รองศาสตราจารย์ ดร.อภิรดา ชิณประทีป
ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)
www.econ.nida.ac.th; apirada.c@nida.ac.th; apiradach@gmail.com
การจัดการโควิด19 (ณ พ.ย. 64) และก้าวต่อไปของประเทศไทยไตรมาส 4 – 2564
จากที่ผู้เขียนได้มีโอกาสลงโพสต์ทูเดย์หลายฉบับเกี่ยวกับ โควิด-19 กับ การพลิกวิกฤติเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ และได้พูดถึงสถานการณ์โรงเรียน ไปบ้างแล้ว ตั้งแต่ปี 2563 และปี 2564 สถานการณ์ได้ค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับแล้ว และประเทศเราได้มีการสร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจเป็นระยะ โดยล่าสุดเริ่มเปิดการเดินทางระหว่างประเทศแบบไม่ต้องกักตัวเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 พร้อมกับการเปิดโรงเรียนจำนวนหนึ่งวันแรก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พบว่ามีรวมกว่า 10,000 โรงเรียน และการผ่อนคลายให้ดื่มแอลกอฮอล์ในบางพื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กระบี่ พังงา ภูเก็ต ตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย รวมทั้งเคร่งครัดช่วงเวลาการให้บริการให้อยู่ภายในเวลา 21.00 น. ในขณะที่สถานการณ์ยังคงเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และยังคงมีสายพันธุ์ใหม่ ที่เราต้องหาทางรับมือเพิ่มเติม และยังไม่น่าวางใจ
โอกาสนี้ จึงขอเสนอความคิดเห็นเล็กๆ ในการจัดการโควิด19 (ณ พ.ย. 64) เพิ่มเติม เพื่อแลกเปลี่ยนกับผู้อ่านและผู้สนใจทุกท่าน
จากข่าวดีที่ประเทศไทยกำลังพิจารณาการเปิดประเทศเป็นลำดับนั้นและได้เริ่มต้นเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 แล้วโดยล่าสุดได้เพิ่มประเทศจากจำนวน 45 ประเทศเป็น 63 ประเทศที่สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้โดยไม่ต้องกักตัว
สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย โดยล่าสุดวันที่ 2 พ.ย. เมื่อเวลา 07.30 น. ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 7,574 ราย ยอดติดเชื้อรวมระลอกเมษายน 1,898,900 ราย รวมยอดติดเชื้อสะสม 1,927,763 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 78 ราย เสียชีวิตสะสม 19,338 ราย หายป่วยเพิ่ม 8,279 ราย หายป่วยสะสมระลอกเมษายน 1,782,555 ราย ผู้ป่วยกำลังรักษา 98,444 ราย
รวมไปจนถึงการมีเชื้อโควิดกลายพันธุ์เช่น เดลต้าพลัส และ อัลฟ่าพลัส ด้วยที่เริ่มเข้ามาในประเทศไทยในช่วงปลายเดือนตุลาคม (สัปดาห์ที่ผ่านมา) ที่เราตรวจพบถึงแม้ว่ายังมีเป็นจำนวนผู้ติดเชื้อหลักหน่วยก็ตาม ทั้งนี้ด้วยลักษณะธรรมชาติของอาจกระจายได้รวดเร็วมีความเป็นไปได้ว่าอาจมีอีกจำนวนหนึ่งที่เรายังไม่ตรวจพบทางนี้เป็นสมมุติฐานส่วนตัวของผู้เขียนเท่านั้น อย่างไรก็ตามคงจะต้องรอการยืนยันจากทางคณะคุณหมอซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้โดยตรง ซึ่งอาจจะ”ไม่ต้องตระหนก” เพียงแต่ให้ความระมัด”ระวัง”ไว้
