รองศาสตราจารย์ ดร.อภิรดา ชิณประทีป
ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ
คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)
www.econ.nida.ac.th; apirada.c@nida.ac.th; apiradach@gmail.com
การจัดการโควิด19 (ณ ส.ค. 64) VS Step ต่อไปของ Sandbox? VS บทบาทวัด
จากที่ผู้เขียนได้มีโอกาสลงโพสต์ทูเดย์หลายฉบับเกี่ยวกับ โควิด-19 กับ การพลิกวิกฤติเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ และได้พูดถึงสถานการณ์โรงเรียน ไปบ้างแล้ว ตั้งแต่ปี 2563 และปี 2564 แต่สถานการณ์ยังคงเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และยังคงมีสายพันธุ์เดลต้า ที่เป็นสายพันธุ์ใหม่ ที่เราต้องหาทางรับมือเพิ่มเติม และยังไม่น่าวางใจ
โอกาสนี้ จึงขอเสนอความคิดเห็นเล็กๆ เพิ่มเติมในการการจัดการโควิด19 (ณ ส.ค. 64) นอกเหนือจากการที่ผู้เขียนได้มีโอกาสกลับไปช่วยเสนอความเห็นและข้อวิเคราะห์ส่วนตัวเสริมเรื่องมาตรการตั้งแต่กลางกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา หลังจากมาพักผ่อนเป็นเวลา 2-3 เดือนก่อนหน้า ขอบคุณทุกท่านที่ให้โอกาสงานอาสากุศลครั้งนี้
ผู้เขียนเชื่อส่วนตัวว่า ณ สิงหาคม 2564 สถานการณ์กำลังจะค่อยๆ ดีขึ้น และเรากำลังมาในแนวทางที่ถูกต้อง ยกเว้นว่าอาจจะมีเหตุการณ์พิเศษ ที่เราต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป โดยอาจยังมีบางประการที่อาจเพิ่มเติมได้ ผู้เขียนเชื่อว่าด้วยความร่วมมือร่วมใจของประชาชนทุกคนก็จะสามารถทำให้เราประสบความสำเร็จได้เร็วขึ้นได้ ในขณะที่วัคซีนที่จัดการกับสายพันธุ์ใหม่นี้ยังมีจำกัด
การจัดการโควิดและ Step ต่อไปของ sand box ตลอดจนบทบาทวัดที่จะมาช่วยเหลือทางด้านจิตใจที่จะมาช่วยเหลือกับการจัดการโควิดได้อย่างไรเป็นเรื่องน่าสนใจที่ดูคล้ายจะไม่ค่อยเกี่ยวข้องกันนักโดยในบทความนี้จะแสดงให้ทุกท่านในประเด็นความเกี่ยวข้องสอดคล้องกันอย่างไร
การจัดการโควิดในช่วงสิงหาคมนี้เป็นระยะที่หัวเลี้ยวหัวต่อซึ่งถ้าเราจัดการได้ดีในกรุงเทพฯและปริมณฑลน่าจะมีข่าวดีได้ (ผู้เขียนคาดว่าตัวเลขยังอาจขึ้นได้อย่างช้าๆ โดยจะมีจำนวนคนรักษาหายมากขึ้น และจะค่อยๆ ดีขึ้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าทุกอย่างยังปรับปรุงต่อเนื่อง) ไม่ว่าจะเป็นอัตราครองเตียง อัตราการตาย ผู้ป่วยหนัก หรือแม้แต่ผู้ติดเชื้อ อาจจะค่อยๆ ดีขึ้นอย่างช้าๆ โดยจำนวนผู้ติดเชื้อน่าจะทยอยค่อยๆ ชะลอตัวลงและน่าจะควบคุมได้ภายในเดือนสิงหาคมถ้าไม่มีอะไรพิเศษหรือสถานการณ์เปลี่ยนแปลงสำคัญๆ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นปัญหาที่เราควรให้ความสำคัญ ณ ขณะนี้คือ “อัตราการตาย” เราอาจต้องหาทางตรงนี้ เนื่องจากยังสูง เมื่อเทียบกับช่วง peak ของอินเดีย รวมถึงปัญหา คนไม่รู้ตัวว่าติดโควิดหรือไม่ และ ตั้งแต่ก่อนเข้าระบบ
