เมื่อเยียวยาอย่างไรก็ไม่ (เคย) ดีพอ (ศ.ดร.พิริยะ)

ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์

ศาสตราจารย์ได้รับเงินเดือนขั้นสูง (ศาสตราจารย์ 11) และ
ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)
www.econ.nida.ac.th; piriya@nida.ac.th

 เมื่อเยียวยาอย่างไรก็ไม่ (เคย) ดีพอ

 

เมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อจากไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้ายังไม่มีแนวโน้มที่จะลดลง การตัดสินใจประกาศล็อกดาวน์ต่อจนถึงปลายเดือนสิงหาคม และแน่นอนว่า การตัดสินใจที่จะขยายการล็อกดาวน์ในครั้งนี้มันก็คือ การที่รัฐตัดสินใจที่จะทุบเศรษฐกิจที่จากเดิมก็ต่ำเตี้ยเรี่ยดินอยู่แล้ว ให้ต่ำลงไปอีก และแน่นอนว่า เมื่อเกิดการล็อกดาวน์แต่ละครั้ง ทุกคนที่ได้รับผลกระทบย่อมต้องเรียกร้องของ “การเยียวยา”

งานศึกษาในชุดโครงการ “ผลกระทบของโควิด-19 ต่อภาคเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวไทย” (ที่มีผมเป็นหัวหน้าชุดโครงการ) ซึ่งงานนี้ได้รับการสนับสนุนด้านทุนวิจัยจาก “หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข – กลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์)” โดยส่วนหนึ่งของชุดโครงการนี้ทางทีมวิจัยของเรา (ซึ่งได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.ศาสตรา สุดสวาสดิ์, คุณทวีชัย เจริญเศรษฐศิลป์, คุณณัฐวุฒิ ลักษณาปัญญากุล, และ ดร.สยาม สระแก้ว) ได้ใช้แบบจำลองทางเศรษฐกิจมหภาค (Macroeconomic Model) ประเภทแบบจำลองดุลยภาพทั่วไป (Computable General Equilibrium Model) เพื่อวิเคราะห์ประเมินผลกระทบของการออกมาตรการเยียวยาของภาครัฐประเภทต่าง ๆ ตั้งแต่ครั้งระบาดครั้งที่ 1 ด้วยกันทั้งสิ้น 6 มาตรการได้แก่ (1) มาตรการเราไม่ทิ้งกัน รอบแรก ที่กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ผู้ประกันตน ม.39 และ 40 เกษตรกร (2) มาตรการเราไม่ทิ้งกัน รอบสอง ที่กลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มผู้เปราะบาง เช่น คนชรา เด็ก ผู้พิการ และกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ไม่ได้รับการเยียวยาใด ๆ (3) มาตรการเติมเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (4) มาตรการคนละครึ่ง ที่กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ประชาชนทั่วไปที่มีอายุเกิน 18 ปี และไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (5) มาตรการเราชนะ ที่กลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มอาชีพอิสระ เกษตรกร อายุเกิน 18 ปี ไม่เป็นผู้ประกันตน ม.33 ไม่เป็นข้าราชการ-เจ้าหน้าที่ของรัฐ และผู้ที่รับเบี้ยหวัดบำนาญ โดยมีเงินได้พึงประเมินไม่ถึง 3 แสน และมีเงินฝากไม่เกิน 5 แสนบาท และ (6) มาตรการ ม.33 เรารักกัน ที่ออกมาเพื่อช่วยเหลือผู้ประกันตน ม.33 ที่มีบัญชีเงินฝากไม่เกิน 5 แสนบาท โดยวงเงินงบประมาณรวมทั้ง 6 มาตรการ อยู่ที่ 724,910 ล้านบาท ซึ่งมีแหล่งเงินมาจากทั้งในส่วนงบกลางรายการสำรองจ่ายฉุกเฉินหรือจำเป็นของปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ราว 70,000 ล้านบาท และวงเงินใน พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท

ผลจากแบบจำลองพบว่า มาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทำให้สวัสดิการสังคมเพิ่มขึ้นประมาณ 18.3 พันล้านเหรียญ, GDP เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.99, อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.51, ดุลการค้าลดลง 14.9 พันล้านเหรียญ, รายได้ภาษีเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.69 การส่งออกลดลงร้อยละ 1.18 การนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.75 อัตราการค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.28 การบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.19 การลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.24

