เศรษฐศาสตร์ของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 (ดร.รศ.ยุทธนา)

รองศาสตราจารย์ ดร.ยุทธนา เศรษฐปราโมทย์
ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ
คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)
www.econ.nida.ac.th; yuthana.s@nida.ac.th

เศรษฐศาสตร์ของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19

ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน ความต้องการวัคซีนป้องกันโรค โควิด-19 เพิ่มสูงขึ้น ที่ผานมาประเด็นที่ถูกกล่าวเกี่ยวกับวัคซีน จะเน้นที่ความปลอดภัยและประสิทธิภาพทางการแพทย์ ดังนั้นในวันนี้ผมจะกล่าวถึงวัคซีนจากแง่มุมทางเศรษฐศาสตร์ครับ

จากการระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลก ซึ่งในสหรัฐ และ ยุโรป เผชิญการระบาดรุนแรงในปี 2563 ส่วนไทยและประเทศเอเชีย เช่น เวียดนาม ไต้หวัน มาเลเซีย ซึ่งควบคุมการระบาดได้ดีในปี 2563 กลับเผชิญการระบาดที่รุนแรงในปี 2564 ซึ่งการแพร่ระบาดนี้ส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ทั้งด้านมูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจ ด้านสุขภาพประชาขน และทุนมนุษย์ จากการศึกษาของ Ahuja et al (2021) ประมาณความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั่วโลกที่ 5 แสนล้านดอลล่าร์ฯ ต่อเดือน ในปี 2563  เมื่อรวมความสูญเสียด้านอื่นๆ ด้วย Summers (2020) ประมาณความสูญเสียเฉพาะในสหรัฐฯ ทีระดับ 8 แสนล้านดอลล่าร์ต่อเดือน ในกรณีไทย ผลจากการระบาดที่เกิดขึ้นในปี 2563 ทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2563 ถดถอยร้อยละ -6.1 และในปี 2564 ช่วงต้นปีซึ่งการระบาดยังไม่รุนแรงธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประมาณการขยายตัวของ GDP ที่ร้อยละ 3.0 ซึ่งจากสถานการณ์ล่าสุดในเดือนกรกฎคมทำให้การประมาณการเศรษฐกิจของหลายหน่วยงานในเดือน กรกฎาคมปรับลดลงไปเป็นประมาณร้อยละ 1 หรือ ต่ำกว่านั้น

ในปัจจุบัน ประเทศสหรัฐฯ สภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร ใช้การกระจายวัคซีนแก่ประชาขน ในการควบคุมการแพร่ระบาด ลดความสูญเสียต่อสุขภาพและชีวิต ในขณะที่นโยบายการป้องกันผ่านการใช้หน้ากากอนามัยและการเว้นระยะทางสังคมที่ประเทศเอเชีย เช่น ไทย ไต้หวัน เวียดนาม ซึ่งใช้ได้ผลในการควบคุมการระบาดในปี 2563 ที่ผ่านมา ไม่สามารถยับยั้งการระบาดระลอกใหม่ของไวรัสสายพันธ์อัลฟา และเดลต้าได้ ทำให้เกิดความต้องการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลกตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ปี 2564 เป็นต้นมา

