“เมื่อหมูแพง ไม่ใช่เรื่องหมูๆ” (ผศ.ดร.สันติ)
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(NIDA)
www.econ.nida.ac.th; Santi_nida@yahoo.com
ราคาหมูแพงนั้นเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่ขึ้นมาให้เห็นเท่านั้น ปัญหาในเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่สะสมมาตั้งแต่ก่อนการระบาดของโรค และถูกซ้ำเติมเมื่อมีการระบาดขึ้น
การปรับเพิ่มขึ้นของราคาหมูที่เกิดขึ้นดูเหมือนจะไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงของราคาขึ้นลงตามกลไกตลาดโดยปกติ แต่เป็นผลกระทบจากการระบาดของโรคอหิวาต์ในสุกร ที่ส่งผลให้เกิดการลดลงของอุปทาน (Supply) จำนวนมากในระยะเวลาสั้นเพราะสุกรที่เกษตรกรโดยเฉพาะอย่างยิ่งรายเล็กรายย่อย ซึ่งมีขีดความสามารถในการควบคุมและป้องกันโรคได้ต่ำกว่า จำเป็นต้องกำจัดสุกรทั้งหมดที่เลี้ยงเมื่อเกิดการติดเชื้อเกิดขึ้นเพื่อป้องกันการระบาดมากขึ้นในวงกว้าง
การฟื้นฟูโดยการกำจัดและขจัดการระบาดของโรคในสุกรจำเป็นต้องมีการปฏิบัติที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ รวมทั้งยังมีความจำเป็นต้องมีระบบการป้องกันการติดเชื้อที่มีประสิทธิภาพเมื่อเกษตรสามารถกลับมาเลี้ยงได้ใหม่ (ถ้าทำได้ เกษตรกรจำนวนหนึ่งประสบปัญหาจากสภาวะการขาดทุนจากการเลี้ยงจนไม่มีเงินทุนเพียงพอเพื่อจะเริ่มต้นการเลี้ยงใหม่)
ดังนั้น การปรับขึ้นของราคาหมูสำหรับผู้บริโภคจึงไม่ใช่การปรับขึ้นเป็นการชั่วคราวเพียงในช่วงที่เกิดส่วนเกินอุปสงค์ (Excess Demand) ของเนื้อหมูจากการลดลงของอุปทานเนื้อหมูเท่านั้น แต่หมายถึง ต้นทุนการเลี้ยงสุกรที่จะต้องเพิ่มขึ้น เกษตรกรจำนวนหนึ่งอาจจะไม่มีความสามารถในการเลี้ยงได้อีก การลดลงของอุปทานเนื้อหมูจึงจะเป็นการลดลงทั้งในระยะสั้น และระยะกลางเป็นอย่างน้อย หมายถึง ผู้บริโภคอาจจะต้องจ่ายสำหรับเนื้อหมูในราคาที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันหรือลดลงจากราคาในปัจจุบันเพียงเล็กน้อยต่อไปอีกเป็นระยะเวลาพอสมควร หรือราคาเนื้อหมูอาจจะขยับขึ้นมาเป็นราคาในปัจจุบันนี้อย่างถาวรไปเลย (การคาดการณ์ของผู้เขียน) หรืออย่างน้อยที่สุดราคาหมูคงจะไม่ปรับลดลงไปที่ระดับราคาเดิมได้อีก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแนวทางการแก้ไขปัญหาของภาครัฐ เช่น การเพิ่มและยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยทางด้านสุขอนามัยของผู้บริโภค ซึ่งจะเป็นต้นทุนเพิ่มของการเลี้ยง และการปรับตัวของผู้บริโภคในตลาด
เมื่อกระแสการบริโภคเปลี่ยนไปจากการบริโภคเชิงปริมาณ (Quantity Consumption) เป็นการบริโภคเชิงคุณภาพ (Quality Consumption) ราคาของสินค้าที่ผู้บริโภคเต็มใจจ่ายให้น้ำหนักกับคุณภาพของสินค้ามากขึ้น อย่างเช่น ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยจะยอมจ่ายซื้อสินค้าในราคาที่แพงขึ้นมากเพื่อแลกกับคุณภาพของสินค้าที่ดีขึ้น เป็นสินค้าที่มีความปลอดภัยมากขึ้น เป็นสินค้าที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า (สำหรับผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม) ฯลฯ ทำให้สินค้าโภคภัณฑ์ที่เราคุ้นชินกันว่า “มันก็เหมือนๆ กัน” กลายเป็นว่าไม่เหมือนกันสำหรับผู้บริโภคในแต่ละกลุ่มโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึง “ความมั่นใจ” ต่อการบริโภคว่าจะเป็นสินค้าที่มีมาตรฐานสุขอนามัยที่ดี มีความปลอดภัยต่อการบริโภค
