มายาคติเรื่องของถูกและของฟรีในยุคโรคระบาด (ผศ.ดร.ทองใหญ่)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทองใหญ่ อัยยะวรากูล
ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)

www.econ.nida.ac.th; tongyai.i@nida.ac.th

 มายาคติเรื่องของถูกและของฟรีในยุคโรคระบาด

ปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขที่เรากำลังประสบอยู่ในขณะนี้ ซึ่งหากไม่สามารถแก้ไขได้ทันเวลา อาจเกิดผลที่เรียกกันว่าหายนะหรือการล่มสลายของระบบสาธารณสุขของไทย ก็คือ จะทำอย่างไรให้มีเตียงและมีบุคลากรทางการแพทย์มากเพียงพอที่จะดูแลผู้ป่วยโควิดได้ภายใน 2-3 เดือนข้างหน้านี้

ในช่วงแรกของการระบาดของโควิดทุกท่านคงจำกันได้ถึงสถานการณ์ที่หน้ากากอนามัยเป็นที่ต้องการมากจนราคาต่อชิ้นพุ่งสูงไปเกินกว่า 30 บาท ในครั้งนั้นรัฐบาลได้เร่งแก้ปัญหานี้ด้วยการประกาศควบคุมราคาหน้ากากอนามัยให้อยู่ในระดับที่เห็นว่าเหมาะสมที่น่าจะช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงได้ คือ กำหนดให้ขายได้ในราคาไม่เกินชิ้นละ 2.50 บาท ผู้ฝ่าฝืนคือขายเกินราคา มีความผิด อาจต้องโทษจำคุก 5 ปี หรือปรับ 1 แสนบาท ผลที่ตามมาก็คือ ความขาดแคลนหน้ากากอนามัยที่รุนแรงยิ่งไปกว่าเดิม เพราะผู้ขายที่ยอมขายหน้ากากอนามัยให้ในราคาเพียงชิ้นละ 2.50 บาทแทบจะเรียกได้ว่าไม่มีอยู่จริง การซื้อขายหน้ากากอนามัยในช่วงนั้นจึงแทบไม่ต่างกับการซื้อขายสินค้าผิดกฎหมายอื่น ๆ ที่ผู้ซื้อกับผู้ขายต้องแอบตกลงกันเป็นการเฉพาะว่าจะซื้อจะขายกันในราคาที่อาจจะสูงยิ่งขึ้นกว่าระดับราคาก่อนที่รัฐจะเข้าแทรกแซงเสียอีก เนื่องจากการขายหน้ากากอนามัยในราคาที่เกินกว่ากำหนดได้กลายเป็นความผิดที่มีโทษทางอาญา จะเห็นได้ว่าผู้ที่มีหน้ากากอนามัยที่มีคุณภาพดีใช้กันในช่วงนั้น ต่างไม่ใช่ผู้มีรายได้น้อย แต่เป็นผู้มีรายได้สูงพอที่จะซื้อหน้ากากอนามัยในราคาที่ตามแต่จะตกลงกันเองระหว่างผู้ซื้อหรือผู้ขาย หรือไม่ก็เป็นผู้ที่มีช่องทางหาซื้อหน้ากากอนามัยจากผู้ขายที่รู้จักกันที่ยอมขายให้ ในราคาที่สูงเกินกว่าชิ้นละ 2.50 บาท ตามที่รัฐบาลกำหนดอยู่มาก

