การลงทุนในบิตคอยน์และทองคำ: สินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) หรือ เก็งกำไร (Speculative) (รศ.ดร.ยุทธนา)

รองศาสตราจารย์ ดร.ยุทธนา เศรษฐปราโมทย์
ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ

คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)

www.econ.nida.ac.th; yuthana.s@nida.ac.th

การลงทุนในบิตคอยน์และทองคำ: สินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) หรือ เก็งกำไร (Speculative)

ในช่วงปี 2564 นี้ คงไม่มีสินทรัพย์ประเภทใดที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนและถูกพูดถึงทั้งในตลาดการเงินโลก และในประเทศไทยมากไปกว่าการลงทุนในบิตคอยน์ (รวมถึงเงินสกุลดิจิทัลอื่น ๆ) ทั้งในเชิงการลงทุนเพื่อเก็งกำไร (Safe haven) จากผลตอบแทนที่สูง หรือในเชิงการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe haven) เพื่อบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนในตลาดหุ้นในภาวะวิกฤตที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้บิตคอยน์ถูกนำมาเปรียบเทียบกับการลงทุนในทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe haven) ที่สำคัญในอดีต โดยวันนี้ผมจะพูดถึงการแนวทางลงทุนในบิตคอยน์และทองคำ โดยอ้างอิงงานการวิจัยเชิงประจักษ์ทางเศรษฐศาสตร์การเงิน ครับ

ในโลกการลงทุนทางการเงิน ทองคำ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าในตัวเองและได้รับการยอมรับจากคนทั่วโลกว่าเป็นเครื่องมือในการสะสมความมั่งคั่งมาตั้งแต่อดีตกาลจนถึงปัจจุบัน จากคุณสมบัติที่มีทั้งความคงทนและความสวยงามในตัวเอง และเป็นแร่ธาตุที่หาได้ยาก ทำให้มีปริมาณจำกัดไม่สามารถผลิตเพิ่มได้ตามความต้องการของคน ทำให้ราคาทองคำมีการปรับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง จากอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในช่วงหลังวิกฤตการเงินสหรัฐในช่วงปี 2550-2551 ที่ผ่านมา ซึ่งทองคำถูกกล่าวถึงมากในฐานะที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe haven asset) จากภาวะวิกฤต และในฐานะสินทรัพย์ที่ผลตอบแทนสูงตามการเพิ่มปริมาณเงินกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการ Quantitative Easing (QE) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) อย่างไรก็ตาม ภายหลังในช่วงปี 2556-2557 ซึ่งเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มฟื้นตัวจากภาวะวิกฤต ทำให้ความเสี่ยงของการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ลดลง ส่งผลต่อเนื่องยังความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยของนักลงทุนที่ลดลงตาม นอกจากนี้ ผลจากแผนการลดการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE Tapering) ของ FED ทำให้ปริมาณเงินลดลง ส่งผลให้ราคาทองคำปรับลดลงพร้อม ๆ กับการลดความนิยมของนักลงทุนทั้งในเชิงบริหารความเสี่ยงและเก็งกำไร

                ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีความรุนแรงตั้งแต่ในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ตลาดหลักทรัพย์มีการปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงแรกของภาวะวิกฤตในไตรมาสที่ 1-2 ของปี 2563 และมีการเคลื่อนไหวที่ผันผวนตามความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นหรือการคลี่คลาดของการระบาดในประเทศต่าง ๆ ตลอดปี 2563 นอกจากนี้ ธนาคารกลางทั่วโลกไม่เพียงแต่ FED แต่ยังรวมถึงธนาคารกลางยุโรป (FED) ญี่ปุ่น (BoJ) ต่างนำเอามาตรการเพิ่มปริมาณเงินผ่านการทำ QE กลับมาใช้ใหม่ อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น ราคาทองคำกลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้นและถูกกล่าวถึงในตลาดการเงินมากขึ้น

                อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลยุค 4.0 ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาทำให้สินทรัพย์ดิจิทัล ประเภทต่าง ๆ ได้รับความเชื่อถือมากขึ้นจากสาธารณะชนในด้านความปลอดภัยในการเก็บรักษาของเทคโนโลยี Blockchain ว่าสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการเก็บสะสมความมั่งคั่งได้ในลักษณะเดียวกับทองคำ โดยในบรรดาสินทรัพย์ดิจิทัล เหรียญบิตคอยน์ ถือเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด ทำให้ตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน การลงทุนในบิตคอยน์ถูกกล่าวถึงในวงกว้างและมีราคาปรับเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนมีการกล่าวถึงว่าบิตคอยน์เปรียบเสมือนเป็นทองคำใหม่ (New Gold) ในโลกการลงทุน ซึ่งมีลักษณะเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย นอกจากนี้ ราคาบิตคอยน์ที่เพิ่มขึ้นจนสร้างระดับสูงสุดใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้บิตคอยน์ได้รับความสนใจในการลงทุนเพื่อเก็งกำไรจากผลตอบแทนที่สูงในช่วงที่ผ่านมา

