รองศาสตราจารย์ ดร.ปริยดา สุขเจริญสิน
ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)
www.econ.nida.ac.th
ผู้ประกอบการร้านค้าที่เข้าโครงการคนละครึ่ง ที่ถูกตรวจสอบการเสียภาษี การเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง การเสียภาษีเพิ่มขึ้นมาก ทำให้ผู้ประกอบการบางรายถอดใจไม่ขอเข้าร่วมในเฟส 4 อีก
โครงการคนละครึ่ง นับเป็นความสำเร็จหนึ่งของภาครัฐในการพยายามเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชาชน ให้หันมาทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ และชำระเงินผ่านระบบ e-Payment มากขึ้นได้อย่างก้าวกระโดด ซึ่งประชาชนจะทำการลงทะเบียนรับสิทธิ์โครงการผ่านทางออนไลน์ และใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง ส่วนผู้ประกอบการก็ต้องลงทะเบียนและใช้แอปพลิเคชันถุงเงิน ซึ่งแม้ว่าจะมีขั้นตอนและกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ค่อนข้างวุ่นวายและซับซ้อน แต่ทั้งประชาชนและผู้ประกอบการก็พยายามกันอย่างมากในการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ เพราะประชาชนก็จะได้ประโยชน์ในแง่ของการลดค่าใช้จ่าย ในขณะที่ฝั่งร้านค้าก็จะได้ขายของได้มากขึ้น
โครงการคนละครึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 จนตอนนี้มาถึงเฟส 4 แล้ว โดยกระทรวงการคลังรายงานว่ามีผู้ประกอบการเข้าร่วมคนละครึ่งเฟส 4 จำนวน 1.35 ล้านราย ในขณะที่ผู้ใช้สิทธิ์มีรวมจำนวน 25.69 ล้านราย โดยยอดการใช้จ่ายรวมตอนนี้ทะลุ 4 หมื่นล้านบาทแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการใช้จ่ายในประเภทร้านอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งรวมถึงการใช้จ่ายผ่านฟู้ดดิลิเวอรี่แพลตฟอร์มด้วย ที่เพิ่มเติมเข้ามาให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด ตามมาด้วยหมวดการใช้จ่ายในร้านค้าทั่วไป และในเฟส 4 นี้ ประชาชนยังสามารถใช้สิทธิ์โครงการฯ เพื่อซื้อตั๋วโดยสารรถไฟฟ้าแบบเที่ยวเดียวได้ด้วย จึงเห็นได้ว่าโครงการนี้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการในการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และเป็นหนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้ผลดี จึงมีการดำเนินโครงการมาอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี มีประเด็นหนึ่งซึ่งเป็นที่กล่าวถึงกัน เกี่ยวกับรายได้ของผู้ประกอบการร้านค้าที่เข้าโครงการ ทั้งเรื่องการตรวจสอบการเสียภาษี การเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง การเสียภาษีเพิ่มขึ้นมาก และอื่นๆ ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการบางรายถอดใจไม่ขอเข้าร่วมในเฟส 4 อีก ซึ่งทางการก็ออกมาชี้แจงและยืนยันว่า โครงการนี้ไม่ได้เชื่อมต่อกับระบบฐานข้อมูลของกรมสรรพากร แต่กรมสรรพากรอาจมีวิธีการประเมินรายได้ว่าถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี และทำตรวจสอบการเสียภาษีตามปกติ จึงได้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นกับผู้ประกอบการบางราย
