เริ่มต้นเก็บเงินออมเผื่อฉุกเฉินแล้วหรือยัง (รศ.ดร.ปริยดา)
รองศาสตราจารย์ ดร.ปริยดา สุขเจริญสิน
ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)
www.econ.nida.ac.th
เริ่มต้นเก็บเงินออมเผื่อฉุกเฉินแล้วหรือยัง
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2562 และยังมีการแพร่ระบาดต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันก็เกือบ 2 ปีแล้ว โดยเป็นการแพร่ระบาดใหญ่ระดับโลก (Pandemic) ซึ่งมีทั้งจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกระจายไปทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งยังส่งผลต่อประชาชนในด้านการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป เด็กๆ ต้องเรียนออนไลน์ ไม่ได้ไปใช้ชีวิตกับเพื่อนๆ การทำงานมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบที่ต้อง Work from Home ทั้งทำงานและประชุมออนไลน์กันเพื่อรักษาระยะห่างทางสังคม ทุกคนต้องดูแลรักษาสุขภาพมากขึ้น สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
อีกทั้งเหตุการณ์นี้ยังอาจส่งผลต่อความมั่นคงทางรายได้ เนื่องจากมีหลายๆ กิจการที่ต้องปิดตัวลง ไม่ว่าจะชั่วคราวตามมาตรการภาครัฐเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด หรือบางกิจการอาจต้องปิดกิจการถาวรเลยก็มีมาก เนื่องจากไม่สามารถรับผลขาดทุนที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ได้ ดังนั้น ลูกจ้างพนักงานทั้งหลายก็ขาดรายได้หรือตกงานกันเป็นจำนวนมาก องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization หรือ ILO) ได้คาดการณ์ว่า วิกฤตตลาดแรงงานที่เกิดขึ้นจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ยังคงดำเนินไปต่อเนื่อง แรงงานทั่วโลกจะตกงานกว่า 205 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2565 โดยในส่วนของประเทศไทยนั้น จากการสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และ องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF Thailand) พบว่านักศึกษาที่กำลังจะเรียนจบปริญญาตรี มีแนวโน้มที่จะว่างงาน เนื่องจากภาคเอกชนชะลอการจ้างงาน รวมถึงยังมีประชาชนวัยทำงานที่ตกงานแล้วอีกกว่า 6 ล้านคน และยังมีแรงงานอีกจำนวนมากที่แม้จะไม่ตกงาน แต่มีการสูญเสียรายได้ รายได้ลดลงเนื่องจากจำนวนชั่วโมงทำงานลดลง หลายคนต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวโดยการประหยัดและลดการบริโภคลง อาจต้องขาย จำนำ หรือจำนองทรัพย์สิน อาจมีการก่อหนี้เพิ่มขึ้นเพื่อนำมาใช้จ่าย ซึ่งจะเป็นการสร้างปัญหาทางการเงินต่อไป
ตามทฤษฎีความต้องการถือเงินของเคนส์ ได้กล่าวว่าความต้องการถือเงินแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลักๆ ได้แก่ ความต้องการถือเงินเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ความต้องการถือเงินเพื่อแสวงหากำไร และ ความต้องการถือเงินเพื่อใช้จ่ายเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดคิดไว้ล่วงหน้า โดยความต้องการถือเงินของแต่ละบุคคลนั้นอาจจะแตกต่างกันไป ยิ่งหากใช้ชีวิตแบบเดือนชนเดือนมาตลอด มีเท่าไหร่ใช้เท่านั้น ไม่มีเงินสำรองเก็บไว้เลยนั้น จะทำให้ไม่มีเงินที่จะสามารถนำมาใช้ได้หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้นโดยที่ไม่ได้วางแผนล่วงหน้า เช่น ตกงาน เจ็บป่วย อุบัติเหตุ น้ำท่วม ไฟไหม้ เป็นต้น เหตุการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยาวนานต่อเนื่องในครั้งนี้ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า “เงินออมเผื่อฉุกเฉิน” นั้นมีความสำคัญมาก โดยในส่วนของเงินออมเผื่อฉุกเฉินนั้น จะช่วยลดผลกระทบจากปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงินได้ และไม่กระทบเงินออมที่เราอาจเก็บออมไว้เพื่อเป้าหมายทางการเงินอื่นๆ
