แลกเปลี่ยนความเห็นการจัดการโควิด19 ระลอก 3 (ณ มิ.ย. 64) VS ผลกระทบโควิด กับเศรษฐกิจ ทองคำ น้ำมัน ตลาดหุ้น (รศ.ดร.อภิรดา)

รองศาสตราจารย์ ดร.อภิรดา ชิณประทีป
ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)
www.econ.nida.ac.th;
apirada.c@nida.ac.th; apiradach@gmail.com

 แลกเปลี่ยนความเห็นการจัดการโควิด19 ระลอก 3 (ณ มิ.ย. 64) VS ผลกระทบโควิดกับเศรษฐกิจ  ทองคำ น้ำมัน ตลาดหุ้น

จากที่ผู้เขียนได้มีโอกาสลงโพสต์ทูเดย์ฉบับวันที่ 21 กรกฎาคม 2563  เรื่อง  การเปิดโรงเรียนในสถานการณ์โควิด-19 ในส่วนของประเทศไทย และวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 เรื่อง การประมาณการผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่หรือ โควิด-19 (Covid-19) ต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งภาพรวมและรายสาขา และการพลิกวิกฤติเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ ในวาระฉบับนี้ และกล่าวเพิ่มเติมถึงโควิด-19 (Covid-19) ต่อเศรษฐกิจไทย  มีโอกาสทางเศรษฐกิจบ้างไหม?  และระลอก 3 อาจจะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแนวคิดเพื่อการจัดการเพิ่มเติมอย่างไร? วันที่ 11 พฤษภาคม 2564 แล้ว

ก่อนอื่นผู้เขียนขอขอบคุณผู้ใหญ่ทุกท่านอีกครั้งในการให้โอกาสช่วยงานกุศลจิตอาสาไม่มีค่าตอบแทนแต่มีค่าต่อจิตใจมาก(รายละเอียดบางส่วนได้กล่าวในบทความก่อนหน้าแล้ว)ในการเป็นส่วนร่างและร่วมหลายๆ เหตุการณ์สำคัญของประเทศ เช่น ใช้คำว่าเลื่อนสงกรานต์ เสนอช่วยเหลือทางเศรษฐกิจควบคู่มาตรการควบคุม การปลดล็อคตั้งแต่ครั้งแรกและต่อมา การเสนอช่วยเหลือฐานราก การช่วยภาระประชาชน การใช้ประโยชน์โรงแรมว่างช่วยเสริมกักตัว การประมาณการระลอก 2 ตั้งแต่เหตุการณ์ที่ระยองเมื่อกรกฎาคม 63  การประมาณการว่าการท่องเที่ยวในประเทศจะสามารถชดเชยบางส่วนและผลตอบรับจะดีกว่าคาดในระยะแรก เสนอการจัดนิทรรศการตำแหน่งงาน การจัดระดับจัดการระลอกสมุทรสาคร และประมาณการยอดผู้ติดเชื้อ ฯลฯ เราทำงานค้นคว้ากันมากและใช้เวลามากกว่าจะได้ข้อคิดเห็น ความดีในทุกผลงานถ้าพอมีนี้ขอมอบให้ผู้ใหญ่และทุกท่านที่เกี่ยวข้อง

โดยระลอกที่ 3 นี้ ผู้เขียนพบว่า มีความซับซ้อน นอกจากนั้น เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงเร็วมาก จึงขอนำเสนอร่างความเห็นส่วนตัวเท่านั้นเผื่อว่าอาจจะพอเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยแด่ท่านผู้อ่านที่สนใจ

ในบทความก่อนหน้าที่คาดว่า ผู้ติดเชื้อ น่าจะลดลงในเดือนพฤษภา (ณ 4 พฤษภาคมที่เขียนต้นฉบับครั้งก่อน)  (ถ้าไม่มีเหตุการณ์สำคัญระบาดซ้อนเพิ่มเติม) ซึ่งพบว่าถูกต้องหลายจังหวัดที่ตัวเลขกลับลดลงเหลือหลักหน่วยและหลักสิบ ตามที่เคยคาดไว้เมื่อเมษายน