และด้วยธรรมชาติของลักษณะกิจกรรมการท่องเที่ยวโดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งผู้เขียนเคยได้มีโอกาสทำงานวิจัย ทำให้ทราบว่าลักษณะพิเศษของการท่องเที่ยวไทยที่ได้รับความนิยมระดับโลก มีจุดแข็ง คือ เรามีกิจกรรมที่หลากหลายและมีความสนุกสนาน โดยที่นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศส่วนใหญ่ที่มาที่ประเทศไทยก็มักจะเดินทางไปในหลายจังหวัด ไม่ใช่เพียงจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง และเนื่องจากในประเทศไทยมีภูมิประเทศที่สวยงามและมีความหลากหลาย เช่น ภาคเหนือก็มีกิจกรรมที่เป็นจุดแข็งหลายอย่างที่แตกต่างและน่าสนใจ ในขณะที่ภาคใต้ และภาคอีสานก็มีกิจกรรมที่เป็นลักษณะเฉพาะของภูมิภาค ทำให้นักท่องเที่ยวโดยส่วนใหญ่เมื่อมาถึงประเทศไทยนอกเหนือจากการที่มาลงเครื่องบินที่สุวรรณภูมิเที่ยวในกรุงเทพฯ แล้วก็มักจะไปในจังหวัดอื่นๆ ด้วย ซึ่งเป็นข้อดีในการกระจายรายได้สู่ภูมิภาค และการท่องเที่ยวยังมีสาขาอื่นๆ เกี่ยวเนื่อง เช่น สายการบิน รถและการเดินทาง อาหาร ที่พัก ประกัน ฯลฯ อย่างไรก็ดี ในแง่ของจุดอ่อนของโรคโควิด-19 กิจกรรมของการท่องเที่ยวหรือแม้แต่การสัมผัสจึงมีความเสี่ยงบางประการในเรื่องของการแพร่เชื้อ ประกอบกับที่การฉีดวัคซีนในประเทศไทยยังไม่ครบในวงกว้างเพียงพอที่เราจะสามารถไว้วางใจได้ ประกอบกับการกลายพันธุ์ของเชื้อชนิดใหม่ที่เรายังไม่มั่นใจทีเดียวว่าวัคซีนที่เรามีอยู่ในปัจจุบันจะสามารถตอบสนองได้มากน้อยแค่ไหน จึงเป็นความจำเป็นที่เรายังต้องมีการระมัดระวังในระดับหนึ่งควบคู่ไปด้วย
-
ตามที่ได้ประมาณการล่วงหน้าไว้ ลงฉบับวันที่ 10 สิงหาคม 2564 ก่อนหน้า โชคดีพบว่าเวลานี้ถูกต้อง
ตามที่ผู้เขียนได้ลงในโพสต์ทูเดย์แล้วว่า “การจัดการโควิดในช่วงสิงหาคมนี้เป็นระยะที่หัวเลี้ยวหัวต่อซึ่งถ้าเราจัดการได้ดีในกรุงเทพฯและปริมณฑลน่าจะมีข่าวดีได้ (ผู้เขียนคาดว่าตัวเลขยังอาจขึ้นได้อย่างช้าๆ โดยจะมีจำนวนคนรักษาหายมากขึ้น ละจะค่อยๆ ดีขึ้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าทุกอย่างยังปรับปรุงต่อเนื่อง) ไม่ว่าจะเป็นอัตราครองเตียง อัตราการตาย ผู้ป่วยหนัก หรือแม้แต่ผู้ติดเชื้อ อาจจะค่อยๆ ดีขึ้นอย่างช้าๆ โดยจํานวนผู้ติดเชื้อน่าจะทยอยค่อยๆ ชะลอตัวลงและ…… อย่างไรก็ตามความซับซ้อนยังอาจมีอยู่ที่ต่างจังหวัดด้วย….โดยเฉพาะในระยะที่วัคซีนของเรายังมาไม่เพียงพอดังนั้นจำเป็นต้องมีการควบคุมโรคและเว้นระยะห่างและมาตรการส่วนบุคคลต่อไปอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยที่สุดก็จนกว่าเราจะมั่นใจได้ว่าไวรัสกลายพันธุ์และวัคซีนสามารถจัดการได้อย่างเต็มที่และอัตราการเสียชีวิตลดลงน้อยที่สุด ถ้าเป็นเช่นนั้นเราก็อาจจะวางใจได้บ้าง”
จากบทความที่แล้วของผู้เขียนที่พูดถึง “สมดุลระหว่างสาธารณสุขและเศรษฐกิจ”นั้น ในขณะที่ประเทศไทยสามารถเปิดประเทศโดยไม่ต้องกักตัวนักท่องเที่ยวอย่างไรก็ตามพบว่าในหลายประเทศแม้ว่าจะเดินทางมาได้สะดวกแต่ขากลับก็ยังจะต้องกักตัวที่ประเทศต้นทางอยู่ดี ดังนั้นมีเรื่องของความไม่สะดวกมีเรื่องของปัจจัยหลายประการที่ทำให้การเปิดประเทศในครั้งนี้อาจจะไม่ใช่การทำให้นักท่องเที่ยวมาอย่างมากมายในระยะเริ่มแรก ประกอบกับยังเป็นช่วงเริ่มแรกก่อนเข้าสู่ high season จึงเหมาะที่เตรียมพร้อมในระยะนี้เพื่อความมั่นใจ และเร่งฉีดวัคซีน และดูแลผลข้างเคียงสำหรับผู้เสี่ยงควบคู่ไปด้วย
