รัฐกับประชาชน จนลงพร้อมกัน (ผศ.ดร.สันติ)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข
ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)
www.econ.nida.ac.th; Santi_nida@yahoo.com

รัฐกับประชาชน จนลงพร้อมกัน

ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19 ในหลายระลอกมีความรุนแรงและน่าเป็นห่วงกังวลมากขึ้นตามความล่าช้าของการจัดหาและกระจายวัคชีนให้กับประชาชนเพื่อให้ถึงจำนวน 100 ล้านโดส (50 ล้านคน) ซึ่งเป็นจุดที่นักวิชาการทางด้านสาธารณสุขประเมินว่าจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) จึงจะทำให้สามารถควบคุมการระบาดของโรค และกิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถดำเนินไปได้อย่างปกติ ธปท. ได้จัดทำประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศภายใต้ 3 กรณี คือ กรณีที่ 1: สามารถจัดหาและกระจายฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วประเทศได้ 100 ล้านโดสภายในสิ้นปี 2564 และเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 (เป็นกรณีที่ดีที่สุด: Best Case Scenario) กรณีที่ 2: สามารถจัดหาและกระจายฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้ 64.5 ล้านโดส (ตามแผนเดิมที่กำหนดไว้) ทำให้การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ล่าช้าไปถึงไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 กรณีที่ 3: สามารถจัดหาและกระจายฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้น้อยกว่า 64.5 ล้านโดส (น้อยกว่าตามแผนเดิม) จะทำให้การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ล่าช้าไปถึงไตรมาส 4 ของปี 2565 (เป็นกรณีเลวร้ายที่สุด: Worst Case Scenario) พบว่า ความล่าช้าของการจัดหาและกระจายการฉีดวัคซีนให้ทั่วถึงจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย 3-5.7% เมื่อเปรียบเทียบอัตราการเติบโตในกรณีที่ 2 และ 3 กับกรณีที่ 1 คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 4.6-8.9 แสนล้านบาท ในกรณีที่เลวร้าย อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจประมาณการไว้ว่าจะเป็น 1% และ 1.1% ในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ และจะมีผู้ว่างงานถึง 2.9 ล้านคน ตัวเลขเศรษฐกิจมหภาคดังกล่าวคงจะแสดงให้เห็นได้อย่างดีและขัดเจนว่าตั้งแต่ปี 2563 ที่เริ่มมีการระบาดของโรคและในอนาคตอีก 1-2 ปี (ระหว่างที่รอให้สามารถควบคุมการระบาดของโรคให้ได้) ประชาชนโดยเฉลี่ย และโดยส่วนใหญ่มีความยากจนลงเรื่อย ๆ (แม้ว่าอาจจะมีประชากรจำนวนหนึ่งได้รับผลกระทบน้อย หรืออาจจะได้รับประโยชน์จากการระบาดของโรค) ข้อจำกัดทางด้านการสร้างมูลค่าเพิ่มหรือสร้างรายได้ของคนในระบบเศรษฐกิจผนวกเข้ากับสภาวะหนี้สินของภาคครัวเรือนที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญในช่วงที่มีการระบาดของโรค (ตั้งแต่ไตรมาส 2/2020 จนถึงไตรมาส 1/2021) สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางทางการเงินของภาคครัวเรือนที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้น ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจซบเซาในประเทศ ภาคประชาชน/ ครัวเรือนมีความขัดสนจากรายได้ที่ลดลงหรือขาดรายได้อย่างฉับพลัน ขาดความสามารถในการชำระหนี้ที่มีอยู่แล้ว และมีความจำเป็นต้องก่อหนี้เพิ่มเพื่อประคับประคองการดำรงชีพให้อยู่รอดไปได้ แนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่จะต้องใช้ระยะเวลาทอดยาวออกไปกว่าที่คาดหมายไว้ ทำให้สถานะหนี้ภาคครัวเรือนขยับเพิ่มขึ้นมากจนอยู่ในระดับสูงกว่าร้อยละ 86 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในไตรมาส 3/2563 และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นได้อีกถึงกว่าร้อยละ 90 ในปี 2564 ถ้าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจสะดุดหรือมีความล่าช้า ปริมาณหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้เพิ่มสูงขึ้นเป็นกว่า 0.9-1 ล้านล้านบาทในปี 2563 สะท้อนถึงความยากลำบากทางการเงินในภาคครัวเรือนที่มีความรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ การเพิ่มขึ้นของภาระหนี้ภาคครัวเรือนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยและปานกลาง สัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (Debt Service Ratio: DSR) ของประชาชนที่มีรายได้ 5,000-10,000 บาทต่อเดือนสูงถึงร้อยละ 40 (รายได้ 100 บาท มีภาระหนี้ต้องชำระ 40 บาทโดยเฉลี่ย) นอกจากนี้ ปริมาณหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มมากขึ้นยังเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและอาจก่อตัวเป็นสาเหตุที่เป็นความเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจได้เมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้น (ค่าครองชีพสูงขึ้น) และคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศยากจนลงเรื่อย ๆ ตามความล่าช้าในการควบคุมการระบาดของโรค ความยากจนก็จะเกิดมากขึ้น และเป็นความยากจนที่จะกระจายไปอย่างกว้างขวางในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งความยากจนลงของประชาชนย่อมตามมาด้วยคุณภาพชีวิตที่แย่ลง มีความยากลำบากในการดำรงชีพ โชคดีที่ภาคการเงินของประเทศในปัจจุบันยังมีความเข้มแข็ง มีสภาพคล่องเพียงพอที่จะรองรับภาระหนี้ที่เพิ่มมากขึ้นได้ในระยะสั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าภาระหนี้เหล่านี้จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจในอนาคตโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจต้องใช้เวลามาก

ความพยายามในการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ยากจนลง (โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมาก และกระทันหัน) และการพยุงเศรษฐกิจที่ให้น้ำหนักกับการใช้จ่ายไปเพื่อการบริโภคโดยมาตรการของภาครัฐนั้นมีข้อจำกัด ไม่สามารถดำเนินการต่อเนื่องได้เป็นระยะเวลานาน งบประมาณทุกบาทที่ถูกนำมาใช้ (ด้วยเหตุจำเป็น) เพื่อช่วยเหลือประชาชนในการดำรงชีพ และประคับประคองเศรษฐกิจไปในคราวเดียวกันด้วยนั้น ส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ (ไม่ว่าจะกู้จากภายในประเทศ หรือกู้จากต่างประเทศก็ตาม) และมีต้นทุนที่ต้องแบกรับทั้งที่เป็นต้นทุนโดยตรงในรูปของดอกเบี้ย และต้นทุนค่าเสียโอกาสที่จะใช้เงินกู้นั้นเพื่อการลงทุนหรือสร้างสวัสดิการสังคมอื่น ๆ ในรูปของบริการสาธารณะที่จำเป็น การระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ในปัจจุบันทำให้มีแนวโน้มที่รัฐจำเป็นจะต้องขยายเวลาและงบประมาณที่จะใช้เพื่อการช่วยเหลือเยียวยาทางเศรษฐกิจออกไปอีก กอปร กับการที่จะต้องใช้มาตรการทางการคลังในการฟื้นฟูและสนับสนุนให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ (Economic Recovery) อีกด้วย ก็คงจะเป็นที่คาดการณ์ได้ว่า ระดับหนี้สาธารณะของประเทศจะต้องเข้าใกล้หรือถึงเพดานหนี้สาธารณะตามกรอบวินัยทางการคลังที่กำหนดไว้ สถานะทางการคลังที่ดีเป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญมากต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เพราะเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นต่อการระดมทุน และต้นทุนของเงินทุนที่จะใช้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้วยทรัพยากรเงินทุนที่มีความจำกัดมากขึ้น การบริหารทางการคลังโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านการใช้จ่าย (ผ่านกรอบงบประมาณ) จึงเป็นความท้าทายในระยะต่อไปเมื่อรัฐมีสถานะที่ยากจนลงกว่าเดิม แนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ดูเหมือนจะมีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศที่ขึ้นอยู่กับขีดความสามารถในการควบคุมการระบาด ส่งผลให้มีการเคลื่อนย้ายของเงินทุนมากขึ้นกว่าปกติ ความผันผวนทางเศรษฐกิจที่เงินขึ้นจากการเคลื่อนย้ายของเงินทุน (ซึ่งมีอยู่มากเพราะการเพิ่มสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจหลายประเทศ) เป็นภาระที่ผู้กำกับดูแลต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้ความีผันผวนที่เกิดขึ้นย้อนกลับมาเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย ทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่มาก ปริมาณเงินฝากในสถาบันการเงินที่อยู่ในระดับสูง อาจจะไม่ใช่ปัจจัยที่จะบ่งชี้ หรือรับประกันได้ว่าประเทศไทยจะมีความปลอดภัยจาก หรือจะไม่ถึงซ้ำเติมจากการขาดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งเสถียรภาพทางด้านราคา และเสถียรภาพทางด้านอัตราแลกเปลี่ยน