อย่างไรก็ดี  การระบาดในกรุงเทพและบางจังหวัดขณะนี้ เป็นการระบาดที่ปะทุขึ้นอีกครั้งและมีแนวโน้มวกกลับ และมีแนวโน้มที่อาจกระจายอีกได้มาก อีกทั้งการกลายพันธุ์จึงยังไม่สามารถวางใจ และต้องพยายามจัดการ โดยอาจเน้นลดจำนวนผู้ป่วยหนักด้วย ซึ่ง signal ปรากฎหลังบทความที่แล้วประมาณ 1 สัปดาห์ ซึ่งมีแนวโน้มการกระจายวงซ้อนต้องระวังอย่างรวดเร็วหากเป็นไปได้

รูปที่ 1  สรุปย่อกลุ่มที่มีการระบาดในแต่ละระลอกที่สำคัญ(ตามความเห็นผู้เขียนเท่านั้น)

การระบาดที่มากขึ้นและเร็วขึ้น จะทำให้ความสำคัญของวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสามารถจัดการกับเชื้อชนิดนั้น ๆ ยิ่งสำคัญมากขึ้นตามไปด้วย (และถ้าโชคดี การเร่งฉีดวัคซีนได้ตามเป้าหมาย และเหมาะสม  เราน่าจะเห็นจำนวนผู้ป่วยหนักและจำนวนคนเสียชีวิตลดลงตามลำดับอย่างมีนัยสำคัญภายในครึ่งเดือนแรกของกรกฎาคม 2564 ระยะนี้ระวังผู้สูงอายุและเด็กยังไม่รู้ความ  แต่ถ้า“หากไม่ใช่”แนวโน้มที่เราหวังไว้เช่นนั้น เราจำเป็นต้องปรับแผนใหม่ให้ทันท่วงที โดยเริ่มเตรียมการด่วนภายในต้นกรกฎาคม)

ในระหว่างนี้ เนื่องจากภาคประชาชนและกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ อาจมีความล้า จากการระบาดที่ต่อเนื่องยาวนานและหลายระลอก และต้องการการช่วยเหลือที่หนักแน่น และหากช้าเกินไป อาจกลายเป็นแผลเป็น และบางส่วนอาจทนไม่ไหว

ความสมดุลระหว่าง 2 ด้านทั้งด้านสุขภาพและเศรษฐกิจ ทั้งสองด้านล้วนมีความสำคัญสูงมากที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันดังที่กล่าวแล้วในบทความผู้เขียนครั้งก่อนหน้า ในขณะที่ด้านการระบาดถ้ามากเกินไปก็อาจเป็นภาระที่หนักหน่วงของด้านสาธารณสุขเช่นกัน

              ที่มา: อภิรดา ชิณประทีปและคณะ สำหรับลงโพสต์ทูเดย์ฉบับ 29 มิ.ย. 2564

รูปที่ 2  สมดุลระหว่างสาธารณสุขและการขับเคลื่อนกิจกรรมเศรษฐกิจ

ในระหว่างนี้จึงมีความสำคัญในการเร่งจัดหาวัคซีน และบริหารจัดการให้ตรงเป้าหมาย ซึ่งส่วนนี้น่าจะมีคณะกรรมการมือฉมังอยู่แล้ว คงจะต้องรอฟังจากผู้เชียวชาญและคุณหมอ หรือภาครัฐ ที่คงจะออกมาเรื่อย ๆ เป็นระยะ ๆ  ขอเอาใจช่วยค่ะ

ความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเพื่ออาจได้พิจารณาต่อไปเท่านั้น ถ้าจำนวนวัคซีนยังจำกัดในระยะแรก การจัดการอาจแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1) ในกรณีการฉีดวัคซีนอาจจะเน้นกลุ่มสุขภาพเปราะบางและผู้สูงอายุ และโรคเสี่ยง(กลุ่มนี้ถ้าอยู่ในโซนที่มีการติดเชื้อสูงหรือมีโอกาสสัมผัสควรฉีดวัคซีนด่วน  ส่วนที่โอกาสน้อยมากที่จะติด และอยู่ชนบทห่างไกลจากที่ระบาด ไม่มีการระบาดที่นั้นเป็นระยะเวลานานแล้ว เป็นต้น อาจชะลอการฉีดได้บ้างในระยะแรก โดยให้ใช้การระวังตัวไว้ก่อน เนื่องจากความรู้ในเรื่องการระวังผลข้างเคียงในชนบทกับบางโรคที่เปราะบาง เช่น ความดันสูง หัวใจ หรืออื่น ๆ ทั้งนี้เป็นความเห็นเท่านั้นเพื่ออาจปรึกษาการแพทย์อีกทีค่ะ)  กลุ่มที่เป็นด่านหน้า และผู้ยังไม่ติดเชื้อแต่อยู่ในแหล่งที่มีโอกาสแพร่กระจายไปยังผู้อื่นในสังคมสูงด้วย  เน้นจังหวัดที่ติดเชื้อสูงก่อน เพื่อกันการกระจายในช่วงหยุดยาวในโอกาสต่อไป

2) ส่วนกลุ่มที่สามารถอยู่ในระบบปิด ให้ใช้วิธีการจำกัดให้แยกออกจากกลุ่มประชากรส่วนใหญ่ โดยสามารถให้ทำงานได้ถ้าไม่ต้องสัมผัสคนภายนอก หรือหากการทำงานต้องสัมผัสคนภายนอกให้พักอยู่กับที่เป็นระยะเวลาที่ปลอดภัย เคลื่อนย้ายน้อยที่สุด และระบุเส้นทางได้ เป็นต้น และถ้ามีอาหาร และปัจจัยสี่ ระหว่างนี้ และมีการให้กำลังใจ ก็จะดีมากค่ะ

(ส่วนตัวคิดว่า การปิด ไม่ใช่คำตอบ ตราบใดถ้ามีการเคลื่อนย้าย ดังนั้น สิ่งสำคัญกว่า คือ ต้องระวังไม่ให้มีการเคลื่อนย้าย  และหากมีการเคลื่อนย้าย การดูแลจะต้องพิจารณาเรื่องการติดในครอบครัว และการสังสรรค์ หากไปชนบท การดูแลจะต้องระวังมากเนื่องจากสายพันธุ์ใหม่กระจายเร็ว รู้ตัวช้า ต้องระวังผู้สูงอายุมาก ๆ ค่ะ)

และในขณะเดียวกันเร่งจัดหาวัคซีนที่เหมาะสมกับไวรัสที่กลายพันธุ์ใหม่ให้ทันสถานการณ์ เอาใจช่วยทุกท่านค่ะ

ขออนุญาตให้ความเห็นส่วนตัวว่าความเร็ว(Speed) ของการระดมฉีดวัคซีน น่าจะต้องไปด้วยกันกับความเร็วของการระบาด ถ้ายังมีข้อจำกัดด้านวัคซีน จำเป็นต้องมีการควบคุมโรคควบคู่ที่เร็วตามด้วย

รูปที่ 3  สรุปย่อแนวความคิดเห็นส่วนตัว ณ สถานการณ์มิ.ย.64 เท่านั้น สำหรับโพสต์ทูเดย์ 29 มิ.ย.64

