โอไมครอน (ณ ก.พ. 65) และเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 – 2565  เราควรระวังอะไรบ้าง? (รศ.ดร.อภิรดา)

รองศาสตราจารย์ ดร.อภิรดา ชิณประทีป

ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)

www.econ.nida.ac.th; apirada.ch@gmail.com; apirada.c@nida.ac.th

โอไมครอน (ณ ก.พ. 65) และเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 – 2565  เราควรระวังอะไรบ้าง?

จากที่ผู้เขียนได้มีโอกาสลงโพสต์ทูเดย์หลายฉบับเกี่ยวกับ โควิด-19 กับ การพลิกวิกฤติเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ และได้พูดถึงสถานการณ์โรงเรียน ไปบ้างแล้ว  ตั้งแต่ปี 2563 และปี 2564  และประเทศเราได้มีการสร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจเป็นระยะ

โอกาสนี้ ก่อนอื่นขอกล่าวถึงข่าวดีที่ในปี 2565 หรือ 2022 นี้ประเทศไทยได้รับการพิจารณาเป็นประเทศที่ได้รับความนิยมสำหรับนักท่องเที่ยวทั่วโลกในการมาพำนักหลังเกษียณซึ่งอยู่ในอันดับโลกอันดับที่ 5  (ซึ่งบังเอิญสอดคล้องในหัวข้อที่ 3 ที่ผู้เขียนได้ลงสำหรับโพสต์ทูเดย์เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 ก่อนหน้านี้ สำหรับท่านผู้อ่านที่สนใจได้มีการพูดถึงแนวทางการจัดการในสถานการณ์เมื่อปลายปีที่แล้วด้วย)

นิตยสารอินเทอร์เนชันแนลลิฟวิง (International Living) ยกให้ประเทศไทย เป็นประเทศที่น่าใช้ชีวิตบั้นปลายเป็นอันดับ 1 ของทวีปเอเชีย และที่ 11 ของโลก  โดย Global Retirement Index ประจำปี 2022 ได้ทำการจัดอันดับ 25 ประเทศที่เหมาะจะใช้ชีวิตหลังเกษียณ ระบุด้วยว่า กรุงเทพมหานคร, หรือหัวเมืองใหญ่ๆ อย่าง เชียงใหม่ และ หัวหินในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คือหนึ่งในเมืองที่ได้รับความนิยมสำหรับการใช้ชีวิตหลังเกษียณมากที่สุด

ในขณะที่สถานการณ์ยังคงเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และยังคงมีสายพันธุ์ใหม่ ที่เราอาจจะยังต้องระวังและรับมือเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดการฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างราบรื่น

 

  1. การรับมือโควิด รูปแบบใหม่  และ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ควรออกรูปแบบใหม่ ปรับให้มีความเหมาะสมขึ้น


ผู้เขียนจึงอยากจะนำเสนอแนวความคิดในการจัดการสำหรับไตรมาสแรกของปี 2565 เนื่องจากมีสายพันธุ์ใหม่หรือโอไมครอน เมื่อปลายปีที่ผ่านมา  ซึ่งความกังวลของสายพันธุ์นี้ถึงแม้ว่าจะดูเหมือนอาการที่ผู้ป่วยได้รับไม่หนักจนเกินไป สิ่งที่น่าสังเกตอาจจะเกิดจากการที่เรามีวัคซีนและมีการให้เข็มกระตุ้นแล้วค่อนข้างมากพอสมควร อย่างไรก็ดีผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน รวมถึงกลุ่มเปราะบางยังมีโอกาสที่จะเป็นผู้ป่วยหนักได้ดังนั้น การฉีดวัคซีนจึงยังเป็นความสำคัญ โดยให้ระวังเรื่องผลข้างเคียงโดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวควบคู่กันไปด้วย

ในความเป็นจริง ด้วยลักษณะของโรคที่มีความซับซ้อนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตรวจพบยาก ไม่มีอาการแต่ติดได้มากขึ้น แพร่กระจายเร็วขึ้น กลุ่มเสี่ยงใหม่ เช่น เด็กวัยรุ่น และเด็กอายุลดลง การที่เชื้อไม่ลงปอดทันที และยังมีการกลายพันธุ์สายพันธุ์ย่อยอีก เป็นต้น  ในขณะที่เศรษฐกิจมีบางส่วนที่กำลังดีขึ้น แต่ก็มีเรื่องภาระด้านต่างๆ ที่สั่งสมมาระยะเวลาต่อเนื่องยาวนาน มาตรการต่างๆ ควรจะต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

