รองศาสตราจารย์ ดร.ยุทธนา เศรษฐปราโมทย์
ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)
www.econ.nida.ac.th; yuthana.s@nida.ac.th
การส่งผ่านความผันผวนในตลาดหลักทรัพย์อาเซียนในช่วงวิกฤตโควิด-19
การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน ไม่เพียงส่งผลด้านสังคมต่อ วิถีชีวิต สุขภาพ การทำงาน การเดินทางทั้งภายในและระหว่างประเทศ หรือด้านเศรษฐกิจ ที่มีต่อ ผลผลิตมวลรวม (GDP) การท่องเที่ยว การว่างงาน การบริโภค และการลงทุน เท่านั้น แต่ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อตลาดการเงิน โดยตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกมีการผันผวนขึ้นลงตามความรุนแรงของการแพร่ระบาดในประเทศ และนอกจากนี้ ยังมีผลต่อการส่งผ่านความผันผวนระหว่างประเทศด้วย ซึ่งเป็นประเด็นที่ผมจะกล่าวถึงในวันนี้ครับ
ในตลาดหลักทรัพย์ระหว่างประเทศ การส่งผ่านความผันผวนซึ่งกันและกัน (Spillover) เป็นปรากฏการณ์ที่พบเห็นอยู่เสมอ ๆ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจการเงินที่ผ่านมา ทั้งวิกฤตซัปไพม์ในสหรัฐฯ วิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรป สงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ รวมถึงวิกฤตที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วย โดยระดับการส่งผ่านความผันผวนนี้ สามารถคำนวณผ่านการใช้ดัชนีความเชื่อมโยงระหว่างตลาดหลักทรัพย์ระหว่างประเทศ (Connectedness index) ซึ่งพัฒนาโดย Diebold และ Yilmaz โดยในกรณีของตลาดหลักทรัพย์ในประเทศไทยและประเทศในกลุ่มอาเซียนอื่น ๆ จากการศึกษาของ Prukumpai, Dacuycuy and Sethapramote (2021) “Dynamic Connectedness in the ASEAN’s equity markets during the Covid-19 pandemic”ได้คำนวณดัชนีความเชื่อมโยงระหว่างตลาดหลักทรัพย์ เพื่อวัดระดับการส่งผ่านความผันผวนโดยใช้ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ประเทศกลุ่มอาเซียน 6 ประเทศ ร่วมกับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์อื่น ๆ ที่สำคัญในเอเชีย เช่น จีน ฮ่องกง เกาหลี ญี่ปุ่น และข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ที่สำคัญในภูมิภาคอื่น ๆ เช่น สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร เยอรมัน ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย บราซิล ซึ่งเป็นประเทศสำคัญที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา
จากรูปด้านบน ระดับการส่งผ่านความผันผวนระหว่างตลาดหลักทรัพย์ระหว่างประเทศมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงปลายไตรมาสที่ 1 ปี 2563 ถึงช่วงเดือนพฤศจิกายน ปี 2563 ซึ่งมีการระบาดทั่วโลกในระลอกแรก อย่างไรก็ตามภายหลังการพัฒนาวัคซีนสำเร็จในช่วงเดือนตุลาคมปี 2563 ตลาดหลักทรัพย์ระหว่างประเทศมีการตอบสนองโดยระดับการส่งผ่านความผันผวนปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว จนอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตในช่วงปี 2561 ถึง ปี 2562 อย่างไรก็ตาม ระดับการส่งผ่านความผันผวนได้ปรับตัวสูงขึ้นใหม่ในช่วงไตรมาส 2-3 ปี 2564 ซึ่งมีการระบาดระลอกใหม่จากผลของไวรัสสายพันธุ์อัลฟ่า และเดลต้า
เมื่อเปรียบเทียบระดับความรุนแรงพบว่าโดยระดับการส่งผ่านความผันผวนในการระบาดระยะแรกในปี 2563 จะอยู่ในระดับที่สูงมาก เมื่อเทียบกับการระบาดระลอกใหม่ในช่วงกลางปี 2564 ดังรูปข้างต้น และจากข้อมูลล่าสุดพบว่าระดับการส่งผ่านความผันผวนมีการปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงหลังเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งเริ่มมีการแพร่กระจายของวัคซีนในประเทศตลาดเกิดใหม่
