ของแพง ไม่ใช่ (แค่) เรื่องหมูๆ (รศ.ดร.ยุทธนา)

รองศาสตราจารย์ ดร.ยุทธนา เศรษฐปราโมทย์
ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)

www.econ.nida.ac.th; yuthana.s@nida.ac.th

ของแพง ไม่ใช่ (แค่) เรื่องหมูๆ

               ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา การปรับราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของเนื้อหมู และเนื้อสัตว์อื่น ๆ เช่น ไก่ เป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อประชาชนทั่วไปในวงกว้าง โดยการระบาดของโรคอหิวาต์​แอฟริกาสุกร (ASF) เป็นสาเหตุสำคัญ ซึ่งทำให้อุปทานเนื้อหมูในตลาดลดลงและนำมาสู่การเพิ่มขึ้นของราคา อย่างไรก็ตามหากเราพิจารณาปรากฏการณ์ของแพงนี้ในวงกว้าง แม้ว่าข้อมูลล่าสุดของดัชนีราคาผู้บริโภคไทยปี 2564 ที่ผ่านมา จะเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.23 แต่การเพิ่มขึ้นในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา (เดือนธันวาคม 2564 ดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 YoY ) เป็นสัญญาณเตือนที่สำคัญ ให้ทั้งผู้บริโภคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมรับมือล่วงหน้า โดยวันนี้ผมจะพูดถึงเรื่องของแพง หรือ ปัญหาเงินเฟ้อ นี้ในมุมกว้าง โดยเทียบเคียงกับเศรษฐกิจมหภาคในภาพรวมทั้งไทย และต่างประเทศครับ

               เริ่มจากปัญหาราคาเนื้อหมู แม้ว่าการระบาดของโรค ASF จะเป็นสาเหตุสำคัญ แต่สาเหตุอีกอย่างคือความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา และต้นปีนี้ เพิ่มขึ้นมากเช่นกัน โดยการเพิ่มนี้ไม่เพียงเกิดจากอุปสงค์ตามเทศกาลปีใหม่ แต่เป็นการเพิ่มเนื่องจากผ่านพ้นการ Lockdown ซึ่งเราจะเห็นภาพร้านบุฟเฟ่ต์ดังที่มีคนต่อแถวรอ หรือ เห็นรูปปิ้งหมูกระทะเป็นปรากฏการณ์ใน social media ต่าง ๆ ซึ่งภาพเหล่านี้สะท้อนการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์หลังการผ่านพ้นโรคระบาด (post pandemic) ซึ่งผู้คนได้ผ่อนคลาย และเริ่มจับจ่ายข้าวของที่ไม่ได้ทำในช่วงที่มีการระบาดของโรค ซึ่งปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นไม่เฉพาะในไทย แต่ในประเทศอื่น ๆ เช่น สหรัฐฯ และยุโรป ก็มีลักษณะนี้ด้วยเช่นกัน โดยกรณีของต่างประเทศปัญหาของแพงในปี 2564 ที่ผ่านมาอยู่ในระดับสูงกว่าไทยมาก ซึ่งอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ และยุโรป เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 7 และร้อยละ 5 ตามลำดับ

               แม้ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอน จะชะลอปรากฏการณ์ post-pandemic boom ในต่างประเทศ แต่จากการระบาดที่เริ่มผ่านพ้นจุดสูงสุดในสหราชอาณาจักร ยุโรป และใน สหรัฐฯ ที่คาดว่าใกล้จะผ่านจุดสูงสุดแล้ว ทำให้โอกาสที่ราคาสินค้าในสหรัฐฯ จะปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องในปี 2565 นี้เป็นไปได้สูง ดังที่เราจะได้เห็นสัญญาณจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) เกี่ยวกับความกังวลจากภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งนำไปสู่การยกเลิกนโยบาย QE และส่งสัญญาณจะขึ้นดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งสภาวการณ์เงินเฟ้อในวงกว้างที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ มีโอกาส จะเกิดขึ้นในประเทศไทยเช่นกัน หากการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน ชะลอตัวลง ในไตรมาสที่ 2

               ในอีกมิติหนึ่งของปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา การเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานโดยเฉพาะราคาน้ำมัน เป็นสาเหตุสำคัญอีกประการ โดยในช่วงปลายปี 2564 ที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งการเพิ่มขึ้นนี้แม้ว่าสาเหตุด้านอุปทาน (เช่น ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และยูเครน) จะถูกกล่าวถึงในฐานะปัจจัยสำคัญ แต่อุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นทั้งความต้องการจริงจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว และการเก็งกำไรจาก การใช้นโยบาย QE ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ราคาสินทรัพย์ทางเลือกการลงทุนไม่เฉพาะ หุ้น คริปโตฯ ปรับเพิ่มขึ้น แต่สินค้าโภคภัณฑ์และสินค้าเกษตร ก็ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน ทำให้เกิดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อในสหรัฐฯ และยุโรป ดังที่กล่าวถึงข้างต้น และในกรณีประเทศไทย การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและสินค้าเกษตรที่เป็นต้นทุนของอาหารสัตว์ จะมีผลกดดันอัตราเงินเฟ้อให้เพิ่มสูงขึ้นในปี 2565 นี้