อย่างไรก็ตามความซับซ้อนยังอาจมีอยู่ที่ต่างจังหวัดด้วยโดยเฉพาะในระยะที่วัคซีนของเรายังมาไม่เพียงพอดังนั้นจำเป็นต้องมีการควบคุมโรคและเว้นระยะห่างและมาตรการส่วนบุคคลต่อไปอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยที่สุดก็จนกว่าเราจะมั่นใจได้ว่าไวรัสกลายพันธุ์และวัคซีนสามารถจัดการได้อย่างเต็มที่และอัตราการเสียชีวิตลดลงน้อยที่สุด ถ้าเป็นเช่นนั้นเราก็อาจจะวางใจได้บ้าง
ความซับซ้อนของการระบาดรอบนี้ตามที่ได้นำเสนอให้กับทุกท่านแล้วในบทความเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ที่ผ่านมาซึ่งในระยะนี้มีความซับซ้อนขึ้นอีกเนื่องจากพบว่าเป็นสายพันธุ์เดลต้าและสายพันธุ์นี้มีระยะการฟักตัวค่อนข้างสั้นโดยเฉลี่ยประมาณ 3-4 วันและนอกจากนั้นยังแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วมาก และรู้ตัวได้ยากขึ้น
ดังนั้นในการระบาดรอบนี้สิ่งที่สำคัญคือความไวหรือ “Speed” ที่เราจำเป็นที่จะต้องช่วยเหลือผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาหรืออย่างน้อยบรรเทาอาการปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยตนเองได้อย่างเร็วที่สุด ไม่ให้ลงปอด ในขณะที่โรงพยาบาลคุณหมอและภาคสาธารณสุขเริ่มมีงานล้นมือ สิ่งที่สามารถทำได้คือในระดับประชาชนบุคคลแต่ละคนสามารถดูแลตัวเองได้เป็นอย่างน้อย โดยที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์แล้วว่าถ้าอาการเบาบุคคลแข็งแรงสามารถหายเองได้ แล้วก็จะช่วยลดภาระของโรงพยาบาลได้อย่างมากในระยะต่อไป
สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือคนที่ร่างกายไม่แข็งแรง มีโรคเสี่ยง ตลอดจนผู้สูงอายุ และที่สำคัญคือกลุ่มคนที่เปราะบางไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และยังไม่มีความรู้เพียงพอ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังมีความน่าเป็นห่วงในขณะที่ภาครัฐและความร่วมมือของทุกหน่วยงานสามารถช่วยเหลือรวมถึงจิตอาสาที่ช่วยเหลือประชาชนทั่วไปได้อย่างดีแล้ว อาจจะเพิ่มเติมคือเรื่องของช่องทางการติดต่อที่นอกเหนือไปจากการให้ความรู้ทางด้านการอ่านแล้ว บางครั้งถ้าเราสามารถมีเทปเสียงสั้นๆ ในกรณีที่ผู้สูงอายุลำบากในการอ่านหรือชาวต่างชาติหรือคนต่างด้าวที่ถนัดการฟังมากกว่าการอ่าน หรือแม้แต่คนพิการก็ตามก็สามารถที่จะฟังเสียงสั้นๆ ได้ โดยอาจหมายถึงอาจจะมีการให้ทางหน่วยงานหรือสาธารณสุขให้เป็นเสียงที่สามารถอธิบายสั้นๆ การอ่านให้ฟังเช่น ผู้ป่วยสีเขียวลักษณะอย่างไร ไม่ต้องตกใจให้ปฏิบัติตนอย่างไร สีเหลืองทำอย่างไร สีแดงทำอย่างไร เป็นต้น สั้นๆ ก่อนจะให้ติดต่อหน่วยงานตามหมายเลขที่มีอยู่แล้ว ทั้งนี้เป็นเพียงความเห็นผู้เขียนเท่านั้นที่สามารถปรับใช้ตามที่เหมาะสมต่อไปได้ในระยะต่อไป
