ระบบสนับสนุนผู้ดูแลแบบไม่เป็นทางการ: เรื่องสำคัญที่ไม่ควรละเลย (ศ.ดร.ศาสตรา)

ศาสตราจารย์ ดร.ศาสตรา สุดสวาสดิ์
ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)
econ.nida.ac.th; sasatra.blogspot.com

ระบบสนับสนุนผู้ดูแลแบบไม่เป็นทางการ: เรื่องสำคัญที่ไม่ควรละเลย

 การดูแลระยะยาว (Long-term care) โดยทั่วไปคือ การจัดบริการสุขภาพและบริการสังคมเพื่อตอบสนองความต้องการความช่วยเหลือของผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงจากภาวการณ์เจ็บป่วยเรื้อรัง การประสบอุบัติเหตุ ความพิการต่าง ๆ ตลอดจนผู้สูงอายุที่ไม่อาจช่วยเหลือตัวเองได้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยมีทั้งรูปแบบการดูแลระยะยาวที่เป็นทางการ ที่เป็นการให้บริการดูแลโดยบุคลากรด้านสาธารณสุข สังคมและอื่น ๆ และรูปแบบการดูแลระยะยาวที่ไม่เป็นทางการ ที่เป็นการให้บริการดูแลโดยสมาชิกในครอบครัว อาสาสมัคร เพื่อน เพื่อนบ้าน เป็นต้น ทั้งนี้ การก้าวเข้าสู่สภาวะสังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยที่จะมีสัดส่วนและจำนวนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ย่อมส่งผลให้ความต้องการบริการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ที่ผ่านมา รัฐบาลมีนโยบายในการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ทั้งกลุ่มติดบ้านและกลุ่มติดเตียง เพื่อให้ได้รับการดูแลที่เหมาะสมและไม่เป็นภาระแก่ครอบครัวจนมากเกินไป โดยระบบการดูแลดังกล่าวอยู่ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของประเทศ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ถือเป็นเจ้าภาพหลักในการบริหารจัดการระบบการดูแลระยะยาวนี้ ภายใต้การสนับสนุนของเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิในพื้นที่ ในลักษณะการดูแลระยะยาวนอกสถานที่ โดยมีแนวคิดหลักในการสนับสนุนครอบครัวและชุมชนให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้นในการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง และเอื้อให้ผู้สูงอายุได้อาศัยในบ้านตนเองภายในชุมชน

ทั้งนี้ ระบบการดูแลระยะยาวผู้สูงอายุของประเทศอาจยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการในปัจจุบัน งานศึกษาที่ผ่านมาของผู้เขียน* พบว่า งบประมาณที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับระบบการดูแลระยะยาวมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.29 ของงบประมาณดูแลผู้สูงอายุทั้งหมดเท่านั้น หากคิดเป็นงบประมาณต่อคน งบประมาณรวมที่เกี่ยวข้องกับระบบการดูแลระยะยาวเฉลี่ยต่อจำนวนผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงอยู่ที่ราว 5,796 บาทต่อคนต่อปี ในขณะที่งบประมาณดูแลผู้สูงอายุอื่น ๆ (ไม่รวมงบประมาณในส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบการดูแลระยะยาว) เฉลี่ยต่อจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมด อยู่ที่ราว 28,183 บาทต่อคนต่อปี การจัดสรรงบประมาณของรัฐที่เกี่ยวข้องกับระบบการดูแลระยะยาวจึงถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำและอาจไม่สอดคล้องกับต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (ผลจากการสำรวจค่าใช้จ่ายในการดูแลระยะยาวของคนไทยในงานศึกษาที่ผ่านมาพบว่า โดยเฉลี่ยอยู่ที่คนละประมาณ 240,000 บาทต่อปี)

ผลจากการสำรวจสถานการณ์ของผู้สูงอายุในปี พ.ศ. 2560 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงราว 4 แสนคน โดยโครงสร้างอายุของผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุวัยปลาย และมากกว่าครึ่งไม่มีคู่สมรสช่วยดูแล โดยผู้สูงอายุวัยปลายจะอยู่ตามลำพังหรืออยู่กับบุตร ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงส่วนใหญ่ไม่มีความมั่นคงทางการเงิน โดยมีรายได้จากการพึ่งพิงคู่สมรสและบุตร และมีส่วนน้อยเท่านั้นที่มีรายได้หลักจากเงินออม ดอกเบี้ย และครึ่งหนึ่งของผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงพบว่า มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน

