บทเรียนจากโควิด-19 ต่อการปรับโครงสร้างตลาดแรงงาน (ศ.ดร.พิริยะ)

ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์
ศาสตราจารย์ได้รับเงินเดือนขั้นสูง (ศาสตราจารย์ 11)
และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)
www.econ.nida.ac.th; piriya@nida.ac.th

บทเรียนจากโควิด-19 ต่อการปรับโครงสร้างตลาดแรงงาน

การประกาศล็อกดาวน์เพื่อรักษาระยะห่างทางสังคมตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมปีที่แล้วจนมาเริ่มผ่อนคลายการล็อกดาวน์ในเดือนมิถุนายนได้ส่งผลต่อปัญหาการว่างงานอย่างมหาศาล โดยเฉพาะต่อตลาดแรงงานในประเทศ จากรายงานของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) พบว่า ในช่วงเวลาแค่การล็อกดาวน์ดังกล่าวได้ส่งผลให้อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) ของประเทศไทยได้ปรับสูงขึ้นเป็นร้อยละ 2 (จากประมาณร้อยละ 1 ในปีก่อนหน้านี้) หรือส่งผลให้เกิดจำนวนคนตกงานเซ่นพิษโควิด-19 นี้ถึงประมาณ 8.4 ล้านคน โดยในจำนวนนี้สามารถแบ่งเป็น

(1) แรงงานในภาคการท่องเที่ยวซึ่งมีประมาณ 3.9 ล้านคน (ไม่รวมสาขาการค้าส่งและการค้าปลีก) จะได้รับผลกระทบจากการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติและการท่องเที่ยวในประเทศประมาณ 2.5 ล้านคน

(2) แรงงานในภาคอุตสาหกรรมซึ่งได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าตั้งแต่ก่อนโควิด-19 ระบาดและต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน จากการลดลงของอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ แรงงานในภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด 5.9 ล้านคน คาดว่ามีผู้ได้รับผลกระทบ 1.5 ล้านคน

(3) การจ้างงานในภาคบริการอื่นที่ไม่ใช่การท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด เช่น การปิดสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งมีการจ้างงานจำนวน 10.3 ล้านคน คาดว่าจะมีแรงงานได้รับผลกระทบประมาณ 4.4 ล้านคน นอกจากนี้ยังไม่รวมเด็กจบใหม่จากสถาบันอุดมศึกษาอีกประมาณ 5.2 แสนคนที่มีความเสี่ยงจากการตกงาน

ADVERTISEMENT

ถึงแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา เราจะได้ยินข่าวดีออกมาบ้างในเรื่องของ “วัคซีน” ซึ่งเป็นความหวังต่อเราๆ ทุกคนว่า วิกฤตการณ์ไวรัสโควิด-19 นี้น่าจะหมดไปในไม่ช้า แต่อย่างไรก็ดี จากที่นักวิชาการหลายคนได้กล่าวไว้ การเกิดขึ้นของโควิด-19 นี้เปรียบเสมือนกับ “การเป็นตัวเร่ง” ให้เห็นถึง “ปัญหาเดิม” ของเศรษฐกิจและสังคมไทยให้เห็นออกมาได้ชัดมากยิ่งขึ้น และต่อให้โควิด-19 จะหมดไป ปัญหาเหล่านี้ก็คงจะสร้าง “แผลเป็น” ที่สะท้อนถึงปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไปอีกนาน จึงจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องมีการเรียนรู้ และเลือกดำเนินการในการ “ปรับโครงสร้าง” เศรษฐกิจและสังคมในหลายๆ ด้าน

เมื่อมองในมิติของตลาดแรงงานเองก็เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า สถานการณ์โควิดนี้ก็ได้สร้างแผลเป็นให้เห็นในตลาดแรงงานไทยในหลายๆ ด้าน และจำเป็นที่ตลาดแรงงานจะต้องเรียนรู้ในบทเรียนนี้และจำเป็นต้องเกิดการ “ปรับโครงสร้าง” ขนาดใหญ่ เพื่อให้เกิดความพร้อมสำหรับเศรษฐกิจในหลังยุคโควิดนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งบทเรียนที่เราพบสามารถสรุปได้ดังนี้

บทเรียนแรก – โควิด-19 แสดงให้เห็นถึงระบบการศึกษายังไม่สามารถผลิตคนให้มีทักษะที่หลากหลายและพร้อมในการปรับตัวได้

วิกฤตโควิดในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า คนที่สามารถเอาตัวรอดจากวิกฤตได้ก็คือ “คนที่มีความสามารถในการปรับตัว มีความยืดหยุ่น และพร้อมที่จะเรียนรู้และประกอบอาชีพเสริมใหม่ๆ เมื่อการดำรงชีพ” ดังจะเห็นได้จากการที่แรงงานกลุ่มหนึ่งจำเป็นต้องเปลี่ยนอาชีพ (ชั่วคราว) ที่จากเดิมอาจจะเป็นกัปตันขับเครื่องบินหรือเป็นแอร์โฮสเต็จมาเป็นคนขับรถส่งอาหารหรือมาเป็นพ่อค้า/แม่ค้าออนไลน์ คุณครูเองก็ต้องปรับทักษะที่จากเดิมจะต้องสอนและบรรยายเพียงหน้าชั้นเรียนมาเป็นการสอนหน้าคอมพิวเตอร์หรือแล็บท็อปแทน แต่ทว่าการว่างงานที่เกิดขึ้นในยุคโควิด-19 นี้สะท้อนแผลเป็นข้อหนึ่งของสถาบันการศึกษาก็คือ ระบบการศึกษายังผลิตบัณฑิตที่มีทักษะใดทักษะหนึ่งเฉพาะเท่านั้น และไม่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน สอดคล้องกับการพยากรณ์ของ World Economic Forum ที่ได้ระบุว่า ทักษะแรงงานที่จำเป็นสำหรับโลกอนาคต นั้นจะเป็นต้องประกอบไปด้วยทักษะที่จะต้องสามารถแก้ไขปัญหาเชิงซับซ้อน ทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะความคิดสร้างสรรค์ ทักษะการจัดการบุคคล ทักษะในการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ และทักษะการทำงานร่วมกัน เป็นต้น ดังนั้นคงเป็นความท้าทายของสถาบันการศึกษา (ทั้งในระดับโรงเรียนและระดับรั้วมหาวิทยาลัย) ที่จะต้องคิดและเริ่มดำเนินการอย่างจริงจังในการเตรียมความพร้อมคนก่อนที่จะออกมาสู่ตลาดแรงงาน วิกฤตการณ์โควิดแสดงให้เห็นแล้วว่า การเรียนการสอนเพียงหลักวิชาการเพื่อเข้าห้องสอบตามปกติ แต่ปราศจากซึ่งการเรียนการสอนเพื่อให้สามารถทำงานได้จริงนั้น เป็นสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ ตรงกันข้ามมันกลับเป็นการสร้างความเสี่ยงให้กับแรงงานกลุ่มนี้ที่จะมีโอกาสในการตกงานในอนาคตได้ การเรียนในลักษณะของ STEM-Based, การเรียนที่เอื้อไปสู่ระบบสหกิจศึกษา, และการสร้างทักษะในการเป็นคนที่จะรักการเรียนรู้ตลอดชีวิตจึงมีส่วนสำคัญที่จะทำให้บัณฑิตที่จบมาใหม่นั้นจะมีทักษะที่จะเรียนรู้และเก่งในการปรับตัวมากยิ่งขึ้น

บทเรียนที่สอง – โควิด-19 แสดงให้เห็นถึงการยังไม่มีระบบการรองรับแรงงานที่ตกงานได้ดีพอ

ปัญหาโควิด-19 ส่งผลให้เกิดแรงงานที่ต้องว่างงานอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากการช่วยเหลือทางด้านการเงินทั้งเงินให้เปล่า หรือเงินที่จะได้รับผ่านระบบประกันการว่างงานแล้ว เรายังไม่เห็นนโยบายด้านแรงงานที่ชัดเจนว่าจะสามารถช่วยเหลือแรงงานเหล่านั้นเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างไร ยกตัวอย่างเช่นแรงงานในภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบ โดยแรงงานจำนวนหนึ่งได้เดินทางกลับบ้านเกิดของตน ไม่ได้มีงานใหม่ๆ ทำ และยังคงรอคอยวันที่เราจะเปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง แต่ทว่าภาครัฐเองก็ยังไม่ได้มีนโยบายอะไรแน่ชัดที่จะหาวิธีการในการรองรับแรงงานที่ต้องตกงานในสาขาดังกล่าว ถึงแม้ว่าภาครัฐบางส่วนได้ดำเนินการออกนโยบาย “การจ้างงานแบบชั่วคราว” (Temporary Work Program) หรือการจ้างงานสาธารณะ (Public Work Program) ออกมาบ้าง ยกตัวอย่างเช่น โครงการจ้างงานหนึ่งตำบลหนึ่งมหาวิทยาลัยของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.), หรือโครงการอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่นเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงของกระทรวงมหาดไทยก็ตาม แต่โครงการดังกล่าวก็ยังเป็นการทำในระบบราชการที่ยังมีการดำเนินการที่ล่าช้าในระบบราชการ, ไม่มีประสิทธิภาพ, มีข้อจำกัดมากมาย, เกิดการทับซ้อนกับหน่วยงานที่ทำงานอยู่แล้ว, และไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดผลสัมฤทธิ์ได้จริง นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังเป็นการจัดทำในมุมมองของผู้จ้าง (ซึ่งก็คือหน่วยงานของภาครัฐหรือหน่วยราชการท้องถิ่น) เป็นหลัก ไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานตามทักษะของแรงงานนั้นจริง

บทเรียนที่สาม –โควิด-19 แสดงให้เห็นถึงระบบการฝึกอบรมของประเทศที่ยังไม่ทันสมัยและทั่วถึง

สถานการณ์โควิด-19 นี้ได้สะท้อนออกมาให้เห็นว่า หลักสูตรการฝึกอบรมสาธารณะ (Public Training Program) ที่จัดโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ยังเป็นหลักสูตรที่ไม่ทันสมัย ในขณะที่หลักสูตรที่เป็นที่ต้องการกับโลกหลังยุคโควิด เช่นหลักสูตร Digital Marketing, Social Media Marketing, การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ การใช้ซอร์ฟแวร์ที่จำเป็นในการวางแผนธุรกิจ, หรือหลักสูตรการสร้างผู้ประกอบการต่าง ๆ ล้วนเป็นหลักสูตรที่มีความจำเป็นและเป็นที่ต้องการสำหรับผู้เข้าร่วมฝึกอบรมทั้งสิ้น แต่เนื่องจากหลักสูตรเหล่านี้ยังไม่ได้รับความสนใจที่จะจัดโดยภาครัฐมากเท่าที่ควร จึงเป็นช่องว่างให้ภาคเอกชนสามารถเข้ามาเก็บเกี่ยวโอกาสทางการตลาดได้โดยง่าย จึงทำให้การฝึกอบรมในหลักสูตรเหล่านี้มีค่าใช้จ่ายสูงและไม่สามารถเข้าถึงได้กับทุกคน นอกจากนั้น ในฐานะของนายจ้างหรือบริษัทห้างร้านทั่วไปเองก็ไม่ได้ให้ความสำคัญในการฝึกอบรมแก่บุคลากรของตนมากเท่าที่ควรจึงทำให้แรงงานในประเทศไม่สามารถเข้าถึงระบบการ Reskill/Upskill ได้มากเท่าที่ควร ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐอย่างกรมพัฒนาฝีมือแรงงานควรที่จะต้องมีการปรับหลักสูตรให้ทันสมัย โดยเน้นในด้านการใช้ประโยชน์จากดิจิทัลให้มากยิ่งขึ้นเพื่อที่จะทำให้คนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงและสามารถเข้ารับการพัฒนาทักษะสมัยใหม่เหล่านี้ได้โดยไม่ต้องมีภาระค่าใช้จ่าย

บทเรียนที่สี่ – โควิด-19 แสดงให้เห็นถึงความไม่พร้อมของแรงงานกลุ่มรองและแนวทางในการพัฒนาแรงงานทั้งระบบ

โควิด-19 ส่งผลกระทบมากที่สุดกับแรงงานกลุ่มล่างที่มีรายได้น้อย, แรงงานที่ไม่มีรายได้ประจำหาเช้ากินค่ำ, และแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้มีสวัสดิการอะไรรองรับ โดยเมื่อเราพูดถึงการพัฒนาตลาดแรงงานทั้งระบบแล้ว สิ่งที่ไม่ควรลืมก็คือ การนำแรงงานกลุ่มรองเหล่านี้ (Secondary Workers) เข้ามาสู่กระบวนการของการพัฒนาด้วย โดยแรงงานกลุ่มรองในที่นี้นอกจากจะรวมไปถึงแรงงานที่อาจต้องประสบปัญหาการตกงาน (หรืออาจได้รับค่าจ้างที่ลดลง) จากโควิด-19 แล้ว ยังรวมไปถึงแรงงานที่ขาดโอกาสต่าง ๆ เช่น แรงงานผู้สูงอายุ แรงงานเด็ก (ที่ต้องออกจากระบบการศึกษา) แรงงานคนพิการ เป็นต้น ภาครัฐควรสร้างระบบการพัฒนา Reskill/Upskill เข้าสู่แรงงานกลุ่มนี้อย่างทั่วถึง โดยทำการเชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษา เช่นระบบเครดิตแบงก์ที่เปิดโอกาสให้แรงงานกลุ่มนี้มาเข้ารับการเรียน/ฝึกอบรมในระบบอาชีวะศึกษาและเปิดโอกาสให้เก็บหน่วยกิตในการได้รับการเทียบวุฒิการศึกษาได้ เป็นต้น

ที่มาภาพข่าว : https://www.posttoday.com