ปัญญาประดิษฐ์ยังไม่ใช่จุดจบของแรงงานคน (ผศ.ดร.อัธกฤตย์)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัธกฤตย์ เทพมงคล
ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)

www.econ.nida.ac.th; athakrit.t@nida.ac.th

ปัญญาประดิษฐ์ยังไม่ใช่จุดจบของแรงงานคน

ถ้าให้พูดถึงเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน ถ้าไม่นับว่าเจอวิกฤติโรคระบาดอย่าง COVID-19 อยู่ ก็ต้องบอกว่าเป็นยุคที่สังคมขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data) อย่างแท้จริง ข้อมูลขายได้ ข้อมูลมีราคา ใครมีข้อมูลมากกว่า จัดการข้อมูลได้ดีกว่า ก็จะเป็นผู้ชนะในทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็นวงการธุรกิจ การเงินการธนาคาร หรือแม้กระทั้งแวดวงการเมืองก็ตาม เพราะข้อมูลจะเป็นตัวบอกพฤติกรรมของมวลชน และคนที่คาดเดาหรือควบคุมพฤติกรรมของมวลชนได้ รบร้อยครั้งก็ย่อมชนะร้อยครั้ง

 

 

ย้อนกลับไปเราจะเห็นวิวัฒนาการของสังคมมนุษย์ที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน นักเศรษฐศาสตร์หญิงชาวอาร์เจนทีน-อเมริกัน Graciela Chichilnisky ครั้งหนึ่งชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคมของมนุษย์ 3 ครั้งใหญ่ด้วยกัน โดยครั้งที่หนึ่งเกิดขึ้นเมื่อประมาณหนึ่งหมื่นปีก่อนที่มนุษย์ผ่านการเปลี่ยนแปลงจากสังคมการล่าสัตว์และเก็บของกินมาเป็นสังคมการเกษตร (Hunter-gatherer society to agriculture society) ซึ่งแรงขับสำคัญของการเปลี่ยนแปลงนี้คือองค์ความรู้ในการเพาะเมล็ดพันธุ์และการเก็บเกี่ยว ต่อมาให้คริสต์ศตวรรษที่ 18 สังคมมนุษย์ก็พัฒนาไปอีกขึ้นสูงสังคมอุตสาหกรรม (Industrial society) ซึ่งแรงขับของการปฏิวัติสังคมเศรษฐกิจครั้งนี้เกิดจากองค์ความรู้เรื่องของพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักรไอน้ำ พลังงานฟอสซิล และพลังงานในรูปแบบอื่น ๆ เรื่อยมา จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 20 โลกได้เข้าสู่สังคมแห่งความรู้หรือสังคมของข้อมูลข่าวสาร (Information society)  การปฏิวัติด้านเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดการก้าวกระโดดของการสะสมและแพร่กระจายขององค์ความรู้ต่าง ๆ ทำให้อุตสาหกรรมบริการความรู้ (Knowledge industry) อย่างภาคการศึกษา ภาควิจัยและพัฒนา ภาคสื่อสารมวลชน ภาคเทคโนโลยีสารสนเทศ และภาคการบริการด้านข้อมูลข่าวสาร ทวีความสำคัญมากขึ้นทดแทนภาคอุตสาหกรรมการผลิต

ในสังคมข้อมูลข่าวสารเองก็มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ในช่วงปี 1947-1969 ได้มีการผลิตเครื่องทรานสิสเตอร์ (Transistor) ได้เป็นครั้งแรก และเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ขึ้นมา มีการคิดค้นชิพระบบมอส (MOS integrated chip) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในระบบปฏิบัติการขนาด ต่อมา ในปี 1969-1989 โลกได้เริ่มรู้จักคอนเซปท์อินเตอร์เนต (Internet) เป็นครั้งแรก เครื่องคอมพิวเตอร์พีซีเริ่มเป็นที่ใช้การตามบ้านอย่างแพร่หลาย เริ่มมีการผลิตอุปกรณ์ดิจิทัลอย่างกล้องถ่ายรูปออกวางตลาดครั้งแรก ในปี 1989-2005 โลกได้ใช้อินเตอร์เนตกันอย่างแพร่หลาย มีการสร้างเวปไซต์ต่างๆเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลข่าวสารของกิจการต่างๆ โทรทัศน์ดิจิทัลเริ่มเข้ามาแทนที่โทรทัศน์แบบอนาลอก การใช้โทรศัพท์มือถือกันอย่างแพร่หลาย เป็นช่วงที่สังคมข้อมูลข่าวสารมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วจากการปฏิวัติดิจิทัล (Digital revolution) และยิ่งพุ่งตัวก้าวกระโดดในปี 2005 ถึงปัจจุบัน จากการกำเนิดของโทรศัพท์อัจริยะ (Smartphone) สื่อสังคมออนไลน์ (Social media) และ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI)

AI คืออะไร? มีคนให้ความหมายของ AI ไว้หลากหลายมาก หนึ่งในนั้น AI คือหน่วยคำนวณหรือเครื่องจักรที่มีปัญญา สามารถพิจารณาข้อมูลที่มีเพื่อที่จะเลือกปฏิบัติในสิ่งที่จะมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จมากที่สุด ไม่ใช่แค่สิ่งที่พยายามลอกเลียนปัญญาของมนุษย์เท่านั้น โดยลักษณะเด่นของ AI คือความสามารถในการทำความเข้าใจเรียนรู้หรือที่ผู้เขียนจะเรียกว่าทักษะการรู้คิด (Cognitive skill) AI จะสามารถนำชุดข้อมูลประสบการณ์ในอดีตทั้งที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลวมาปรับปรุงระบบการตัดสินใจของตัวเองเพื่อที่จะทำให้การตัดสินใจในครั้งต่อๆไปมีโอกาสที่จะสำเร็จมากยิ่งขึ้น คล้ายกับความสามารถในการพัฒนาตนเองของสมองมนุษย์แต่ยังไร้ซึ่งอารมณ์และความรู้สึกมาเจือปน การพัฒนาของพลังการคำนวณของคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันประกอบกับความรู้ทางด้านโปรแกรมมิ่งทำให้วิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data sciences) พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งปัญญาประดิษฐ์เป็นหนึ่งแขนงในนั้นที่มีผลอย่างมากต่อวิถีชีวิตของคนในปัจจุบัน

                การที่ AI ทำให้เครื่องจักรเริ่มมีทักษะการรู้คิดเช่นเดียวกับมนุษย์ แปลว่างานบางอย่างที่เคยมีแต่มนุษย์เท่านั้นที่ทำได้ ปัจจุบันเครื่องจักรก็สามารถทำแทนมนุษย์ได้แล้ว และยิ่ง AI พัฒนาไปมากขึ้นเรื่อยๆ เนื้องานที่จำเป็นต้องใช้มนุษย์เท่านั้นก็จะมีจำนวนที่ลดลงเรื่อยๆจากการที่เครื่องจักรสามารถทำแทนได้ (Task automation) แบบนี้แปลว่าสุดท้ายแรงงานทุกคนจะตกงานอย่างงั้นหรือ? หรือไม่ก็ค่าจ้างแรงงานจะถูกลงเพราะไม่มีใครต้องการใช่หรือไม่?

                คำตอบคือไม่ใช่ครับ ถ้าเราดูย้อนไปในอดีต การที่แรงงานถูกแทนด้วยเครื่องจักรไม่ใช่เรื่องใหม่ มันมีมาตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ตั้งแต่เรามีพวกเครื่องทุนแรง หัวจักรพลังไอน้ำ ซึ่งผ่านมาหลายทศวรรตแล้วแรงงานก็ยังมีความจำเป็นอยู่ตลอดมา โดยที่ส่วนแบ่งรายได้ของแรงงานที่ผ่านมาก็ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด ถ้าเราพิจารณาหลักฐานงานวิจัยต่างๆ เราจะพบว่าเนื้องานที่ใช้แรงงานจะมีการปรับเปลี่ยนตัวเองไปตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปในทุกยุคทุกสมัย และในการผลิตใด ๆ ก็จะเป็นการประกอบกันของเนื้องานที่ใช้เครื่องจักรกับเนื้องานที่ใช้แรงงานคนเสมอ AI อาจจะลดจำนวนเนื้องานที่ใช้แรงงานคนได้เท่านั้นลง แต่มันก็แค่ก่อให้เกิดการปรับตัวของแรงงานให้ปรับทักษะตัวเองให้เข้ากับเนื้องานที่ยังต้องการคนทำเท่านั้นเอง ดังนั้นในยุคที่ AI เปลี่ยนแปลงโฉมหน้าเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว เป็นหน้าที่ของแรงงานทุกคนที่จะต้องพร้อมที่จะเรียนรู้ทักษะใหม่หรือยกระดับทักษะเดิม (Reskill/upskill) อย่างต่อเนื่องให้ทันยุคสมัยอยู่เสมอ เพื่อความอยู่รอดในยุคแห่งข้อมูลนี้ต่อไป

ที่มาของภาพข่าว : https://www.posttoday.com