สงครามระหว่างวัคซีนและไวรัสกลายพันธุ์ (ผศ.ดร.ทัศนย์)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทัศนีย์ สติมานนท์
ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)

www.econ.nida.ac.th; ttonganupong@gmail.com

สงครามระหว่างวัคซีนและไวรัสกลายพันธุ์

 สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ระลอกที่ 4 ได้เริ่มต้นด้วยตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นทำสถิติใหม่รายวันซึ่งแสดงถึงการเข้ายึดครองพื้นที่ของไวรัสสายพันธุ์เดลต้า สงครามที่ต่อสู้กันระหว่างไวรัสกับวัคซีนในประเทศไทยขณะนี้ ฝ่ายวัคซีนเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำอันมีสาเหตุจากทั้งปริมาณผู้ได้รับวัคซีนที่ยังไม่มากเพียงพอที่จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่และคุณภาพของวัคซีนที่ไม่สามารถป้องกันไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้ดีนัก รายงานข่าวจากทุกสื่อสะท้อนให้เห็นการเข้าคิวนานนับสิบชั่วโมงเพื่อรับการตรวจยืนยันการเป็นผู้ป่วยโควิด การเสียชีวิตของผู้ป่วยที่บ้านเพราะต้องรอเตียงเป็นเวลานาน และการแสดงความเห็นต่างของแพทย์ในการบริหารจัดการระบบสาธารณสุข

ทางออกที่หลายท่านมักกล่าวถึง ได้แก่ 1) การเว้นระยะห่างทางสังคม งดกิจกรรมการพบปะสังสรรค์ หรือแม้กระทั่งการไม่ทานข้าวร่วมกันกับสมาชิกในครอบครัว 2) การตรวจเชิงรุกค้นหาผู้ป่วยให้ได้มากที่สุดเพื่อแยกผู้ติดเชื้อให้ไม่แพร่เชื้อต่อไป และ 3) การเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชน แต่ทางออกข้างต้นนั้นมีอุปสรรคอยู่ไม่น้อย การเว้นระยะห่างทางสังคมของสมาชิกภายในบ้านเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักโดยเฉพาะบ้านที่ต้องอาศัยกันหลายคนในพื้นที่จำกัด สำหรับเรื่องการตรวจเชิงรุกนั้น การอนุญาตให้ใช้ Rapid Antigen Test ได้และให้โรงพยาบาลรับตรวจแม้ไม่มีเตียงรองรับน่าจะช่วยทำให้มีปริมาณการตรวจเพิ่มขึ้น ประการสุดท้ายการเร่งฉีดวัคซีนมีปัญหาเป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากทั้งในเรื่องความพอเพียงและประเภทของวัคซีนที่สั่งซื้อ ผู้เขียนจึงขอขยายความถึงประเด็นเรื่องวัคซีนดังนี้

ประการแรก เนื่องจากโรคโควิดเป็นโรคอุบัติใหม่ องค์ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ยังมีน้อย ประกอบกับการกลายพันธุ์ของไวรัสทำให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคนี้เปลี่ยนแปลงทุกวัน การกระจายความเสี่ยงโดยการสั่งวัคซีนหลากหลายชนิดเป็นสิ่งจำเป็นเพราะวัคซีนทุกยี่ห้อมมีทั้งข้อดีและข้อเสียเหมาะสมกับคนแต่ละกลุ่ม และรัฐควรมีการปรับการสั่งซื้อวัคซีนให้สอดคล้องกับผลเชิงประจักษ์ทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

ประการที่สอง รัฐบาลควรจัดหาวัคซีนโดยมีการสื่อสารจำนวนที่แน่นอน และหากมีการเปลี่ยนแปลงใดควรมีการอธิบายเหตุผลต่อประชาชนอย่างชัดเจน เพื่อลดปัญหาความไม่สมมาตรของข้อมูลซึ่งจะก่อให้เกิดความสับสน รวมถึงความยากลำบากของผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขและการวางแผนของประชาชน นอกจากนี้การสื่อสารที่ชัดเจนแสดงถึงความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือของรัฐบาล

ประการที่สาม การจัดลำดับความสำคัญของผู้ได้รับวัคซีน ในส่วนนี้การให้วัคซีนกับบุคลากรทางการแพทย์ก่อน และตามด้วยกลุ่มผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวนั้นนับเป็นการจัดลำดับความสำคัญที่ดี แต่เนื่องจากไวรัสมีการกลายพันธุ์การให้วัคซีนเข็มที่ 3 กับบุคลากรทางการแพทย์จึงเป็นสิ่งจำเป็น อีกทั้งความล่าช้าในการจัดหาวัคซีนทำให้คนกลุ่มผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวยังได้รับวัคซีนไม่ทั่วถึง และไม่ครบ 2 เข็ม ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโดยเฉพาะอย่างยิ่งไวรัสสายพันธุ์ใหม่จึงไม่สูงเท่าที่ควร นอกจากนี้ ประชาชนวัยหนุ่มสาวในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดสูงยังคงได้รับวัคซีนในสัดส่วนน้อยเช่นกัน