เมื่อพิจารณาถึงผู้เป็นหลักในการดูแลปรนนิบัติในการทำกิจวัตรประจำวันของผู้สูงอายุพบว่า ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงส่วนใหญ่ ทั้งผู้สูงอายุในกลุ่มติดบ้านและติดเตียง มีบุตรเป็นผู้ดูแลมีสัดส่วนสูงเป็นอันดับหนึ่ง และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ผู้สูงอายุในกลุ่มที่ติดบ้านที่ไม่มีผู้ดูแลมีสัดส่วนสูงเป็นอันดับสอง แต่เริ่มมีแนวโน้มลดลง นอกจากนี้ กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ดูแลแบบไม่เป็นทางการในประเทศไทยมีอายุอยู่ในช่วงวัยแรงงาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ผู้ดูแลเหล่านี้อาจต้องออกจากการทำงาน รวมทั้งอาจสูญเสียรายได้ หรือมีรายได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากต้องใช้เวลาในการทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น สำหรับช่วงวัยของผู้ดูแลผู้สูงอายุที่พบรองลงมา ได้แก่ ผู้สูงอายุด้วยกันเอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคู่สมรส นอกจากนี้ ยังพบว่า มีผู้ดูแลแบบไม่เป็นทางการเป็นเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี และ 22 ปี ตามลำดับ อีกด้วย โดยผู้ดูแลแบบไม่เป็นทางการส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง

งานศึกษาของผู้เขียนยังได้ศึกษาวิเคราะห์เชิงประจักษ์เพื่อหาปัจจัยทั้งด้านลักษณะของครัวเรือนและลักษณะของผู้สูงอายุที่ส่งผลต่อโอกาสของผู้อายุที่มีความต้องการได้รับการดูแลในการดำเนินกิจวัตรประจำวันจะได้รับการดูแลปรนนิบัติ ผลการศึกษาที่พบในส่วนนี้ยิ่งตอกย้ำถึงความสำคัญของการทำหน้าที่ของผู้ดูแลแบบไม่เป็นทางการ ซึ่งคือ สมาชิกผู้อาศัยอยู่ในครัวเรือน ในการตอบสนองต่อความต้องการของผู้สูงอายุ นอกจากนั้น หากผู้สูงอายุได้เข้ารับบริการสุขภาพ/ความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ จะช่วยเพิ่มโอกาสในการได้รับการดูแลปรนนิบัติมากขึ้น ดังนั้น การส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้สูงอายุได้เข้ารับบริการสุขภาพจากหน่วยงานภาครัฐอย่างสม่ำเสมอ จึงเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ช่วยให้ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงได้รับการดูแลปรนนิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

เนื่องจากระบบการดูแลระยะยาวของประเทศไทยในปัจจุบัน ยังพึ่งพิงสมาชิกในครัวเรือนและชุมชนเป็นหลักในการทำหน้าที่ให้บริการดูแล ผู้ดูแลแบบไม่เป็นทางการ (Informal carers) จึงมักเป็นผู้รับภาระและเผชิญกับต้นทุน  ซึ่งรวมถึงค่าเสียโอกาสจากการทำหน้าที่ดูแลปรนนิบัติ โดยอาจต้องลาออกจากการทำงานหรือลาออกจากการเรียนเพื่อมาทำหน้าที่ดูแลแบบเต็มเวลา ซึ่งอาจทำให้ผู้ดูแลเหล่านี้เกิดความยากลำบากทางการเงินและมีความเสี่ยงที่จะมีภาวะยากจน นอกจากนั้น ผู้ดูแลแบบไม่เป็นทางการมักมีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาทางสุขภาพ ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ รู้สึกโดดเดี่ยว และรู้สึกถูกกีดกันออกจากสังคม เนื่องจากไม่มีเวลาเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมได้อย่างเต็มที่ ความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับผู้ดูแลเหล่านี้ ไม่เพียงจะส่งผลลบต่อผู้ให้การดูแลโดยตรง แต่ยังส่งผลลบต่อปัจจัยแรงงานและทุนมนุษย์ของประเทศอีกด้วย โดยทำให้จำนวนแรงงานในภาคการผลิตและผลิตภาพแรงงานลดลง ซึ่งส่งผลเสียต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศได้ นอกจากนั้น การที่ผู้ดูแลมีสุขภาพที่ไม่ดีก่อให้เกิดต้นทุนภาระค่าใช้จ่ายจากการเจ็บป่วยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสุดท้าย ก็กลายเป็นต้นทุนทางสังคมและภาระทางงบประมาณทางด้านสาธารณสุขของประเทศที่ต้องแบกรับในระยะยาว

ดังนั้น เพื่อช่วยลดต้นทุนและการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการดูแลให้น้อยที่สุด ระบบสนับสนุนผู้ดูแลแบบไม่เป็นทางการ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่ไม่ควรละเลยเป็นอย่างยิ่ง โดยจะช่วยให้การทำหน้าที่ดูแลเป็นไปได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งช่วยลดต้นทุนทางสังคมและภาระทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาว อีกทั้งยังส่งเสริมให้ระบบการดูแลระยะยาวของประเทศมีความยั่งยืนยิ่งขึ้น ทั้งนี้ในโอกาสถัดไป ผู้เขียนจะมาเล่าถึงแนวทางและรูปแบบในการสนับสนุนผู้ดูแลแบบไม่เป็นทางที่มีความน่าสนใจและถูกนำมาใช้แล้วในประเทศต่าง ๆ

 

* อ้างอิง

ศาสตรา สุดสวาสดิ์ ภาวิน ศิริประภานุกูล สยาม สระแก้ว และสุทธิพร ทองสุข, 2564, ระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุในประเทศไทย, รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์เสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (พฤศจิกายน).