ทางไม่รอดของแรงงานและสังคมไทย? (ผศ.ดร.อัธกฤตย์)

ผศ. ดร.อัธกฤตย์ เทพมงคล
ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
www.econ.nida.ac.th; athakrit.t@nida.ac.th

ทางไม่รอดของแรงงานและสังคมไทย?

ไม่อ้อมค้อมนะครับ วันนี้ผู้เขียนเอาข้อมูลการสำรวจความเดือดร้อนของแรงงานไทยจากวิกฤติโควิด-19  ที่ทางคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ร่วมมือกับ Thai Asia foundation จัดทำการสำรวจทางโทรศัพท์ผ่านทาง NIDA poll โดยแบ่งการสำรวจเป็นสามรอบได้แก่ รอบเดือน พฤษภาคม สิงหาคม และ พฤศจิกายน ปี 2563

ความพิเศษของข้อมูลนี้คือเราสามารถติดตามชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานคนเดิมได้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่าครึ่งปี ทำให้เราสามารถเห็นว่าโควิด-19 เปลี่ยนแปลงชีวิตแรงงานแต่ละคนอย่างไรในช่วงเวลาต่าง ๆ โดยจำนวนแรงงานที่เราติดตามได้มามีจำนวนทั้งสิ้น 1,286 คน จากทั่วประเทศ

 

ย้อนกลับไปในการสำรวจครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม เราพบว่าแรงงานไทยกว่าร้อยละ 69 มีรายได้ที่ลดลง ซึ่งเมื่อคำนวณค่าเฉลี่ยแล้วพบว่ารายได้ลดลงกว่าร้อยละ 47 ซึ่งเยอะมาก สาเหตุของการที่รายได้ลดลงอันดับหนึ่งก็คือ ไม่มีลูกค้า รองลงมาก็คือ กิจการถูกสั่งให้ปิด เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงที่ระบาดหนักจนรัฐบาลต้องมีการสั่ง lockdown เพื่อจำกัดการแพร่ระบาดของเชื้อ เวลาผ่านไปจาก เราผ่านการ lockdown ครั้งแรก ผ่านมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูต่าง ๆ ของรัฐ สู่ช่วงใช้ชีวิตได้ภายใต้ new normal ของการเว้นระยะห่างและเศรษฐกิจที่ไม่พึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติ กว่าครึ่งปีที่เรา”คิดว่า”รอดกันมา ตกลงเรารอดจริงมั้ย?

ในการสำรวจ เราถามรายได้ของแรงงานไทยในเดือน มกราคม ปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงก่อนวิกฤติโควิด 19 แล้วถามการเปลี่ยนแปลงของรายได้ที่เกิดขึ้นในแต่ละรอบการสัมภาษณ์ เราพบแรงงานจำนวน 245 คน หรือกว่าร้อยละ 19 ที่บอกเราว่าในกว่าครึ่งปีนี้เขามีรายได้ที่ลดลงอย่างมาก มากซะเกินกว่ารายได้ก่อนโควิดที่แจ้งเราไว้ ซึ่งการที่คนคนหนึ่งจะมีรายได้ติดลบแบบนี้นั้นอาจจะเกิดจากความคลาดเคลื่อนในการสำรวจ หรืออาจจะแปลว่าเขาไม่มีรายได้เหลือและต้องไปขุดเงินเก็บ ทรัพย์สิน หรือยืมหนี้ยืมสินมาประทังชีวิต

ถ้าตัดคนกลุ่มนี้ออกไป ในแรงงาน 1,041 ชีวิตที่เหลืออยู่ ในภาพรวม เราพบว่าถ้าเราเทียบรายได้ของเดือนพฤศจิกายนกับเดือนมกราคมซึ่งเป็นรายได้ก่อนวิกฤติโควิด-19 พบว่าแรงงานไทยมีรายได้เฉลี่ยลดลงร้อยละ 34 เมื่อเทียบกับตัวเลขร้อยละ 47 ในเดือนพฤษภาคม เราก็ยังดีใจที่ได้เห็นสัญญาณการฟื้นตัวของรายได้แรงงานอยู่บ้าง แม้ว่าจะไม่มากนักก็ตาม