เนื่องจากระยะโรคเร็วและเรายังมีชุมชนค่อนข้างแออัด การมี community isolation สามารถเป็นประโยชน์ได้อย่างมากไม่ว่าจะมีการใช้วัด ศาลาว่าง หอประชุม โรงเรียนที่ปิด หรือที่ว่างในชุมชน เราอาจประยุกต์ให้ community isolation นี้สามารถให้เป็นจุดที่เป็น One Stop สำหรับให้ผู้ป่วยได้รับความสะดวกได้จากจุดศูนย์รวมนี้ก็น่าจะสามารถลดการรอและลัดขั้นตอนการประสานได้หลายๆ ส่วนและมีความสะดวกรวดเร็วในการวินิจฉัยโรคเนื่องจากสามารถพิจารณาได้จากหน้างาน ซึ่งอาจจะให้มีบุคลากรหรือผู้ประสานชุมชนที่เป็นผู้อาศัยอยู่ในชุมชนอยู่แล้ว สามารถที่จะช่วยเหลือดูแลคุณหมอและพยาบาลได้ด้วย
จากบทความที่แล้วของผู้เขียนที่พูดถึง “สมดุลระหว่างสาธารณสุขและเศรษฐกิจ”นั้น ในส่วนที่การหยุดกิจกรรมชั่วคราวนี้ หากค่อนข้างนานหากมากกว่า 2 อาทิตย์ก็อาจจะทำให้ประชาชนเริ่มมีความลำบากขึ้น ดังนั้นเรื่องของปัจจัย 4 โดยเฉพาะอาหารไปที่ community isolation หรือแม้แต่การรับบริจาคจากประชาชนที่มีที่จิตศรัทธาก็อาจจะไปวางอยู่ในแต่ละแห่งได้สำหรับคนในชุมชนที่ขาดรายได้และได้รับผลกระทบโควิด ซึ่งตอนนี้ทราบมาว่าทางกทม.ร่วมกับหลายๆ หน่วยงานได้ร่วมกันจัดทำได้เกือบจะทุกเขตของกทม.แล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมากๆ นอกเหนือไปจากนั้นการดูแลถ้ามีคนในชุมชนเองที่มาช่วยประสานหรือมาช่วยแบ่งเบาคุณหมอและพยาบาลได้ด้วย นอกจากนั้นผู้แทนแต่ละเขตหรือ ส.ส. ในพื้นที่หากต้องการดูแลเสริมเพิ่มเติมก็อาจสามารถจะทำให้ทุกอย่างราบรื่นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด สามารถร่วมมือเฉพาะกิจนี้ให้ผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปก่อน
ในส่วนของประชาชนนั้น ผู้เขียนเห็นด้วยกับคุณหมอหลายๆ ท่านในเรื่อง การฉีดวัคซีนอย่าเพิ่งสนใจเรื่องจะเป็นยี่ห้อไหน ถ้าสามารถฉีดได้เร็วได้น่าจะดี ทั้งนี้ ผู้เขียนอาจมีข้อสังเกตว่าเพียงแต่อาจให้ระมัดระวังผลข้างเคียงของวัคซีนควบคู่ไปด้วย(สำคัญมาก ยิ่งในชนบทและผู้สูงอายุต้องให้ความรู้เรื่องนี้และระมัดระวังควบคู่ไปด้วย) เชื่อว่าวัคซีนทุกชนิดมีข้อดีของตัวเองอยู่เพียงแต่จะน้อยจะมากอย่างไร ในระยะที่ระบาดนี้ฉีดป้องกันไว้ก่อนก็น่าจะดีที่สุด
จากบทความที่แล้วของผู้เขียนได้พูดถึงสาขาธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเชิงบวกไปบ้างแล้ว พบว่าปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเครื่องตรวจหาเชื้อโควิด เครื่องวัดออกซิเจน ฯลฯ ก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากและเพิ่มยอดขายในช่วงนี้
ประเด็นสำคัญประการหนึ่งที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการแพร่เชื้อของบุคคลทำให้ส่วนสำคัญที่สุดส่วนหนึ่งในปัจจัยการผลิตก็คือ “แรงงาน” ได้รับผลกระทบไปด้วย