ความน่าสนใจของสายพันธุ์โอไมครอนที่ยังมีการกลายพันธุ์ย่อยไปอีก ยังเป็นเรื่องใหม่  ดังนั้นสิ่งที่ได้รับจากข้อสังเกตจากสถานการณ์ต่างประเทศที่ได้มีการระบาดก่อนอาจจะพอเป็นประโยชน์ คือความเสี่ยงใหม่นี้มีโอกาสเกิดขึ้นกับเด็กได้ด้วย และมีโอกาสที่จะมีการแพร่กระจายถึงแม้ว่าจะฉีดวัคซีนแล้วโดยอาการอาจจะไม่หนักหรือไม่มีอาการก็ตาม การศึกษาของประเทศเดนมาร์กเมื่อปลายปี 2564 ยังได้พบว่ากลุ่มวัยรุ่นกลุ่มที่อายุน้อยกว่า 40 แม้จะได้รับวัคซีนแล้วก็ยังสามารถเป็นพาหะได้ นอกจากนั้นในหลายประเทศก็พบว่ากลุ่มเสี่ยงเพิ่มเติม ได้แก่กลุ่มเด็กมีอัตราส่วนเพิ่มขึ้นได้เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ก่อนๆ  รวมถึงการมีเชื้อมากในส่วนของน้ำลาย เป็นต้น ดังนั้นจึงมีการใช้เครื่องตรวจ ATK ด้วยน้ำลายที่ช่วยเพิ่มเติมได้ด้วยอีกทาง อย่างไรก็ตามในเรื่องของรายละเอียดที่แน่ชัดผู้เขียนคงจะขอละไว้ให้กลุ่มคุณหมอผู้ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญมาคอยย้ำเตือนให้ข้อสังเกตในเรื่องเหล่านี้

สิ่งหนึ่งคือควรระวัง คือ เรื่องการตรวจจับยากโดยธรรมชาติของเชื้อชนิดใหม่ด้วย ATK ที่มีหลากหลายให้เลือกใช้ นอกจากนั้นอาจจะต้องให้แน่ใจหลายครั้ง ดังนั้น หากคนไม่รู้ตัวว่าที่จริงตนเองมีเชื้ออยู่ก็ยังมีโอกาสแพร่ได้กับคนรอบข้างโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ยิ่งการติดเชื้อแบบไม่มีอาการ ก็จะน่าเป็นห่วง การนำไปติดให้กับกลุ่มสุขภาพเปราะบางอยู่แล้ว และรวมถึงผู้สูงอายุยิ่งในครอบครัวใกล้ชิด ยิ่งในกรณีที่อาการไม่หนัก การใช้ home isolation หากผู้ป่วยชะล่าใจก็จึงมีความเสี่ยงเช่นกันในการแพร่เชื้อกระจายต่อ   หรือกรณีที่สายพันธุ์ใหม่นี้แพร่กระจายได้รวดเร็วมาก หากต้องเข้าโรงพยาบาลจำนวนมากขึ้น กรณีดังล่าวก็ต้องลองระวังไว้ ทั้งนี้ยังโชคดีที่ ณ สถานการณ์ปัจจุบันอาการผู้ป่วยสายพันธุ์ใหม่นี้ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ทำให้เกิดภาระกับสถานพยาบาลมากนัก

               มีหลายประเทศที่สถานการณ์เริ่มดีขึ้น ขณะเดียวกันก็มีหลายประเทศที่ในช่วงสัปดาห์นี้มีคนป่วยติดเชื้อจำนวนสูงขึ้นมากอย่างรวดเร็ว รวมถึงอัตราการตาย ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา หรือ ญี่ปุ่น จึงยังไม่น่าวางใจได้ 100%

               เมื่อการติดเชื้อง่าย กระจายวงกว้างรวดเร็ว  นอกจากจะเกิดความเป็นไปได้เกี่ยวกับภาระเรื่องการรักษา การสาธารณสุข ยังมีเรื่องธุรกิจประกัน ภาคการผลิต ภาคธุรกิจ หรือ ภาระทั้งกับประชาชนเอง และด้านการคลังของประเทศ และอื่นๆ ที่พ่วงมา สิ่งเหล่านี้ จึงอาจจะต้องมีการปรับปรุงมาตรการให้เหมาะสมกับสถานการณ์แต่ละช่วงด้วย เพื่อให้เกิดความสมดุลกับทุกฝ่ายและไม่เป็นภาระกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากเกินไป

เรื่องของความสมดุลด้านเศรษฐกิจเราได้กล่าวมาแล้วหลายครั้งในบทความก่อนหน้านี้ รวมถึงครั้งนี้ก็ขออนุญาตกล่าวอีกสักเล็กน้อยเนื่องจากถ้าเราสามารถเข้าใจและสามารถดำเนินการป้องกันสายพันธุ์ใหม่ๆ หรือมีการระมัดระวังและการติดเชื้อทำให้ไม่เกิดความรุนแรง หรือไม่ทำให้เกิดการเสียชีวิต ก็น่าจะทำให้การดำเนินเศรษฐกิจเป็นไปได้อย่างราบรื่นมากขึ้น โดยเชื่อว่าถ้ามีการป้องกันได้อย่างดีน่าจะค่อยๆ ดีขึ้นกลับเข้าสู่ภาวะปรกติตามลำดับ และภายในไตรมาสแรกนี้น่าจะเห็นว่า ถ้าไม่มีสายพันธุ์ใหม่ที่รุนแรงหรือจำนวนผู้ติดเชื้ออย่างรุนแรง รวมถึงผู้เสียชีวิต ภายในปลายไตรมาสหนึ่งและน่าจะเห็นเศรษฐกิจค่อยฟื้นขึ้นอีกภายในไตรมาส 2 ของปีนี้ตามลำดับ  อย่างไรก็ตามความระมัดระวังไม่ประมาทยังต้องมีอยู่ต่อเนื่องอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากปัจจุบันได้พบสายพันธุ์ใหม่ที่แตกแยกย่อยจากสายพันธุ์โอไมครอน และทางแอฟริกาสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่เพิ่มเติม หรือจากที่อื่นๆ ก็มีความเป็นไปได้ที่เราอาจจะต้องระวังต่อเนื่องไว้ก่อน เนื่องจากประสิทธิภาพของวัคซีนอาจลดลงในการรับมือสายพันธุ์ใหม่ๆ  และที่ต้องระมัดระวังคือการเพิ่มขึ้นของการติดเชื้ออย่างรวดเร็วมากเกินไป

 ในสิ่งที่กังวลอยู่ไม่น้อยที่ควบคู่กัน คือความเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งสาขาเศรษฐกิจที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงหลังจากที่โควิด-19 ซาลงแล้ว มีมุมมองค่อนข้างหลากหลายทางด้านเศรษฐศาสตร์ โดยหลายท่านได้ให้ความเห็นเอาไว้ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นตัวในรูปแบบของตัว V ตัว W และตัว K  เป็นต้น  และผู้เขียนก็จะได้นำมานำเสนอในรายละเอียดในครั้งต่อไป

จากรูปที่ 1 และ 2 เปรียบเทียบเศรษฐกิจผลกระทบจากการระบาดระลอกแรกที่ลงโพสต์ทูเดย์ฉบับ 11 พ.ค. 2564 แล้ว และเทียบกับการประกาศตัวเลขจริงต่อมาพบว่า ผลจากการระบาดระลอก 2 และ 3 ระลอกต่อๆ มา มีผลกระทบค่อนข้างสำคัญพอสมควร

 

รูปที่ 1  ความเห็นการประมาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ(เฉพาะจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกแรกเมื่อต้นปี 2563 เท่านั้น)

 

ที่มา: อภิรดา ชิณประทีปและคณะ รายงานการประมาณการผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่หรือ โควิด-19 (Covid-19) ต่อเศรษฐกิจไทย สำหรับลงโพสต์ทูเดย์ฉบับ 11 พ.ค. 2564

**หมายเหตุ รูปนี้ลงโพสต์ทูเดย์ฉบับ 11 พ.ค. 2564 แล้ว

 

รูปที่ 2   การประกาศตัวเลข ณ ธันวาคม 2564

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย การแถลงข่าวผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธันวาคม 2564

 

  1. สถานการณ์ระหว่างประเทศและภาวะเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องระยะสั้น