(ความเห็น ณ สถานการณ์ มิถุนายน 2564 นี้ เท่านั้น)  การควบคุมเป็นโซนรวมหลายจังหวัดทั้งเรื่องการควบคุมโรค(แชร์ทรัพยากร)หรือการเปิดจังหวัดที่ปลอดภัย  อาจเหมาะสมยิ่งขึ้นกว่ารายจังหวัด หรือหากเลือกบางจังหวัดเฉพาะที่เหมาะสมเป็นการนำร่องเบื้องต้น เช่น ภูเก็ต เหมาะสมด้วยภูมิศาสตร์ที่เป็นเกาะ แหล่งท่องเที่ยวระดับโลก และมีสนามบิน ทั้งนี้ โดยต้องคำนึงถึงการเคลื่อนย้ายของประชากรภายในประเทศด้วย แผนภูเก็ต & สมุย sandbox ที่ร่างปีก่อน จำเป็นต้องมีการปิดจุดอ่อนเหล่านี้ และปรับตามสถานการณ์ พร้อมด้วยอาจเตรียมการแผนสำรองเมื่อเกิดเหตุคับขัน และเมื่อทุกท่านมั่นใจแล้วเรื่องความพร้อมอาจมีหลายจังหวัดที่ติดกันสามารถเปิดพร้อมกัน เช่น จังหวัดฝั่งอันดามัน  หรือร่วมด้วยโซนภูมิภาคอื่น เช่น เหนือ และอีสานที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวมีชื่อเสียงได้ก็ต่อเมื่อเรา”มั่นใจ”ว่าปลอดภัย  เพื่อประโยชน์ทั้งด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจพร้อมกัน และประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวที่หลากหลายขึ้น  และเฉพาะกรณีที่มั่นใจว่าจะไม่ระบาดสู่ภายนอก โดยระยะแรกอาจให้พักหรือพักผ่อนสันทนาการภายในบริเวณโรงแรมก่อน 3 วัน เป็นต้น (ตัวเลขสมมติเท่านั้น ขึ้นกับหลักฐานทางวิชาการล่าสุด) และสามารถทราบแผนการเดินทางของผู้เดินทางได้ในระยะทดลองนี้ ทั้งนี้เราไม่ลืมว่าประชาชนที่สัมผัสยังมีโอกาสเคลื่อนย้ายไปจังหวัดอื่น ๆ เป็นต้น และเชื้อกลายพันธุ์ชนิดใหม่ จำเป็นต้องระวังจุดนี้เป็นสำคัญ  เอาใจช่วยทุกท่านค่ะ

การเปิดประเทศภาพรวมอาจเล็งไปที่ช่วงตุลาคมที่เป็น high season หรือ golden week และช่วงปลายปี และต้นปีหน้าสำหรับรองรับการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ โดยระยะนี้ให้พิจารณาการเตรียมพร้อมล่วงหน้าก่อน ส่วนระยะแรก อาจพิจารณาเตรียมการแบบเผื่อใจในระยะเริ่มต้น เนื่องจากต้องดูดีมานด์ความต้องการนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศด้วย เดือนกรกฎาคมยังมีช่วงหยุดของไทย สามารถจะเตรียมสำหรับนักท่องเที่ยวไทยซึ่งจะมีกลุ่มกำลังซื้อสูงที่สามารถทดแทนการไปต่างประเทศอยู่ได้บ้างด้วย และถ้าเราพร้อม เราก็จะสามารถเปิดในไตรมาสปลายปีได้ราบรื่นค่ะ ให้เน้นความพร้อม ค่อยๆ เปิดอย่างปลอดภัย