-
การท่องเที่ยว
การท่องเที่ยวนั้นจะพบว่าบางจังหวัดคนไทยไปเที่ยวมาก ขณะที่ในบางจังหวัดอาจจะเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งในส่วนของนักท่องเที่ยวต่างชาติก็ยังมีความชอบแตกต่างกันระหว่างเชื้อชาติต่างๆ ด้วย กรณีที่เราอยากจะเปิดการท่องเที่ยว เมื่อเราพิจารณาถึงนักท่องเที่ยวที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย (target group) และจังหวัดที่เป็นเป้าหมายที่ได้รับความนิยมมาก เช่นเวลาช่วงวันหยุดยาวที่อาจจะมีนักท่องเที่ยวชาวไทยไปเป็นจำนวนมาก เมื่อเราสามารถแยกการพิจารณาต่างๆ เหล่านี้ ก็อาจจะช่วยลดความเสี่ยงได้ระดับหนึ่ง
ตามความคิดเห็นของผู้เขียน ในส่วนของการกระตุ้นการท่องเที่ยวในระยะที่ยังมีนักท่องเที่ยวมาไม่มากนักในระยะเริ่มต้นนี้ด้วยความเป็นจริงแล้วส่วนที่เป็น High Season น่าจะเป็นช่วงปลายปีหรือต้นปีหน้าที่ไปจนถึงช่วงตรุษจีน ทั้งนี้นักท่องเที่ยวจีน อาจจะยังต้องใช้เวลากว่าจะกลับมาดังเดิม (นักศึกษาจีนที่ผู้เขียนสอนอยู่ก็ยังไม่มีแผนจะมาที่เมืองไทยในปีนี้ ส่วนหนึ่งเป็นไปได้เกี่ยวกับนโยบายรัฐบาลจีนเองด้วย) เราจึงสามารถเตรียมพร้อมในระยะนี้ เพื่อแนวโน้มสดใสช่วงนั้นได้เต็มที่
-
แนวทางการจัดการ ณ พฤศจิกายน 2564
ดังนั้นผู้เขียนอยากให้กำลังใจทุกท่านว่าในระยะนี้จึงเหมาะที่จะเป็นการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ โดยที่ในเวลาทันทีนี้ อาจจะไม่ถึงกับคาดหวังว่านักท่องเที่ยวจะกลับมา 100% หรือเป็นจำนวนมาก ช่วงนี้ที่เหมาะคือการก้าวอย่างมั่นคง ทั้งนี้เมื่อเราทราบหรือพิจารณาความต้องการของนักท่องเที่ยวเราอาจจะวางแผนสำหรับในอนาคตตรงเป้าหมาย เช่นในระยะนี้สถานที่ต่างๆ มักจะอุดมสมบูรณ์เนื่องจากไม่มีการไปเที่ยวของประชาชนจำนวนมากเป็นระยะเวลาพักใหญ่ ดังนั้นทรัพยากรธรรมชาติก็ฟื้นตัว รวมไปจนถึงมลภาวะต่างๆ ลดน้อย ทำให้เกิดความสวยงามตามธรรมชาติมาก การวางแผนในการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนหรือดูตามความเหมาะสมหรือการปรับปรุงสิ่งต่างๆ สามารถทำได้ในระยะนี้ ส่วนในระยะกลางที่เราอาจจะวางแผนต่อเช่น การดูแลเรื่องทิศทางที่เราอยากจะวางเป้าหมายของการท่องเที่ยวหรือกิจกรรมต่างๆ หรือแม้แต่ เรื่องของสิ่งที่เราต้องการที่จะนำเสนอในระยะปานกลางที่โรคระบาดมีสถานการณ์ดีมากยิ่งขึ้นในระยะต่อไป
เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้นการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ เรื่องของสุขภาพ หรือการผ่อนคลายในเรื่องของด้านจิตใจ ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ หรือแม้แต่เรื่องของการเสริมสร้างการมีสุขภาพที่ดี หรือแม้แต่ความงาม หรือการดูแลเรื่องร่างกายเรื่องของสุขภาวะต่างๆ โดยเฉพาะเมื่อเราก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้วส่วนที่จะเป็น target นักท่องเที่ยวในระยะยาวต่อไป