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสะท้อนให้เห็นมิติหนึ่งของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคที่ผู้ผลิตรวมทั้งภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการผลิตต้องปรับให้สอดคล้องกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งหมายถึงการที่ต้องมีต้นทุนเพิ่มขึ้นและการที่ต้องเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต หรือการเพิ่มศักยภาพทางด้านอุปทานเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ดังนั้น การปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า (ในกรณีนี้ คือ ราคาเนื้อหมู) ซึ่งต่อไปก็คงจะขยายวงกว้างขึ้น เป็นการปรับเพิ่มขึ้นของสินค้าอุปโภคบริโภคอื่น ๆ อีกตามมาเพราะปัจจัยเรื่องโรคระบาดของสุกรที่กระทบต่อราคาของเนื้อหมูเป็นเพียงแค่ส่วนเดียว และเฉพาะตลาดเนื้อหมู แต่ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เป็นแรงกดดันต่อต้นทุนการผลิตอีกหลายปัจจัยซึ่งนับวันก็จะมีความตึงตัวมากขึ้นและพร้อมที่จะระเบิดออกมาในรูปแบบของการเพิ่มขึ้นของราคา ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นก็คงจะไม่ได้เป็นเพียงผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน แต่จะกระทบต่อไปในอีกหลากหลายมิติ เช่น การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโดยทั่วไปในวงกว้างเป็นข้อจำกัดต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เป็นการเพิ่มภาระที่หนักมากอยู่แล้วให้กับครัวเรือนที่เป็นหนี้จนอาจส่งผลต่อโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาของเด็กอีกจำนวนไม่น้อยของประเทศ แรงกดดันจากการเพิ่มขึ้นของราคาบั่นทอนขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ลดทอนความสามารถในการพัฒนาผลิตภาพการผลิต ซึ่งเป็นหัวใจของการสร้างมูลค่าเพิ่มและการสร้างรายได้ทั้งในภาคครัวเรือนและธุรกิจ รวมทั้งการตอกลิ่มให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยให้กว้างมากขึ้นไปอีก ฯลฯ การเพิ่มขึ้นของราคาหมูจึงอาจจะเป็นเพียงแค่ปัจจัยตั้งต้น (Trigger Factor) ที่จะนำไปสู่ปัญหาทางเศรษฐกิจที่รุนแรงและอาจจะต้องใช้ระยะเวลานานในการฟื้นฟูแก้ไข
นอกจากเรื่องความไม่แน่ใจในกระบวนการตรวจสอบและควบคุมโรคระบาดในสัตว์ของภาครัฐแล้ว (ซึ่งก็จะก่อให้เกิดความเสียหายทั้งต่อตลาดภายในประเทศ และการส่งออก) ในขณะที่เนื้อหมูมีราคาแพงขึ้น (จากปัจจัยที่กระทบต่อตลาดเนื้อหมู) แต่การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ราคาเนื้อหมู แต่ราคาของสินค้าอื่น (เท่าที่ปรากฏบนหน้าสื่อต่าง ๆ ได้แก่ เนื้อไก่ ไข่ไก่ ไข่เป็ด ราคาพลังงาน – น้ำมัน ไฟฟ้า และอาจจะรวมถึงก๊าซหุงต้ม – ค่าบริการทางด่วน ฯลฯ) ซึ่งล้วนแต่เป็นสินค้าพื้นฐานขั้นต้น (ต้นน้ำ) ของการผลิตที่จะทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าในประเทศขยับสูงขึ้น การเพิ่มขึ้นของต้นทุนสินค้า เมื่อผนวกกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่จะเพิ่มขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้ ซึ่งเป็นต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการ ทั้งหมดล้วนแต่บ่งชี้ถึงระดับค่าครองชีพที่จะปรับเพิ่มขึ้นในปีนี้ ภาระค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นจนทำให้ประชาชนรู้สึกและสัมผัสนี้ ทำให้ไม่แน่ใจว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่ใช้วัดระดับเงินเฟ้อสามารถสะท้อนถึงภาระค่าครองชีพที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจได้สอดคล้องกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด ในขณะที่ครัวเรือนในระบบเศรษฐกิจต่างรู้สึกได้ว่าต้องแบกรับภาระค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นมา