ถึงแม้ว่า การออกมาตราการเยียวยาจะสร้างผลบวกต่อเศรษฐกิจในระดับมหภาคก็ตาม แต่เมื่อวิเคราะห์ในระดับจุลภาคโดยทำการประเมิน 3 ด้านได้แก่ 1) ด้านความเพียงพอ, 2) ด้าน Exclusion Error, และ 3) ด้าน Inclusion Error โดยกำหนดสถานการณ์การเยียวยาไว้ 2 ปี (24 เดือน) โดยพบว่า

  • ด้านความเพียงพอ (Level of benefits) มูลค่าผลประโยชน์ที่ได้รับ (คิดช่วงระยะเวลา 2 ปี) โดยเฉลี่ยอยู่ที่เพียง 540 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งน้อยกว่ารายได้โดยเฉลี่ยที่ลดลง 1,355 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า หากการแพร่ระบาดเป็นไปอย่างยืดเยื้อและขยายระยะเวลายาวนานมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของรัฐที่ออกมาโดยเฉลี่ยแล้วไม่เพียงพอที่จะชดเชยรายได้ที่ลดลงไปจากการแพร่ระบาดได้  มูลค่าผลประโยชน์โดยเฉลี่ยต่อคนที่ได้รับจะมีความเพียงพอ (มากกว่ารายได้โดยเฉลี่ยต่อเดือนที่ลดลง) เฉพาะแค่เพียงในกลุ่มประชากรที่มีรายได้ต่ำสุดร้อยละ 30 เท่านั้น ในขณะที่ประชากรอีกร้อยละ 70 จะไม่ได้รับเงินเยียวยาที่เพียงพอต่อรายได้ที่ลดลง

  • ด้าน Exclusion Error โดยการวิเคราะห์ว่ามาตรการช่วยเหลือที่ออกมามีความครอบคลุมกลุ่มคนจนจริงมากน้อยเพียงใด โดยผลการศึกษาพบว่า มาตรการเยียวยาที่ออกมาเข้าถึงคนจนประมาณ 89 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 83.50 ของจำนวนคนจนทั้งหมด โดยยังมีคนจนอีกรวม 1.56 ล้านคน (ร้อยละ 16.50) ที่ยังไม่เข้าไม่ถึงการได้รับสิทธิการเยียวยาที่ผ่านมานี้

  • ด้าน Inclusion Error โดยวัดว่ามาตรการช่วยเหลือและเยียวยามีการครอบคลุมกลุ่มที่ไม่ใช่เป้าหมายของมาตรการ (กลุ่มคนไม่จน) เท่าใด โดยผลการศึกษาพบว่า ผู้ได้รับประโยชน์จากมาตรการแต่ไม่ได้เป็นคนจนมีอัตราที่สูงถึงร้อยละ 07 ของผู้ได้รับประโยชน์จากมาตรการทั้งหมด หรือกล่าวได้ว่า ผู้ได้รับประโยชน์ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนไม่จน

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า จากผลการประเมินมาตรการเยียวยาที่ผ่านมา ยังไม่เพียงพอต่อรายได้ที่หายไป ยังเข้าไม่ถึงกลุ่มคนจนที่แท้จริง และที่ได้รับประโยชน์เองก็ไม่ได้เป็นคนที่เดือดร้อนสุด ๆ จริงเท่าใดนัก  ดังนั้นในการที่จะให้การเยียวยาเกิดประสิทธิผลและเพียงพอและยาวนานได้นั้น ภาครัฐจำเป็นต้อง 1) ขยายวงเงินในการเยียวยาให้มากกว่านี้ และ 2) ต้องมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย (Targeting) ที่จะได้รับความช่วยเหลือเป็นหลัก

แต่ทว่า เมื่อภาครัฐมีงบประมาณที่จำกัด ที่คงจะไม่ได้สามารถช่วยเหลือเยียวยาได้ดีพอได้ จึงนำมาสู่ทางเลือกที่จะเกิดขึ้นก็คือ 1) กู้เงินเพิ่มเพื่อการเยียวยา ล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการติดเชื้อ และเร่งฉีดวัคซีน หรือ 2) ตัดสินใจคลายล็อกดาวน์กิจกรรมบางประเภทเพื่อให้เกิดการประกอบธุรกิจและให้คนมีรายได้  แน่นอนว่าแนวทางที่สอง (การเริ่มคลายล็อกดาวน์ในบางกิจกรรม) จะเป็นแนวทางที่ส่งผลดีกว่าในทางเศรษฐกิจ  และคงต้องมานั่งลุ้นดูว่า ศบค. จะตัดสินใจอย่างไรเมื่อมาตรการล็อกดาวน์จะหมดไปในวันที่ 31 สิงหาคมนี้

ที่มาภาพข่าว : https://www.posttoday.com