และเมื่อคำนึงถึงสถานการณ์ในช่วงต่อไป ในกรณีทุกครั้งที่อาจจะต้องมีการปิดบางกิจการในสถานการณ์ที่ระบาดมากจริง ๆ แล้ว แทนการกระตุ้นการใช้จ่ายกระจายทั่วไปที่ได้ทำแล้ว 2 รอบซึ่งถือว่าเป็นมาตรการที่ดี คราวต่อไป เสนอว่า เมื่อคนฉีดวัคซีนมีมากขึ้นแล้ว ให้ใช้ความสมัครใจในการปิดกิจการชั่วคราว โดยเราสามารถใช้วิธีชดเชยรายได้ที่มากขึ้น และเพียงพอแก่การดำรงชีพเฉพาะในสาขาที่ได้รับผลกระทบต้องหยุดเช่น อย่างน้อยเทียบเท่าการดำรงชีพขั้นต่ำรายเดือน เฉพาะรายที่ยินดีเลือกปิดโดยสมัครใจ   ส่วนรายที่อยากเปิดกิจการให้ใช้มาตรการรักษาระยะห่างต่าง ๆ  (โดยใช้การคาดการณ์ว่า ด้วยจำนวนนี้ อาจสามารถปิดแบบสมัครใจประมาณ 50% เป็นต้น— ตัวเลขสมมติเท่านั้น ตามสถานการณ์ระบาดที่คาดว่ารองรับได้ เนื่องจาก ตามหลักเศรษฐศาสตร์ จะมีการชั่งน้ำหนักระหว่างรายได้ การพักผ่อน และรายได้จากการทำงาน และสถานการณ์โควิด เป็นต้น) และระหว่างนี้ให้ประมาณการว่าวัคซีนจะเข้ามาเพียงพอในระยะใดซึ่งตัวเลขส่วนนี้น่าจะมีคณะกรรมการทุกท่านดูแลและมีข้อมูลอยู่  เมื่อวางแผนให้บรรจบกันพอดี ก็น่าจะทำให้การเปิดราบรื่นขึ้น   (ทั้งนี้ยกเว้นกรณีมีสายพันธุ์ใหม่ที่เกินความสามารถวัคซีนปัจจุบันจำเป็นต้องปรับใช้แผนการควบคุมที่พิเศษมากยิ่งขึ้นกว่านี้)

ทั้งนี้แผนอาจพิจารณาเผื่อไว้ทั้งกรณีดีที่สุดและแย่ที่สุด และพิจารณากรณีที่เป็นไปได้มากที่สุด

(และต้องปรับตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว)

                ที่สำคัญระยะแรกให้พิจารณาจำนวนผู้ป่วยหนักมากต้องใช้โรงพยาบาลและเครื่องช่วยหายใจเป็นต้น สะสมที่ยังครองอยู่ เช่น ใกล้ 2,000 คือเป็นจุดสัญญาณเตือนสำคัญ(alarm)  เป็นต้น หรือจำนวนในโรงพยาบาลประมาณ 15,000-20,000 ณ เฉพาะสถานการณ์มิถุนายนและความเห็นส่วนตัวเท่านั้น

                เสนอความเห็นว่า การเปิดผ่อนคลาย อาจต้องเพิจารณาสัญญาณความสามารถทั้งผ่อนคลาย(Relax) และสัญญาณที่ต้องเคร่งครัด (Braker) ให้ทันท่วงที และน่าจะมีแผนรองรับสำรอง น่าจะดีมากค่ะ

ที่มา: อภิรดา ชิณประทีปและคณะ สำหรับลงโพสต์ทูเดย์ฉบับ 29 มิ.ย. 2564 (ความเห็นส่วนตัวเสนอคณะทำงานแล้วเมื่อตุลาคม 2563)

รูปที่ 4  การขยับของกิจกรรมเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาเมื่อการระบาดมีแนวโน้มดีขึ้น (ตุลาคม 2563)

จากนั้น ทั้งนี้ในส่วนของแง่มุม ผลกระทบโควิด  กับเศรษฐกิจ  ทองคำ น้ำมัน ตลาดหุ้น ขออนุญาตเล่าย่อ ๆ ถึงสาระสำคัญส่วนหนึ่งของงานของผู้เขียนและทีมวิจัย ซึ่งจบไปนานสักพักแล้ว แต่น่าจะยังประยุกต์กับเหตุการณ์ปัจจุบันได้ ในเรื่อง “การประมาณการผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่หรือ โควิด-19 (Covid-19) ต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งภาพรวมและรายสาขา และการพลิกวิกฤติเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ”  ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ โดยเป็นโครงการระยะสั้น 6 เดือนเสร็จสิ้น(มี.ค.-ส.ค.63) น่าจะเป็นประโยชน์ประยุกต์กับเหตุการณ์ปัจจุบันไม่มากก็น้อย โดยสรุปบางส่วนดังนี้

