โลกผันผวน คนมองสั้น (ผศ.ดร.อัธกฤตย์)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัธกฤตย์ เทพมงคล
ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)
www.econ.nida.ac.th; athakrit.t@nida.ac.th

โลกผันผวน คนมองสั้น

 ช่วงนี้ผู้เขียนได้เปิดประสบการณ์ใหม่ในการลี้ภัยโควิดหนีออกจากกรุงเทพมาใช้ชีวิตอยู่ภาคอีสาน ใครจะเชื่อว่าคนอย่างผู้เขียนที่เกิดและใช้ชีวิตกว่า 36 ปีในกรุงเทพมาตลอด จะหาเหตุผลที่ดีในการกลับไปอยู่กรุงเทพไม่ได้กว่า 3 เดือนแล้ว กลับไปทำงานหรอ? ทุกอย่างมันอยู่ในออนไลน์หมดแล้ว ลูกกลับไปเรียนหรอ? ลูกเรียนเองสอนกันเองที่บ้านแบบ home school ระดับอนุบาล 1 มาจะครบปีแล้ว และดูๆสถานการณ์โควิดแล้วก็คงจะต้องสอนกันเองในระดับอนุบาล 2 ต่อไป การเข้าโรงเรียนเพื่อจะให้เด็กอนุบาลเรียนออนไลน์ก็ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ กลับไปเพื่อสาธารณสุขที่ดีหรอ? ดูจากยอดผู้ป่วยในแต่ละพื้นที่แล้วกรุงเทพน่าจะมีความปลอดภัยด้านสาธารณสุขต่ำที่สุดแล้ว ยิ่งช่วงนี้สายพันธุ์โอไมครอนกำลัง debut ด้วยแล้ว กรุงเทพก็น่าจะเป็นที่เหมาะที่สุดสำหรับมันในการแพร่กระจาย

                 สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนได้เรียนรู้คือโลกของเรามันหมุนเร็วขึ้นมากและหมุนไปในทิศทางที่ยากจะคาดเดา คำถามที่ตามมาคือมนุษย์เราจะใช้ชีวิตยังไงในโลกสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยความผันผวน ในทางเศรษฐศาสตร์ เราเชื่อว่าคนเราส่วนใหญ่ไม่ชอบความเสี่ยง (risk-averse) ถ้าเราสามารถทำให้ชีวิตเรามีเสถียรภาพได้ เราจะทำ นี่เป็นที่มาของธุรกิจประกันที่ใหญ่โตกันในปัจจุบัน เราเต็มใจที่จะลดความสุขของเราลงในยามปกติโดยการจ่ายเบี้ยประกัน เพื่อที่จะได้ความมั่นใจกลับมาว่าในวันร้ายๆ เราจะได้รับความคุ้มครองและชีวิตเราจะไม่เลวร้ายต่างจากยามปกติจนเกินไป

               ถ้าเป็นเช่นนี้ โลกข้างหน้าคงจะต้องเป็นยุคทองของการประกันภัย จะมีผลิตภัณฑ์ออกมาให้จับจ่ายกันมากมาย ตลาดประกันอาจจะมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดกลายเป็นตลาดที่สมบูรณ์ (complete market) ที่มีผลิตภัณฑ์ครบครันที่จะประกันทุกความเสี่ยงในชีวิต คนเราจะซื้อประกันมากมายจนชีวิตเราปลอดความเสี่ยง มีชีวิตอันราบเรียบในโลกที่เต็มไปด้วยมรสุม

               มันจะเป็นอย่างนั้นจริงๆหรือ? นี่คือคำถามที่ดังก้องขึ้นมาในหัวผู้เขียน เพราะเมื่อผู้เขียนย้อนกลับมาดูพฤติกรรมตัวเอง ผู้เขียนกลับพบว่าหลายๆอย่าง ผู้เขียนกลับรู้สึกว่าตัวเองทำใจรับความเสี่ยงมากขึ้น ในวันที่ความเสี่ยงมันรุมเร้าเยอะแยะไปหมดหรือที่ผู้เขียนจะขอเรียกว่าสภาวะ risk overload จนสมองผู้เขียนไม่รู้ว่าจะกลัวความเสี่ยงอันไหนก่อนดี เราจ่ายเพื่อพร้อมรับเหตุร้ายหนึ่ง แต่อีกเหตุร้ายหนึ่งกลับเกิดขึ้นมาแทน กลายเป็นเราเสียเงินนั้นฟรีไป แล้วในโลกที่ความเสี่ยงมากมายจนคิดตามไม่ทันแบบนี้ บางครั้งตัวผมเองก็เลือกที่จะไม่คิดอะไรมันเลยดีกว่า มองอะไรให้สั้นลง ไม่ผูกมัดตัวเองไปกับแผนอะไรที่มันยาวจนเกินไปเพราะประเดี๋ยวเดียวอะไรๆมันก็เปลี่ยนไปอีก ไว้มันเกิดขึ้นแล้วค่อยหาทางแก้เอาหน้างานละกัน อย่างมากถ้าตอนนี้เราพอจะออมเงินได้ ก็ออมไว้หน่อยตอนแก้ปัญหาหน้างานจะได้ไม่ยุ่งยากมากนัก นี่ขนาดผู้เขียนเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ฐานะทางการเงินอยู่ในระดับพอใช้ ยังเริ่มจะมีความคิดแบบนี้ คนส่วนใหญ่ในโลกนี้ก็คงคิดไม่ต่างกัน และยิ่งคนที่หาเช้ากินค่ำก็คงไม่ต้องคิดถึงเรื่องการออมใดๆอยู่แล้ว สภาวะ risk overload นี้ทำให้คนเราเลือกที่หลี่ตาที่ใช้มองการณ์ไกลลง และตัดสินใจเพียงแค่บนพื้นฐานของอนาคตที่สั้นลงเรื่อยๆ หรือที่ผู้เขียนจะเรียกว่า พฤติกรรม myopia คือ อะไรจะเกิดก็เกิดไป หาอะไรหน้างานได้ก็กิน เจออะไรก็ใช้ เอาแค่ให้ชีวิตมันรอดไปวันๆ