ในเรื่องของสถานการณ์ระหว่างประเทศก็มีความน่าสนใจเนื่องจากการที่มีสถานการณ์โควิด-19 ร่วมด้วยกับภาวะเศรษฐกิจ ถ้าทางเศรษฐศาสตร์เราเรียกว่าวัฏจักรทางธุรกิจที่อาจจะมีการขึ้นและลงเป็นระลอกประมาณทุก 6-10 ปีแล้วแต่สถานการณ์ ซึ่งในรายละเอียดคงจะขอไว้กล่าวในเรื่องนี้โดยเฉพาะเมื่อมีโอกาสหน้า ทั้งนี้เนื่องจากมีสถานการณ์โควิด-19 ที่เป็น shock เข้ามาทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยิ่งแตกต่างกันในระหว่างประเทศต่างๆ รวมถึงการฟื้นตัวจากสถานการณ์ที่ไม่เท่ากันด้วย ดังนั้นผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวนี้ก็อาจจะยังทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ด้วย เช่น ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ราคาสินค้าเกษตร อาหาร และทรัพยากรสำคัญๆ เช่น  น้ำมัน เป็นต้น ที่อาจมีความผันผวน หรือแม้แต่โลหะมีค่าก็ตาม  รวมไปจนถึงเรื่องของการผลิต เรื่องของด้านโลจิสติกส์การขนส่ง ก็คงจะมีผลกระทบอยู่  ดังนั้นเราอาจจะต้องระมัดระวัง และอาจจะต้องมีมาตรการเสริม คือทุกครั้งที่มีสถานการณ์ความผันผวนเหล่านี้เราอาจจะต้องมองเผื่อล่วงหน้าและมีการเตรียมพร้อมสำหรับการแก้ไขปัญหาที่อาจจะตามมาด้วย

เนื่องจากตอนนี้มีเรื่องของราคาสินค้าอาหาร เช่น อาจจะเกิดจากโรคระบาดอื่นเพิ่มเติมร่วมด้วยทำให้ราคาเนื้อหมูแพงขึ้น ดังนั้นการมองอาจจะต้องมองเป็นภาพรวมว่าในห่วงโซ่อุปทานหรือแม้แต่ห่วงโซ่คุณค่า หรือสินค้าใกล้เคียงที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงหรือทางอ้อม ของเนื้อหมู  และจะเกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่อย่างไร   ยกตัวอย่างเช่น  เมื่อหลายๆ ปัจจัยที่มีผลทำให้การบริโภคภายในประเทศได้รับผลกระทบในเรื่องของเนื้อดิบ  ก็อาจจะคิดถึงเรื่องของการบริโภคขั้นต่อไป เช่นร้านอาหารหรือประชาชนก็จะเกิดผลกระทบได้ สินค้าที่เกี่ยวข้องทั้งสินค้าประกอบกัน และสินค้าทดแทนเช่น เนื้อไก่ เป็นต้น และรอบต่อไปก็จะเป็นเรื่องของรายได้ของพ่อค้าแม่ขายได้รับผลกระทบและยังสามารถส่งผ่านรอบต่อไปได้อีกเล็กน้อย  ถ้าเราเรียนทางด้านเศรษฐศาสตร์เราก็นึกถึง “ตัวทวี (multiplier)” ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็จะทำให้เกิดเป็นผลกระทบส่งผ่านรอบถัดไปได้ที่ทำให้ส่วนของการได้รับผลกระทบ มีทั้งเรื่องการบริโภค การผลิต รายได้ การจ้างงาน ค่าครองชีพ แล้วก็อาจจะมีเรื่องของภาษีที่จะเก็บได้ลดลงตามลำดับ ถ้าเศรษฐกิจดีภาษีก็จะสามารถเก็บได้มากขึ้นแม้ว่าอัตราจะเท่าเดิม เป็นต้น ในที่สุดก็จะส่งผลต่อรายได้ประชาชาติด้วย   การแก้ปัญหาจึงอาจจะต้องไปที่ต้นเหตุ ในขณะเดียวกันก็ลองพิจารณาผู้ที่ได้รับผลกระทบเกี่ยวเนื่อง ก็จะทำให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ตรงจุดและราบรื่นขึ้น

ส่วนราคาน้ำมัน หรือน้ำมันปาล์มที่ใช้บริโภคที่ราคาแพงขึ้นค่อนข้างมาก เป็นประมาณขวดละ 70 บาท ช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา การวิเคราะห์อาจจะต้องพิจารณาเป็นภาพรวม และการปรับปรุงอย่างยั่งยืนก็อาจจะมีการพิจารณาแบบบูรณาการ เช่น การใช้ในการอุปโภคบริโภค หรือการที่มีการใช้ในส่วนที่เป็นเชื้อเพลิง พลังงานทางเลือก การเพาะปลูก และอื่นๆ เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกัน  นอกจากนั้นยังมีเรื่องสถานการณ์ระหว่างประเทศหรือระดับโลกที่อาจมีผลกระทบได้