เราอาจจะมองไปที่ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นได้ด้วยโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่เกษียณแล้ว ซึ่งหากได้กลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้มั่งคั่ง หรือเป็นผู้มีความรู้มาด้วย ถ้าเราจะสามารถดึงดูดมา ซึ่งนักท่องเที่ยววัยเกษียณมักจะเป็นนักท่องเที่ยวที่มีความรับผิดชอบต่อทรัพยากรธรรมชาติอยู่แล้ว และมักจะมีค่าใช้จ่ายต่อหัวก็ค่อนข้างสูงกว่านักท่องเที่ยวที่อายุน้อยด้วยตามสถิติ ดังนั้นเมื่อเราสามารถทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าอยู่สำหรับนักท่องเที่ยวที่คิดจะเกษียณบั้นปลาย หรือแม้แต่คนที่มีความรู้คนที่ต้องการที่จะมาใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบาย กลุ่มนี้ก็เป็นกลุ่มที่น่าสนใจ
-
ในส่วนของการท่องเที่ยวระยะแรก ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้
ผู้เขียนมองว่าเราอาจจะเน้นที่คนไทยก่อน หรือคนไทยหรือครอบครัวต่างชาติที่กลับจากต่างประเทศ รวมถึงกลุ่มนักธุรกิจ โดยเฉพาะในช่วงที่มีวันหยุดยาว ที่อาจมีคนไทยในประเทศนิยมไปเที่ยวต่างจังหวัดมากขึ้น โดยมีการเตรียมเป็นแผนปฏิบัติการในกรณีที่เกิดกรณี (หาก)เกิดเหตุไม่คาดคิดมากขึ้น เราอาจจะเตรียมแผนสำรอง(เผื่อ)ไว้ด้วย
ทั้งนี้ในส่วนของการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ผู้เขียนเชื่อว่าภายในปลายปีถ้าเราสามารถดูแลเรื่องของจำนวนผู้ติดเชื้อ จำนวนผู้ป่วยอาการหนัก รวมถึงผู้เสียชีวิตให้ค่อยๆ ลดลง โดยควบคู่ที่เราเร่งทยอยฉีดวัคซีนเน้นจังหวัดที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากก็เชื่อว่าน่าจะช่วยได้ ดังจะเห็นได้จากจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยในจังหวัดกรุงเทพฯ ลดลงอย่างเห็นได้ชัดตามที่เราเคยประมาณการเอาไว้ก่อนหน้านี้ถูกต้องแล้ว (โพสต์ทูเดย์ฉบับวันที่ 10 สิงหาคม 2564) ดังนั้นในส่วนนี้ถ้าเราสามารถรีบเร่งฉีดวัคซีนได้ก็จะเป็นการดี และหากเป็นไปได้ควรระมัดระวังผู้สูงอายุในต่างจังหวัดด้วย
ทั้งนี้ ผู้เขียนอาจมีข้อสังเกตว่าเพียงอาจให้ระมัดระวังผลข้างเคียงของวัคซีนควบคู่ไปด้วย(สำคัญมาก ยิ่งในชนบท และรวมถึงผู้สูงอายุต้องให้ความรู้เรื่องนี้และระมัดระวังควบคู่ไปด้วย) และผู้เขียนเชื่อตามคุณหมอหลายๆ ท่านว่าวัคซีนทุกชนิดมีข้อดีของตัวเองอยู่เพียงแต่จะน้อยจะมากอย่างไร ในระยะที่ระบาดนี้ฉีดป้องกันไว้ก่อนก็น่าจะดีที่สุด
อย่างไรก็ตามประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือกรณีของเชื้อกลายพันธุ์ที่เรายังมีความไม่มั่นใจ ทำให้ในหลายๆประเทศยังไม่พิจารณาในการเปิดประเทศแบบไม่มีการกักตัวอย่างแพร่หลาย ดังนั้นแผนนี้ที่เราเลือกใช้ในระยะแรกนี้จึงถือว่าเป็นสิ่งที่เราจำเป็นจะต้องมีความระมัดระวังควบคู่ไปด้วยเพื่อความไม่ประมาทในระยะที่ยังมีเชื้อกลายพันธุ์ ซึ่งในกรณีที่เราเปิดประเทศให้ชาวประเทศเข้ามาในประเทศไทยยิ่งจำนวนมากเท่าไร แม้จะมีข้อดีอาจจะมีรายได้เข้ามาสูงตามไปด้วย แต่ต้องระวังหากมีการระบาดระลอกใหม่ ถ้าเราไม่สามารถดูแลได้อย่างรัดกุมหรือหากมีอะไรผิดพลาดขึ้น (ซึ่งหวังว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบัน ณ พฤศจิกายน 2564) สิ่งเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่เราอาจจะระมัดระวังไว้เผื่อด้วย
