ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทองใหญ่ อัยยะวรากูล
ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)
www.econ.nida.ac.th; cdes.nida@gmail.com
เศรษฐกิจกับการล็อคดาวน์: บทสรุปเบื้องต้น
สวัสดีปีใหม่ครับ บทความนี้เป็นบทความกึ่งวิชาการที่สรุปความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจกับการล็อคดาวน์เพื่อป้องกันการระบาดของโควิดเท่าที่ได้มีการศึกษาในระยะหนึ่งปีที่ผ่านมา ประเด็นสำคัญที่สุดเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่เป็นที่ถกเถียงกันมากในกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์คือ การล็อคดาวน์ซึ่งค่อนข้างเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าช่วยป้องกันการระบาดได้จริงนำมาซึ่งความสูญเสียทางเศรษฐกิจจริงหรือไม่ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น รัฐบาลก็ต้องเผชิญปัญหาแบบการได้อย่างเสียอย่าง (Tradeoff) ระหว่างเศรษฐกิจและสุขภาพที่จะต้องเลือกจุดสมดุลระหว่างเป้าหมายทางเศรษฐกิจและสุขภาพให้เหมาะสม แต่หากไม่ได้เป็นเช่นนั้น กล่าวคือ เศรษฐกิจและสุขภาพเป็นสิ่งที่ไปด้วยกันแล้ว การล็อคดาวน์ก็น่าจะเป็นมาตรการที่รัฐบาลควรพิจารณาใช้แต่เนิ่นๆ เพื่อควบคุมปัญหาการระบาด โดยไม่ต้องพะวงกับผลกระทบที่เกิดขึ้นในเชิงเศรษฐกิจมากเท่าใดนัก
ก่อนที่จะได้สรุปข้อค้นพบเกี่ยวกับการศึกษาเรื่องนี้เท่าที่ผ่านมาเป็นข้อๆ ต่อไปนั้น ผมขอเรียนชี้แจงประเด็นสำคัญเกี่ยวกับบทความนี้ 4 ประเด็นก่อนนะครับ คือ ในประเด็นแรก เนื่องจากบทความเรื่องนี้เป็นเพียงบทความกึ่งวิชาการ การอ้างอิงทั้งหมดดังที่ปรากฏในบทความจึงเป็นการอ้างอิงแบบคร่าวๆ คือ ชื่อและปีที่บทความปรากฏ (ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าทั้งหมดคือปี 2020) โดยผู้สนใจน่าจะสามารถใช้ชื่อผู้แต่งค้นหาบทความฉบับเต็มได้ไม่ยากทางอินเทอร์เน็ต ในประเด็นที่สอง เนื่องจากสถานการณ์ปัญหาโควิดยังไม่จบ ข้อค้นพบที่ได้รวบรวมไว้ในบทความนี้จึงเป็นเพียงข้อค้นพบเบื้องต้นจากข้อมูลที่ยังไม่นิ่ง ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้หากมีข้อมูลใหม่ๆ เพิ่มเติมหรือใช้วิธีการศึกษาที่ละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้น ในประเด็นที่สาม สิ่งที่ค้นพบจากการศึกษาแต่ละเรื่องอาจเป็นเรื่องเฉพาะที่อธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศที่ศึกษาในช่วงเวลาที่ศึกษาอยู่เท่านั้น ไม่สามารถขยายไปอธิบายปรากฏการณ์ในประเทศอื่น หรือในช่วงเวลาที่เปลี่ยนไปได้ จึงควรพิจารณาประยุกต์ใช้ด้วยความรอบคอบ และในประเด็นสุดท้าย บทความเรื่องนี้มุ่งรวบรวมผลการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของการล็อคดาวน์ที่มีต่อเศรษฐกิจในภาพรวมที่วัดจากผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP เท่านั้น โดยไม่รวมถึงผลกระทบของการล็อคดาวน์ที่มีต่อแต่ละกลุ่มบุคคลในประเทศ เช่น กลุ่มคนจน กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ไม่ได้มีรายได้ประจำ ซึ่งมักได้รับผลกระทบที่รุนแรงกว่ากลุ่มอื่นๆ และเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่รัฐบาลควรคำนึงในการนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจไม่น้อยไปกว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม
หลังจากที่ได้เกริ่นกันมาพอสมควรแล้ว ผมขอสรุปข้อค้นพบที่สำคัญจากงานศึกษาและงานวิจัยที่สำคัญในปี 2020 ที่ผ่านมาดังนี้ครับ
-