สิ่งที่ผู้เขียนกังวลคือ ระหว่าง สภาวะ risk overload กับ พฤติกรรม myopia อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผลกันแน่? ที่ผู้เขียนเกริ่นมาข้างต้นจะเห็นว่าโลกสมัยใหม่มีสภาวะ risk overload จึงทำให้คนมีพฤติกรรม myopia มากขึ้น คำถามคือ แล้วอยู่ดีๆโลกเราทำไมถึงเกิดภาวะ risk overload ขึ้นมาได้? เกิดการเปลี่ยนแปลงในจักรวาลวิทยาทำให้อยู่ดีๆโลกเกิดความผันผวนขึ้นในแง่ของโลกภัยและดินฟ้าอากาศ? จริงอยู่ที่จักรวาลมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ในอนาคตดวงอาทิตย์เปล่งความร้อนเพิ่มขึ้น จนวันหนึ่งที่มันสิ้นอายุขัยและระเบิดขึ้นกลืนกินทุกชีวิตบนโลกใบนี้ แต่กระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นช้าๆและใช้เวลายาวนานเป็นหลักหลายพันล้านปี คนเรานี่แหละคือปัจจัยหลักที่ทำให้โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วขนาดนี้ มันเป็นเพราะการพัฒนาของมนุษยชาติที่ไม่มองให้ไกลเพียงพอ ทำให้เราทำร้ายโลกและธรรมชาติรอบตัวเรามาอย่างต่อเนื่อง จนโลกของเราป่วยถึงขั้นเริ่มแสดงอาการต่างๆ ออกมามากมาย ผันผวนอย่างที่เราเผชิญกันอยู่ทุกวันนี้ นั่นคือ พฤติกรรม myopia ของมนุษยชาตินี่แหละที่ทำให้เกิด สภาวะ risk overload

นั่นก็แปลว่า มนุษยชาติกำลังตกอยู่ในวงจรอุบาทว์ระหว่าง พฤติกรรม myopia และสภาวะ risk overload การพัฒนาที่ไม่คิดหน้าคิดหลัง ไม่คิดถึงผลกระทบกับโลก อุตสาหกรรมของเราทำลายป่าไม้และปล่อยมลพิษ การใช้ชีวิตของเราสร้างขยะ สร้างฝุ่นละออง และปล่อยก๊าซต่างๆมากมาย ตั้งแต่เกิดจนตาย การกินอาหารของเรา การเดินทางของเรา การนอนของเรา เกือบทุกกิจกรรมที่เราใช้เครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ เราปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน ไฮโดรฟลูโอคาร์บอน และ การเรือนกระจกอื่นๆมากมาย ซึ่งก๊าซเหล่านี้ก็จะไปสะสมอยู่ชั้นบรรยากาศ ทำให้โลกร้อนจากการที่ความร้อนจากดวงอาทิตย์เข้าสู่โลกได้มากขึ้นพร้อมกักเก็บเอาไว้ ทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลาย กระแสน้ำอุ่นน้ำเย็นปั่นป่วน ทะเลเป็นกรดมากขึ้น ฯลฯ นอกจากนี้ มันยังทำให้บรรยากาศเรากักเก็บน้ำได้มากขึ้น ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลที่มันเป็นมา ปีนี้แล้งเพราะวงจรการหมุนเวียนของน้ำไปค้างอยู่ในชั้นบรรยากาศ อีกปีหนึ่งฝนตกหนักจนน้ำท่วมใหญ่เพราะบรรยากาศปล่อยน้ำที่กักเก็บไว้ปริมาณมหาศาลจากปีก่อนๆ เกิดเป็นปรากฏการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว (extreme weather) นี่ยังไม่นับว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้นอาจจะส่งผลต่อการอุบัติขึ้นของโรคใหม่ๆที่เราไม่เคยเจอมาก่อน และอย่างที่กล่าวมาข้างต้น ความผันผวนมากมายนี้สร้างสภาวะ risk overload ที่ส่งผลย้อนกลับมาเร่งให้คนมีพฤติกรรม myopia มากขึ้นไปอีก ทำร้ายโลกมากขึ้นและทำให้โลกผันผวนขึ้นไปอีก ทับซ้ำวนเวียนไปเรื่อยๆ และก็คงจะต้องจบลงที่คำว่า “หายนะ” หรือที่หลายๆศาสนาทำนายเรียกว่า “วันสิ้นโลก”

