เศรษฐศาสตร์แห่ง “ความรัก” (ศ.ดร.พิริยะ)

เศรษฐศาสตร์แห่ง “ความรัก”

ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ 
ศาสตราจารย์ได้รับเงินเดือนขั้นสูง (ศาสตราจารย์ 11)
และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)
www.econ.nida.ac.th; piriya@nida.ac.th

เชื่อหรือไม่ว่านักเศรษฐศาสตร์ก็ได้ทำการศึกษาความสัมพันธ์โดยใช้เศรษฐศาสตร์มาอธิบายในเรื่องของ “ความรัก” เช่นเดียวกัน

เดือนกุมภาพันธ์ของทุกๆ ปีช่วงเทศกาลของวันวาเลนไทน์ ถึงแม้ว่าจะเป็นเทศกาลของต่างประเทศก็ตาม แต่คนไทยเราเองก็ตื่นตัวไม่น้อยกับเทศกาลแห่งความรักนี้ ถึงแม้ว่าวันวาเลนไทน์จะมีต้นกำเนิดมาจากความรักของหนุ่มสาวก็ตาม แต่ก็ได้มีการยอมรับให้เทศกาลนี้เปรียบเสมือนกับเป็นสัญลักษณ์ของความรักทุกประเภทไปแล้ว และไม่มีประเทศใด สังคมใด หรือศาสนาใดห้ามไม่ให้คนมีความรักต่อกัน

เชื่อหรือไม่ว่านักเศรษฐศาสตร์ก็ได้ทำการศึกษาความสัมพันธ์โดยใช้เศรษฐศาสตร์มาอธิบายในเรื่องของ “ความรัก” เช่นเดียวกัน โดยมีกรอบแนวคิดแบบง่ายๆ ก็คือ ยิ่งสังคมใดมีความรักมากขึ้นเท่าไหร่ สังคมนั้นก็จะมีผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ (Economic Rewards) มากขึ้นเท่านั้น ผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ในที่นี้สามารถวัดได้ทั้งผลได้ทางสังคมและผลได้ทางเศรษฐกิจ มีงานศึกษาทางวิชาการจำนวนมากอธิบายว่าเศรษฐกิจของประเทศจะเจริญเติบโตขึ้นเมื่อคนในประเทศนั้นยึดมั่นในศาสนาของตน ซึ่งโดยทั่วไปศาสนาจะเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางใจให้คนในประเทศนั้นรักใคร่ปรองดองและสมัครสมานสามัคคีกัน ความมั่นคงของมนุษย์ย่อมเกิดขึ้นได้เมื่อสังคมมีแต่ความรักและความเห็นอกเห็นใจกัน

ในขณะเดียวกัน ถ้าพิจารณาจากสิ่งที่ตรงข้ามกับความรัก นั่นก็คือ “ความเกลียดชัง” จะเห็นได้ว่าความเกลียดชังได้สร้างต้นทุนทางตรงอย่างมหาศาลต่อสังคมและเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการก่อการร้าย สงคราม การฆาตกรรม การล่วงละเมิดทางเพศ ยาเสพติด การกดขี่ข่มเหง เป็นต้น ซึ่งต้นทุนดังกล่าวอาจสามารถวัดเป็นในเชิงความเสียหายของมูลค่าทรัพย์สินก็ได้ หรือต้นทุนทางสังคมก็ได้ รัฐบาลในหลายๆประเทศจำเป็นที่จะต้องจัดสรรงบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อแบกรับภาระต้นทุนจากความเกลียดชังดังกล่าว รวมไปถึงพยายามที่จะลดต้นทุนที่เกิดขึ้นจากสาเหตุของ “ความเกลียดชัง” นี้

นอกจากนี้ ต้นทุนทางอ้อมที่เกิดขึ้นจากความเกลียดก็คือ ความหวาดระแวง ความหวาดกลัว ความไม่มั่นใจ ความไม่เชื่อมั่น และความวิตกกังวลในเรื่องต่างๆ ถึงแม้ว่าต้นทุนทางอ้อมนี้จะไม่สามารถวัดออกมาให้อยู่ในรูปในรูปของตัวเงินได้ก็ตาม แต่ทุกคนที่จะต้องเผชิญกับภาวะดังกล่าวก็คงจะทราบถึงต้นทุนทางจิตใจ (Psychic Cost) ที่สูงอันเป็นการบั่นทอนคุณภาพชีวิต และประสิทธิภาพของบุคลากรในสังคมนั้น ซึ่งต้นทุนทางอ้อมนี้มีผลกระทบและระยะเวลาที่ยาวนานกว่าต้นทุนทางตรงมากนัก จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่าถ้ามีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งในสังคมที่ไม่มีความรักแต่กลับก่อความเดือดร้อนต่อคนในสังคมนั้น (เช่น การก่อการร้าย การล่วงละเมิดทางเพศ การค้ายาเสพติด ฯลฯ) จะทำให้ต้นทุนทางสังคมและเศรษฐกิจจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นทวีคูณและยากต่อการเยียวยารักษา

ถึงแม้ว่าในอดีตที่ผ่านมาจะมีไม่กี่ครั้งที่คนไทยเราจะได้มีโอกาสแสดงถึงความรักที่มีต่อกัน แต่เราก็เห็นได้ว่าอานุภาพของความรักในแต่ละครั้งได้ทำให้เกิดพลังอย่างมหาศาลกับสังคมไทยในขณะนั้น ซึ่งในการที่จะทำให้สังคมมีความรัก ในบางครั้งคนในสังคมจำเป็นจะต้องมีการ “เสียภาษีของความรัก” บ้างเช่น การซื้อของไปฝากเพื่อนร่วมงาน การช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทางสังคม รวมไปถึงการไปทำบุญทำทานบ้างเป็นครั้งคราวต่างก็เป็นค่าใช้จ่ายที่คนในสังคมจำเป็นต้องเสียบ้างเพื่อแสดงความรักต่อคนอื่นๆ ถึงแม้ว่าประโยชน์จากการเสียภาษีของความรักนั้นอาจจะไม่ได้กลับมาถึงตัวคุณโดยตรง แต่เชื่อเถอะครับว่าภาษีที่คุณเสียไปนั้นได้ตกไปสู่คนอื่นๆ ในสังคมให้ได้รับประโยชน์อย่างแน่นอน ซึ่งจุดนี้แสดงถึงผลได้ทางเศรษฐศาสตร์จากการมีความรัก (Economic Benefit from Love)

ในท้ายนี้ อาจจะต้องฝากเอาไว้ว่า ในการที่ภาครัฐและหลายๆฝ่ายที่ตรงข้ามกับคณะรัฐบาลชุดปัจจุบันจะลดต้นทุนและเพิ่มผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคมจากความรักได้นั้น จำเป็นที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องมี “ความปรองดอง” และ “ความรัก” ต่อกันและกัน ไม่จำเป็นต้องไปตั้งกลุ่มชุมนุมประท้วงหรือไปเสียเวลาออกนโยบายทางเศรษฐกิจที่ซับซ้อน แค่คนในประเทศมีความรัก เศรษฐกิจของประเทศก็จะเกิดเสถียรภาพและมีการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนได้ในตัวของมันเองอยู่แล้ว ดังนั้น “ทุกฝ่าย” รักกันไว้ก่อนเถอะครับ อย่างน้อยก็เป็นการช่วยให้เศรษฐกิจและสังคมของประเทศท่านดีขึ้น

ที่มาภาพข่าว : www.posttoday.com