ที่มา: อภิรดา ชิณประทีปและทีม รายงานการประมาณการผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่หรือ โควิด-19 (Covid-19) ต่อเศรษฐกิจไทย สำหรับลงโพสต์ทูเดย์ฉบับ 29 มิ.ย. 2564

รูปที่ 5  ผลกระทบโควิด  กับ ตลาดหุ้นไทย  ช่วงต้นปี ถึงมีนาคม 2563

ที่มา: อภิรดา ชิณประทีปและทีม รายงานการประมาณการผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่หรือ โควิด-19 (Covid-19) ต่อเศรษฐกิจไทย สำหรับลงโพสต์ทูเดย์ฉบับ 29 มิ.ย. 2564

รูปที่ 6  ผลกระทบโควิด  กับเศรษฐกิจ  ทองคำ น้ำมัน ตลาดหุ้น  สินค้าโภคภัณฑ์บางประเภท ต้นปี ถึง ส.ค.63

แนวโน้มผลกระทบจากการติดเชื้อ covid-19 รายวันจะมีผลกระทบต่อธุรกรรมโดยมีผลภายในช่วง 2-3 ระยะเวลาแรกค่อนข้างสูงและผลกระทบจะค่อยๆ ลดลง  ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนยังคงได้รับผลกระทบขนาดไม่สูงมากในระยะเริ่มต้นแต่กระจายตัวถึงประมาณ 10-15 ระยะเวลาแรกหลังจากเหตุการณ์ที่มีการติดเชื้อโควิด  ในส่วนของราคาสินค้าเกษตรนั้นอาจไม่ค่อยมีผลกระทบมากนักเมื่อคิดเป็นสัดส่วนโดยเปรียบเทียบโดยมีความเสถียรมากกว่าโดยถ้าได้รับผลกระทบก็จะอยู่ในช่วงระยะเวลาภายใน 3 วันระยะเวลาแรกและค่อนข้างกระจายตัวในเวลาต่อ ๆ มา

ในส่วนของดัชนีตลาดหลักทรัพย์นั้นพบว่าจะได้รับผลกระทบค่อนข้างผันผวนจากผลกระทบหลังมีการติดเชื้อ covid-19 โดยเฉพาะในช่วง 5 ระยะเวลาแรกโดยอาจมีการขึ้นและลงค่อนข้างผันผวนมากในช่วงแรกและจะค่อยๆปรับตัวดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป   สำหรับราคาทองคำนั้นพบว่าอัตราการติดเชื้อโควิดมีผลให้เกิดความผันผวนกับราคาทองคำด้วยเช่นกัน โดยมีแนวโน้มว่าจะปรับตัวลงเล็กน้อยก่อนและจะปรับตัวขึ้นค่อนข้างสูงในเวลาต่อมา ในส่วนของระดับราคาน้ำมันก็มีผลกระทบได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดด้วยเช่นกันโดยมีผลกระทบภายใน 5 ระยะเวลาแรกซึ่งอาจจะทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวลงก่อนและจะทยอยปรับตัวขึ้นในเวลาต่อมาได้  อย่างไรก็ตามผลกระทบทั้งหมดนี้ยังคงไม่เกิน 20 ถึง 25 วันถึง 1 เดือน