รูปที่ 1 สรุปย่อประเด็นการจัดการผู้สูงอายุทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวตามความนิยม ณ พ.ย. 2564 (ตามความเห็นผู้เขียนเท่านั้น)
รูปที่ 2 ประโยชน์หรือผลตอบแทน (Benefit) จากเปิดรับการเดินทางอย่างผ่อนคลายการคัดกรองมากยิ่งขึ้น VS ความเสี่ยง (Risk) จากการติดโควิดเพิ่มขึ้น หรือ มีเชื้อกลายพันธุ์ชนิดใหม่ๆ [รูปแบบกราฟที่ผู้เขียนประยุกต์ขึ้นใหม่เฉพาะกิจ เป็นแบบ quasi-concave ตามสมมติฐาน preference ความเสี่ยง ทั้งนี้เป็นเพียงกรณีสมมติเบื้องต้น ทุกอย่างนี้สามารถแยกเป็นกรณีต่างๆ ได้อีก — ผู้เขียน]
-
แรงงานต่างด้าว
ในความเป็นจริงสิ่งที่จะพ่วงมาด้วยกับการที่เศรษฐกิจเราจะเริ่มฟื้นตัวนั่นคือเรื่องของการผลิต หรือแม้แต่เรื่องของแรงงานที่จะเข้ามาสู่ภาคสาขาเศรษฐกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิต หรือภาคการท่องเที่ยวหรือบริการต่างๆ ก็ตาม ยิ่งเป็นภาคการท่องเที่ยว เราอาศัยแรงงานในจำนวนมาก และแรงงานอาจไม่ใช่เป็นคนไทยทั้งหมด ยังมีแรงงานข้ามชาติหรือต่างด้าวเข้ามาด้วย ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่าการที่เราจะรับแรงงานต่างด้าวเข้ามาเป็นจำนวนมากในระยะนี้ก็มีความเป็นไปได้ ดังนั้นสิ่งที่เราจะต้องระมัดระวังเรื่องโรคโควิด ยิ่งในกรณีความเป็นอยู่แออัด หรืออาจจะมีเรื่องของการลักลอบ ดังนั้นส่วนที่เป็นเรื่องของแรงงานลักลอบเราจำเป็นที่จะต้องปิดช่องว่างนี้ หรือเรื่องของโรคระบาดที่มีอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านประกอบกับสถานการณ์การเมืองในเมียนมาที่ยังไม่สงบ ก็มีโอกาสทำให้คนเมียนมาอาจจะหนีเข้ามาในประเทศไทยตามชายแดนได้ด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราควรจะระวังและเผื่อไว้ด้วยว่าอาจจะมีการระบาดได้ อาจมีการเปิดโอกาสให้ทำเข้าระบบถูกต้องในช่วงนี้อาจจะพอช่วยได้
ทั้งนี้รวมในส่วนที่เป็นภาคอุตสาหกรรม ภาคก่อสร้าง หรือภาคการผลิตอื่นๆ หรือแม้แต่เรื่องของภาคบริการด้วย เพราะเนื่องจากเราเริ่มเปิดประเทศก็จะมีเรื่องของอุปสงค์(demand) ที่อาจต้องการแรงงานเหล่านี้เข้ามาด้วย นอกจากการต้องการแรงงานไทยเพิ่มเติม โดยส่วนที่เป็นแรงงานไทยเราอาจจะสามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือกลุ่มที่มีทักษะสูงและกลุ่มที่อาจจะยังไม่มีทักษะมาก ถ้าสามารถที่จะได้คนไทยที่จะช่วย fill in แรงงานแทนที่จะใช้แรงงานข้ามชาติได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดี (ดังที่เราได้นำเสนอแนวความคิดของการ pool แรงงานและการ matching เอาไว้บางส่วนแล้วในบทความวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา)
-
การประมาณการของนักท่องเที่ยว และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจระยะใกล้