ด้วยแรงงานของประเทศไทยส่วนใหญ่ถ้าเป็นแรงงานไร้ฝีมือหรือทักษะไม่มากนัก เรายังพึ่งพิงแรงงานต่างด้าวเป็นหลัก ดังนั้นส่วนนี้เป็นส่วนที่รัฐบาลอาจจะให้ความสำคัญเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาในระยะต่อไป และระยะนี้ด้วยในขณะที่แรงงานต่างด้าวอาจมีการขาดแคลนและลักลอบ เนื่องจากสถานการณ์ที่เรายังจำเป็นต้องการกำลังการผลิตทั้งเพื่อในประเทศและเพื่อส่งออกที่กำลังปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ
ดังนั้นแนวทางการจัดการแบบชนิดที่ให้อยู่ในระบบปิดหรือให้สามารถทำงานได้ในกรณีที่สามารถระวังในระหว่างการทำงานได้ โดยมีการตรวจสม่ำเสมอ และระมัดระวังตามมาตรฐานทางสาธารณสุข และมีการฉีดวัคซีนด้วย โดยที่ผู้ป่วยหนักก็สามารถแยกออกมาโดยที่สามารถที่จะจัดที่พักในที่ทำงานโรงงาน และหากสามารถจัดที่พักในโรงงานในระหว่างทำงานทั้งหมดหรือส่วนใหญ่ได้ โดยที่ไม่ให้ออกไปปะปนกับบุคคลภายนอกเคร่งครัดก็น่าจะสามารถที่จะดำเนินงานต่อไปได้
มีส่วนในเรื่องของการเมืองระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศเมียนมาที่มีสงคราม ทำให้เกิดการอพยพและอยากเข้ามาประเทศอื่นๆ รอบๆ มากขึ้นด้วย ดังนั้นเราอาจจะต้องมีความระมัดระวังโดยสิ่งที่จะสามารถทำได้ประกอบกันคือ ประชาชนที่อยู่ชายแดนสามารถช่วยเป็นหูเป็นตาได้ในส่วนนี้สามารถช่วยเรื่องของความปลอดภัยของตัวท่านเองด้วย เนื่องจากช่วงหลังมีลักษณะของการไม่มีอาการค่อนข้างติดต่อง่ายด้วยเป็นสายพันธุ์ใหม่ๆ เกิดขึ้น ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรไว้วางใจในโรคระบาดนี้ โดยเฉพาะในชุมชนชนบทที่มีผู้สูงอายุ
ไอเดียอีกประการหนึ่งที่ผู้เขียนอยากนำเสนอ คือ การจัดการ “Pool แรงงานคนไทยที่ตกงานว่างงานระยะนี้” รวมถึงกลุ่มอาชีพที่ไม่สามารถ work from home ได้ หรือในสาขาที่อาจจะเป็นเพราะโรงงานปิดเป็นต้น ก็สามารถที่จะมารวมรายชื่อตรงกลาง และสามารถที่จะนำมาใช้ประโยชน์ได้ เมื่อบางโรงงานขาดแคลนแรงงานหรือว่าสาขาการผลิตอื่นๆ ขาดแคลนแรงงานในภาคอื่นๆ เช่น การเกษตรการเก็บผลไม้เป็นเพียงระยะหนึ่งในตามฤดูกาลเท่านั้น ซึ่งหากมีการรวมไว้ตรงกลางแล้ว ก็สามารถที่จะนำแรงงานที่ตกงานในสาขาว่างงานอยู่ในการโยกย้ายมาใช้ได้และช่วยด้านรายได้ของแรงงานว่างงาน เพราะบางครั้งการจัดการแรงงานในจังหวัด เช่น จันทบุรี อยู่ไกลมากจากต่างจังหวัดในภาคเหนือเป็นต้น ก็อาจจะไม่ทราบว่าเรามีแรงงานว่างในส่วนนี้ ดังนั้นถ้าภาครัฐเราสามารถที่จะเป็นตัวกลางสำหรับภาคการผลิตและแรงงานที่ต้องการงานก็จะสามารถช่วยให้เศรษฐกิจเราสามารถขับเคลื่อนไปได้มากขึ้นและปลอดภัยมากขึ้นจากการขนย้ายแรงงานลักลอบ ในขณะเดียวกันเมื่อแรงงานไทยสามารถปรับตัวและเรียนรู้ได้ว่าในระยะนี้สามารถที่จะช่วยกันปรับจูนก็อาจจะตั้งใจในการทำงานมากขึ้น ในส่วนผู้ผลิตก็สามารถที่จะขับเคลื่อนธุรกิจไปได้ก็น่าจะเป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ในขณะที่ภาครัฐก็สามารถที่จะแบ่งเบางบประมาณภาครัฐในการเยียวยาเนื่องจากหากว่าทุกคนสามารถมีงานทำก็สามารถที่จะทำให้ไม่ต้องกังวลส่วนนี้เกินไป
