การปรับตัวของแรงงานในภาคการท่องเที่ยวในยุคโควิด-19 (ศ.ดร.พิริยะ)

ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์
ศาสตราจารย์ได้รับเงินเดือนขั้นสูง (ศาสตราจารย์ 11)
และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)
www.econ.nida.ac.th; piriya@nida.ac.th

โควิด 2 ปี กว่าที่ผ่านมากระทบภาคแรงงานมหาศาล โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่มีแรงงานไม่ต่ำกว่า 3.9 ล้านคน ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเกือบสองปีที่ผ่านมาได้ส่งผลต่อปัญหาการว่างงานอย่างมหาศาล โดยเฉพาะแรงงานที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวและบริการซึ่งมีประมาณ 3.9 ล้านคน (ไม่รวมสาขาการค้าส่งและการค้าปลีก) จะได้รับผลกระทบจากการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติและการท่องเที่ยวในประเทศประมาณ 2.5 ล้านคน แต่อย่างไรก็ดี คำถามที่ตามมาก็คือ โควิด-19 เข้ามากระทบกับแรงงานกลุ่มนี้อย่างไร เมื่อแรงงานเหล่านั้นต้องมีการว่างงานหรือถูกลดค่าจ้าง แรงงานเหล่านั้นจะต้องมีการปรับตัวอย่างไร

งานศึกษาในชุดโครงการ “ผลกระทบของโควิด-19 ต่อภาคเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวไทย” (ที่มีผมเป็นหัวหน้าชุดโครงการ) ซึ่งงานนี้ได้รับการสนับสนุนด้านทุนวิจัยจาก “หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข. – กลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์)” โดยส่วนหนึ่งของชุดโครงการนี้ทางทีมวิจัยของเรา (ซึ่งได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ และคณะ) ได้ทำการสำรวจแรงงานในภาคการท่องเที่ยวจำนวน 1,500 คนใน 10 จังหวัด ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มจังหวัดใหญ่ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ และระยอง และกลุ่มจังหวัดเล็กได้แก่ กระบี่ สุราษฎร์ธานี กาญจนบุรี เพชรบุรี และอยุธยา ซึ่งได้มีการเก็บข้อมูลทั้งในฝั่งของธุรกิจทั้งหมด 5 ธุรกิจ ประกอบไปด้วย 1. ธุรกิจนำเที่ยว 2. ธุรกิจโรงแรมและที่พัก 3. ธุรกิจการขนส่ง/ธุรกิจจำหน่ายสินค้าและของที่ระลึก 4. ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม 5. ธุรกิจนันทนาการ โดยช่วงระยะเวลาที่เก็บเริ่มตั้งแต่เดือนต้นเดือน ธันวาคม พ.ศ. 2563 ไปจนถึงกลางเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 ซึ่งใช้เวลาเก็บประมาณหนึ่งเดือนครึ่ง อันเป็นช่วงหลังล็อกดาวน์รอบแรกของประเทศ และอยู่ระหว่างการเริ่มต้นไปในช่วงที่สองของการระบาดโควิด-19 (ต้นพฤศจิกายน พ.ศ. 2563)

จากข้อมูลการสำรวจพบว่า แรงงานในภาคการท่องเที่ยวกว่าร้อยละ 86.9 ยอมรับว่าได้รับผลกระทบไม่ทางใดก็ทางหนึ่งจากการระบาดของโรค และมีเพียงร้อยละ 13.1 เท่านั้น ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์ดังกล่าว โดยสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบ ส่วนใหญ่จะเป็นผลกระทบในด้านการถูกลดค่าจ้าง/ค่าตอบแทน ร้อยละ 52.7 ของแรงงานทั้งหมด รองลงมาเป็นผลกระทบในด้านการถูกลดเวลาทำงาน ร้อยละ 50.1 การถูกเลิกจ้าง ร้อยละ 10.6 และการถูกโอนย้ายไปยังตำแหน่งงานอื่น/สาขาอื่น ร้อยละ 3.3

หากพิจารณาแยกตามกลุ่มธุรกิจ พบว่า ธุรกิจนันทนาการเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีแรงงานได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยส่วนมากเป็นผลกระทบในด้านการถูกลดค่าจ้าง/ค่าตอบแทน และถูกลดเวลาทำงาน รองลงมาเป็นกลุ่มธุรกิจนำเที่ยว โดยส่วนมากเป็นผลกระทบในด้านการถูกลดค่าจ้าง/ค่าตอบแทน และถูกลดเวลาทำงานเช่นกัน ในขณะที่กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเป็นกลุ่มธุรกิจที่แรงงานได้รับผลกระทบน้อยที่สุด แต่ก็มีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 81