เรื่องสถานการณ์ระหว่างประเทศล่าสุด โอกาสระหว่างความตึงเครียดระหว่างยูเครน และรัสเซีย ถึงมีอยู่บ้าง แต่ส่วนตัวคิดว่า ทางสหรัฐยังไม่น่าจะเข้ามาเกี่ยวข้อง ณ สถานการณ์ระยะใกล้ๆ นี้   ดังนั้นผลกระทบในเรื่องเศรษฐกิจที่จะส่งผลต่อมาน่าจะเป็นความผันผวนระยะสั้น  (ณ สถานการณ์ ก.พ. 65)

ในสถานการณ์ที่เราได้มีการทำความร่วมมือกับซาอุดิอาระเบียซึ่งเป็นเรื่องที่ hot ในช่วงนี้ซึ่งอาจจะขออนุญาตกล่าวถึงเล็กน้อย จากที่เราทราบกันดีว่าเป็นประเทศที่มีรายได้สูงจากการส่งออกน้ำมันและก็ยังเป็นประเทศที่มีความร่ำรวยมากในภูมิภาคตะวันออกกลาง  เราอาจจะคิดถึงประโยชน์ความร่วมมือแลกเปลี่ยนด้านการค้าและการลงทุนโดยเราอาจจะต้องมองในแง่ของความต้องการภายในประเทศเราเปรียบเทียบร่วมด้วย และการส่งเสริมเรื่องของการพัฒนาแรงงาน เพิ่มเติมไปจากด้านปริมาณจำนวนแรงงานจากด้านความต้องการของซาอุดิอาระเบียซึ่งมีรายได้เฟื่องฟูจากการส่งออกน้ำมันเป็นเวลานาน  ในช่วงที่โลกมีความผันผวนในแง่ของราคาสินค้าต่างๆ รวมถึงน้ำมันด้วย และในเรื่องของการพัฒนาพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน หรือแม้แต่ในเรื่องของเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนไปทำให้อาจจะทำให้เกิดความไม่มั่นใจในเรื่องของการพึ่งพิงเน้นการส่งออกน้ำมันเป็นหลักอย่างเดิมก็ได้  ดังนั้น ถ้าเราจะสามารถจะทำให้อาจจะเกิดการร่วมมือด้านการค้าระหว่างประเทศได้ในแง่ของการดึงดูดการลงทุนทั้งในกรณีให้มาลงทุนที่ประเทศไทย และในการที่ประเทศไทยอาจจะสามารถไปเปิดสาขา หรือมีการไปลงทุนในประเทศซาอุได้ในสิ่งที่เรามีความสามารถที่จะแข่งขันได้  ซึ่งกรณีของประเทศจีนที่ผู้เขียนเห็นข่าวล่าสุดได้มีการเปิดสาขาของ Huawei ที่ประเทศซาอุดิอาระเบียเมื่อต้นปีนี้เอง ซึ่งเป็นสาขาขนาดใหญ่มากที่สุดนอกประเทศจีน  สะท้อนภาพให้เราสามารถพิจารณาเห็นถึงศักยภาพของตลาดภายในประเทศของประเทศซาอุดิอาระเบียที่มีความน่าสนใจ

 

 


  1. ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจในไตรมาส 2


ปัญหาในเรื่องของเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ที่เราคาดว่าน่าจะดีขึ้นยังต้องพบกับปัจจัยเสี่ยงอยู่บางประการได้แก่ในเรื่องของราคาสินค้าอุปโภคบริโภค  ในเรื่องของราคาสินค้าที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตในขั้นต่อไปของเรา หรือว่ามีแม้แต่เทคโนโลยีบางตัวที่จะต้องใช้เป็นปัจจัยการผลิต  รวมไปจนถึงในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ เช่นน้ำมันและวัตถุดิบสำคัญอื่นๆ ที่เราจะต้องนำเข้า  ในเรื่องของพลังงานภาพรวม  ในเรื่องของความผันผวนของทั้งในแง่ของปริมาณและราคา นอกจากนี้ยังมีเรื่องของอุปสงค์หรือ demand ของต่างประเทศที่ยังคงไม่มีความแน่นอนในระยะหนึ่งที่มีการฟื้นตัวของแต่ละประเทศแตกต่างกัน ซึ่งส่วนนี้นอกจากจะกระทบในเรื่องความต้องการสินค้าส่งออกของเราแล้ว ยังรวมถึงการฟื้นตัวด้านการท่องเที่ยวระหว่างประเทศด้วย