เมื่อเปรียบเทียบระดับการรับความผันผวนจากวิกฤตที่ผ่านมาพบว่า ประเทศตลาดเกิดใหม่ ได้แก่ ประเทศในกลุ่มอาเซียน และอินเดีย รวมถึงประเทศเกาหลี จะได้รับผลกระทบจากวิกฤตที่ผ่านมาจากภายนอกที่สูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ ยุโรป แม้ว่าความรุนแรงของการแพร่ระบาดในประเทศเหล่านี้ในปี 2563 จะน้อยกว่าในสหรัฐฯ และยุโรปก็ตาม
เมื่อพิจารณา ผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในมิติต่าง ๆ ที่มีต่อการส่งผ่านความผันผวนระหว่าง การศึกษาของ Prukumpai, Dacuycuy and Sethapramote (2021) พบว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 รวมทั่วโลก เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อระดับการส่งผ่านความผันผวนในขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันไม่มีผลอย่างมีนัยยะต่อระดับการส่งผ่านความผันผวน ซึ่งในแง่นี้ จะเห็นว่าในช่วงวิกฤตที่ผ่านมาข้อมูลจำนวนผู้เสียชีวิตเป็นตัวแปรหลักที่สำคัญที่เป็นตัวชี้วัดระดับความรุนแรงของโรคโควิด-19 ที่มีผลต่อตลาดการเงินระหว่างประเทศ นอกจากนี้ จำนวนวัคซีนที่ฉีดใหม่ในแต่ละวัน เป็นปัจจัยที่มีผลในการลดระดับการส่งผ่านความผันผวนอย่างมีนัยยะ ซึ่งสอดคล้องกับการลดระดับของ Spillover ในช่วงต้นปี 2564 ซึ่งลดลงอย่างรวดเร็ว และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์อัลฟ่า และเดลต้า ในปี 2564 ซึ่งมีการฉีดวัคซีนในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วในจำนวนที่มากพอสมควร ทำให้ผลต่อความส่งผ่านความผันผวนมีน้อยกว่าในปี 2563 และผลจากการส่งผ่านความผันผวนปรับตัวลดลงในช่วงเดือนกันยายนและตุลาคม ปี 2564 ซึ่งมีการกระจายวัคซีนในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่โดยเฉพาะในเอเชีย
เมื่อพิจารณาระดับการส่งผ่านความผันผวนในระดับย่อยรายประเทศพบว่า ทั้งข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของแต่ละประเทศ และข้อมูลผู้เสียชีวิตใหม่ เป็นปัจจัยที่ประเทศนั้นทำให้ประเทศรับความผันผวนจากประเทศอื่น ๆ ได้ง่ายมากขึ้น ในขณะที่ข้อมูลจำนวนผู้ได้รับวัคซีนในแต่ละประเทศ มีส่วนช่วยลดระดับความส่งผ่านความผันผวนที่ประเทศนั้น ๆ ได้รับอย่างชัดเจน สุดท้ายเมื่อพิจารณาการส่งต่อความผันผวนให้ประเทศอื่น ๆ พบว่า ระดับการฉีดวัคซีนไม่มีผลต่อการส่งต่อความผันผวนให้ประเทศอื่น ๆ ในขณะที่อัตราการเสียชีวิต และอัตราการติดเชื้อใหม่ นอกจากจะส่งผลให้เป็นประเทศที่รับความผันผวนจากภายนอกแล้ว ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้ส่งต่อความผันผวนไปยังตลาดหลักทรัพย์ประเทศอื่น ๆ ด้วย
จากผลการศึกษาข้างต้น พบว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด มีผลต่อการส่งผ่านความผันผวนของตลาดหลักทรัพย์ระหว่างประเทศ ซึ่งตัวชี้วัดสำคัญที่นักลงทุนควรให้ความสนใจคือ จำนวนผู้เสียชีวิตรวมของโลก และของแต่ละประเทศ ซึ่งแม้ว่าในปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะปรับตัวดีขึ้น แต่หากมีเกิดการระบาดระลอกใหม่ขึ้นมาย่อมมีผลต่อตลาดหลักทรัพย์ระหว่างประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ไวรัสโควิด-19 จึงน่าจะเป็นปัจจัยที่มีผลต่อความเสี่ยงในการลงทุนอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีนี้และช่วงปีหน้า ซึ่งนักลงทุนควรให้ความระมัดระวังครับ
ที่มีของภาพข่าว ; www.posttoday.com