ดัชนี CPI ที่รายงานกลับบอกว่าเงินเฟ้อในระบบเศรษฐกิจอยู่ในระดับที่ต่ำมากมาโดยตลอด (ค่าครองชีพปรับขึ้นน้อยมาก) แม้แต่ตามภาวะทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน รายงานค่าพยากรณ์อัตราเงินเฟ้อของไทยในปี 2565 ยังคงเป็น 1.7% (ภายใต้ข้อสมมติที่เศรษฐกิจไทยจะเติบโต 3.4% ณ เวลาที่เขียนบทความนี้ มีรายงานระดับเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ไปแตะระดับ 7% สูงสุดในรอบ 40 ปี) ข้อสังเกต 2 ประการที่อยากนำเสนอในประเด็นนี้คือ
1) ดัชนี CPI เพียงตัวเดียวเพียงพอหรือไม่ที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการสะท้อนถึงค่าครองชีพในระบบเศรษฐกิจเพื่อผู้กำหนดนโยบายจะสามารถตัดสินใจดำเนินนโยบายได้อย่างถูกต้อง แม่นยำมากขึ้น หรือจำเป็นต้องมีดัชนีชี้วัดอื่นเพื่อเสริมเพิ่มเติมเมื่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป และพฤติกรรมของหน่วยเศรษฐกิจต่าง ๆ มีความแตกต่างกันมากขึ้น (Diversity of Economic Activities)
และ 2) ในกรณีที่ปัจจัยทางด้านอุปทานที่มีผลต่อเงินเฟ้อมีมากกว่า หรือมีผลมากกว่าปัจจัยทางด้านอุปสงค์ ถ้าปัจจัยที่จะทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่เป็นอย่างที่คาดการณ์ไว้ เช่น คาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศ 15 ล้านคน จนทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ 3.4% แต่ถ้ามีความกังวลของไวรัสสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นจนทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาได้น้อยกว่า 15 ล้านคนที่คาดการณ์ไว้ เศรษฐกิจก็จะเติบโตได้น้อยกว่า 3.4% รายได้ของประชาชนก็จะไม่ขยายตัวตามที่คาดการณ์ไว้ แต่ปัจจัยทางด้านอุปทานกลับผลักดันให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และมีอัตราเงินเฟ้อ (และค่าครองชีพ) สูงขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ ในสถานการณ์นี้ ประชาชนจะมีความยากลำบาก โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีรายได้น้อยและมีความเปราะบางทางการเงินอยู่แล้ว รวมทั้งกลุ่มผู้สูงอายุที่ต้องพึ่งพาสวัสดิการภาครัฐที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นตามโครงสร้างของประชากร
จะเห็นได้ว่า ราคาหมูแพงนั้นเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่ขึ้นมาให้เห็นเท่านั้น ปัญหาในเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่สะสมมาตั้งแต่ก่อนการระบาดของโรค และถูกซ้ำเติมเมื่อมีการระบาดขึ้น ยังคงเป็นปัญหารอวันจะปะทุขึ้นเมื่อมีปัจจัยไปกระตุ้น การวางแนวนโยบายเพื่อแก้ไขฟื้นฟูทางเศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด และจำเป็นต้องมีข้อมูลที่เพียงพอให้การดำเนินนโยบายเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นมีหลากหลายมิติ และเกี่ยวข้องกับผู้คนในวงกว้าง ทั้งในภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจเอกชน หรือแม้แต่ภาครัฐเองที่ทรัพยากรที่สำคัญที่สุดคือการมีเสถียรภาพทางการคลังที่เข้มแข็งนั้น ยิ่งเวลาทอดยาวออกไปก็จะลดทอนและร่อยหรอลงเรื่อย ๆ
ที่มาภาพข่าว : https://www.posttoday.com/