรวบรวมสติได้ ความพยายามที่จะติดต่อทนายความเกิดจากความไม่รู้จะต้องทำตัวยังไงจึงอยากขอคำชี้แนะ ก่อนจะเข้าพบตำรวจในช่วงหัวค่ำของวันถัดมา

ถ้าถามว่าการตัดสินใจของคนทั้งห้าคนนี้เป็นไปได้มั้ย ผมก็คงต้องตอบว่า “เป็นไปได้แหละ” แต่เป็นความเป็นไปได้ที่ “แปลกมาก” จริงอยู่ที่เศรษฐศาสตร์สอนเราว่าคนเรามีลักษณะความพึงใจ (preference) ที่แตกต่างหลากหลายภายใต้คุณลักษณะร่วมกันของความเป็นเหตุเป็นผลบางประการ การที่คนทั้งห้าคนล้วนตัดสินใจเหมือนกันที่จะหายตัวไปจากสังคมเนื่องจากความสับสนหรือความกลัวทั้ง ๆ ที่เพื่อนจมน้ำโดยอุบัติเหตุ แสดงถึงลักษณะความพึงใจจำเพาะที่ไม่ปกติทั่วไป

โดยปกติแล้ว เพื่อนหายไปต่อหน้ากลางแม่น้ำเจ้าพระยาแบบไม่มีวี่แววใด ๆ ย่อมแปลว่าจมน้ำและเสี่ยงที่จะตาย ความคิดว่าจะดำอยู่ใต้น้ำเหมือนนางเงือกแล้วไปขึ้นฝั่งกลับบ้านไปแล้วเป็นความคิดที่แทบจะเป็นนิยายเพ้อฝัน ถ้าแก๊งค์สปีดโบ๊ทมีความพึงใจที่อยากจะให้เพื่อนมีชีวิต การอยู่ในที่เกิดเหตุเพื่อขอความช่วยเหลือต่อสังคม ให้ข้อมูลกู้ภัย และเฝ้ารอไม่ว่าเพื่อนจะเป็นหรือตายขึ้นมาจากน้ำเป็นทางเลือกปกติที่คนส่วนใหญ่จะเลือก และถ้าทั้งห้าคนไม่มีใครเลือกเหมือนคนส่วนใหญ่เลย ตามหลักเศรษฐศาสตร์ มันชวนให้คิดว่าทั้งหาคนอาจจะมี “ต้นทุนบางอย่าง” ร่วมกันในการที่จะเผชิญหน้ากับสังคมในคืนนั้น และนี่คือสิ่งที่สังคมรวมทั้งผู้เขียนเองมีเครื่องหมายคำถามตัวใหญ่ ๆ ติดอยู่ในใจมาตลอดตั้งแต่เราได้ติดตามเหตุการณ์เศร้าสลดนี้มา

นอกจากนี้ คำบอกเล่าของคุณแซม (หนึ่งในแก๊งค์สปีดโบ๊ท) กับการนั่งฉี่แหวกบอดี้สูทในท่า wake boarding ของคุณแตงโม จนเป็นเหตุให้เสียหลักตกน้ำแบบไม่มีการตะกุยน้ำใด ๆ ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้สังคมขมวดคิ้วอย่างหนักว่า “มันเป็นไปได้จริง ๆ ใช่มั้ย” ต้องขอบอกว่าผู้เขียนเองก็เป็นคนหนึ่งที่ขมวดคิ้วเข้มไม่แพ้ใครเหมือนกันกับเรื่องราวนี้ แต่ถ้าคิดดี ๆ แบบใจเป็นกลาง “มันก็เป็นไปได้แหละ” แต่ก็เป็นความเป็นไปได้ที่ “แปลกมาก” แต่ก็เพราะความแปลกนี้แหละที่ทำให้เส้นเรื่องนี้มีความน่าเชื่อถือขึ้นมา