การควบคุมราคาสินค้าไม่ให้สูงกว่าราคาตลาดด้วยจุดประสงค์ที่ว่าต้องการให้ผู้มีรายได้น้อยหาซื้อได้ดังตัวอย่างข้างต้นนั้น จึงเป็นเพียงภาพลวงตา หรือมายาคติ เพราะในความเป็นจริงแล้ว ผู้มีรายได้น้อยมักเข้าไม่ถึงสินค้าราคาถูกที่ว่านั้น และยิ่งไปกว่านั้น ยังมีแนวโน้มว่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบในเชิงลบจากมาตรการนี้ยิ่งไปกว่ากลุ่มอื่นๆ เพราะมักไม่ใช่ผู้มีกำลัง หรือเส้นสายเพียงพอที่จะแย่งชิงสินค้าที่มีอยู่อย่างจำกัดนั้นได้ดังเช่นกลุ่มอื่น ผลกระทบของมาตรการควบคุมราคายังอาจต่อเนื่องไปเป็นระยะยาวได้ เช่น หากผู้ผลิตรู้สึกว่าราคาหน้ากากอนามัยที่จำกัดไว้ที่ 2.50 บาทไม่ใช่ราคาที่คุ้มกับต้นทุนการผลิต ก็อาจไม่มีแรงจูงใจในการผลิตหน้ากากอนามัยและส่งผลให้ปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยต่อเนื่องไปเรื่อยๆ แม้ตลาดจะเริ่มสามารถปรับตัวให้เข้ากับการขยายตัวของความต้องการหน้ากากอนามัยในระยะแรกได้ก็ตาม

มาตรการควบคุมราคาสินค้าโดยไม่ได้เป็นไปตามกลไกตลาดจึงไม่อาจเกิดผลสัมฤทธิ์ขึ้นได้จริงทั้งในทางทฤษฎีและทางประจักษ์ หากเราได้พิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยในประเทศอื่นๆ จะเห็นได้ว่า มีความหลากหลายแตกต่างกัน เช่น ญี่ปุ่นใช้แนวทางการให้รัฐผลิตหน้ากากอนามัยเพื่อขยายอุปทานของหน้ากากในตลาดและจัดส่งให้กับประชาชนถึงบ้าน ไต้หวันใช้การกำหนดโควต้าที่ประชาชนสามารถซื้อหน้ากากอนามัยได้ในแต่ละวันตามเลขบัตรประจำตัวประชาชนเพื่อป้องกันการแย่งซื้อหรือการกักตุนสินค้า เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยนั้น หลายคนที่จำเป็นต้องใช้หน้ากากอนามัยแต่ไม่สามารถซื้อหาหน้ากากอนามัยได้ก็จะใช้วิธีทำหน้ากากอนามัยด้วยผ้าเพื่อเป็นสินค้าทดแทน ซึ่งภายหลังจากการระบาดรอบแรกประมาณสามถึงสี่เดือน เมื่อผู้ผลิตหน้ากากอนามัยสามารถผลิตหน้ากากเพื่อตอบสนองความต้องการได้ทันแล้ว ปัญหาความขาดแคลนจึงค่อยๆ หมดไป หน้ากากอนามัยจึงเป็นสินค้าที่สามารถซื้อหากันได้อย่างไม่ยากนัก แม้ราคาต่อชิ้นจะไม่ใช่ 2.50 บาทตามที่กำหนดไว้ก็ตาม

มาถึงวันนี้ เรากำลังเผชิญกับปัญหาที่ยากและเร่งด่วนกว่าเดิมมาก คือจะทำอย่างไรให้มีเตียงและมีบุคลากรทางการแพทย์มากเพียงพอที่จะดูแลผู้ป่วยโควิดได้ภายใน 2-3 เดือนข้างหน้านี้กำลังเกิดขึ้น และข้อที่น่าเป็นห่วงก็คือเราเห็นวิธีการแก้ปัญหาโดยใช้มาตรการควบคุมราคาสินค้าที่ไม่ได้เป็นไปตามกลไกตลาดเกิดขึ้นอีก และผลก็คงจะเป็นเช่นเดียวกันกับการแก้ปัญหาหน้ากากอนามัยที่ไม่อาจเกิดผลสัมฤทธิ์ขึ้นได้จริง

ในช่วงแรกๆ ผู้ป่วยโควิดยังมีจำนวนไม่มากนักเมื่อเทียบกับทรัพยากรสาธารณสุขของประเทศ นโยบายที่กำหนดให้ผู้ป่วยโควิดทุกคนจะต้องได้รับการรักษาฟรีโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐหรือเอกชนก็ตาม โดยหากเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะเป็นผู้เบิกจ่ายค่ารักษาให้ในภายหลังนี้ ดูเหมือนจะเป็นนโยบายที่ดี คือช่วยให้ผู้ป่วยทุกระดับฐานะสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่จำเป็นได้