ส่วนของผลการศึกษาอีกส่วนหนึ่งโดยย่อได้แก่ ในช่วงเวลาที่ศึกษา การเพิ่มขึ้นของการทำธุรกรรมของประชาชน มีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกันกับค่าการเพิ่มขึ้นของตัวเลขการติดเชื้อโควิด-19 ในวันก่อนหน้า โดยเป็นสินค้าบางประเภทเพื่อการอุปโภคบริโภค โดยเมื่อตัวเลขการติดเชื้อเพิ่มขึ้นจะทำให้โดยเฉลี่ยแล้วประชาชนมีการใช้จ่ายโดยมีเงินหมุนเวียนในระบบเพิ่มขึ้นประมาณ 2.5 ล้านบาทต่อวันในวันแรกๆ ในขณะที่หากมีการใช้จ่ายในระยะเวลาก่อนหน้าเพิ่มขึ้นแล้วก็อาจจะมีผลทำให้การใช้จ่ายในระยะเวลาปัจจุบันโดยมีเงินหมุนเวียนลดลงประมาณ 0.5 ล้านบาทต่อวันในวันถัดมา  ส่วนราคาทองคำในระยะเวลาก่อนหน้าอาจมีผลให้ประชาชนลดการใช้จ่ายโดยมีเงินหมุนเวียนลดลง ในส่วนของความเข้มงวดของภาครัฐมีผลทำให้ประชาชนเร่งใช้จ่ายโดยเฉลี่ยในทุกครั้งที่ได้มีการปรับมาตรการให้เข้มข้นมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจโดยในกรณีนี้อาจจะสังเกตเห็นได้ว่าแม้ว่าประเทศไทยไม่มีการปิดอย่างสมบูรณ์ แต่ก็คงมีประชาชนบางส่วนไปกักตุนสินค้าบางประเภทอยู่บ้าง ในกรณีนี้ซึ่งก็ตรงกับข้อเท็จจริงที่ผ่านมาด้วย

อัตราแลกเปลี่ยนที่ได้รับผลกระทบหากเมื่ออัตราการติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นอาจจะเป็นผลทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทแข็งขึ้นได้เล็กน้อยในช่วงที่ศึกษา  ส่วนราคาทองคำซึ่งพบว่าตัวเลขการติดเชื้อโควิด-19 รายวันที่สูงขึ้นอาจมีความสัมพันธ์กับราคาทองคำสูงขึ้นได้บ้าง โดยการใช้จ่ายของประชาชนที่เพิ่มขึ้นอาจมีความสัมพันธ์กับระดับราคาทองคำสูงขึ้นเล็กน้อย  และระดับราคาสินค้าเกษตรที่อาจจะมีความสัมพันธ์กับราคาสินค้าเกษตรในเวลาต่อมาเพิ่มขึ้นได้บ้างเล็กน้อย ขณะที่การใช้จ่ายไม่ได้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าเกษตรมากนัก

ในขณะที่ระดับราคาน้ำมันที่เปลี่ยนแปลงไปพบว่าตัวเลขการติดเชื้อโควิด-19 ที่สูงขึ้นมีความสัมพันธ์กับการสูงขึ้นของระดับราคาน้ำมันอยู่บ้างเล็กน้อย  ในขณะที่การใช้จ่ายของประชาชนไม่ได้มีผลต่อระดับราคาน้ำมันมากนัก  ในส่วนของอัตราแลกเปลี่ยนที่เปลี่ยนแปลงไปมีทิศทางเดียวกันให้ระดับราคาน้ำมันสูงขึ้น

ทั้งนี้ในการศึกษานี้หมายถึงในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะในช่วงการระบาดช่วงต้นปีถึงกลางปี 2563 และได้พิจารณาอิทธิพลปัจจัยจากต่างประเทศแล้ว