สำหรับรายละเอียดในเรื่องการยื่นแบบแสดงรายการสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยหรือร้านค้าที่เข้าร่วมคนละครึ่งที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลนั้น จะต้องทำการยื่นแบบฯ และเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามเงินได้พึงประเมิน มาตรา 40(8) ดังนั้น ประเด็นที่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่งควรทราบคือ เงินได้พึงประเมินในที่นี้ หมายถึงทั้งก้อนรายได้คนละครึ่งที่ผู้ประกอบการได้รับจากประชาชนที่มาซื้อสินค้าและบริการ รวมถึงอีกก้อน ที่เป็นครึ่งที่สนับสนุนโดยรัฐบาล เพราะถือว่าเป็นรายได้ของผู้ประกอบการทั้งสองก้อน นอกจากนี้ หากผู้ประกอบการนั้นมีรายได้จากแหล่งอื่นๆ ก็ต้องนำมาคิดรวมเป็นเงินได้พึงประเมินด้วย ซึ่งหากเงินได้ของผู้ประกอบการรายใดถึงเกณฑ์ขั้นต่ำในการยื่นแบบ ซึ่งกำหนดไว้ว่ากรณีคนโสด 60,000 บาทขึ้นไป หรือกรณีสมรสยื่นแบบรวมกันคือ 120,000 บาทขึ้นไป ก็ต้องยื่นแบบแสดงรายการ แต่จะต้องเสียภาษีหรือไม่นั้น จะขึ้นกับการคำนวณภาระภาษีอีกที แต่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่า หากรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษี ก็ไม่ต้องยื่นแบบฯ ซึ่งเป็นการทำผิดกฎหมาย ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาทเลยทีเดียว ซึ่งภาระในการยื่นแบบฯ ของเงินได้พึงประเมินประเภทนี้มีปีละ 2 ครั้ง คือ ยื่นแบบฯ ภาษีครึ่งปี หรือ ภ.ง.ด. 94 และภาษีประจำปี หรือ ภ.ง.ด. 90
ทีนี้จะต้องเสียภาษีหรือไม่นั้น เราต้องมาคำนวณภาระภาษีกัน โดยเงินได้ประเภทนี้มีวิธีการคำนวณได้ 2 วิธีด้วยกัน โดยวิธีแรกจะเป็นการนำเงินได้พึงประเมิน มาหักด้วยค่าใช้จ่าย ซึ่งสามารถเลือกหักแบบเหมาที่อัตราร้อยละ 60 หรือจะเลือกแบบหักค่าใช้จ่ายตามจริงก็ได้ จากนั้นจะหักค่าลดหย่อนต่างๆ แล้วจึงนำเงินได้สุทธิไปคำนวณภาษีตามขั้นบันได เริ่มตั้งแต่ร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 35 แต่หากคำนวณเงินได้สุทธิแล้วไม่เกิน 150,000 บาทต่อปี ก็จะไม่ต้องเสียภาษี ในขณะที่อีกวิธี จะเป็นการคำนวณภาษีแบบเหมา นั่นคือ นำเงินได้พึงประเมินมาคูณด้วยอัตราร้อยละ 0.5 แล้วนำไปเปรียบเทียบกับวิธีแรก หากไม่เท่ากัน ก็ให้เสียภาษีตามจำนวนที่สูงกว่า ดังนั้น จะเห็นได้ว่า จากการคำนวณแล้วหากปรากฏว่ามีภาระภาษีที่ต้องชำระ แต่กลับไม่ได้ยื่นแบบฯ หรือชำระภาษี ก็จะโดนทั้งโทษปรับ และเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนในส่วนของภาษีที่ต้องชำระ ก็หนักหนาพอควร แล้วยังมีอีกประเด็นสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องทราบคือ หากรายใดมียอดขายสุทธิเกินปีละ 1,800,000 บาท ก็ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT และมีภาระเพิ่มในส่วนของการออกใบกำกับภาษีขาย จัดทำรายงานภาษีขาย รายงานภาษีซื้อ เพื่อนำส่วนของภาษีส่งสรรพากรทุกเดือน มิเช่นนั้น อาจทำให้ทางสรรพากรเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มย้อนหลังได้อีก
ส่วนฝั่งประชาชนที่เป็นลูกค้านั้นไม่ได้รับผลกระทบในด้านภาษีจากการใช้จ่ายในโครงการใดๆ อีกทั้งการใช้จ่ายในลักษณะคนละครึ่งนี้กำหนดวงเงินเป็นรายวันและผู้ใช้สิทธิ์จะได้ส่วนลดร้อยละ 50 จากค่าใช้จ่าย จึงไม่ค่อยมีผลกระทบให้เกิดการใช้จ่ายเกินตัวแบบโครงการอื่นที่เป็นวงเงินรวมก้อนใหญ่อย่างเช่นช้อปดีมีคืน ที่ประชาชนอาจไปซื้อสินค้าที่เกินความจำเป็นเพื่อให้ได้สิทธิ์ตามวงเงิน แต่ได้ลดหย่อนภาษีเพียงส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปเท่านั้น ก่อให้เกิดภาระหนี้ที่ยังคงค้างตามมา ดังนั้น ประชาชนที่ใช้สิทธิ์โครงการคนละครึ่งก็ยังมีความสุขกับการจับจ่ายใช้สอยและชอบใจโครงการนี้ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง “เป๋าตัง” จะยังพร้อมจ่ายอยู่แน่นอนสำหรับเฟส 5,6,7,8,… (ถ้ามี)