แต่มาถึงวันนี้ และจะต่อเนื่องไปถึงอนาคตอันใกล้นี้ เมื่อจำนวนผู้ป่วยพุ่งสูงขึ้นจนระบบสาธารณสุขไม่สามารถรับเอาผู้ป่วยทุกคนเข้าไปรักษาในโรงพยาบาลได้ ผลที่ตามมาล้วนเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยกันไม่ต่างจากกรณีความขาดแคลนหน้ากากอนามัยที่เราได้ประสบมาก่อน กล่าวคือ ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว หรือผู้ป่วยที่เข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพดีกว่า ต่างดูเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงในสังคม มีเส้นสาย หรือมีเงินทองพอจะจ่ายเพิ่มให้กับบริการพิเศษอื่นๆ ซึ่งผิดไปจากนโยบายรักษาฟรีที่รัฐได้ประกาศเอาไว้ก่อนหน้านั้น นอกจากนี้ ยังปรากฏข่าวโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเติมจากผู้ป่วยภายหลังจากที่ได้รับการรักษาจนหายแล้ว ร้อนถึง สปสช. ที่ต้องเร่งแก้ไขปัญหาจนได้ข้อสรุปว่าทั้งหมดเป็นเพียง “ความเข้าใจผิด” ระหว่างคนไข้และโรงพยาบาลเอกชน

ค่ารักษาที่ทาง สปสช. เบิกจ่ายคืนให้กับโรงพยาบาลเอกชนนั้นย่อมมีความซับซ้อนตามประเภทของการรักษา อย่างไรก็ตาม เราพอจะอนุมานได้ว่าส่วนที่เบิกจ่ายคืนให้นั้น น่าจะต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริงของโรงพยาบาลเอกชนอยู่พอสมควร จากที่ได้เห็นกันตามข่าวอยู่บ่อยครั้งว่าโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งปฏิเสธการตรวจหรือการรับผู้ป่วยโควิดเข้ารักษาเพราะเตียงเต็ม ซึ่งปรากฏการณ์เตียงเต็มนี้ หากเป็นภาวะปกติที่โรงพยาบาลเอกชนซึ่งเป็นธุรกิจแสวงหากำไรสามารถคิดค่ารักษาพยาบาลได้ตามอัตราปกติแล้ว ย่อมเป็นโอกาสที่โรงพยาบาลจะได้ขยายเตียงเพิ่มเพื่อรองรับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น ข่าวการปฏิเสธผู้ป่วยโควิดที่เราได้ยินกันบ่อยๆ พร้อมกับการที่เราแทบไม่ได้เห็นโรงพยาบาลเอกชนใดเร่งขยายศักยภาพของตนเองเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิดที่ล้นหลามอยู่ในปัจจุบันจึงน่าจะเป็นเครื่องบ่งชี้ที่ดีว่า เงินที่รัฐเบิกจ่ายคืนให้โรงพยาบาลเอกชนนั้น น้อยเกินไปจนไม่คุ้มทุน

สิ่งที่รัฐบาลพอจะทำได้และควรเร่งทำโดยเร็วที่สุดในเวลานี้เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนเตียงสำหรับผู้ป่วยโควิด คือการเอาศักยภาพของภาคเอกชนที่พอเหลืออยู่บ้างมาใช้ให้เต็มที่โดยการเจรจาต่อรองกับโรงพยาบาลเอกชนเพื่อหาข้อตกลงที่เหมาะสมเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลที่รัฐจะจ่ายคืนให้แก่โรงพยาบาลเอกชน ให้อยู่ในระดับที่จูงใจให้ภาคเอกชนเข้าร่วมมีบทบาทในการแก้วิกฤตครั้งนี้มากกว่านี้ นอกจากนี้ ยังมีผู้มีประกันสุขภาพบางส่วนที่มีศักยภาพพอจะจ่ายสมทบเป็นค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนได้ ที่หากรัฐบาลยอมให้จ่ายเพิ่มได้ โดยไม่ถือหลักรักษาฟรีแต่ไม่มีเตียงอย่างเคร่งครัดเหมือนแต่ก่อน ก็น่าจะมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาเตียงไม่พอได้บางส่วนครับ

ที่มาภาพข่าว :  https://www.posttoday.com