อย่างไรก็ตาม กลับพบว่า ในภาพรวมมีแรงงานที่ถูกเลิกจ้างเพียงร้อยละ 36.7 เท่านั้นที่ได้รับเงินชดเชยการถูกเลิกจ้าง โดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90.2 ได้รับเงินชดเชยจำนวน 1-3 เดือนเท่านั้น และมีเพียงร้อยละ 9.8 ของแรงงานที่ถูกเลิกจ้างที่ได้รับเงินชดเชยจำนวน 4-6 เดือนในกรณีของแรงงานถูกเลิกจ้าง พบว่า มีการปรับตัวที่แตกต่างกันออกไป โดยในภาพรวม แรงงานส่วนใหญ่ที่ถูกเลิกจ้างจะปรับตัวโดยพึ่งพาอาศัยสวัสดิการต่างๆ จากภาครัฐ รองลงมา คือ การกลับภูมิลำเนา/กลับไปอาศัยอยู่กับครอบครัว, มีการหาอาชีพใหม่ในภาคการท่องเที่ยว การหาอาชีพใหม่นอกภาคการท่องเที่ยว และการประกอบธุรกิจของตนเอง ตามลำดับ โดยหากพิจารณาแยกตามมิติด้านประเภทธุรกิจ พบว่า แรงงานในธุรกิจขนส่ง ธุรกิจนันทนาการ และธุรกิจโรงแรมและที่พัก ที่ถูกเลิกจ้างส่วนใหญ่จะพึ่งพาอาศัยสวัสดิการต่างๆ จากภาครัฐ ในขณะที่แรงงานในธุรกิจจำหน่ายสินค้าและของที่ระลึก และธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ที่ถูกเลิกจ้างถูกเลิกจ้างส่วนใหญ่จะกลับภูมิลำเนา/กลับไปอาศัยอยู่กับครอบครัว และแรงงานในธุรกิจนำเที่ยวที่ถูกเลิกจ้างถูกเลิกจ้างส่วนใหญ่จะหาอาชีพใหม่ในภาคการท่องเที่ยว

นอกจากแรงงานจำนวนหนึ่งได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้างแล้ว ยังมีแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการถูกลดค่าจ้าง หรือค่าตอบแทนในการทำงานลงด้วย โดยพบว่ามีแรงงานในภาคการท่องเที่ยวที่ถูกปรับลดค่าจ้างมากกว่าร้อยละ 52.7 หรือเกินกว่าครึ่งหนึ่งของแรงงานทั้งหมด โดยรายได้ที่ถูกปรับลดโดยเฉลี่ยจะมีมูลค่าประมาณร้อยละ 40.4 ของรายได้เดิมก่อนเกิดวิกฤติ และมีระยะเวลาที่ถูกปรับลดค่าจ้างยาวนานถึง 4-6 เดือน ทั้งนี้หากพิจารณารายประเภทธุรกิจ จะพบว่า แรงงานในธุรกิจนันทนาการถูกปรับลดค่าจ้างมากที่สุด ประมาณร้อยละ 64.5 ของแรงงานทั้งหมดในภาคธุรกิจ รองลงมา คือ ธุรกิจโรงแรมและที่พัก ร้อยละ 62.3 ธุรกิจนำเที่ยว ร้อยละ 52.8 ทั้งนี้ ธุรกิจขนส่งเป็นธุรกิจที่แรงงานถูกปรับลดค่าจ้างน้อยที่สุด โดยมีประมาณร้อยละ 30.2 ของแรงงานทั้งหมดที่ถูกปรับลดค่าจ้างลง

นอกจากนี้ การสำรวจยังพบว่า มีแนวทางในการปรับตัวเพื่อรับมือกับผลกระทบที่แตกต่างกันออกไป โดยแรงงานส่วนใหญ่ที่ถูกปรับลดค่าจ้างจะวางแผนการใช้จ่ายเงิน ประหยัดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน มากถึงร้อยละ 88.2 รองลงมา คือ การหาอาชีพเสริม ร้อยละ 54.7 การพึ่งพาสวัสดิการต่างๆ จากภาครัฐ ร้อยละ 36.0 และหาอาชีพใหม่ที่ได้ผลตอบแทนสูงกว่า ร้อยละ 13.2