งานศึกษาส่วนใหญ่ไม่พบความสัมพันธ์แบบได้อย่างเสียอย่างระหว่างเศรษฐกิจและสุขภาพ งานศึกษาเชิงประจักษ์ที่ใช้ข้อมูลจากหลายประเทศ (Cross-country data) เกี่ยวกับสุขภาพและเศรษฐกิจ เช่น Alvelda, Ferguson, and Mullery (2020) จากสหรัฐอเมริกา Casey (2020) จาก OECD Nixon (2020) จาก ANU ต่างไม่พบความสัมพันธ์แบบได้อย่างเสียอย่างระหว่างเศรษฐกิจและสุขภาพ ในทางกลับกัน ประเทศที่เน้นการควบคุมการระบาดแต่เนิ่น ๆ โดยการใช้มาตรการล็อคดาวน์อย่างเข้มงวดจะสามารถลดทั้งปัญหาการระบาด จำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรค และได้รับผลกระทบเชิงลบทางเศรษฐกิจในระยะยาวที่น้อยกว่าประเทศที่พะวงกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจนไม่กล้าใช้มาตรการล็อคดาวน์อย่างจริงจัง การศึกษาโดย Alvelda, Ferguson, and Mullery (2020) ถึงกับฟันธงลงไปอย่างตรง ๆ ว่า ถ้าอยากจะช่วยเศรษฐกิจ ก็ให้ช่วยป้องกันคนไม่ให้ติดเชื้อก่อน และยังมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เช่น การเน้นการให้ความช่วยเหลือที่มุ่งเจาะจงเป็นรายพื้นที่แทนการให้การช่วยเหลือแบบปูพรม การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ต้องหยุดงานจากการประกาศล็อคดาวน์ที่ตั้งอยู่บนเงื่อนไขที่ว่าผู้ได้รับความช่วยเหลือต้องไม่ทำงานหรือทำงานอยู่ที่บ้านเพื่อลดอัตราการระบาด เป็นต้น ในบทความของ Burrows-Taylor (2020) ซึ่งสรุปผลการศึกษาของ Haskel จาก Imperial โดยใช้ข้อมูลจากประเทศสหราชอาณาจักร พบว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับความมั่นใจของสาธารณชนที่มีต่อการควบคุมการระบาดเป็นหลัก สอดคล้องกับผลการศึกษาของ Nixon (2020) ซึ่งพบว่าประเทศที่มีอัตราการตายจากโควิด19 สูงกว่าจะมีการหดตัวทางเศรษฐกิจที่รุนแรงกว่าอย่างมีนัยสำคัญ
-
การล็อคดาวน์ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะยาว การศึกษาโดย Grigoli and Sandri (2020) จาก IMF พบว่าการล็อคดาวน์สามารถช่วยลดการแพร่ระบาดได้จริงและจะมีประสิทธิผลอย่างชัดเจนหากมีการล็อคดาวน์โดยเร็วตั้งแต่ช่วงแรกของการระบาด นอกจากนี้ การล็อคดาวน์แม้จะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจในระยะสั้นเนื่องจากการดำเนินกิจการทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก แต่สามารถช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วกว่าในระยะยาว ทั้งนี้ การยกเลิกมาตรการล็อคดาวน์ในขณะที่อัตราการระบาดยังคงสูงอยู่นั้น มักไม่ช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเท่าที่ควรเนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่ยังคงอาจหวาดกลัวที่จะติดเชื้อและเว้นระยะห่างทางสังคมโดยการเก็บตัว อย่างไรก็ตาม มาตรการล็อคดาวน์ควรกระทำควบคู่ไปกับการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ อาทิ การเพิ่มสิทธิประโยชน์สวัสดิการผู้ว่างงาน และการให้หยุดงานโดยได้รับเงินเดือน เป็นต้น
-
เรายอมเสียอะไรบ้างเพื่อแลกกับการลดอัตราการตายจากโควิด งานวิจัยที่น่าสนใจอีกชิ้นหนึ่งไม่ใช่เป็นงานวิจัยในเชิงประจักษ์ที่ตอบคำถามว่าเศรษฐกิจกับการล็อคดาวน์มีความสัมพันธ์แบบไปด้วยกันหรือสวนทางกันเสียทีเดียว แต่เป็นงานวิจัยที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเด็นการได้อย่างเสียอย่างของเศรษฐกิจและสุขภาพที่ย้ำให้เห็นว่ามาตรการใด ๆ ล้วนมีต้นทุนทั้งสิ้นและควรพิจารณาอย่างรอบคอบและระมัดระวัง งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยในเชิงการทดลองทางเลือก (Choice experiment) ของ Chorus, Sandorf, and Mouter (2020) โดยใช้ตัวอย่างจากประชากรชาวเนเธอแลนด์ ผลจากงานวิจัยชี้ให้เห็นว่า โดยเฉลี่ยแล้ว ชาวเนเธอร์แลนด์ในกลุ่มทดลอง ยอมแลกผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ต้องล่าช้าไปอย่างถาวรของเด็ก 18 คน หรือการสูญเสียรายได้มากกว่าร้อยละ 15 เป็นเวลานานกว่า 3 ปี ของครอบครัว 77 ครอบครัว กับการช่วยไม่ให้คนหนึ่งคนต้องเสียชีวิตจากโควิด ในงานวิจัยเชิงการทดลองอีกชิ้นหนึ่งของ Tepe et al. (2020) โดยใช้ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างชาวเยอรมันในระหว่างการล็อคดาวน์ประเทศพบว่า ชาวเยอรมันยอมให้อำนาจกับฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลเพิ่มขึ้นและยอมสูญเสียเสรีภาพบางส่วนเพื่อแลกมากับการจัดการกับปัญหาโรคระบาดอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ผลการทดลองยังได้ชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างช่วงวัย โดยชาวเยอรมันที่มีอายุน้อยมีแนวโน้มที่จะต่อต้านการขยายมาตรการล็อคดาวน์ที่ยืดเยื้อออกไปมากกว่าชาวเยอรมันที่มีอายุมากกว่า