และสาระสำคัญที่เสนอในบทความเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 แล้ว พบว่ายังมีทั้งบวกและลบ และอยากให้กำลังใจผู้อ่านทุกท่านว่า ในวิกฤติเราอาจสามารถพลิกวิกฤติเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจได้ในบางส่วน การใช้ออนไลน์มากขึ้น และยังอาจมีบางส่วนสำหรับกลุ่มกำลังซื้อที่มีศักยภาพ เช่น นักธุรกิจชาวต่างประเทศที่พำนักในประเทศ หรือชาวไทยเอง และการชดเชยสินค้าจากต่างประเทศหรือบริการแบบพรีเมียมบางส่วนจากการไม่ได้ไปซื้อต่างประเทศ รวมถึงการส่งออกสินค้าที่มีหลายประเทศคู่แข่งหยุดหรือผลิตได้น้อยในช่วงนี้ เป็นต้น   การใช้โอกาสด้านสุขภาพเพื่อเสริมด้านการท่องเที่ยว หรือเพิ่มการดึงดูดนักท่องเที่ยวเกษียณ และอยากให้ทุกท่านคิดว่าสถานการณ์โควิดนี้หากต้องพักเป็นการพักเพื่อเตรียมพร้อมที่จะก้าวหลังจากสถานการณ์คลี่คลาย เป็นต้น  ทั้งนี้ ในขณะเดียวกัน ภาครัฐ อาจจะต้องเข้าช่วยประคับประคองให้ทันท่วงที เอาใจช่วยทุกท่านค่ะ

ในระหว่างนี้  เช่นเดียวกับที่เคยกล่าวแล้ว ระหว่างการหยุดกิจกรรม กลุ่มเปราะบางและกลุ่มที่ไม่สามารถ work from home ได้ เป็นกลุ่มที่อาจจะสนใจช่วยเหลือเป็นกลุ่มแรกๆ ประกอบกับกลุ่มชุมชนที่ต้องกักตัว  ที่อาหารอาจจะจำเป็นด้วย (และหาวิธีช่วยการเสริมสร้างกำลังใจระหว่างนี้ได้ด้วยก็จะดีมาก ๆ)

เนื่องจากขณะนี้ผู้คนน่าจะเหนื่อยล้าจากการระบาดที่ยาวนาน เมื่อทยอยเปิดได้ พร้อมกับการเร่งฉีดวัคซีน  หากจำเป็นต้องปิดอีกครั้ง อยากเสนอให้ใช้วิธีชดเชยรายได้ที่สามารถดำรงชีพรายเดือน และเฉพาะสาขาที่ได้รับผลกระทบต้องหยุดอย่างสมัครใจ ในโอกาสที่เรามีวัคซีนอีกแรง พร้อมมาตรการเว้นระยะห่าง โดยยังเร่งฉีดวัคซีนต่อเนื่องตามเป้าหมาย  ทั้งนี้ มีการประเมินสถานการณ์เป็นระยะ

เมื่อทุกอย่างเริ่มดีขึ้นบ้าง ควบคู่กับการดำเนินชีวิตประจำวันและกิจกรรมทางเศรษฐกิจไปด้วยอีกระยะหนึ่งก่อนที่สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกสงบลงได้อย่าง100% เรายังคงใช้หน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือ และ บันทึกหรือจดจำพร้อมกับระมัดระวังในการเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ

สุดท้ายนี้โดยหวังว่าบทความนี้จะส่งผ่านแง่คิดบางประการในโอกาสนี้ และทุกท่านผู้อ่านและครอบครัวปลอดภัย มีกำลังใจต่อสู้ผ่านพ้นอุปสรรค และยังคงความสมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ และด้านเศรษฐกิจตลอดปีนี้ เชื่อว่าเราทุกท่านจะผ่านไปได้ในที่สุดค่ะ.

(หมายเหตุ: เป็นความเห็นส่วนตัวเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องตรงกับหน่วยงานที่กล่าวถึงในบทความ หากมีข้อเสนอแนะสามารถแนะนำได้ที่ email: apiradach@gmail.com ขอบคุณยิ่ง   *ทั้งนี้ต้นฉบับ เขียนก่อน การประกาศภาครัฐในการปิดบางสถานที่ล่าสุดวันที่ 28 มิถุนายน 2564)

ที่มาภาพข่าว : https://www.posttoday.com