แต่เมื่อเราจ้องมองให้ละเอียดขึ้น เราพบว่าในกลุ่มตัวอย่างนี้มีแรงงานที่รายได้ไม่ได้ถูกกระทบเชิงลบโดยโควิด-19 เลยอยู่ทั้งสิ้นร้อยละ 30 ที่เหลือร้อยละ 70 คือมีรายได้ลดไม่ช่วงใดก็ช่วงหนึ่ง ซึ่งแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม นั่นคือกลุ่มที่มีการฟื้นตัวของรายได้บ้างไม่ช่วงใดก็ช่วงหนึ่งคิดเป็นร้อยละ 15 ส่วนอีกร้อยละ 55 คือกว่าครึ่งปีผ่านไปแล้วเขายังไม่สามารถที่จะปรับตัวให้มีรายได้ฟื้นกลับมาได้เลย ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเราพิจารณาเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีการฟื้นตัวของรายได้เลยนี้ เราพบว่ามีถึงร้อยละ 23 เป็นแรงงานที่รายได้หดเป็น 0 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม และก็ยังเป็น 0 เรื่อยมาจนถึงเดือน พฤศจิกายน คำถามที่ผลุดขึ้นในหัวผู้เขียนทันที ณ ตอนที่เห็นตัวเลขนี้คือ พวกเขาอยู่กันได้อย่างไรกว่าครึ่งปีที่ผ่านมา แล้วตอนนี้ที่มีการระบาดของโควิดระลอกที่สอง คนพวกนี้จะต้องมีรายได้เป็น 0 ต่อเนื่องอีกนานแค่ไหน แล้วถ้ามันเป็นแบบนี้ต่อไป ปลายทางของคนกลุ่มนี้จะเป็นอย่างไร ไม่ฆ่าตัวตายก็ปล้นจี้ใช่หรือไม่ เพราะอย่างน้อยในคุกมันก็มีข้าวให้เขากิน แล้วถ้าเราคิดเป็นร้อยละของแรงงานตัวอย่าง 1,041 เราจะพบว่าคนกล่มนี้มีขนาดถึงกว่าร้อยละ 13 แล้วถ้ายิ่งเราคิดย้อนไปรวมแรงงาน 245 คนที่มีรายได้ติดลบ เราจะพบว่าแรงงานกลุ่มที่น่าเป็นห่วงมากนี้มีถึงร้อยละ 29 ของแรงงานทั้งหมด สังคมไทยจะอยู่ได้อย่างไรถ้าแรงงานกว่าร้อยละ 30 ฆ่าตัวตายหรือเขาสู่วงการอาชญากรรม ยิ่งคิดยิ่งกลุ้ม

นี่เป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องคิดอย่างหนัก คนไม่ได้ตายเพราะติดโควิด-19 เท่านั้น เรื่องปากท้องก็ฆ่าคนได้เช่นกัน นี่เป็นเวลาที่คนไทยทุกคนจะต้องพักการทะเลาะกัน แล้วเอื้อเฟื้อเมตตาต่อกันให้มากครับ ถ้าคนจำนวนมากขนาดนี้อยู่ไม่ได้ คุณก็อย่าคิดว่าคุณจะอยู่ในสังคมนี้ได้อย่างสงบสุขนะครับ ขออภัยผู้อ่านทุกท่านนะครับแต่นี้ไม่ใช่คำขู่ มันเป็นความจริงจากข้อมูลที่ผู้เขียนเองก็กลัวครับ

เรื่องขนลุกข้างต้นนี้แค่น้ำจิ้มนะครับ ถ้าอยากฟังของจริงแบบเต็ม ๆ พร้อมแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ผู้เขียนก็ขอเชิญร่วมงานเสวนาวิชาการ Econ NIDA Forum: ยกเครื่องทักษะแรงงานไทยสู่เศรษฐกิจใหม่หลังโควิด ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ปี 2564 โดยรายละเอียดติดตามข้อมูลอัพเดทได้ในที่เฟสบุ้คเพจ Econ NIDA fanpage

หมายเหตุ :ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

ที่มีของภาพข่าว : https://www.posttoday.com