เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ (อีกครั้ง) (ศ.ดร.พิริยะ)

ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์
ศาสตราจารย์ได้รับเงินเดือนขั้นสูง (ศาสตราจารย์ 11) และ
ผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)

www.econ.nida.ac.th; piriya@nida.ac.th

เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ (อีกครั้ง)

หลังจากที่ประชาชนในประเทศต่างๆ (รวมถึงประเทศไทย) เริ่มที่จะได้รับการฉีดวัคซีนไวรัสโควิด-19 กันแล้ว ภาคการท่องเที่ยวไทยเราก็เริ่มเห็น “แสงปลายอุโมงค์” กันแล้วจากการที่ล่าสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้มีการประชุมทางไกล (video conference) ร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยว 216 ราย เพื่อเตรียมความพร้อมช่วงเวลาการเปิดประเทศไทยในรูปแบบต่างๆ เพื่อเตรียมพร้อมเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ตั้งแต่เดือนเมษายน-พฤษภาคมนี้เป็นต้นไป โดยจะดำเนินการในจังหวัดนำร่อง 5 จังหวัดได้แก่ เชียงใหม่ ภูเก็ต กระบี่ ชลบุรีในพื้นที่พัทยา และสุราษฎร์ธานีใน 3 เกาะ คือเกาะสมุย, เกาะเต่า, และเกาะพะงัน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่นักท่องเที่ยวต่างประเทศนิยมเข้ามาท่องเที่ยวและพักอาศัยในลักษณะของ Long Stay ตั้งแต่ 1-3 เดือน

สำหรับการเปิดประเทศที่จะเริ่มดังกล่าวจะให้นักท่องเที่ยวเข้ามาพักในประเทศไทยช่วง 14 วันแรก ในรูปแบบที่เรียกว่า “แอเรีย โฮเทล ควอรันทีน” (Area Hotel Quarantine หรือ AQH) โดยจะให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศจะต้องกักตัวในโรงแรม 3 วันแรกก่อน และในวันที่ 3 จะมีการสวอปเพื่อตรวจหาเชื้อโควิด-19 ถ้าไม่มีการติดเชื้อให้ออกมาพักผ่อนในบริเวณโรงแรมได้ จากนั้นในวันที่ 9 และวันที่ 13 จะมีการตรวจหาเชื้อเป็นช่วงๆ ไปและหลังจากตรวจหาเชื้อในวันที่ 15 และผลออกมาไม่มีการติดเชื้อโควิด-19 ก็สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวจังหวัดต่างๆ ได้ทั่วประเทศได้

ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวจะเป็นการดำเนินการภายใต้ความร่วมมือกับกระทรวงคมนาคมที่ทำหน้าที่ดูเรื่องตารางการบินการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ และกับกระทรวงสาธารณสุขต้องทำหน้าที่ตรวจเชื้อและดูแลความปลอดภัย ในขณะที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะประสานกับ 29 สำนักงานของ ททท. ในต่างประเทศและบริษัททัวร์ในการนำนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเข้ามาประเทศไทย

ซึ่งแน่นอนว่า ถ้าสามารถทำได้จริง การดำเนินการดังกล่าวนี้น่าจะช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวในจังหวัดหลักๆ เหล่านั้นได้ และยังเป็นการช่วยบรรเทาการล้มละลายของธุรกิจการท่องเที่ยวที่ผูกยึดรายได้และผลกำไรจากนักท่องเที่ยวทั้งภายในและภายนอกประเทศเป็นหลัก

อย่างไรก็ดี ภายใต้การจัดการที่จะเป็นในยุคปกติใหม่นี้  ภาคการท่องเที่ยวจะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวให้รู้สึก “ปลอดภัย” จากการติดเชื้อ เช่น ระบบทำความสะอาดและทำลายเชื้อของสถานบริการท่องเที่ยว มีบริการอบฆ่าเชื้อห้องและสถานที่ให้บริการ และระบบทำลายเชื้อที่อาจติดมากับธนบัตร ภาชนะที่ลูกค้าใช้ เป็นต้น ล่าสุด ภายใต้มาตรการด้านสุขอนามัย Amazing Thailand Safety& Health Administration (SHA) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการควบคุมโรค ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างประเทศได้รับประสบการณ์ที่ดี มีความมั่นใจในความปลอดภัยด้านสุขอนามัยของสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวของประเทศไทย โดยนำมาตรการความปลอดภัยด้านสาธารณสุขมาผนวกกับมาตรฐานการให้บริการที่มีคุณภาพ

ซึ่งแน่นอนว่า การท่องเที่ยวภายใต้ความปกติใหม่นี้อยู่นสถานการณ์ที่ “ไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติ” เพราะจะต้องเป็นการบริหารภายใต้การรักษาสมดุลระหว่าง “สุขภาพ” กับ “เศรษฐกิจ” และจะต้องเป็นการบริหารที่จะต้องคำนึงถึงผลกระทบใน 3 ด้านดังนี้