ในส่วนของการจัดการโควิด ณ สิงหาคม 2564 นี้ผู้เขียนเชื่อว่าสามารถจัดการเป็น 2 ส่วนได้แก่กรุงเทพฯ รวมปริมณฑล และส่วนของต่างจังหวัด โดยในส่วนของกรุงเทพฯ และปริมณฑลผู้เขียนเชื่อส่วนตัวว่าน่าจะสามารถทยอยค่อยๆ ทรงตัวและสามารถจัดบริหารจัดการได้ ภายในสิ้นเดือนนี้หรือเร็วกว่านั้น ในส่วนของต่างจังหวัดยังมีความน่ากังวลอยู่บ้างซึ่งถ้าสถานการณ์เปลี่ยนแปลงผู้เขียนก็จะนำเสนอในฉบับต่อไป
ในส่วนของกรุงเทพฯ การเน้นลงชุมชนน่าจะเป็นส่วนที่สำคัญและการให้ความรู้ให้คนสามารถดูแลตัวเองได้โดยเฉพาะในกรณีที่ติดเชื้อไม่มีอาการอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุแพร่แล้วทำให้ผู้สูงอายุหรือคนที่อาการบอบบางอยู่แล้วทำให้เกิดอาการหนักได้โดยง่าย สิ่งนี้เป็นส่วนที่น่าจะต้องระวัง ซึ่งถ้าเราสามารถดูแลในส่วนนี้ได้ก็เชื่อว่าสถานการณ์น่าจะค่อยๆ ดีขึ้นได้ ซึ่งปัจจุบันก็ได้มีการเพิ่มทั้งการกักตัวอยู่บ้าน กักตัวในชุมชนและอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการตรวจ ความร่วมมือทั้งจากภาครัฐและเอกชน จิตอาสาและหลายๆคนที่มีน้ำใจช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และประกอบกับการเร่งฉีดวัคซีนเมื่อวัคซีนมาแล้ว เชื่อว่าน่าจะสามารถทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้
ในบางชุมชนที่ทำได้ อาจใช้วิธีแยกผู้สูงอายุที่ไม่ติดโควิด ออกจากชุมชนระยะหนึ่ง ก็อาจเป็นอีกทางหนึ่ง อันที่จริงเรายังสามารถเช็คได้ว่า มีผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน และอาจติดต่อไปได้ เมื่อเวลาผ่านไปจนเหลือกลุ่มนี้ไม่มากแล้ว
ทั้งนี้วัคซีนเข็มเดียวที่เคยใช้ได้กับสายพันธุ์ดั้งเดิม หลายเดือนก่อน อาจไม่เพียงพอกับเดลต้า มีความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศว่าอาจต้องครบโดสจึงจะสามารถจัดการกับสายพันธุ์ใหม่
ในกรณีที่วัคซีนยังจำกัด ดังนั้นการจัดสรรวัคซีนที่มีประสิทธิภาพจึงมีความสำคัญ ซึ่งผู้เขียนขอรอฟังจากทางอาจารย์หมอหลายๆ ท่านเสนอเนื่องจากไม่ใช่ความเชี่ยวชาญของผู้เขียนคงจะต้องรอฟังจากทางภาครัฐและทางปรมาจารย์ทุกท่าน
ในส่วนที่ผู้เขียนอยากจะนำเสนอคือเรื่องของการจัดสรรวัคซีนในแง่ของการนึกถึงเป้าหมายของเรื่องของการดูแลเพื่อลดอัตราการป่วยและตาย ที่ได้นำเสนอไปแล้วตั้งแต่บทความเมื่อเดือนพฤษภาคม ซึ่งอยากจะเสริมเพิ่มเติมว่าปัจจุบันมีการระบาดมากขึ้นในหลายจังหวัดซึ่งในหลายจังหวัดเหล่านั้นมีผู้สูงอายุที่อยู่ในชนบท สิ่งนี้คือสิ่งที่มีความน่าเป็นห่วง อีกประการหนึ่ง คือ เรื่องของความไม่เข้าใจว่าตัวโรคเป็นอย่างไรหรือแม้แต่เรื่องของโรคประจำตัวที่จำเป็นที่จะต้องดูแลเป็นพิเศษ