ในทางเศรษฐศาสตร์ วัคซีนป้องกันโรคโควิค-19 จัดเป็นสินค้าที่มีผลกระทบภายนอกเชิงบวก ต่อสาธารณะ โดยประโยชน์ที่เกิดขึ้นไม่จำกัดเฉพาะบริษัทผู้ผลิตวัคซีนที่มีรายได้เพิ่มขึ้น หรือเฉพาะต่อสุขภาพและชีวิตส่วนบุคคลของผู้ได้รับวัคซีน แต่การควบคุมการแพร่ระบาดสามารถช่วยลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่ามหาศาลตามที่กล่าวถึงข้างต้น ทำให้ในทางเศรษฐศาสตร์ บทบาทของภาครัฐมีความสำคัญในการส่งเสริมการแพร่กระจายของวัคซีนอย่างรวดเร็ว โดยในด้านอุปสงค์ การลดต้นทุนในการฉีดวัคซีน ผ่านการฉีดวัคซีนโดยภาครัฐแก่ประชาชนโดยไม่คิดมูลค่า หรือการเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึง เช่น จัดรถเคลื่อนที่ไปบริการประชาชนตามชุมชน เพื่อลดต้นทุนของประชาขนในการรับบริการลงในประเทศเยอรมัน  รวมถึงมีการให้แรงจูงใจ เช่น สหรัฐฯ มีนโยบายให้เงินแก่ผู้มาฉีดวัคซีนในช่วงนี้ถึง 100 ดอลล่าร์ ล้วนจำเป็นต่อการแพร่กระจายวัคซีนในวงกว้าง นอกจากนี้ การเพิ่มความหลากหลายของวัคซีนที่รัฐจัดให้ประชาชนสามารถเลือกฉีดได้ ก็มีความจำเป็น เนื่องจากความเหมาะสมของแต่ละคนแตกต่างกัน การไม่สามารถเลือกวัคซีนที่จะฉีดได้จะทำให้ประชาชนบางกลุ่มเกิดความลังเล และตัดสินใจชะลอการฉีดวัคซีนได้ นอกจากนี้ ในด้านอุปทาน การให้อุดหนุนในการพัฒนาวัคซีน ก็มีความสำคัญในการเร่งกระบวนการวิจัย โดยที่ผ่านมา BioNtech ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลเยอรมัน หรือ Moderna ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อเร่งกระบวนการวิจัยวัคซีน ซึ่งในกรณีนี้เป็นตัวอย่างสำคัญในนโยบายการกระจายวัคซีนของไทยซึ่งควรเน้นการลดต้นทุนที่ประชาชนต้องจ่ายให้น้อยที่สุด มีการกระจายที่ทั่วถึงและไม่กระจุกตัวในสถานที่เดียว และสร้างความเชื่อถือแก่ประชาชนกับวัคซีนที่ฉีดภายใต้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ล่าสุดตามพัฒนาการของไวรัสกลายพันธุ์

เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ผลต่อความหลากหลายของประเภทวัคซีนซึ่งมีการวิจัยและผลิตภายใต้เทคโนโลยีต่าง ๆ ทางเศรษฐศาสตร์สามารถอธิบายการเลือกใช้วัคซีนของแต่ละประเทศ ซึ่งมีข้อดีข้อเสีย และข้อจำกัดที่แตกต่างกัน โดยกรณีของจีน ในระยะแรกเลือกที่จะผลิตวัคซีนแบบใช้เชื้อโรคที่ถูกทำให้ตาย (Sinopham และ Sinovac) ซึ่งมีข้อดีที่เป็นเทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อน สามารถวิจัยและพัฒนา และจัดหาวัตถุการผลิตได้เองภายในประเทศจีน ซึ่งคือการเพาะเลี้ยงเชื้อโรค ซึ่งการที่จีนเลือกพัฒนาโดยวิธีนี้มาจากข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีและการจัดหาวัตถุในการผลิต ภายใต้ความจำเป็นในการใช้วัคซีนอย่างเร่งด่วนในจีน ซึ่งเป็นประเทศแรกที่มีการระบาด แม้ว่าการใช้เทคโนโลยีเชื้อตายจะมีต้นทุนการผลิตสูงจากการเพาะเชื้อ และมีความเสี่ยงที่เชื้อจะเกิดอุบัติเหตุหลุดออกจากห้องทดลอง หรือมีประเด็นด้านประสิทธิภาพในการกระตุ้นและรักษาระดับภูมิที่ถกเถียงกันในปัจจุบันก็ตาม แต่ภายหลังจีนก็ได้มีการพัฒนาวัคซีนประเภทอื่น ๆ ทั้งที่มีการค้นคว้าวิจัยเอง หรือโดยผ่านการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ  ส่วนในเยอรมันและสหรัฐฯ ซึ่งมีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและโรงงานที่มีศักยภาพในการผลิตยาชั้นสูง เลือกที่จะพัฒนาโดยใช้เทคโนโลยี mRNA (BioNTech, Moderna) ซึ่งมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นการสร้างภูมิ และสามารถต่อสู้กับไวรัสกลายพันธุ์ได้ดี หรือในอังกฤษ และรัสเซีย (Oxford/AstraZeneca, SputnikV) ที่ใช้เทคโนโลยีการฝากพันธุกรรมกับเชื้อตัวอื่น (Viral Vector) ที่มีต้นทุนการผลิตที่ไม่สูงเมื่อเทียบกับวิธีอื่น แต่ต้นทุนการวิจัยและใช้เทคโนโลยีที่สูง และมีข้อจำกัดของวัตถุในการผลิตที่ใช้การเพาะเชื้อและฝากพันธุกรรม รวมถึงโอกาสเกิดผลข้างเคียงระยะสั้น เช่น ลิ่มเลือด หรืออาการแพ้ต่างๆ ซึ่งการพัฒนาวัคซีนทั้งสองประเภทนี้จะเหมาะกับประเทศที่มีความพร้อมทั้งด้านเทคโนโลยีในการวิจัย ศักยภาพของโรงงาน และวัตถุที่จำเป็นในการผลิต แต่วิธี mRNA และ Viral Vector มีข้อดีที่ประสิทธิภาพในการสร้าง กระตุ้น และรักษาระดับภูมิ โดยเฉพาะในกรณีไวรัสกลายพันธุ์