  • ด้านอุปทาน –ในด้านของอุปทาน (Tourism Supply) ผู้ประกอบการที่ยินดีให้บริการกับนักท่องเที่ยวในกลุ่ม AHQ นี้จะต้องแบบรับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการที่จะต้องรักษามาตรการความปลอดภัยด้านสาธารณสุข ประกอบกับการรับเป็นจำนวนไม่มากในช่วงแรกๆ จะยังคงส่งผลให้ผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการภายใต้ต้นทุนต่อหน่วย (Average Cost) ที่ค่อนข้างสูง เพราะการที่นักท่องเที่ยวจะต้องจ่ายในราคาที่สูงขึ้น (จากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น) นี้จึงอาจทำให้ผู้ประกอบการไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากนักในช่วงแรกๆ จึงอาจทำให้ผู้ประกอบการอาจไม่ได้รับรายได้คุ้มค่ากับต้นทุน (ที่สูงขึ้น) ที่เสียไป แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการท่องเที่ยวในลักษณะนี้จะมีแนวโน้มเข้าไปสู่การท่องเที่ยวในเชิงการท่องเที่ยวมูลค่าสูง (High-Value Tourism) เป็นหลัก ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับว่า ผู้ประกอบการจะจัดหา “กิจกรรม” อะไรให้นักท่องเที่ยวทำในช่วงที่มีการกักตัวในโรงแรมดังกล่าว

เมื่อวิเคราะห์ตามหลักการทางเศรษฐศาสตร์แล้ว ถ้าวิเคราะห์ในด้านอุปทานของการท่องเที่ยว (Tourism Supply) ต้นทุนส่วนบุคคล (Private Cost) ที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการจากการที่จะต้องรักษามาตรการความปลอดภัยด้านสาธารณสุขนี้จะส่งผลทำให้เกิด “ความไม่เท่าเทียมกัน” ในการที่ผู้ประกอบการรายเล็กจะสามารถปรับตัวได้ อันส่งผลทำให้ผู้ประกอบการที่ไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นได้นั้นอาจจะต้องมีการล้มหายตายจากไป รวมไปถึงแรงงานที่จะได้รับผลกระทบตามมา

ซึ่ง ณ วันนี้ เรายังไม่ได้คำตอบที่แน่ชัดว่า ผู้ประกอบการที่ไม่สามารถปรับตัวได้นั้นจะเป็นผู้ประกอบการในลักษณะไหน ดังนั้น ผู้ประกอบการไหนที่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ อาจจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์การทำธุรกิจใหม่ๆ นอกเหนือจากการใช้มาตรการทางทางการตลาดโดยทั่วไป แต่อาจจะไปถึงการทำสัญญาการเช่าซื้อระยะยาว (Long-Term Contract), การควบรวมกิจการกับผู้ประกอบการรายใหญ่ๆ (Merger), การเช่าซื้อกิจการ (Acquisition) หรือการขายทอดไปสู่กลุ่มนายทุนขนาดใหญ่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่ทั้งนี้ ในการที่จะตัดสินใจดำเนินกลยุทธ์อย่างไรนั้นยังจำเป็นที่ผู้ประกอบการจะต้องสามารถเข้าใจถึงการตลาดของการท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย

  • ด้านอุปสงค์ – ในส่วนของอุปสงค์การท่องเที่ยว (Tourism Demand) ในตัวนักท่องเที่ยวก็จำต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นจากต้นทุนของผู้ประกอบการที่สูงขึ้น นอกจากนี้ การมีมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) อย่างเช่นการที่จะต้องกักตัวอยู่ในโรงแรม และการที่จะต้องมีการตรวจคัดกรองเชื้ออยู่บ่อยครั้งเองก็อาจส่งผลต่อความพึงพอใจของนักท่องเที่ยว (Tourist’s Satisfaction) ลดลงในการเข้ามาท่องเที่ยวในลักษณะนี้ เพราะโดยธรรมชาติของการท่องเที่ยวแล้ว นักท่องเที่ยวย่อมต้องการมีปฏิสัมพันธ์กับสถานที่ท่องเที่ยวนั้นๆ ในเชิงลึก ดังนั้นการเข้ามาของนักท่องเที่ยวในลักษณะของ Area Hotel Quarantine ซี่งจำเป็นต้องถูกกำหนดให้ต้องมีการกักตัว การถูกจำกัดในพื้นที่ที่สามารถท่องเที่ยวได้ การไม่สามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวแบบอิสระ รวมไปถึงการรักษาระยะห่างและการป้องกันที่มากเกินควรอาจส่งผลทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกถึงความ “ไม่คุ้มค่า” และ “ไม่พึงพอใจ” จากการมาท่องเที่ยวในประเทศไทย ถึงแม้ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวที่ปลอดภัยก็ตาม