ก่อนหน้านี้ ปีที่แล้ว ส่วนตัวเคยคิดไว้ว่า การlockdown ของประเทศจีนอาจจะไม่ได้แย่เกินไปสำหรับประเทศจีนในระยะสั้น.ไม่เห็นด้วยกับบทวิเคราะห์. reuters ช่วงนั้น ซึ่งบังเอิญตัวเลขของจีนที่เพิ่งประกาศเดือนนี้ถูกต้องตามที่เราคาดไว้. …แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันเนื่องจาก…. การใช้นโยบายจำกัดให้โควิดเหลือศูนย์ของจีนอย่างเข้มงวดค่อนข้างใช้เวลานาน… ประกอบกับเรื่องปัญหาเศรษฐกิจภายในเช่นภาคอสังหาฯ และอื่น ๆ ของภายในจีนเอง ที่มีการสะสมต่อเนื่องมา เราคงต้องรอดูต่อกันค่ะ

และยังรวมไปถึงในเรื่องของประเทศคู่แข่งขันทางการค้ากับเราด้วย  เมื่อทุกๆ ประเทศในโลกมีการผลิตที่ได้รับปัญหาจากสถานการณ์โรคระบาด ต่อมาเมื่อปรับสู่ภาวะปรกติได้แล้ว นั่นหมายความว่าการนำเข้าส่งออกก็จะทำให้ส่วนที่เราเคยได้เปรียบในช่วงการระบาดก็จะกลับค่อยๆ คลายลง  ดังนั้นสิ่งที่เราควรจะรีบทำควรที่จะพยายามมองว่าเราจะทำยังไงให้ความสามารถของเราพัฒนาขึ้นไปอีก  หรือแม้แต่เรื่องของหาทางด้านของอุปสงค์ของบางประเทศที่ปัจจุบันมีอุปสงค์ในสถานการณ์โควิด-19 เราอาจจะต้องเผื่อเตรียมพร้อมเอาไว้ล่วงหน้าว่าอุปสงค์ต่างๆ อาจจะต้องมีการปรับตัวหลังจากสถานการณ์โควิดที่คลี่คลายลงแล้ว ก็อาจจะทำให้เกิดอุปสงค์ที่ปรับกลับไปสู่แบบเดิมทั้งก่อนหน้าที่จะมีสถานการณ์โควิด-19 และในบางส่วนที่เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงก็มีด้วยเช่นกัน  ดังนั้นภาพของภายหลังจากที่ภายหลังสถานการณ์ก็น่าจะอยู่ในลักษณะที่เป็นคล้ายๆ กับการแบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ ซึ่งในส่วนนี้มีความน่าสนใจและผู้เขียนก็จะได้นำมานำเสนอในรายละเอียดในครั้งต่อไปเพื่อนำเสนอให้ผู้อ่านท่านที่สนใจ

นอกจากนั้น ยังมีเรื่องสถานการณ์ภาคการเงิน อัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย ที่อาจจะมีผลต่อเศรษฐกิจในไตรมาสต่อไปด้วย รวมไปถึงการที่เรายังต้องจับตากับสถานการณ์โควิด  และการบริหารจัดการที่เหมาะสมแล้วแต่สถานการณ์ระยะนั้นๆ ก็จะมีความสามารถช่วยได้ด้วยบางส่วน

สุดท้ายนี้โดยหวังว่าบทความนี้จะส่งผ่านแง่คิดบางประการในโอกาสนี้ และทุกท่านผู้อ่านและครอบครัวปลอดภัย มีพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง มีกำลังใจต่อสู้ผ่านพ้นอุปสรรค เริ่มต้นปีด้วยความสมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ และด้านเศรษฐกิจตลอดปีที่มาถึงนี้ เชื่อว่าสถานการณ์กำลังค่อยๆ ดีขึ้นค่ะ

 (หมายเหตุ: เป็นความเห็นส่วนตัวเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องตรงกับหน่วยงานที่กล่าวถึงในบทความ หากมีข้อเสนอแนะหรือแลกเปลี่ยนสามารถแนะนำได้ที่ email: apiradach@gmail.com ขอบคุณยิ่ง)

ที่มาข้อมูลภาพข่าว : https://www.posttoday.com