ต้นทุนของการปิดสถานศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 (ผศ.ดร.ทัศนีย์)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทัศนีย์ สติมานนท์

ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)
www.econ.nida.ac.th; ttonganupong@gmail.com

 ต้นทุนของการปิดสถานศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19

เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ทำให้รัฐบาลของ 192 ประเทศทั่วโลกต้องสั่งปิดสถานศึกษา จากข้อมูลของยูนิเซฟ (UNICEF) และธนาคารโลก (World Bank) นั้นพบว่า การปิดสถานศึกษามีผลกับผู้อยู่ในวัยเรียนกว่าร้อยละ 90 คิดเป็นจำนวน 1.5 พันล้านคนทั่วโลก และมากกว่าหนึ่งในสามของคนกลุ่มนี้ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาทางไกลได้  โดยยูนิเซฟมีความกังวลเป็นอย่างสูงว่า การปิดสถานศึกษาจะขัดขวางการเรียนรู้และการพัฒนาทักษะอื่นที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 รวมถึงอาจทำให้เด็กในกลุ่มเปราะบางมีโอกาสแต่งงานก่อนวัยอันควร (child marriage) หรือเข้าสู่ตลาดแรงงานด้วย (child labor)

 

 

ความเจริญก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้หลายประเทศพยายามผลักดันให้เกิดการศึกษาทางไกลในช่วงการมีโรคระบาดนี้ อย่างไรก็ตาม ความพร้อมด้านกายภาพไม่ว่าจะเป็นสถานที่ที่เหมาะสมต่อการเรียนของเด็ก คอมพิวเตอร์ หรือการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต รวมทั้งความพร้อมของผู้ปกครองทั้งด้านเวลาและความสามารถในการช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กนั้น มีระดับความพร้อมที่แตกต่างกันสำหรับแต่ละครอบครัวทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากผลกระทบทางลบที่เด็กในครอบครัวยากจนได้รับนั้นมากกว่าผลกระทบที่เด็กในครอบครัวฐานะดีได้รับ

จากข้อมูลการสำรวจในประเทศเยอรมันพบว่า จำนวนชั่วโมงเรียนต่อวันเฉลี่ยของเด็กลดลงครึ่งหนึ่งเมื่อต้องเรียนทางไกลที่บ้าน ทำให้การเรียนรู้ของเด็กลดลง นอกจากนี้ การปิดสถานศึกษายังทำให้เด็กกลุ่มหนึ่งขาดโอกาสได้รับการดูแลด้านโภชนาการเนื่องจากครอบครัวไม่สามารถจัดหาอาหารที่เหมาะสมให้กับเด็กได้ โดยร้อยละของครัวเรือนกลุ่มนี้ในสหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกานั้นสูงถึง ร้อยละ 6.6, 5.5 และ 14.0 ตามลำดับ การปิดสถานศึกษาจึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อการสะสมทุนมนุษย์ของเด็กทั้งในเรื่องการศึกษาและสุขภาพ

เอกสารของธนาคารโลกที่คำนวณผลกระทบจากการปิดสถานศึกษา ทำให้การสะสมทุนมนุษย์ของคนวัยเรียนลดลง และส่งผลสืบเนื่องต่อรายได้ในอนาคต โดยใช้สมมติฐานต่าง ๆ เพื่อคำนวณรายได้ที่ประเทศจะสูญเสียในอนาคตกลับมาเป็นมูลค่าปัจจุบันซึ่งคิดเทียบกับรายได้ประชาชาติของประเทศ (GDP) พบว่า โดยเฉลี่ยแล้วแต่ละประเทศจะสูญเสียรายได้ในอนาคต เท่ากับ ร้อยละ 15 ของรายได้ประชาชาติ ด้วยต้นทุนการปิดสถานศึกษาที่สูงเช่นนี้ ยูนิเซฟจึงแนะนำให้มีการปิดสถานศึกษาเพียงกรณีที่ระดับการแพร่ระบาดของโรคที่สูงในท้องถิ่นนั้น ๆ หรือเมื่อระบบสาธารณสุขไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้แล้ว