ดังนั้นการดูแลรักษาพยาบาลหรือแม้แต่การดูแลรักษาของตัวผู้สูงอายุเองเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญในระยะนี้ที่เราจะฉีดวัคซีนให้กับท่านทั้งหลายซึ่งในสถานการณ์ของต่างจังหวัดมีความน่าเป็นห่วงอีกประการหนึ่งคือมีธรรมเนียมปฏิบัติที่มักจะสนิทสนมกันภายในครอบครัวและเป็นครอบครัวใหญ่ ดังนั้นถ้าต้องการเดินทางกลับบ้านของผู้ป่วยในกรุงเทพฯ จึงมีความเสี่ยงสูงด้วย อยากแนะนำให้เป็นการกักตัวในสถานที่ส่วนกลางที่จัดไว้ ยังไม่แนะนำให้เป็น Home isolation ในระยะแรกนี้เนื่องจากสายพันธุ์เดลต้าแพร่เร็วมาก
สำคัญอีกประการหนึ่งคือเรื่องของเศรษฐกิจซึ่งเมื่อการปิดยาวนานดังที่ผู้เขียนได้กล่าวในบทความครั้งที่แล้วการช่วยเหลือของภาครัฐน่าจะต้องหนักแน่นมากขึ้น ซึ่งภาครัฐได้พยายามช่วยเหลือในส่วนนี้แล้ว อย่างไรก็ดีลักษณะนี้เป็นเพียงการประวิงเวลาและบรรเทาปัญหาแต่ถ้าสามารถทำให้ผู้ที่ตกงานมีอาชีพเสริมได้หรือสามารถที่จะดูแลตัวเองได้ส่วนนี้จะเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดและสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน
ในขณะที่เรายังจำเป็นที่จะต้องลดกิจกรรมนอกบ้านมากขึ้นดังนั้นงานที่สามารถทำได้ภายในบ้านหรือสามารถทำได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องสัมผัสกับคนหมู่มากก็จะเป็นทางออกทางหนึ่งซึ่งน่าจะสามารถทำได้ ส่วนหนึ่งถ้าสมมุติว่าสามารถที่จะเรียนรู้และปรับทักษะของตนเองเพื่อเตรียมพร้อมก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจในขณะที่มีการช่วยเหลือของภาครัฐได้อย่างตรงจุดและทันเวลาก็น่าจะสามารถทำให้เกิดความราบรื่นขึ้นได้
การช่วยเหลือของภาครัฐ ยังมีรูปแบบที่น่าสนใจ เช่นในเรื่องของอาหารเรื่องของปัจจัย 4 เรื่องของการลดภาระการชำระหนี้โดยการพักทั้งเงินต้นและพักทั้งดอกเบี้ยโดยขอความร่วมมือทั่วประเทศ หรือในส่วนของค่าน้ำค่าไฟค่าอินเตอร์เน็ตก็สามารถทำได้
สิ่งที่สำคัญเพิ่มเติม คือบุคคลที่ไม่ได้อยู่ในระบบก็อาจจะตกสำรวจไม่ได้รับการช่วยเหลือดังนั้นผู้เขียนจึงขอเสนอแนวคิดเพิ่มเติมว่า community isolation เป็นจุดที่มีอยู่แล้วในชุมชนแต่ละส่วน และเมื่อมีการจัดเตรียมหรือการบริจาคอาหาร น้ำ หรือปัจจัย 4 อยู่ที่นั่น โดยที่พยายามเว้นระยะห่าง หรือถ้าเกิดป่วยเราก็จะสามารถสังเกตได้เลยว่า มีการดูแลรักษาได้ทันท่วงที ก็น่าจะทำให้สังคมนี้น่าอยู่มากขึ้น
รูปที่ 1 สรุปย่อประเด็นการจัดการช่วงสัปดาห์ 9-15 ส.ค. 2564 (ตามความเห็นผู้เขียนเท่านั้น)
ที่มา: อภิรดา ชิณประทีป สำหรับลงโพสต์ทูเดย์ฉบับ 10 ส.ค. 2564
รูปที่ 2 ประมาณการผู้ติดเชื้อกรุงเทพฯ และปริมณฑล และภาพรวม (ประมาณการ ณ 2 สค 64 และนำเสนอคณะกรรมการฯแล้ววันที่ 3 สค 64 แล้ว) VS สถานการณ์จริงถึงวันที่ 8 สค 64 ที่ทางกระทรวงสาธารณสุขประกาศ ตรงกับที่คาดการณ์ไว้ว่าจะเริ่มทรงตัวประมาณวันที่ 5-6 ส.ค.