นอกจากนี้ ทางทีมยังได้ทำการสำรวจผลกระทบของแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ การใช้ชีวิต และสภาพจิตใจ ซึ่งจากผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าแรงงานเกือบทั้งหมด ประมาณร้อยละ 98.2 ยอมรับว่าตนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคโดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ซึ่งมีแรงงานกว่าร้อยละ 94.2 ที่ได้รับผลกระทบในด้านดังกล่าวนี้ รองลงมาเป็นผลกระทบด้านความสะดวกในการใช้ชีวิต ร้อยละ 87.3 ด้านสภาพจิตใจ ร้อยละ 70.4 และด้านความสัมพันธ์ในครอบครัว ร้อยละ 33.5 จากผลของการสำรวจนี้ทำให้พบว่า แรงงานในภาคการท่องเที่ยวมีการปรับตัวต่อสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป แต่สิ่งที่พึงกังวลก็คือ ถ้าปัญหาโควิด-19 นี้จะกินระยะเวลานานจากการกลายพันธุ์ของไวรัส โดยถึงแม้ว่าจะมีการฉีดวัคซีนในประเทศต่าง ๆ แล้ว แต่เศรษฐกิจของประเทศ (และของโลก) คงจะไม่ได้เกิดการฟื้นตัวในเร็ววัน โดยสาเหตุสำคัญประการหนึ่งก็คือ การที่ประเทศจำต้องสูญเสียศักยภาพของแรงงานและทุนมนุษย์อย่างมหาศาลจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้ ยกตัวอย่างเช่น

1. แรงงานที่ตกงานอาจจะสูญเสียทักษะและประสบการณ์จากการว่างงานเป็นเวลานานเกินไป จนกระทั่งทักษะเหล่านั้นอาจจะเกิดการล้าสมัย (Obsolete)

2. เนื่องจากการที่เศรษฐกิจไม่ได้เกิดการฟื้นตัวอย่างเต็มที่ นายจ้างอาจใช้เวลาที่ใช้ในการว่างงานเป็นเครื่องมือในการคัดกรองเช่นเพื่อกำจัดพนักงานที่ต้องการน้อยลงในการตัดสินใจจ้างงาน หรือการที่ภาคอุตสาหกรรมเกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้เทคโนโลยีเพื่อทดแทนการจ้างงาน อันส่งผลทำให้ความต้องการในการจ้างงานจำเป็นต้องน้อยลงกว่าเดิม

3. ไม่เฉพาะเพียงในนอกจากในประเด็นด้านการว่างงาน การเกิดขึ้นของโรคโควิด-19 ยังนำมาซึ่งการเจ็บไข้ได้ป่วย และการสูญเสียชีวิตของผู้คนซึ่งจะส่งผลต่อการลดลงของทั้งปริมาณและคุณภาพแรงงาน ที่อาจไม่สามารถกลับไปทำงานได้อย่างเช่นเดิม และ

4. การที่บัณฑิตที่จบใหม่จากรั้วการศึกษาอาจไม่สามารถที่จะหางานที่ตรงตามที่จบมา โดยผลการศึกษาจากงานวิจัยหลายชิ้นในต่างประเทศ ที่มีการประเมินผลกระทบต่อแรงงานที่จบการศึกษาในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ พบว่า นอกจากผลกระทบระยะสั้นในเรื่องการหางานทำแล้ว การจบการศึกษาในช่วงวิกฤติยังส่งผล กระทบในระยะยาว ทั้งในเรื่องเส้นทางความก้าวหน้าในหน้าที่การงานและรายได้ในอนาคตอีกด้วย โดยแรงงานกลุ่มนี้ มีแนวโน้มที่จะทำงานไม่ตรงตามระดับการศึกษา เป็นการทำงานที่ต่ำกว่าระดับการศึกษาที่จบมา และทำงานไม่ตรงตามสาขาที่เรียนจบมา โดยเฉพาะแรงงานที่จบการศึกษาในสาขาที่ต้องทำงานในภาคเอกชน

ดังนั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ภาครัฐควรศึกษาสถานการณ์ของการว่างงานของแรงงานในภาคการท่องเที่ยวไทยหลังยุคโควิด-19 รวมไปถึงความสามารถในการปรับตัวของแรงงาน รวมไปถึงการสร้างโอกาสในการพัฒนาทักษะแรงงานที่จำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคความปกติใหม่ รวมไปถึงการเข้าใจถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การแนวทางในการจ้างงาน การปรับโครงสร้างองค์กร การลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อทดแทนการจ้างงาน เป็นต้น