               ในกรณีประเทศไทย แม้ว่าปัจจุบัน จะเกิดปัญหาของแพงจากราคาหมู และเนื้อสัตว์อื่น ๆ ที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน โดยล่าสุดเหมือนเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 จะเพิ่มขึ้น ในอัตราร้อยละ 1.7 ซึ่งแม้ว่าเพิ่มขึ้นจากระดับร้อยละ 1.2 ในปี 2564 แต่ก็ยังอยู่ในช่วงเป้าหมายเงินเฟ้อที่ร้อยละ 1-3 และยังต่ำกว่าค่ากลางที่ร้อยละ 2.0 แต่อย่างไรก็ตามจากสัญญาณเตือนที่เริ่มจากราคาหมูในไทย และปัญหาเงินเฟ้อในต่างประเทศ ทำให้ ผมคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 2565 นี้จะสูงกว่าที่ ธปท. คาดการณ์ไว้ข้างต้น ในกรณีราคาเนื้อหมู การระบาดของโรค ASF ทำให้อุปทานของหมูน่าจะลดลงในระยะเวลานานพอสมควร กว่าที่เกษตรกร จะเริ่มขยายพันธุ์เพาะเลี้ยงได้ใหม่ ซึ่งน่าจะเป็นช่วงครึ่งหลังของปี ทำให้คาดว่าราคาหมูคงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องหากไม่มีมาตรการดูแลที่เหมาะสม ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์ แนวทางที่ดีที่สุดคือการนำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศ เพื่อเพิ่มอุปทานทดแทนหมูภายในประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ราคาหมูปรับลดลงตามกลไกตลาด แต่ดูเหมือนสิ่งที่รัฐบาลพยายามทำในปัจจุบัน จะเน้นการออกประกาศควบคุมราคาโดยกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์ เป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพต่ำ เพราะจะก่อให้เกิดการขายเกินราคาที่พบเห็นได้ทั่วไป หรือปรับลดคุณภาพโดยการผสมไขมัน หรือเนื้อสัตว์อื่น และในที่สุดก็ต้องทยอยขึ้นราคาในอนาคตอยู่ดี นอกจากนี้การควบคุมราคาจะทำลายกลไกราคาในตลาด และทำให้ในอนาคตราคาสินค้าไม่ปรับลดลงอย่างที่ควรจะเป็น เมื่อต้นทุนการผลิตปรับลดลง ดังจะเห็นจากการบ่นว่า “ราคาของมีแต่ขึ้น ขึ้นไปแล้วไม่ยอมลง”

               นอกจากนี้ อีกปัจจัยที่ควรระวังเรื่องเงินเฟ้อ คือการส่งผ่านผลจากต่างประเทศ โดยภาวะเงินเฟ้อในประเทศสหรัฐฯ และยุโรปมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องในปีนี้  ที่ผ่านมาเงินเฟ้อในระดับโลกไม่สูง เนื่องจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น ภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในสหรัฐและยุโรปในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา ทำให้อุปสงค์โดยรวมอ่อนแอ นอกจากนี้ การขยายตัวของการผลิตสินค้าโดยอาศัยค่าจ้างถูกและผลิตในปริมาณมากทำให้เกิดการประหยัดจากขนาดในประเทศจีน และการขยายตัวของ e-commerce ทำให้ลดต้นทุนการขาย อย่างไรก็ตาม สงครามการค้าที่เกิดขึ้น การเพิ่มขึ้นต่อเนื่องของค่าแรงในจีน และการเติบโตของ e-commerce ที่เริ่มจะพ้นช่วงขยายฐานลูกค้า นำมาสู่การเริ่มเก็บค่าบริการที่สูงขึ้น ดังจะเห็นจากสินค้าออนไลน์หลายอย่างเช่น YouTube ทำให้แนวโน้มเงินเฟ้อโดยรวมในระดับโลกต่อจากนี้จะอยู่ในช่วงขาขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดการส่งผ่านมายังราคาสินค้าทั่วไปในประเทศไทยได้ในอนาคต อย่างไรก็ตามเงินเฟ้อที่มาจากสาเหตุนี้จะมีลักษณะค่อย ๆ ทยอยขึ้นของราคาสินค้าทั่ว ๆ ไป ในประเทศมากกว่าการเพิ่มขึ้นที่รวดเร็วเหมือนราคาเนื้อหมู

               สุดท้ายประเด็นที่สืบเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อคือนโยบายการเงิน และอัตราดอกเบี้ย ดังที่กล่าวถึงข้างต้น ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 0.25 ในปัจจุบัน และคาดว่าอาจจะทยอยขึ้นจนถึงระดับร้อยละ 1.0 ในสิ้นปี 2565 และ 2.0-2.5 ในปี 2566 แม้ว่าการปรับดอกเบี้ยในสหรัฐฯ จะมีผลโดยตรงกับดอกเบี้ยในประเทศไทยน้อย แต่ก็มีผลทางอ้อมจากการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศ หากไทยไม่ปรับดอกเบี้ยตาม นอกจากนี้ จากการที่ผมคาดการณ์เกี่ยวกับการส่งผ่านเงินเฟ้อจากต่างประเทศ และการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน ทำให้มีโอกาสที่ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะขึ้นดอกเบี้ยในช่วงปลายปีนี้เช่นกัน ดังนั้น นัยสำคัญอีกประการจากเรื่องของแพง คือผลต่อการเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะส่งผลต่อผู้กู้เงิน โดยเฉพาะการกู้เงินก้อนใหญ่ เช่น การซื้อบ้าน ซื้อรถ หากดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นอาจส่งผลต่อความสามารถการชำระหนี้ในอนาคต ซึ่งลูกหนี้ จำเป็นต้องมีการวางแผนเตรียมตัวรับมือกับการขึ้นดอกเบี้ยซึ่งน่าจะได้เห็นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้