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นแน่ครับถ้าเราปล่อยให้มนุษยชาติต่างคนต่างอยู่ หลักเศรษฐศาสตร์สาธารณะชี้ให้เห็นอยู่แล้วว่าอะไรก็ตามที่ก็ให้เกิดผลเสียโดยอ้อมต่อเศรษฐกิจ สังคม หรือสิ่งแวดล้อม เราปล่อยให้ตลาดจัดการกันเองตามใจชอบไม่ได้ จะต้องมีการจัดการจากรัฐส่วนกลาง ออกกฏระเบียบการใช้ชีวิตของมนุษยชาติใหม่ทั้งหมด เพื่อแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง และนั่นจะเป็นทางรอดเดียวของมนุษยชาติ

มองไปที่ความจริงจังในการแก้ปัญหาโลกร้อนในเวทีโลก ก็มีความคืบหน้ากันมากขึ้น จากเดิมที่เราจะเห็นประเทศที่กำลังพัฒนาหรือเริ่มพัฒนามาทีหลังอย่างจีน จะอ้างถึงความอยุติธรรมที่ประเทศพัฒนามานานแล้วอย่างอเมริกา ได้มีโอกาสที่ทำร้ายโลกมาก่อนอย่างยาวนานกว่าคนอื่น ในปัจจุบันหลังจากหายนะทางธรรมชาติเริ่มเป็นที่ประจักษ์ ทุกคนก็เริ่มที่จะเห็นตรงกันว่าเราจะต้องเริ่มต้นกอบกู้โลกกันอย่างจริงจัง เริ่มจะมีความเป็นไปได้ที่เราจะเห็นเศรษฐกิจสีเขียวที่เราจะอยู่คู่กับโลกนี้ได้อย่างยั่งยืน เริ่มต้นกันสักทีเถอะครับ อย่าให้สถานการณ์มันบังคับเราไปมากกว่านี้เลย เพราะเราไม่รู้ว่ามันจะมีจุดที่มัน “สายเกินไป” ที่จะแก้ไขหรือไม่

แน่นอนครับ ถ้ารัฐในโลกนี้ตกลงร่วมกันที่จะสร้างเศรษฐกิจสีเขียว สิ่งที่จะตามมาคือปัญหาความเหลื่อมล้ำที่จะยิ่งรุนแรงขึ้น ประเทศที่ยากจน คนที่แร้นแค้นอยู่แล้วจะต้องมาแบกรับต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมอีก ชีวิตเขาก็จะยิ่งยากลำบากขึ้น ประเทศมหาอำนาจและเป็นผู้นำทางนวัตกรรมก็จะกลายเป็นผู้ผูกขาดเทคโนโลยีสะอาด ความจริงที่จะเกิดขึ้นเหล่านี้เป็นหนึ่งในสาเหตุที่เศรษฐกิจสีเขียวไม่สามารถเกิดขึ้นได้สักที แต่การยื้อเวลาออกไปก็มีแต่จะทำให้ทุกอย่างมันแย่ขึ้นเท่านั้น เพราะเราไม่มีทางออกอื่น

ในระหว่างนี้ ผู้เขียนก็คงทำได้แต่เชิญชวนผู้อ่านให้ลองไปศึกษาดูว่า เราได้ทำอะไรลงไปที่ทำร้ายโลกบ้างเพียงเพื่อความสบายของเรา ลดได้ก็ลดเถอะครับ ช่วยกันคนละนิดละหน่อย เสื้อผ้าแต่ละตัวเราใส่คุ้มรึยังก่อนคิดจะซื้อใหม่ อาหารเรากินเหลือทิ้งเหลือขว้างรึเปล่า เราเปิดไฟเกินความจำเป็นหรือไม่ ลองเปลี่ยนจากการซุกตัวอยู่ในผ้าห่มหนาในห้องที่เปิดแอร์เย็นฉ่ำ มาเป็นเปิดแอร์พอประมาณแล้วเอาผ้าห่มออกดูมั้ย หรือช่วงนี้อากาศเริ่มเย็น ลองเปิดหน้าต่างแทนเปิดแอร์ดู เพราะแอร์ที่ทำให้ห้องเราเย็นมันกำลังทำให้โลกของเราทุกคนร้อนขึ้นครับ

ที่มาของภาพข่าว ; www.posttoday.com