คุณค่าและการด้อยค่า (ผศ.ดร.ทองใหญ่)
October 10 2021 December 15 2021
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทองใหญ่ อัยยะวรากูล
ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)
www.econ.nida.ac.th; tongyai.i@nida.ac.th
คุณค่าและการด้อยค่า
คุณค่าเป็นแนวคิดสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งทางเศรษฐศาสตร์ จนถึงขนาดที่ว่า Gérard Debreu นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลชาวฝรั่งเศสถึงกับตั้งชื่อหนังสือของตนเองอันเป็นวรรณกรรมชิ้นสำคัญที่สุดเล่มหนึ่งในสาขาคณิตเศรษฐศาสตร์ว่า ทฤษฎีว่าด้วยคุณค่า (Theory of Value) ปริศนาหนึ่งที่เป็นที่สนใจของนักเศรษฐศาสตร์และนักปรัชญามาอย่างยาวร่วมพันปีนับแต่สมัยของเพลโต ก็คือ เหตุใดน้ำซึ่งดูมีคุณค่ามากกว่าเพชร กลับมีราคาต่ำกว่าเพชร ซึ่งผู้ที่ได้เคยศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ก็คงจะคุ้นเคยกับคำถามนี้เป็นอย่างดี
ตามแนวคิดเศรษฐศาสตร์กระแสหลักซึ่งเป็นพื้นฐานของวิชาเศรษฐศาสตร์ที่สอนกันในระดับมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่นั้น คุณค่าในทางเศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องในเชิงอัตวิสัย (subjective) ที่เป็นไปตามความเห็นและความพอใจส่วนบุคคลล้วนๆ ซึ่งแม้โดยทั่วไปความพอใจจะขึ้นอยู่กับคุณประโยชน์ของสินค้าเป็นหลัก เช่น ถ้าสินค้า A ดีกว่า ใช้ทนกว่า สวยกว่า สินค้า B ผู้บริโภคก็มักพอใจหรือให้คุณค่ากับสินค้า A มากกว่าสินค้า B แต่ในบางกรณีก็อาจเป็นเรื่องของรสนิยมส่วนบุคคลแต่เพียงอย่างเดียวที่อาจไม่ยึดโยงกับคุณประโยชน์ใดๆ ของสินค้าชนิดนั้นเลยก็เป็นได้ เช่น หากใครชอบรถสีดำมากกว่าสีขาว ก็ถือว่าคนผู้นั้นให้คุณค่ารถสีดำมากกว่ารถสีขาว และข้อสมมติหนึ่งที่สำคัญที่สุดของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ ก็คือ คนเราจะต้องรู้ความต้องการของตัวเองว่าพอใจหรือให้คุณค่ากับสิ่งใดมากกว่ากัน หรือหากจะกล่าวในอีกแง่หนึ่งก็คือ ต้องสามารถเปรียบเทียบคุณค่าที่เกิดขึ้นจากทางเลือกต่างๆ ได้ ความสามารถในการเปรียบเทียบคุณค่าของสิ่งต่างๆ นี้ นำไปสู่สิ่งที่สำคัญยิ่งคืออุปสงค์หรือเครื่องสะท้อนความประสงค์ที่ผู้บริโภคมีต่อสิ่งต่างๆ อันเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งในการใช้กลไกตลาดเป็นเครี่องมือสร้างประสิทธิภาพของสังคม
วาทกรรมที่ได้ยินอย่างแพร่หลายในสังคมไทยในระยะหนึ่งปีที่ผ่านมาที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องของคุณค่าที่ได้เกริ่นนำมาข้างต้นคือการด้อยค่า คำว่าการด้อยค่าผมเข้าใจว่าน่าจะแปลมาจากคำในภาษาอังกฤษว่า devalue ซึ่งเป็นคำแปลที่ถอดคำได้อย่างตรงไปตรงมาและมีความงดงามทางภาษา หากตีความตามคำดั้งเดิมในภาษาอังกฤษแล้ว จะเห็นได้ว่าการด้อยค่ามีความหมายในเชิงภววิสัย (objective) ในแง่ของการลดทอนคุณประโยชน์ของสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ต่ำกว่าที่เป็นจริง เช่น หากวัคซีนชนิดหนึ่งสามารถลดอัตราการตายได้ร้อยละ 50 การบิดเบือนข้อเท็จจริงให้เข้าใจไปว่าวัคซีนนี้สามารถลดอัตราการตายได้เพียงร้อยละ 20 จึงนับได้ว่าเป็นการด้อยค่าวัคซีนชนิดนี้ และเป็นตัวอย่างหนึ่งของการใช้คำว่าด้อยค่าอย่างถูกต้อง