                จากกระแสการตื่นตัวในบิตคอยน์ในช่วงที่ผ่านมา มีงานวิจัยเชิงประจักษ์ทางเศรษฐศาสตร์การเงินทดสอบความสามารถในการเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยของบิตคอยน์เทียบกับทองคำ และทดสอบความสามารถในการเก็งกำไร ซึ่งในกรณีตลาดการเงินไทย การศึกษาของ Prukumpai and Sethapramote (2021) “Are bitcoin and gold safe-haven assets? Evidence from Thailand” ได้นำเสนอผลการเปรียบเทียบการลงทุนในทองคำและบิตคอยน์ ในด้านความสามารถในการป้องกันและกระจายความเสี่ยง (hedge and diversify) และด้านความสามารถในการเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) จากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทย โดยผลการศึกษาสนับสนุนความสามารถของทองคำในการเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยสำหรับการลงทุนในภาวะวิกฤต (Safe haven) แต่ไม่พบความสามารถในการเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยของบิตคอยน์ โดยราคาบิตคอยน์มีแนวโน้มจะเกิดความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกับผลตอบแทนการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงภาวะวิกฤตที่ราคาหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว  ซึ่งข้อสรุปที่ได้จากข้อมูลตลาดการเงินไทยนี้สอดคล้องกับผลการศึกษาในตลาดสหรัฐฯ ซึ่งพบว่าทองคำเป็นมีเหมาะสมกว่าบิตคอยน์ ในการเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven assets) เพื่อป้องกันความเสี่ยงในภาวะวิกฤต อย่างไรก็ตามการศึกษาข้างต้นพบว่าบิตคอยน์มีแนวโน้มที่จะมีผลตอบแทนการลงทุนที่สูงกว่าสินทรัพย์อื่น และมีค่าสหสัมพันธ์ในระดับต่ำกับสินทรัพย์อื่น ๆ (เช่น หุ้น ตราสารหนี้ เป็นต้น) ทำให้บิตคอยน์มีคุณสมบัติที่เหมาะสมในการใช้กระจายความเสี่ยงในการลงทุนในพอร์ตโพลิโอ เพื่อเพิ่มผลตอบแทนในการลงทุน

                นอกจากนี้จากการศึกษาอื่น ๆ พบว่าบิตคอยน์มีศักยภาพในการลงทุนเพื่อเก็งกำไรและสร้างผลตอบแทนที่สูง โดยเฉพาะในช่วงที่มีธนาคารกลางทั่วโลกใช้มาตรการ QE ซึ่งมีผลต่อราคาบิตคอยน์อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้จากการประมาณค่าสมการพยากรณ์ มักพบว่าบิตคอยน์มีความสามารถในการพยากรณ์ผลตอบแทนระยะสั้นที่ชัดเจน ซึ่งความสามารถในการพยากรณ์นี้พบได้ยากในการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์  ดังนั้น จากความสามารถดังกล่าวไม่แปลกใจแต่อย่างใดที่ปัจจุบันบิตคอยน์จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่า เป็นอย่างมาก แซงหน้าสินทรัพย์รุ่นพี่อื่น ๆ เช่น ทองคำ

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในบิตคอยน์มีข้อที่ควรระวังที่สำคัญ 3 ประการคือ

  1. บิตคอยน์ยังไม่มีความสามารถเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในยามที่ตลาดหลักทรัพย์อยู่ในภาวะวิกฤต ดังนั้นบิตคอยน์จึงยังไม่สามารถทดแทนการลงทุนทองคำในวัตถุประสงค์ด้านความปลอดภัยได้

  2. 2. ความสามารถในการพยากรณ์ผลตอบแทนระยะสั้น โดยทั่วไปจะเชื่อมโยงกับภาวะฟองสบู่ ซึ่งหากฟองสบู่แตก จะนำมาซึ่งผลขาดทุนในระดับสูงมาก นอกจากนี้ หากธนาคารกลางทั่วโลก ประกาศลดการทำนโยบาย QE ราคาบิตคอยน์อาจมีการปรับตัวลดลงครั้งใหญ่ในลักษณะเดียวกับการปรับลดของราคาทองคำจาก QE tapering ในช่วงปี 2556-2557

  3. จากการที่บิตคอยน์ มีผลตอบแทนคาดหวังที่สูง และมีความสามารถในการกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ ที่ดี ทำให้นักลงทุนบิตคอยน์ ควรมีการลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ ประกอบด้วย เช่น หุ้น ทองคำ หรือ อสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้สามารถกระจายความเสี่ยงในช่วงที่ราคาบิตคอยน์มีการปรับตัวผันผวนได้ ครับ

สุดท้าย คำเตือนข้างฉลากที่สำคัญที่นักลงทุนไม่ควรละเลย ผลตอบแทนที่สูง มาพร้อมความเสี่ยงที่สูง นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุน ครับ

                Post Today

          4 พฤษภาคม 2564ยังเป็นอีกปัจจัยที่จะช่วยกระตุ้นการส่งออกค่าของเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ และการ้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ โลก โดยงผ

ที่มาภาพข่าว : https://www.posttoday.com