ในทางเศรษฐศาสตร์ เราเชื่อในทฤษฎีเกม (game theory) ซึ่งพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ คนเราสามารถมองทะลุไปถึง reaction ของคนอื่นก่อนที่จะตัดสินใจ ในกรณีที่หนึ่ง ถ้าความจริงคือทั้งหมดเป็นอุบัติเหตุที่เกิดจากความประมาทของคุณแตงโมเองแบบ 100% แก๊งค์สปีดโบ๊ทไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องโกหก การตัดสินใจที่ดีที่สุดคือบอกความจริงออกไปไม่ว่าความจริงนั้นจะ “แปลก” แค่ไหนก็ตาม เพราะมันจะสอดคล้องกับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อย่างแน่นอน ในกรณีที่สอง ถ้ามันไม่ใช่อุบัติเหตุ การที่จะเลือกเส้นเรื่องพิสดารขนาดนี้มาเป็นคำโกหกต่อสังคมแบบนี้หลังจากมีเวลาไตร่ตรองถึงกว่า 24 ชั่วโมง ผู้เขียนเห็นว่าเป็นการตัดสินใจที่ “แปลกประหลาด” ยิ่งกว่าตัวเรื่องราวเสียอีก เพราะเขาต้องรู้อยู่แล้วว่าคนเกินครึ่งประเทศต้องไม่เชื่อกับเรื่องแบบนี้แน่ ๆ ด้วยการวิเคราะห์นี้ ผู้เขียนจึงเชื่อว่าคำบอกเล่าของคุณเซน “เป็นความจริง” หรือไม่ก็ “น่าจะมีความจริงปนอยู่ในนั้น”

จากการวิเคราะห์ทั้งสองประเด็นข้างต้นนี้ ส่วนตัวผู้เขียนเองมองคล้าย ๆ กับพี่หนุ่มกรรชัย ว่าคำให้การของแก๊งค์สปีดโบ๊ทน่าจะเป็น “ความจริงที่มีเงื่อนงำ” หรืออีกนัยหนึ่งก็คือเป็น “ความจริงที่ไม่หมด” น่าจะมีบางอย่างที่บอกออกมาไม่ได้เนื่องจากมี “ต้นทุนบางอย่าง” ที่ไม่อยากให้ใครรู้ ซึ่งอาจจะเป็นความผิดในแบบที่ “เจตนาหรือไม่เจตนา” ก็ได้ ทั้งนี้ ผู้เขียนขอเน้นย้ำอีกที่ว่านี่เป็นแค่การแบ่งปันทรรศนะเท่านั้น เป็นหนึ่งเสียงของสังคมที่อยากจะช่วยกันคิดเผื่อจะเป็นประโยชน์ ไม่ได้เป็นการชี้นำสังคมหรือชี้นำคดีแต่อย่างใด

ถ้าเราลองคิดต่อ ว่าเศรษฐศาสตร์มีวิธีอะไรมั้ยที่จะช่วยหา “ความจริงที่หายไป” ได้? ความบังเอิญของเรื่องนี้ก็คือ ตัวอย่างของการใช้ทฤษฎีเกมที่นักเศรษฐศาสตร์ใช้กันอย่างแพร่หลายที่สุดก็คือเรื่องเกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนเช่นกัน เราเรียกกันว่า prisoner dilemma ไอเดียหลักของเกมนี้คือการตั้งแรงจูงใจและใช้ mind game ให้ผู้ต้องหาสารภาพความจริงออกมาเองทั้ง ๆ ที่ปราศจากหลักฐานเอาผิดใด ๆ โดยผู้ที่รับสารภาพจะได้รับการลดหย่อนโทษ ผู้ที่ไม่รับสารภาพจะโดนโทษหนัก ถ้าทุกคนรับสารภาพก็จะได้รับโทษปานกลางทั้งหมด แต่ถ้าทุกคนปฏิเสธข้อกล่าวหา ทุกคนก็จะพ้นข้อกล่าวหาไปเลย เงื่อนไขสำคัญคือ เราจะตัดขาดการติดต่อของทุกคนออกจากกันโดยสมบูรณ์ ด้วยเงื่อนไขนี้ ถ้ามีคนกระทำความผิดจริง จะมีคนในกลุ่มนั้นที่ยอมรับสารภาพเพื่อรับโทษเบาเนื่องจากเขาไม่มั่นใจว่าคนอื่นจะพร้อมใจกันปฏิเสธข้อกล่าวหาหรือไม่นั่นเอง ตามทฤษฎีแล้ว วิธีนี้จะทำให้ทุกคนตัดสินใจที่จะสารภาพ ในโลกของความเป็นจริง คนที่กระทำความผิดน้อยที่สุดจะยอมสารภาพก่อน ถ้าผลลัพธ์ออกมาว่าทุกคนปฏิเสธโดยพร้อมเพรียง นั่นอาจจะหมายความว่าพวกเขา “บริสุทธิ์” จริง ๆ หรือไม่ก็คือพวกเขาสามารถหาช่องทางในการติดต่อเพื่อเสริมความมั่นใจให้แก่กันว่าจะไม่มีใคร “ปริปาก”