การดึงดูดเรื่องของนักท่องเที่ยวในระยะสั้นบางครั้งบางทีเราอาจจะเลือกนักท่องเที่ยว short haul ซึ่งในระยะนี้บางทีกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักจากประเทศจีนอาจจะต้องใช้ระยะเวลา (เนื่องจากมีข้อมูลว่าทางรัฐบาลยังไม่มีแผนสนับสนุนให้มีการเดินทางระหว่างประเทศในระยะสั้นในระยะอันใกล้นี้อาจจะมีเหตุผลหลายประการที่เราจะต้องติดตามต่อไป) ดังนั้นโอกาสที่ผู้เขียนเห็นว่าอาจจะเป็นไปได้คือเรื่องของความร่วมมือระหว่างประเทศ หรือเป็นเรื่องของภาครัฐหรือภาคเอกชนในประเทศที่มีการจัดอบรมสัมมนาที่มีการเว้นระยะห่างตามมาตรการด้วย ซึ่งอาจจะช่วยได้ในกรณีที่เราอาจจะยังไม่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นจำนวนมากในระยะสั้นนี้
ซึ่งในสถานการณ์ปกติที่ผู้เขียนเคยได้วิจัยมาหลายปีก่อน นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ในภูมิภาคอาเซียนเองที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย มีการเข้ามาในรูปแบบสัมมนาหรือการแลกเปลี่ยนการทำงาน ดูงาน หรือสัมมนา ค่อนข้างเป็นสัดส่วนสูง และในอดีตยังมีสัดส่วนของภาครัฐหรือภาคเอกชนขนาดใหญ่ที่มีเรื่องของการทำงานเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
ส่วน ณ สถานการณ์เดือนพฤศจิกายน 2564 ผู้เขียนเชื่อว่า การประมาณการของนักท่องเที่ยวน่าจะกลับมาได้ ถ้าในเรื่องของสถานการณ์โควิด เราสามารถดูแลได้ราบรื่นดีภายในปลายปีหรือต้นปีหน้าก็น่าจะเห็นทิศทางที่สดใสขึ้นแล้ว เอาใจช่วยทุกท่าน
และรวมถึงเศรษฐกิจของไทยถ้าไม่มีการระบาดระลอกใหม่อย่างรุนแรง ส่วนตัวผู้เขียนเองก็เชื่อว่าเศรษฐกิจน่าจะค่อยๆ ดีขึ้นภายในไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 นี้แล้ว ทั้งนี้เรื่องของการประมาณการเศรษฐกิจผู้เขียนคงจะขอละไว้ในบทความฉบับต่อไปเนื่องจากอาจจะมีเรื่องที่น่าสนใจและน่าคุยกันเพิ่มเติม
-
การประมาณการตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดระยะสั้น (ตามมุมมองผู้เขียนเท่านั้น) ณ 2 พ.ย.64
ในเรื่องของการประมาณการตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด ในมุมมองของผู้เขียนมองว่ามีโอกาสภายในสัปดาห์ภายในสัปดาห์แรกถึงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนพฤศจิกายนที่อาจจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงขึ้นได้รวมถึงจำนวนผู้ป่วยหนักและผู้ป่วยเสียชีวิตมีโอกาสที่จะสูงขึ้นได้อีกซึ่ง ณ การประมาณการวันที่ 2 พฤศจิกายนนี้ เป็นไปได้ว่าตัวเลขอาจจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นและจะเห็นภาพชัดภายในช่วงสุดสัปดาห์ของสัปดาห์ที่ 1 เดือนพฤศจิกายน โดยเฉพาะในต่างจังหวัด อาจจะให้ความระมัดระวังด้วย
ถ้าเราสามารถประคองให้ตัวเลขไม่สูงขึ้นมากจนเกินไปการเปิดประเทศก็อาจจะราบรื่น แต่หากตัวเลขของผู้เสียชีวิตหรือผู้ป่วยหนักสูงขึ้นเราจำเป็นที่จะต้องรีบดำเนินการ ทั้งนี้โดยภายในสัปดาห์ที่ 2 เราน่าจะทราบว่าผลเป็นอย่างไร บางทีอาจจะดีกว่าที่คาดก็ได้ หากประชาชนทุกคนร่วมมือร่วมใจกันเต็มที่
รูปที่ 3 นำเสนอกรอบแนวคิดเพื่อการเตรียมพร้อม (ตามมุมมองส่วนตัวผู้เขียนเท่านั้น ณ พ.ย. 64)