หลายคนไม่รู้ว่าจะเริ่มเก็บเงินออมเผื่อฉุกเฉินอย่างไรดี เราอาจเริ่มออมเงินเป็นจำนวนเงินคงที่หรือเป็นสัดส่วนของรายได้ ซึ่งควรออมก่อนใช้ คือกันเงินออมออกมาก่อนที่จะนำไปใช้จ่ายในแต่ละเดือน แล้วไปออมไว้ในสินทรัพย์ที่ปลอดภัย สามารถนำออกมาใช้ได้ง่าย เนื่องจากความต้องการถือเงินก้อนนี้ไม่ได้เพื่อแสวงหากำไร แต่ต้องสามารถนำมาใช้ได้สะดวก ทันเวลา และไม่ติดเงื่อนไขใดๆ ทั้งนี้ ควรแยกบัญชีเงินออมเผื่อฉุกเฉินจากบัญชีเงินออมเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวันด้วย เพื่อป้องกันการนำเงินออมออกมาใช้โดยไม่ตั้งใจหรือเหตุที่ไม่จำเป็น และขอแนะนำให้เริ่มเก็บออมเผื่อฉุกเฉินนี้ทันที เพราะเราไม่มีทางรู้ว่าเหตุการณ์ไม่คาดฝันจะเกิดขึ้นเมื่อใด
อีกปัญหาของผู้ที่จะเริ่มต้นออมเผื่อฉุกเฉิน คือ ไม่รู้ว่าควรออมเงินเผื่อฉุกเฉินจำนวนเท่าไหร่ดี โดยทั่วไปแล้ว เงินออมเผื่อฉุกเฉินควรอยู่ที่ประมาณ 3 ถึง 6 เท่าของรายจ่ายที่จำเป็นและภาระการผ่อนชำระหนี้ต่อเดือน เพื่อช่วยให้ดำเนินชีวิตแบบปกติต่อไปได้อีกสักระยะ ดังนั้น จึงอาจเริ่มต้นเก็บออมเบื้องต้นที่ 3 เท่าก่อน อย่างไรก็ตาม ก็ควรตั้งเป้าในการออมเพิ่มให้สามารถมีเงินออมเผื่อฉุกเฉินให้ได้ถึง 6 เท่า เพราะอย่างน้อย เวลาช่วง 6 เดือนหรือครึ่งปี ก็มากพอสมควรที่จะให้เราได้ตั้งหลักใหม่เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ และหากมีเหตุให้ต้องนำเงินออมเผื่อฉุกเฉินออกไปใช้และสามารถแก้ไขปัญหาได้แล้ว ก็ควรหาเงินมาออมเพื่อให้เงินก้อนนี้กลับมาอยู่ในระดับเดิมโดยเร็ว เพื่อสำรองเผื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นอีก
ทั้งนี้ ตัวเลข 6 เท่าจึงเป็นเพียงตัวเลขเฉลี่ยทั่วไป หากใครที่มีปัจจัยเสี่ยงมากกว่าปกติ เช่น ไม่ได้ทำงานประจำ มีรายได้ไม่แน่นอน หรือประกอบอาชีพอิสระ ก็อาจเผชิญความไม่มั่นคงของรายได้ที่สูงกว่า หรือยิ่งอายุมากขึ้น โอกาสเจ็บป่วยก็มีมากขึ้น ก็อาจต้องเก็บเงินออมเผื่อฉุกเฉินมากขึ้น นอกจากนี้ หากยังไม่มีประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพเลย ก็ควรสำรองเงินไว้ให้มากขึ้นด้วย เพื่อที่จะได้มีเงินไว้ใช้จ่ายเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันได้ เพราะถึงมีการทำประกันไว้แล้ว บางครั้งเราก็อาจต้องสำรองเงินก่อนแล้วค่อยเบิกจากบริษัทประกันทีหลัง เงินออมเผื่อฉุกเฉินจึงยังมีความจำเป็นอยู่
ยิ่งในภาวะที่ไม่ปกติ เช่น เศรษฐกิจถดถอย หรืออย่างปัจจุบันนี้ที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่แน่นอนว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด ก็ควรเก็บออมให้ได้มากกว่า 6 เท่าของรายจ่ายที่จำเป็นและภาระการผ่อนชำระหนี้ต่อเดือน เพราะไม่เคยมีใครคาดคิดว่าจะยาวนานถึงเกือบ 2 ปีแล้ว จึงอาจเกิดคำถามขึ้นว่า หรือเราควรกำหนดจำนวนเงินสำรองไว้ใช้ยามฉุกเฉินนี้ให้ได้มากที่สุด แต่การมีเงินสำรองไว้มากเกินไป ก็อาจทำให้เสียโอกาสในการหาผลตอบแทนที่ดีขึ้น แต่หากมีเงินสำรองไว้น้อยเกินไป ก็อาจไม่เพียงพอเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น แต่ละคนจึงควรกำหนดจำนวนเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินนี้ให้เหมาะสมกับสถานะของตนเอง โดยพิจารณาปัจจัยส่วนบุคคลประกอบ เช่น ความมั่นคงของรายได้ ค่าใช้จ่ายที่จะต้องใช้ในแต่ละเดือน รวมถึงบางครั้งเราอาจไม่จำเป็นต้องถือแต่เงินสดไว้ให้มากที่สุด เพราะอาจมีสินทรัพย์อื่นๆ ที่อาจเปลี่ยนเป็นเงินสดเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่องในยามฉุกเฉินได้ นอกจากนี้เราอาจพิจารณาทางเลือกในการป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในชีวิตและทรัพย์สินด้วยการประกันภัย เพื่อช่วยบรรเทาภาระที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยหลักของความไม่ประมาท จะทำให้เราสามารถอยู่รอดปลอดภัยผ่านพ้นช่วงภาวะวิกฤตต่างๆ ในชีวิตนี้ไปได้
ที่มาภาพข่าว : https://www.posttoday.com