(Note: “ทั้งนี้ยังมีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้อีก” ต้องรอติดตามสถานการณ์)
ในส่วนของ sandbox ซึ่งต้องขอขอบพระคุณผู้ใหญ่ที่ได้ให้โอกาสในการที่ผู้เขียนได้เป็นส่วนในร่างแรกๆของ sandbox และรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ในตอนแรกนั้นได้เป็นช่วงที่ยังไม่มีการระบาดของสายพันธุ์ใหม่ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่เราจะต้องปิดจุดอ่อนในปีนี้และสถานการณ์เปลี่ยนไป ถ้าเราสามารถจัดการอย่างปลอดภัยระมัดระวัง และให้เกิดประโยชน์ การเดินทางต่างๆ และสามารถที่จะจัดเป็นการเดินทางระหว่างจังหวัดที่ปลอดภัยได้ร่วมกัน ก็จะสามารถทำให้การเดินทางนี้น่าสนใจมากขึ้น โดยความดีทั้งหมดถ้ามีก็ขอให้กับทุกท่านที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตามจุดอ่อนเหล่านี้สิ่งที่สำคัญคือเมื่อจังหวัดท่องเที่ยวเหล่านี้ได้วัคซีนไปเป็นจังหวัดแรกๆ ก็อาจจะต้องพิจารณาว่าการดูแลไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวหรือคนอื่นๆ ก็เหมือนจะเป็นทางผ่านที่จะเข้ามาสู่ประเทศ ดังนั้นการดูแลเรื่องของสิ่งต่างๆ ก็อาจจะต้องพยายามค่อยเป็นค่อยไป เน้นปลอดภัยและค่อยๆ ขยาย เช่นเดียวกันผู้เขียนเชื่อว่าเมื่อทุกอย่างดีขึ้นในส่วนของการผ่อนคลายเรื่องของการท่องเที่ยวก็น่าจะทำให้สะดวกมากขึ้น จังหวัดที่เราจะรวมถึงอันดามัน หรือสมุย ต่อไป อาจจะต้องพิจารณาชั่งน้ำหนักในกรณีที่เดลต้ายังระบาดในหลายประเทศ รวมถึงในประเทศไทย ดังนั้นมีโอกาสที่จำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามายังไม่เต็มที่มากนัก ในขณะที่นักท่องเที่ยวที่เป็นชาวไทย หรือชาวต่างชาติในไทยเอง ที่เป็นกลุ่มพรีเมียม หรือกลุ่มอื่นๆ ก็ยังมีอยู่ซึ่งอาจจะอยากใช้เวลาท่องเที่ยวในประเทศมากกว่า ดังนั้นถ้าเราสามารถรักษาความปลอดภัยได้โดยที่มีการ Balance ระหว่างนักท่องเที่ยวทั้ง 2 กลุ่มนี้ได้เรื่องนี้อาจจะเป็นการพิจารณาว่าจุดเหมาะสมเพื่อสามารถรับได้ทั้งนักท่องเที่ยวทั้งจากต่างประเทศและในไทยเราเองก็อาจทำได้ ทั้งนี้อาจจะเป็นอีกระยะหนึ่งเมื่อสถานการณ์ระบาดปรับตัวค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ
ท้ายสุดในเรื่องของบทบาทวัดและศาสนานอกเหนือจากการที่สามารถที่จะใช้สถานที่สำหรับผู้ป่วยหรือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ อาจจะเป็นอาการเบาไม่หนักเช่นยังอยู่ในระดับสีเขียว เป็นต้น ในส่วนนี้นอกเหนือจากการที่เราได้อาศัยพื้นที่วัดอันเป็นประโยชน์แล้วก็อาจจะได้ความร่วมเย็นและความสงบทางจิตใจที่เป็นผลพลอยได้ไปด้วย นอกจากนั้นการที่เรามีธรรมะหรือการเลื่อมใสในทางศาสนาอาจช่วยจรรโลงจิตใจในสถานการณ์โควิดทั้งผู้ป่วยเองหรือผู้ที่ยังอยู่ในสถานการณ์ที่เกิดความไม่แน่นอนในชีวิตในหลายๆ ด้าน ซึ่งผู้เขียนขอนำเสนอผลจากงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เรื่องบทบาทของวัดและเกี่ยวข้องในการช่วยลดงบประมาณของรัฐเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับผู้สูงอายุฯ สั้นๆ ซึ่งผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ถ้าติดอาจมีอาการรุนแรงสำหรับโรคโควิดในครั้งนี้ด้วย