ในการควบคุมการระบาดในระยะแรก (ไตรมาสที่ 4/2563 ไตรมาสที่ 1/2564) เราจะเห็นสหรัฐฯ และยุโรปมีการใช้วัคซีนประเภท mRNA และ Viral Vector เป็นหลัก ส่วนประเทศที่มีข้อจำกัดในการพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูง (จีน) หรือมีข้อจำกัดในโรงงานผลิตที่มีศักยภาพ (เช่น ชิลี) จะมีการใช้วัคซีนเชื้อตายเป็นหลัก ซึ่งสามารถควบคุมการระบาดได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม หลังการแพร่กระจายของไวรัสกลายพันธุ์ (อัลฟาและเดลต้า) ทำให้ในด้านอุปสงค์ความต้องการวัคซีน ประเภท mRNA และ Viral Vector เพิ่มสูงขึ้น อย่างรวดเร็วจนเกิดปัญหาการขาดแคลนวัคซีนในระยะแรก อย่างไรก็ตามในด้านอุปทาน เราจะเห็นพัฒนาการของการเพิ่มอุปทานวัคซีนประเภท mRNA และ Viral Vector ทั้งที่มาจากในรูปการบริจาคของสหรัฐฯ และยุโรป ที่เป็นแหล่งผลิตหลักของโลก ผ่านโครงการ Covax และการบริจาคโดยตรงกับรัฐบาล เช่น กรณีของไทย เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศเหล่านี้ที่เริ่มลดลงเนื่องจากมีการกระจายวัคซีนไปในประชาชนส่วนใหญ่เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ โรงงานวัคซีนในประเทศอื่น ๆ ก็เริ่มมีการพัฒนาศักยภาพการผลิตโดยความร่วมมือด้านเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เช่น Fosun Pharma ของจีนที่ร่วมมือกับ BioNTech ในการพัฒนาโรงงานผลิตวัคซีน mRNA  ในจีน จากสิทธิบัตรของ BioNTech ซึ่งเป็นสิทธิบัตรเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตวัคซีนของ Pfizer ในปัจจุบัน โดยโรงงานในจีนนี้มีศักยภาพการผลิตสูงมาก หรือในไทยก็มี Siam BioScience ที่พัฒนาการผลิตวัคซีนโดยการร่วมมือกับ AstraZeneca