ในช่วงเวลาที่ยากลำบากอย่างนี้ สิ่งที่สำคัญและจำเป็นต้องดำเนินการเห็นจะเป็นเรื่องการสร้างความเชื่อมั่น จะมีใคร? (ภาครัฐ) สามารถจะสื่อสารให้ประชาชนในประเทศเข้าใจได้ว่า แนวทาง (นโยบาย) ที่จะใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้ให้กับประชาชนได้จะต้องมีการดำเนินการอย่างไร? ประชาชน ภาคธุรกิจเอกชน จะต้องเตรียมตัวอย่างไร ? เป้าหมายทางเศรษฐกิจที่จะมีร่วมกันของคนในประเทศเป็นอย่างไร ? เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจไม่ได้เป็นเพียงการกระตุ้นให้เกิดการบริโภค เพื่อให้มีอุปสงค์เพิ่มขึ้นเพียงเท่านั้น ตรงกันข้าม การบริโภคควรจะมาภายหลัง การสร้างการเติบโตควรจะโตจากการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ หมายถึง ควรจะต้องมีผลผลิต (Output) มูลค่าจากผลผลิตที่สร้างขึ้นจึงก่อให้เกิดรายได้ (Income) เมื่อมีรายได้แล้วจึงเลือกตัดสินใจบริโภค (หรือเลือกที่จะออม) บนฐานของรายได้ที่สร้างขึ้น ถ้ามีความจำเป็น ก็อาจจะก่อหนี้โดยเข้าใจและตระหนักอยู่เสมอว่า การก่อหนี้เป็นการดึงเอารายได้ในอนาคตมาใช้จ่ายก่อนในปัจจุบัน (ไม่ได้เป็นของฟรี แต่เป็นภาระ) ต้องมีการตัดสินใจอย่างละเอียดถี่ถ้วนรอบคอบ สภาวะเศรษฐกิจที่ทำให้ทั้งรัฐและประชาชนยากจนลงพร้อมกันคงจะเปรียบได้กับคน 2 คนที่ตกน้ำและจำเป็นจะต้องดิ้นรนเพื่อไม่ให้จมน้ำลงไปทั้งคู่ ในขณะที่ประชาชนกำลังอ่อนล้าลงอย่างมาก รัฐเองแม้ว่าจะยังมีความแข็งแรงมากกว่า แต่ก็อ่อนแรงลงเรื่อย ๆ ยิ่งระยะเวลาทอดยาวออกไป โอกาสที่จะช่วยเหลือกันเพื่อให้รอดได้จากสภาพที่เป็นอยู่นั้นจำเป็นต้องมาเป้าหมายร่วมกัน ทำงานสอดประสานกันให้ได้อย่างดีที่สุด การสื่อสารทางเศรษฐกิจให้เกิดความเข้าใจถึงเป้าหมาย และแนวทางการดำเนินนโยบาย เพื่อลดความจำเป็นของการดำเนินนโยบายในลักษณะเฉพาะกิจ (Ad Hoc Policy) ที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นได้มากอยู่แล้วในช่วงเวลาที่มีความไม่แน่นอนของการระบาดสูง การสร้างความเชื่อมั่น และการสื่อสารทางเศรษฐกิจกับประชาชนเป็นเงื่อนไขที่จะทำให้ต้นทุน ของการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจลดลงได้มาก และยังจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินมาตรการทางการคลังให้สัมฤทธิ์ผลตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

ที่มีภาพข่าว : https://www.posttoday.com/