หลายประเทศตระหนักถึงผลเสียของการปิดสถานศึกษาจึงได้พยายามแก้ปัญหา ซึ่งแม้จะใช้เงินเป็นจำนวนมากแต่จะทำให้ลดการสูญเสียรายได้ของประเทศในอนาคต อย่างไรก็ตามเนื่องจากรัฐมีงบประมาณที่จำกัด จึงควรเน้นให้ความช่วยเหลือกับเด็กในครอบครัวที่มีรายได้น้อย ตัวอย่างการลดผลกระทบของการปิดสถานศึกษา ได้แก่  การส่งเสริมให้มีการเรียนทางไกลซึ่งอาจเป็นการเรียนรู้เนื้อหาจากเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันของโรงเรียนหรือของหน่วยงานกลางของประเทศ และในบางประเทศได้มีการจัดส่งอาหารพร้อมทั้งสมุดแบบฝึกหัดให้กับเด็กเพื่อให้เด็กที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตยังคงสามารถเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ จากงานวิจัยในสหรัฐอเมริกาพบว่า การส่งข้อความเตือนผู้ปกครอง (reminder) เพื่อให้อ่านหนังสือให้เด็กฟัง รวมถึงการถามล่วงหน้าถึงจำนวนชั่วโมงที่ผู้ปกครองวางแผนการอ่านหนังสือให้เด็กฟัง (commitment device) ทำให้ผู้ปกครองอ่านหนังสือให้เด็กฟังเพิ่มขึ้นและทำให้คะแนนทดสอบของเด็กเพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ นักวิจัยบางท่านได้เสนอให้ครูใช้วิดีโอคอลเพื่อสื่อสารกับเด็กและผู้ปกครองซึ่งเป็นเสมือนการเยี่ยมบ้านนั่นเอง

สำหรับมาตรการที่สำคัญในระยะกลางและระยะยาวเพื่อลดต้นทุนของการปิดสถานศึกษาและลดความเหลื่อมล้ำได้แก่ เมื่อสามารถเปิดสถานศึกษาได้ตามปกติแล้ว ครูควรเอาใจใส่และให้ความช่วยเหลือกับเด็กที่ไม่สามารถเรียนทางไกลได้เป็นพิเศษโดยมีการทบทวนเนื้อหาที่สอนในช่วงปิดสถานศึกษาให้กับเด็กกลุ่มนี้โดยเฉพาะ รวมทั้งรัฐควรตระหนักถึงความสำคัญของทักษะการใช้เทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่ และจัดหาโครงสร้างพื้นฐานซึ่งคือ การกระจายการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตให้กับท้องถิ่นที่ห่างไกล

ขณะนี้โรงเรียนส่วนใหญ่ในประเทศไทยได้เปิดให้มีการเรียนแล้ว แต่สำหรับบางพื้นที่ที่มีข้อจำกัด นอกจากการส่งเสริมให้เรียนทางไกลโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่แล้ว รัฐยังควรให้ครูคอยติดตามเด็กที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ อาจมีการส่งแบบฝึกหัดให้นักเรียนยังคงได้ทบทวนความรู้ หรือมีการติดต่อสื่อสารกับเด็กหรือผู้ปกครองเพื่อกระตุ้นให้ยังคงมีการเรียนรู้ และควรมีการวางแผนเพื่อให้เด็กที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้สามารถเรียนทันเพื่อนคนอื่น รวมทั้งควรขยายการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตด้วย … แม้เงินลงทุนจะมีมูลค่าไม่น้อย แต่เชื่อเถอะค่ะว่า การลงทุนในทุนมนุษย์จะเป็นการลงทุนซึ่งให้ผลตอบแทนกับประเทศที่คุ้มค่าค่ะ

 

เอกสารอ้างอิง

Fore, Henrietta. 2021. “Children Cannot Afford Another Year of School Disruption.” UNICEF. January 12, 2021. https://www.unicef.org/press-releases/children-cannot-afford-another-year-school-disruption.

Grewenig, Elisabeth, Philipp Lergetporer, Katharina Werner, Ludger Woessmann, and Larissa Zierow. 2020. “Covid-19 and Educational Inequality: How School Closures Affect Low- and High-Achieving Students.” CESifo Working Paper Series 8648. CESifo. https://econpapers.repec.org/paper/cesceswps/_5f8648.htm.

Lancker, Wim Van, and Zachary Parolin. 2020. “COVID-19, School Closures, and Child Poverty: A Social Crisis in the Making.” The Lancet Public Health 5 (5): e243–44. https://doi.org/10.1016/S2468-2667(20)30084-0.

Mayer, Susan E., Ariel Kalil, Philip Oreopoulos, and Sebastian Gallegos. 2019. “Using Behavioral Insights to Increase Parental Engagement The Parents and Children Together Intervention.” Journal of Human Resources 54 (4): 900–925. https://doi.org/10.3368/jhr.54.4.0617.8835R.

Psacharopoulos, George, Victoria Collis, Harry A. Patrinos, and Emiliana Vegas. 2020. “Lost Wages: The COVID-19 Cost of School Closures.” SSRN Scholarly Paper ID 3601422. Rochester, NY: Social Science Research Network. https://papers.ssrn.com/abstract=3601422.

ที่มีภาพข่าว :  https://www.posttoday.com