แต่ “ถุงเงิน” ของทางฝั่งผู้ประกอบการจะพร้อมรับเงินแค่ไหน จะน้อยลงหรือจะถึงขั้นหายไปเลยไหมจากประเด็นต่างๆ เรื่องภาษีข้างต้นที่นำความกังวลใจมายังฝั่งผู้ประกอบการตาสีตาสาที่ไม่เข้าใจภาษาภาษีอย่างมาก คาดว่า น่าจะไม่ได้หายไปเกลี้ยงอย่างแน่นอน เพราะในช่วงแรก พ่อค้าแม่ค้าคงจะตกใจกับค่าใช้จ่ายด้านภาษีของตนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งแท้จริงแล้วก็ไม่ได้มาจากรัฐบาลเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเลย แต่เพราะจากการที่ผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ทำให้ประชาชนตัดสินใจมาซื้อสินค้าหรือใช้บริการของตนเพิ่มขึ้น เนื่องจากช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้ถูกลง ส่งผลให้รายได้ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นจนอาจถึงเกณฑ์ที่ต้องยื่นแบบฯ และชำระภาษี
อย่างไรก็ตาม ในเฟส 4 นี้มีผู้ประกอบการบางส่วนที่ตัดสินใจยกเลิกการรับเงินคนละครึ่ง แม้จะเห็นว่ารายได้หรือยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างมาก เพราะประเมินว่ามีค่าใช้จ่ายในส่วนต้นทุนขายมากอยู่แล้ว จึงไม่คุ้มกับเงินภาษีที่จ่ายไป ในประเด็นนี้ หากจะวิเคราะห์ว่าคุ้มหรือไม่ โดยดูกันที่ตัวเลข คงต้องมาดูกันเป็นเม็ดเงิน ว่ายอดขายที่เกิดจากการเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นมาเท่าไร หักค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนต่างๆ แล้ว มาเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายภาษีที่เพิ่มขึ้นว่ายังครอบคลุมหรือไม่ ซึ่งหากพิจารณาจากวิธีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบขั้นบันได จะเป็นการนำเงินได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนแล้วไปคำนวณภาระภาษี ตามอัตราภาษีที่เริ่มตั้งแต่ร้อยละ 5 ถึง ร้อยละ 35 ของเงินได้สุทธิ ซึ่งหมายความว่าหากผู้ประกอบการเห็นว่าการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาอาจไม่เพียงพอและน้อยกว่าความเป็นจริง ก็สามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบตามจริงได้ ทำให้เงินได้สุทธิย่อมสะท้อนถึงกำไรที่เหลือก่อนนำไปคำนวณภาษี และภาษีที่ต้องชำระจะเป็นสัดส่วนจากเงินได้สุทธินั้น ซึ่งไม่น่าที่จะเกินจากกำไรที่ได้รับ จึงเป็นประเด็นที่ชวนคิดว่า ความไม่คุ้มอยู่ที่จำนวนเงินค่าใช้จ่ายภาษีหรือไม่ ร้านค้าจึงไม่เข้าร่วมโครงการ เพราะอยากให้ผู้บริโภคไม่มาซื้อสินค้า จะได้เห็นยอดขายของตนลดลง เพื่อไม่ให้ถึงเกณฑ์ที่ต้องจ่ายภาษีอย่างนั้นหรือ แต่หากเพื่อไม่ให้ต้องมีเงินได้บางส่วนไปปรากฏอยู่ในระบบของภาครัฐ จะได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องยื่นแบบฯ หรือชำระภาษี ตอนนี้น่าจะไม่ทันแล้ว ผู้ประกอบการจึงควรทบทวนว่าควรให้ความสำคัญกับเรื่องใดภายใต้สถานการณ์โควิดนี้
ไม่ว่าโครงการคนละครึ่งจะมีวัตถุประสงค์อื่นนอกเหนือจากการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ก็ตาม แต่ก็น่าจะได้ข้อมูลของผู้มีเงินได้มาอยู่ในระบบภาษีมากขึ้น เมื่อทางการเห็นก็อยากให้ประชาชนได้ทำหน้าที่พลเมืองดี จึงส่งจดหมายแจ้งเตือนผู้ประกอบการให้ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อชำระภาษี เพราะตาสีตาสาอาจไม่รู้ตัวว่ามีรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องยื่นแบบฯ และชำระภาษี ดังนั้น พลเมืองดีก็ควรรีบปฏิบัติตาม มิเช่นนั้นอาจมีค่าเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามมาอีก
ที่มา : www.posttoday.com