แต่หากเป็นการเปรียบเทียบวัคซีนสองประเภท โดยสมมติให้มีผู้หนึ่งผู้ใดพอใจหรือให้คุณค่าวัคซีนชนิด A มากกว่าวัคซีนชนิด B เนื่องจากวัคซีนประเภทแรกสามารถลดอัตราการตายได้ดีกว่าวัคซีนประเภทหลังแล้ว สิ่งนี้ย่อมถือเป็นการเปรียบเทียบคุณค่าหรือความพอใจที่มีต่อวัคซีนแต่ละประเภทอันเป็นพฤติกรรมตามธรรมชาติของผู้บริโภคเท่านั้น การขอให้หยุดการกระทำเช่นนี้เพราะถือเป็นการด้อยค่าวัคซีน B จึงน่าจะเป็นทั้งการใช้คำพูดที่ผิดจากความหมายที่แท้จริงที่เอาความหมายของการด้อยค่ามาปะปนกับการเปรียบเทียบคุณค่า อีกทั้งยังเป็นการเรียกร้องในสิ่งที่ฝืนธรรมชาติของมนุษย์ซึ่งเป็นข้อสมมติพื้นฐานในทางเศรษฐศาสตร์ที่ว่าคนเราจะต้องสามารถเปรียบเทียบคุณค่าของสิ่งต่างๆ ได้ ยิ่งหากมีการย้ำว่าการฉีดวัคซีนอะไรก็ดีกว่าไม่ฉีด ก็อาจยิ่งเป็นการให้เหตุผลที่ลักลั่น เพราะหากการให้คุณค่าวัคซีน A มากกว่าวัคซีน B ถือเป็นการด้อยค่าวัคซีน B แล้ว การให้คุณค่าวัคซีน B มากกว่าการไม่ฉีดวัคซีนใดๆ ก็ย่อมถือเป็นการด้อยค่าทางเลือกที่จะไม่ฉีดวัคซีนใดๆ เลยเช่นกัน
การเปรียบเทียบคุณค่าจึงเป็นเรื่องที่แตกต่างกับการด้อยค่าในแง่ที่ว่าการเปรียบเทียบคุณค่าเป็นเรื่องปกติวิสัยตามพฤติกรรมของมนุษย์ แต่การด้อยค่าเป็นเรื่องการบิดเบือนข้อเท็จจริง และหากการเปรียบเทียบคุณค่าของสินค้าและบริการตั้งอยู่บนข้อมูลที่ครบถ้วนและถูกต้องแล้ว การเปรียบเทียบคุณค่าเช่นที่ว่านี้จะเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่นำไปสู่ความมีประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรในสังคม เช่น สินค้าที่ผู้บริโภคถูกมองว่าให้คุณค่าน้อยก็จะมักจะขายได้ในราคาที่ต่ำและทำกำไรให้กับผู้ผลิตได้น้อย ซึ่งเป็นสัญญาณที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้ผลิตคิดหาทางพัฒนาสินค้าของตนเองให้ดีขึ้นกว่าเดิมในระยะยาวต่อไป ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างหนึ่งในอดีตเมื่อราวห้าสิบปีมาแล้วที่สินค้าที่ผลิตจากประเทศหนึ่งในทวีปเอเชียมีคุณค่าเทียบกันไม่ได้กับสินค้าที่ผลิตจากประเทศในทวีปยุโรปในมุมมองของผู้บริโภคหลายคน ซึ่งทั้งผู้ประกอบการและรัฐบาลของประเทศนั้นก็ได้พยายามปรับปรุงแก้ไขมาโดยตลอด จนกระทั่งในปัจจุบันที่ผู้บริโภคทั่วโลกต่างให้การยอมรับคุณภาพสินค้าจากประเทศนี้ว่ามีคุณภาพดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และสามารถขายได้ในราคาสูง
หากพิจารณาในแง่นี้ การเรียกร้องให้หยุดการเปรียบเทียบคุณค่าของสินค้าแต่ละประเภทหรือหยุด “การด้อยค่า” ในความหมายที่ผิด จึงนับได้ว่าเป็นความน่ากังวลทั้งในเชิงอักษรศาสตร์และในเชิงเศรษฐศาสตร์ สำหรับตลาดเสรีที่ผู้คนสามารถเลือกซื้อหาสินค้าได้ตามใจชอบนั้น “การด้อยค่า” ในเชิงการเปรียบเทียบคุณค่าระหว่างสินค้าแต่ละประเภทนั้นเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องพูด แต่แสดงออกได้โดยการกระทำ โดยสินค้าที่ผู้คนให้คุณค่าน้อยกว่าสินค้าประเภทอื่นๆ ก็มักจะเป็นสินค้าที่ไม่มีใครซื้อและผู้ผลิตสินค้านั้นย่อมฝ่อลงไปหากไม่พยายามพัฒนาคุณภาพของสินค้าตนเองให้ดีขึ้นกว่าเดิมและมีคุณค่ามากขึ้นในสายตาของผู้บริโภค แต่สำหรับตลาดที่รัฐเป็นผู้เลือกสินค้าให้กับประชาชนนั้น “การด้อยค่า” ย่อมไม่อาจแสดงออกได้โดยการกระทำเนื่องจากไม่มีสินค้าให้เลือก การแสดงออกโดยคำพูดซึ่งความพอใจของตนที่มีต่อสินค้าแต่ละประเภทจึงไม่เพียงแต่จะเป็นเรื่องที่ไม่ควรปิดกั้นเท่านั้น หากยังควรเห็นค่าและส่งเสริมเพื่อให้ได้ข้อมูลไปปรับปรุงเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากร