รองศาสตราจารย์ ดร.ปริยดา สุขเจริญสิน
ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)
www.econ.nida.ac.th
ภาษีสุดท้าย ควรเป็นทางเลือกสุดท้าย
กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศว่า ประเทศไทยได้สิ้นสุดฤดูหนาวและเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการแล้วในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งนอกเหนือจากเรื่องดินฟ้าอากาศแล้ว ช่วงนี้ก็เป็นทั้งฤดูกาลยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี และฤดูกาลรับเงินปันผลอีกด้วย เลยทำให้นึกถึงเรื่องเครดิตภาษีเงินปันผลขึ้นมาว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เมื่อนักลงทุนได้รับเงินปันผลที่จัดสรรจากผลกำไรของบริษัท เงินปันผลที่ได้จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 10% โดยเป็นที่ทราบกันว่า นักลงทุนไม่ว่าจะสวยหรือไม่สวย ก็สามารถเลือกได้ ว่าไม่ต้องนําเงินปันผลที่ได้รับนี้ มารวมคำนวณเป็นเงินได้ตอนสิ้นปีก็ได้ นั่นคือ ภาษีหัก ณ ที่จ่ายจากเงินปันผลเหล่านั้นเป็นภาษีสุดท้ายแล้ว (final tax) หรือ ถ้าจะเลือกนําเงินปันผลมารวมเป็นเงินได้ในการคำนวณและเสียภาษีตามอัตราก้าวหน้าตอนสิ้นปีก็ได้ ซึ่งโดยทั่ว
ไปมักจะเลือกภาษีสุดท้ายให้เป็นทางเลือกแรก คือไม่นำเงินปันผลมารวมคำนวณในเงินได้ เพื่อตัดความยุ่งยาก หรือสำหรับนักลงทุนที่มีฐานภาษีตั้งแต่ 10% ขึ้นไป ก็อาจจะเลือกภาษีสุดท้ายอยู่ดี เนื่องจากเห็นว่าเมื่อนำมาคำนวณแล้ว ก็ต้องเสียภาษีเท่ากับหรือมากกว่า 10% ซึ่งโดนหัก ณ ที่จ่ายไป
แต่แท้จริงแล้ว มีเบื้องลึกที่มากกว่าการพิจารณาแค่การถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% นั้น นั่นคือ เครดิตภาษีเงินปันผล ซึ่งถือว่าเป็นสิทธิประโยชน์ที่สำคัญของนักลงทุนเลยทีเดียว โดยนักลงทุนสามารถขอคืนภาษีจากกรมสรรพากรได้ ตามที่ประมวลรัษฎากรได้กำหนดเรื่องนี้ไว้ เพื่อขจัดความซ้ำซ้อนในการจัดเก็บภาษีเงินได้ (double taxation) เพราะว่าบริษัทจะมีการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรในแต่ละปี ก่อนที่จะนำกำไรสุทธิมาจัดสรรเป็นเงินปันผลที่จ่ายให้กับผู้ถือหุ้น ซึ่งในการจ่ายเงินปันผลนั้นจะมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายอีก จึงเห็นได้ว่านักลงทุนซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท หรือเปรียบได้เป็นเจ้าของบริษัท เจอกับการเสียซ้ำเสียซ้อน โดยมีการเสียทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรของบริษัท และภาษีหัก ณ ที่จ่ายของเงินปันผลในส่วนของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีก จึงเป็นความซ้ำซ้อนที่เกิดขึ้น ทำให้มีกฎหมายกำหนดให้นักลงทุนสามารถขอเครดิตภาษีเงินปันผลคืนได้
ในการเลือกว่านักลงทุนควรจะนำเงินปันผลมารวมเป็นเงินได้ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่ จึงไม่ใช่การพิจารณาจากฐานภาษีของนักลงทุน เทียบกับอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายของเงินปันผล 10% นั้น ซึ่งจะทำให้เสียประโยชน์ได้ แต่ต้องคำนึงถึงภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทที่จ่ายเงินปันผลมา เช่น หากบริษัทกำไร 100 บาท จ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลที่อัตรา 20% เท่ากับ 20 บาท จึงเหลือกำไรสุทธิ 80 บาท มาจ่ายเป็นเงินปันผล ซึ่งเงินปันผลนี้จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% นั่นคือ หักไปอีก 8 บาท โดยรวมแล้ว จึงมีการเสียภาษีทั้งสิ้น 20 บาทในนามนิติบุคคล บวก 8 บาทในนามบุคคลธรรมดาที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไป จึงรวมเท่ากับ 28 บาท หรือ 28% ของกำไรนั่นเอง ซึ่งนักลงทุนควรทำการเปรียบเทียบอัตราที่คำนวณได้นี้กับอัตราภาษีตามฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของนักลงทุนเอง หากฐานภาษีน้อยกว่า 28% เช่น หากฐานภาษีอยู่ที่ 20% ก็ควรนำเงินปันผลมารวม เพราะมีส่วนที่เป็นเครดิตภาษีเงินปันผลที่ขอคืนได้ จากการที่เงินปันผลนี้ควรที่จะเสียภาษีตามฐานเงินได้ที่ 20% แต่จ่ายไปแล้ว 28% เป็นต้น แต่หากนักลงทุนมีฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่ที่ 30% ขึ้นไป ซึ่งมากกว่า 28% ก็ไม่ควรขอเครดิตภาษีเงินปันผลคืน ซึ่งสามารถทำได้เนื่องจากเป็นทางเลือกในการพิจารณาให้ภาษีที่หัก ณ ที่จ่ายจากเงินปันผลนั้นเป็นภาษีสุดท้าย ไม่ต้องนำเงินปันผลมารวมคำนวณเป็นเงินได้ก็ได้
แต่เนื่องจากแต่ละบริษัทอาจมีการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราที่ไม่เท่ากัน ในการเปรียบเทียบเพื่อการตัดสินใจว่าจะเลือกนำเงินปันผลมารวมคำนวณเพื่อเครดิตภาษีเงินปันผลหรือไม่ จึงต้องขึ้นอยู่กับว่าบริษัทที่จ่ายเงินปันผลนั้น เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราเท่าใด ซึ่งจะระบุชัดเจนอยู่ในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย อย่างไรก็ตาม บางบริษัทอาจไม่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เช่น ได้รับการยกเว้นเพราะเป็นกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน เป็นต้น ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ นักลงทุนจะไม่สามารถใช้เครดิตภาษีเงินปันผลได้
ในการคำนวณเครดิตภาษีเงินปันผลนั้นดูยุ่งยาก จึงทำให้นักลงทุนบางส่วนเลือกตั้งแต่แรกที่จะไม่นำเงินปันผลมารวมคำนวณเป็นเงินได้ แต่จริง ๆ แล้ว นักลงทุนไม่จำเป็นต้องทำการคำนวณเครดิตภาษีเงินปันผลเอง เพราะมีช่องทางที่อำนวยความสะดวกให้สามารถเข้าไปดูข้อมูลจาก Investor Portal ที่จัดทำโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ ซึ่งจะมีข้อมูลทั้งหมดว่า เงินปันผลที่ได้รับมา ถูกภาษีหัก ณ ที่จ่ายไปเท่าใด และแสดงเครดิตภาษีเงินปันผล จึงช่วยให้นักลงทุนสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปลองคำนวณกรณีที่นำเงินปันผลมารวมเป็นเงินได้ เทียบกับกรณีที่ไม่นำเงินปันผลมารวม ว่าแบบไหนที่ให้ประโยชน์กับนักลงทุนมากกว่าในแง่ของการประหยัดภาษี คือเสียภาษีน้อยลง หรือขอคืนภาษีได้มากกว่า จึงควรพิจารณาให้ภาษีสุดท้ายนั้นเป็นทางเลือกสุดท้ายของนักลงทุน คือเมื่อไม่สามารถได้ประโยชน์จากเครดิตภาษีเงินปันผล ไม่ใช่ตัดสินใจเลือกให้เป็นภาษีสุดท้ายแต่แรกแล้วมาเสียดายภายหลัง
แต่พึงระวังไว้ว่า นักลงทุนไม่สามารถที่จะเลือกเฉพาะแค่เงินปันผลของเพียงบางบริษัทมาคำนวณเป็นเงินได้ ดังนั้น หากเลือกที่จะนําเงินปันผลมารวมคำนวณแล้ว ต้องนําเงินปันผลที่ได้รับทั้งหมดจากทุกบริษัท ไม่ว่าจะเป็นเงินปันผลประจำปี เงินปันผลระหว่างกาลหรือเงินปันผลพิเศษที่จ่ายงวดใดก็ตามในปีนั้น ก็ต้องนำมารวม อีกทั้งยังลามไปถึงเงินปันผลที่ได้รับจากการลงทุนในกองทุนรวมด้วย ซึ่งในส่วนของเงินปันผลที่ได้รับจากกองทุนรวมนั้น แม้จะมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่จะไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ในส่วนเครดิตภาษีเงินปันผลได้
แม้ว่าปีนี้ ทางสรรพากรได้พิจารณาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จึงได้ขยายเวลาการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2563 ออกไปถึง 30 มิถุนายน 2564 เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้กับประชาชน แต่การขยายเวลานี้ไม่รวมการยื่นแบบกระดาษ ให้เฉพาะสำหรับการยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ตเท่านั้น เพื่อสนับสนุนการทำธุรกรรมภาษีที่บ้าน (tax from home) และการเว้นระยะห่างทางสังคม ปีนี้เลยทำให้เรื่องภาษีไม่ใช่เรื่องที่ต้องเร่งรีบยื่นแบบในไตรมาสแรกของปี รอยื่นท้ายๆ จะได้ยืดระยะเวลาการชำระภาษีออกไป เพราะอาจจะมีส่วนที่ต้องชำระเพิ่มเติม อย่างไรก็ดี ถ้านักลงทุนจะใช้สิทธิขอคืนภาษี ชีวิตจะกลับข้าง การยื่นเร็วจะเป็นการเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน เพราะจะได้เงินภาษีคืนกลับมาเร็วๆ แต่ก่อนจะยื่นภาษี ให้ตรวจสอบรายการรายได้ ค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนต่างๆ อย่าให้ตกหล่น คำนวณให้รอบคอบ เก็บหลักฐานต่างๆ ให้ครบถ้วน ซึ่งรวมถึงกรณีเครดิตภาษีเงินปันผล ที่ต้องมีหนังสือรับรองหักภาษี ณ ที่จ่าย เพื่อเป็นหลักฐานเผื่อให้สรรพากรตรวจสอบอีกด้วย
ที่มาภาพข่าว : https://www.posttoday.com