จากสามประการข้างต้น ประชาชนกลุ่มหนึ่งทำการจองวัคซีนทางเลือกกับทั้งโรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลของรัฐในจำนวนสูงแม้ว่าจะต้องจ่ายเงินล่วงหน้าก็ตาม เพราะความไม่แน่นอนในการจัดหาวัคซีนของภาครัฐประกอบกับการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสสายพันธุ์เดลต้า ทำให้ประโยชน์ส่วนเพิ่มที่คาดว่าจะได้รับเมื่อได้ฉีดวัคซีนซึ่งคือการไม่เป็นโรคนั้น สูงกว่าต้นทุนส่วนเพิ่มซึ่งคือเงินที่จ่ายไปสำหรับการจองวัคซีน ปัจจุบันหากโรงพยาบาลใดมีการเปิดรับจองวัคซีนทางเลือกจะใช้เวลาอันรวดเร็วที่จำนวนวัคซีนซึ่งรับจองหมดลง ทำให้ยอดจองวัคซีนทางเลือกเพิ่มสูงขึ้น ปรากฏการณ์เช่นนี้แสดงให้เห็นถึงการจัดการความเสี่ยงด้วยตนเองของประชาชน และหากสามารถเจรจาซื้อวัคซีนทางเลือกได้ในจำนวนมากขึ้น อนาคตอาจมีการรับจองวัคซีนโดยการผ่อนชำระเพื่อเข้าถึงฐานลูกค้าได้เพิ่มขึ้นเป็นแน่ แล้วประชาชนจะต้องเป็นผู้แบกรับต้นทุนนี้จริงหรือ คำถามนี้เป็นอีกคำถามที่น่าสนใจ

จากประการข้างต้นนั้นนำไปสู่ประการสุดท้ายที่ผู้เขียนอยากทราบว่า การตัดสินใจเลือกชนิดวัคซีนของแต่ละประเทศสัมพันธ์กับปัจจัยใดบ้าง ข้อมูลจาก COVID-19 Vaccine Doses Administered by Manufacturer (2021) ซึ่งมีข้อมูลจำนวนโดสของวัคซีนยี่ห้อต่าง ๆ ที่แต่ละประเทศใช้จำนวน 32 ประเทศ พบว่าสัดส่วนของวัคซีนประเภท mRNA วัคซีนประเภท Recombinant viral vector และวัคซีนเชื้อตายเป็นดังภาพที่ 1 ซึ่งจากข้อมูลพบว่า ประเทศในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เลือกใช้วัคซีน mRNA เป็นวัคซีนหลัก มีเพียงประเทศชิลีและอุรุกกวัยเท่านั้นที่ใช้วัคซีนเชื้อตายเป็นหลัก

ภาพที่ 1  สัดส่วนของวัคซีนประเภท mRNA วัคซีนประเภท Recombinant viral vector และวัคซีนเชื้อตายของแต่ละประเทศ

            เนื่องจากวัคซีน mRNA เป็นที่ต้องการในตลาดปัจจุบัน ผู้เขียนจึงพิจารณาทิศทางความสัมพันธ์ของสัดส่วนวัคซีน mRNA ร่วมกับตัวแปรที่น่าสนใจอันได้แก่ รายได้ต่อหัว และดัชนีประชาธิปไตย (Democracy Index 2020, 2020) ซึ่งจัดอันดับโดย The Economist มีค่าตั้งแต่ 0 ถึง 10 (ค่ามากแสดงถึงระดับการเป็นประชาธิปไตยที่สูง) ซึ่งจากภาพที่ 2 และ 3 พบว่า มีเพียงระดับรายได้เท่านั้นที่มีทิศทางความสัมพันธ์เป็นบวกกับสัดส่วนของวัคซีน mRNA ซึ่งหมายความว่า จากข้อมูลที่มีนั้นประเทศที่มีรายได้ต่อหัวสูงจะมีสัดส่วนของวัคซีน mRNA สูง (เป็นเพียงทิศทางความสัมพันธ์ไม่ใช่ความเป็นเหตุเป็นผล) ในขณะที่ระดับการเป็นประชาธิปไตยไม่มีทิศทางความสัมพันธ์ที่ชัดเจนกับสัดส่วนของวัคซีน mRNA

ภาพที่ 2  ทิศทางความสัมพันธ์ของสัดส่วนวัคซีนประเภท mRNA กับรายได้ต่อหัว

ภาพที่ 3  ทิศทางความสัมพันธ์ของสัดส่วนวัคซีนประเภท mRNA กับดัชนีประชาธิปไตย

            ประเทศไทยมีรายได้ต่อหัวต่ำเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศทั้ง 32 ประเทศ แต่ยิ่งเรามีเงินน้อย เราก็ต้องใช้เงินให้คุ้มค่า ตัดสินใจโดยใช้วิทยาศาสตร์เป็นหลักสำคัญเพื่อเลือกวัคซีนที่ดีที่สุดภายใต้ข้อมูลซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เพื่อยื่นเกราะป้องกันที่มีคุณภาพให้ประชาชน ไม่มีใครต้องการขอเงินเยียวยาจากรัฐหากเขาสามารถทำงานได้ … พวกเรารอวัคซีนอยู่ค่ะ

เอกสารอ้างอิง

COVID-19 vaccine doses administered by manufacturer. (2021, July 7). Our World in Data. https://ourworldindata.org/grapher/covid-vaccine-doses-by-manufacturer

Democracy Index 2020. (2020). Economist Intelligence Unit. https://www.eiu.com/n/campaigns/democracy-index-2020/

ที่มีภาพข่าว : https://www.posttoday.com