ในอีกทางเลือกหนึ่ง นักท่องเที่ยวอำจำนวนหนึ่งอาจจะมีความสนใจเดินทางเข้ามาเที่ยวในลักษณะของการพำนักในระยะยาวโดยมีสาเหตุที่หลากหลาย เช่นการชื่นชอบในสถานที่ท่องเที่ยวของไทยและต้องการพักอาศัยในระยะยาว, การเข้ามาพำนักเพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศของคน, หรือการให้การสนใจในการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (เช่นโรงแรมและห้องพักในลักษณะของการเช่าซื้อ) ซึ่งในการเข้ามาของนักท่องเที่ยวในลักษณะนี้ยังเป็นอีกแนวทางหนึ่งของการปรับเปลี่ยนในตัวของนักท่องเที่ยวในยุคความปกติใหม่นี้ด้วยเช่นกัน

  • ด้านชุมชน – ถึงแม้ว่าจะมีการนำร่องในพื้นที่เพียง 5 จังหวัดซึ่ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนในพื้นที่จะยินดีเปิดรับนักท่องเที่ยวเหล่านั้น โดยแน่นอนว่าคนในพื้นที่อาจจะยังคงมีความเกรงกลัวในการที่นักท่องเที่ยวอาจจะเป็นพาหะในการนำเชื้อไวรัสมาติดกับคนในพื้นที่ และถ้าจะร้ายที่สุดก็อาจนำมาสู่การแพร่ระบาดในระลอกสองหรือสาม (Second Wave) ก็เป็นได้ได้ ทั้งนี้ ในหลักการทางเศรษฐศาสตร์นั้น การแพร่ระบาดในระลอกสองนี้จะเปรียบเสมือนกับการเกิดต้นทุนทางสังคม (Social Cost) ที่ผู้กำหนดนโยบายจำเป็นต้องนำมาคิดคำนึงถึง

ในทางหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว ในการที่จะให้ชุมชนยอมรับต่อการเข้ามาของนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศนั้น จะต้องเข้าใจถึง “ทัศนคติในการแบกรับความเสี่ยง (Attitude toward Risk)” ของคนในพื้นที่ รวมไปถึงการที่คนในพื้นที่จะต้องได้รับ “การชดเชยความเสี่ยง (Risk Compensation)” ที่จะต้องเผชิญกับการระบาดระลอกสองจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่นงานศึกษาของ Qiu และคณะ (2020) ได้ศึกษาถึงการยอมรับความเสี่ยงของคนในสามเมืองใหญ่ของประเทศจีน จากการใช้แบบจำลอง Willingness to Pay พบว่า ถึงแม้ว่าการเปิดรับนักท่องเที่ยวจะเป็นสิ่งจำเป็นก็ตาม แต่ภาครัฐก็ควรนำประเด็นในด้านการที่ชุมชนต้องแบกรับความเสี่ยงนี้เข้าพิจารณาด้วย

ด้วยหลักการและเหตุผลดังกล่าวจะเห็นได้ว่า “ผู้เล่น” แต่ละคนจะต้องเผชิญกับ “แรงจูงใจ” ที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น

  • ผู้ประกอบต้องการที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยว แต่อาจจะต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น แต่อาจจะไม่สามารถตั้งราคาได้สูงเนื่องจากต้องเผชิญกับการแข่งขัน และผู้ประกอบการหลายๆ รายอาจต้องประสบปัญหาขาดทุนและล้มละลายจากมาตรการนี้ และจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยน (Transform) การดำเนินธุรกิจใหม่เพื่อให้ตัวเองอยู่รอดในโลกธุรกิจที่มีการแข่งขัน

  • นักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้ามาท่องเที่ยวแบบโดยเสรี แต่จะต้องถูกกักตัวกักบริเวณ และอาจจะจะต้องจ่ายในราคาที่สูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลทำให้มีความพึงพอใจจากการท่องเที่ยวที่ลดลง

  • คนในพื้นที่ต้องประสบกับความท้าทายในการแบบรับความเสี่ยงของการแพร่ระบาดระลอกสองจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวในเข้ามาเที่ยวในพื้นที่ของตน แน่นอนว่าในการที่จะให้เกิดการยอมรับ/หรือเปิดรับมากขึ้นจึงจำเป็นที่คนในพื้นที่จะต้องได้รับ “การชดเชย” ต่อการที่จะต้องแบกรับกับความเสี่ยงดังกล่าว

ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นปัญหาทางเศรษฐศาสตร์ที่จะต้องหาสาเหตุและแนวทางในการจัดการภายใต้การดำเนินการเปิดรับนักท่องเที่ยวนี้ และจำเป็นที่จะต้องพิจารณาให้รอบด้านประกอบกันไป

ที่มีภาพถ่าย : https://www.posttoday.com