ดังนั้น แนวโน้มของการจัดหาวัคซีนที่ประเทศต่าง ๆ ใช้อยู่ในปัจจุบัน จึงมุ่งเน้นที่การจัดหาวัคซีนเทคโนโลยีชั้นสูง ผ่านการรับบริจาค หรือผ่านการจัดซื้อจากบริษัทผู้ผลิตโดยตรง และในกรณีประเทศที่มีศักยภาพในด้านเทคโนโลยีและโรงงานในระดับหนึ่ง จะเห็นความพยายามในการพัฒนาฐานผลิตในประเทศโดยความร่วมมือกับบริษัทหลักที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ซึ่งที่ผ่านมา ไทยถือว่าประสบความสำเร็จด้านการพัฒนาโรงงานที่เป็นฐานการผลิตในประเทศได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันจะเห็นว่าความต้องการวัคซีนเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าศักยภาพที่สามารถผลิตได้ในประเทศ เนื่องจากข้อจำกัดต่าง ๆ ของโรงงาน ทั้งในเชิงของความชำนาญ และในเชิงวัตถุในการผลิตที่ขาดแคลนในระยะสั้น ทำให้มีความจำเป็นในการเพิ่มจำนวนวัคซีน ผ่านการจัดซื้อจากต่างประเทศในวัคซีนที่มีเทคโนโลยีสูงเพื่อรับมือกับไวรัสกลายพันธุ์ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการปรับตัวที่ค่อนข้างเร็วต่อการหาแหล่งอุปทานใหม่ ๆ เช่น โรงงานวัคซีน mRNA ของ Fosun Pharma หรือวัคซีนจากแหล่งผลิตที่ประเทศผู้ผลิตเริ่มมีการฉีดวัคซีนในประเทศในสัดส่วนที่สูงแล้ว ซึ่งการดำเนินการเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยความรวดเร็วในการเจรจาจัดหาและจัดซื้อ ซึ่งเป็นความท้าทายสำคัญของรัฐบาล ในการจัดหาวัคซีนในระยะสั้น ส่วนในระยะยาวการพัฒนาศักยภาพในการวิจัย และการผลิตวัคซีน ก็เป็นปัจจัยที่มีความจำเป็น ซึ่งที่ผ่านมาไทยก็ถือว่าประสบความสำเร็จในการวิจัยระดับหนึ่ง เช่นวัคซีน mRNA ChulaCov19 ที่มีความก้าวหน้าในการวิจัย โดยใช้ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีกับ University of Pennsylvania ซึ่งเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานของ Moderna และ BioNTech แต่มีความล่าช้าในการผลิตวัคซีนเพื่อใช้ในขั้นการทดลองคลีนิค เนื่องจากปัจจุบันไม่สามารถผลิตได้เองในประเทศ หรือวัคซีน ใบยา ซึ่งเป็นเทคโนโลยี Protein-base ก็มีความจำเป็นในการระดมทุน เพื่อสร้างโรงงานต้นแบบที่มีศักยภาพในการผลิตวัคซีนเพื่อใช้ในการทดลองคลินิก เช่นเดียวกัน ทำให้กระบวนการวิจัยวัคซีนของไทยไม่สามารถทำได้เร็วตามความต้องการ แต่อย่างไรก็ตาม กระบวนการเหล่านี้ก็มีความจำเป็นในการสร้างศักยภาพของการผลิตวัคซีนในอนาคตของไทย นอกจากนี้กระบวนการร่วมมือกับผู้ผลิตเอกชนที่มีศักยภาพในด้านนี้ ก็มีความจำเป็นต่อการพัฒนาศักยภาพการผลิตเชิงพาณิชย์ ซึ่งที่ผ่านมานอกจาก Siam BioScience แล้วประเทศไทยก็มีบริษัทอื่น ๆ ที่มีศักยภาพในด้านวัคซีน เช่น บริษัท องค์การ เภสัชกรรม-เมอร์ริเออร์ ชีววัตถุ หรือ บริษัท BioNet-Asia ซึ่งหากได้รับการส่งเสริมในด้านเงินทุน เทคโนโลยี หรือผ่านการสร้างแรงจูงใจให้บริษัทต่างชาติเข้ามาให้ร่วมมือในการถ่ายทอดเทคโนโลยี ก็มีโอกาสที่จะพัฒนาเป็นทางเลือกที่ดีในระยะยาวได้

สุดท้าย ผมหวังว่าหลักการทางเศรษฐศาสตร์จะประโยชน์ในการช่วยพัฒนากระบวนการจัดหา และกระจายวัคซีน ซึ่งจำเป็นต่อการควบคุมการระบาดของไวรัส Covid-19 ทั้งในระยะสั้น และในระยะยาว ของไทยครับ

Post Today สิงหาคม 2564

ที่มาภาพข่าว : https://www.posttoday.com