บางส่วนในการอภิปรายพบว่าผู้สูงอายุสามารถนำหลักพุทธธรรมไปประพฤติปฏิบัติโดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้เกิดความผาสุกทางจิตวิญญาณ และมักเป็นผู้ที่มีใบหน้าสดชื่น มีกำลังใจที่เข้มแข็ง มีความพร้อมที่จะเผชิญปัญหาหรือดำเนินชีวิตไปข้างหน้า โดยองค์ประกอบของความผาสุกทางจิตวิญญาณของผู้สูงอายุตามหลักพระพุทธศาสนา เป็นความสุขที่ลึก ไม่มีความเห็นแก่ตัว ความรู้สึกเบิกบานกับการใช้ชีวิต รู้จักฝึกฝนพัฒนาตนงอกงามขึ้นบนพื้นฐานของคุณธรรม จริยธรรม มีเหตุผล เคารพซึ่งกันและกันมากขึ้น และสามารถแก้ปัญหาความทุกข์ที่เกิดจากร่างกายเสื่อมเพราะชรา และร่างกายมีโรคเรื้อรังเบียดเบียนได้ แนวทางการเสริมสร้างสุขภาวะตามหลักพระพุทธศาสนา เป็นสถานการณ์และการจัดระบบการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน ได้แก่ การดูแลองค์รวม การประสานการดูแลรวม กับหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้อง การสร้างเสริมสุขภาพ เป็นกระบวนการที่ช่วยให้สามารถควบคุมและเพิ่มพูนสุขภาพได้ และการมีส่วนร่วมของชุมชนกับการสร้างเสริมสุขภาพ เป็นต้น
ปัญหาสังคม ซึ่งมีความซับซ้อนยิ่งขึ้นในสถานการณ์โควิดในเวลานี้ หลักธรรมทางศาสนา(ทุกศาสนา) อาจช่วยได้ไม่มากก็น้อย
เนื่องจากขณะนี้ผู้คนน่าจะเหนื่อยล้าจากการระบาดที่ยาวนาน โดยยังเร่งฉีดวัคซีนต่อเนื่องตามเป้าหมาย ทั้งนี้ มีการประเมินสถานการณ์เป็นระยะ
เมื่อทุกอย่างเริ่มดีขึ้นบ้าง ควบคู่กับการดำเนินชีวิตประจำวันและกิจกรรมทางเศรษฐกิจไปด้วยอีกระยะหนึ่งก่อนที่สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกสงบลงได้อย่าง100% เรายังคงใช้หน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือ และ บันทึกหรือจดจำพร้อมกับระมัดระวังในการเดินทางไปยังที่ต่างๆ
สุดท้ายนี้โดยหวังว่าบทความนี้จะส่งผ่านแง่คิดบางประการในโอกาสนี้ และทุกท่านผู้อ่านและครอบครัวปลอดภัย มีกำลังใจต่อสู้ผ่านพ้นอุปสรรค และยังคงความสมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ และด้านเศรษฐกิจตลอดปีนี้ เชื่อว่าเราทุกท่านจะผ่านไปได้ในที่สุดค่ะ.
(หมายเหตุ: เป็นความเห็นส่วนตัวเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องตรงกับหน่วยงานที่กล่าวถึงในบทความ หากมีข้อเสนอแนะสามารถแนะนำได้ที่ email: apiradach@gmail.com ขอบคุณยิ่ง)
ข้อมูลภาพข่าว : posttoday.com