ค่าครองชีพภายใต้เศรษฐกิจโควิด (ผศ.ดร.สันติ)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข
ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
www.econ.nida.ac.th; Santi_nida@yahoo.com

ค่าครองชีพภายใต้เศรษฐกิจโควิด

สิ่งที่ผมจะชวนพูดคุยและคบคิดกันนี้อาจจะดูเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องที่ต้องนำมาพูดคุยกัน แต่ก็เห็นว่ามีหลายแง่มุมที่น่าจะต้องสร้างความตระหนักรู้ให้กับสังคมโดยเฉพาะทางด้านการบริหารจัดการเศรษฐกิจทั้งในระดับครัวเรือน (หรือบุคคล) และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว (เพื่อการเตรียมความพร้อม) ในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ระลอกแรกในต้นปี 2563 จนมาถึงการระบาดในรอบที่ 2 ที่ยังคงมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันอยู่เป็นจำนวนมากจนเป็นที่กังวลว่าการระบาดอาจจะขยายวงเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็วและทำให้ควบคุมได้ยากหรือควบคุมไม่ได้เลย สิ่งหนึ่งที่อาจจะถูกมองข้ามที่คือการปรับเพิ่มขึ้นของค่าครองชีพที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้ดัชนีเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นดัชนีที่ใช้บ่งชี้การเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นของค่าครองชีพไม่ได้แสดงว่าค่าครองชีพของครัวเรือนในระบบเศรษฐกิจนั้นปรับเพิ่มขึ้นไปหรือไม่ มากน้อยเพียงใด ในช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่สามารถดำเนินไปได้อย่างเป็นปกติ กิจกรรมการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักลงสำหรับในประเทศไทยก็คงจะเห็นได้อย่างชัดเจนในสาขาการท่องเที่ยวที่ไม่สามารถสร้างมูลค่าได้อย่างที่เคยทำได้ในอดีต การหดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจย่อมมีผลทำให้รายได้ของคน (หน่วยเศรษฐกิจ) โดยเฉลี่ยลดลง หรืออาจจะกล่าวได้ว่ารายได้ของคนส่วนใหญ่ในระบบเศรษฐกิจลดลง แต่ไม่ได้หมายถึงทุกคนในระบบเศรษฐกิจมีรายได้ลดลง บางคน บางกลุ่มในระบบเศรษฐกิจยังคงสามารถสร้างรายได้ได้เหมือนเดิม หรืออาจจะได้ดีกว่าเดิม สินค้าบางอย่าง เช่น ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ ป้องกันการระบาดของโรคกลับขายดีมากขึ้น สามารถสร้างรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม สำหรับเศรษฐกิจในภาพส่วนเรายังคงเห็นการลดลงของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศถึงร้อยละ 6-7 ในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ปริมาณความต้องการสินค้า (Aggregate Demand) ลดลงกดดันให้ราคาสินค้าต้องปรับลดลง ดัชนีเงินเฟ้อในปีที่ผ่านมาจึงไม่ได้แสดงว่าค่าครองชีพในระบบเศรษฐกิจปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม มีเงื่อนไขและปัจจัยหลายอย่างที่สนับสนุน และบ่งชี้ว่า ค่าครองชีพที่แท้จริงที่ประชาชนในระบบเศรษฐกิจต้องเผชิญอยู่นั้นได้ปรับเพิ่มขึ้นไปแล้วในระหว่างที่เรากำลังทุ่มเทความพยายามไปกับการประคับประคองให้ประเทศก้าวข้ามปัญหาอุปสรรคทั้งในทางสุขภาพและทางเศรษฐกิจในครั้งนี้ไปให้ได้ (ก็ดูเหมือนว่าปัญหาเรื่องค่าครองชีพจะรอกระหน่ำซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยได้อีก แม้ว่าประเทศจะสามารถก้าวผ่านปัญหาจากการระบาดของโควิดไปได้)

ความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการใช้จ่าย หรือการบริโภคของครัวเรือนในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองได้ปรับเปลี่ยนไปจากเดิมทั้งในแง่ของประเภทของสินค้าที่มีความจำเป็นและต้องการต่อการดำรงชีพ เช่น หมวดหมู่ของสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ อาหารเสริม สินค้าในการทำความสะอาดให้ถูกสุขอนามัยมากขึ้น ทำให้มีความต้องการสินค้าในกลุ่มนี้มากขึ้น ซึ่งก็ไม่มีความชัดเจนว่าราคาของสินค้าในกลุ่มนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง แต่อย่างน้อยที่สุด ประชาชนมีความจำเป็นต้องใช้มากขึ้น มีภาระค่าใช้จ่ายที่จะต้องจ่ายสำหรับสินค้าเหล่านี้มากขึ้น นอกจากนี้ ปริมาณความต้องการสินค้าประเภทต่าง ๆ เพื่อการดำรงชีพก็เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก สัดส่วนของความต้องการสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อสื่อสาร ที่ต้องเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี รวมทั้งความต้องการ “บริการ” เพื่อการดำรงชีพมีมากขึ้น เช่น มีความจำเป็นต้องมีคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ รวมทั้งอุปกรณ์ต่อพ่วงเพิ่มขึ้น ในบางครอบครัว เดิมลูกอาจจะไม่จำเป็นต้องมีคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์ ก็จำเป็นจะต้องมี เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านอื่น ๆ ก็มีความต้องการใช้มากขึ้น (เช่น ต้องการเครื่องปรับอากาศ พัดลม ฯลฯ) ความต้องการสิ่งเหล่านี้ที่เพิ่มขึ้น มาพร้อมกับความต้องการบริการที่มาควบคู่กันด้วย เช่น บริการโครงข่ายสัญญาณสำหรับการติดต่อสื่อสาร (เดิมอาจจะไม่จำเป็น แต่ปัจจุบันจำเป็นและยังต้องการความเร็วและขนาดความจุที่มากขึ้นด้วย เรียกว่าต้องเพิ่ม package ที่ใช้ให้สูงขึ้นไปอีก) อันนี้ยังไม่รวมบริการค่าไฟฟ้าที่จะเป็นภาระต้องค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพด้วย ประเด็นที่ตามมาคือ ราคาของบริการที่มีความจำเป็นมากขึ้นนี้ มีการปรับเพิ่มขึ้นเพียงใด ในรูปแบบใดบ้าง (มีบริการเป็น package รวมเอาของที่เราไม่ได้ใช้เข้าไปด้วยหรือไม่ มากน้อยเพียงใด) สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนของภาระค่าครองชีพที่ปรับเพิ่มขึ้นโดยที่ดัชนีเงินเฟ้อที่ใช้ในการบ่งชี้สภาวะค่าครองชีพอาจจะยังไม่สามารถสะท้อนออกมาให้เห็นได้

รูปแบบหรือวิธีการที่สินค้าและบริการจะถูกส่งจากผู้ผลิตไปถึงมือผู้บริโภคก็เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จะเห็นได้จากความนิยมของผู้ซื้อหรือผู้บริโภคที่หันไปสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ (หรือเข้าใจง่าย ๆ ว่า e-commerce) หรือแม้แต่การจ่ายเพื่อความสะดวกสำหรับการสั่งสินค้าแบบจัดส่งถึงบ้าน (Delivery Service) ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นทั้งจากการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคเอง และจากความจำเป็นที่ต้องใช้บริการ การให้บริการในรูปแบบนี้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นทั้งในรูปของค่าบริการในการจัดส่ง และต้นทุนในการหีบห่อ ซึ่งต้องทำให้ดีเพื่อรักษาคุณภาพของสินค้าที่จัดส่ง ยิ่งต้องหีบห่อดีเพียงใด หรือเป็นสินค้าที่หีบห่อยากลำบาก ต้นทุนส่วนนี้ก็จะยิ่งสูงขึ้นไปอีก ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ย่อมต้องถูกผลักภาระมาที่ผู้ซื้อในที่สุด อาจจะในรูปแบบของราคารวมที่ต้องจ่ายมากขึ้นเมื่อรวมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ทั้งหมดของการซื้อสินค้า หรืออาจจะอยู่ในรูปของการลดปริมาณ หรือคุณภาพของสินค้าที่ได้รับ ทางด้านผู้ขายหรือผู้ผลิต ก็มีแนวโน้มที่จะต้องเผชิญกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากความยากลำบากและค่าใช้จ่ายต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น วัตถุดิบที่ใช้เพื่อการผลิตจัดหาได้ยากขึ้น (กรณีที่ต้องอาศัยการนำเข้าวัตถุดิบ หรือสินค้าขั้นกลางจากต่างประเทศ ก็มีต้นทุนสูงขึ้น) กระบวนการผลิตเองก็ต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับมาตรการทางด้านสาธารณสุขเพื่อป้องกันการระบาดของโรค สภาวะการจ้างงานก็มีความยากลำบาก มีต้นทุนที่สูงขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ล้วนแต่เป็นปัจจัยที่กดดันให้ต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น และในที่สุดก็คงจะหลีกหนีไม่พ้นการปรับราคาสินค้าหรือบริการในตลาดเพิ่มขึ้น ซึ่งแน่นอนจะเป็นภาระค่าครองชีพของประชาชนในระบบเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก

นอกจากสิ่งที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว ในกรณีของการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเกิดผลกระทบอย่างกว้างขวางและน่าจะเป็นเวลานาน ทำให้ประเทศทุกประเทศรวมทั้งประเทศไทยด้วย จำเป็นต้องออกมาตรการในการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ ขนาดของมาตรการที่ใหญ่ (เป็นวงเงินจำนวนมาก) และเป็นมาตรการที่ไปสนับสนุนการบริโภค เป็นเชื้อไฟอย่างดีที่จะสุ่มให้เกิดการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ และค่าครองชีพได้ ยิ่งขนาดของมาตรการในการกระตุ้นให้เกิดการบริโภคมีขนาดใหญ่เพียงใด โอกาสก็จะมีสูงขึ้นที่จะเห็นค่าครองชีพปรับเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในอนาคต นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลอย่าง พอล ครูกแมน (Paul Krugman) ได้เคยออกมาเตือนไว้ว่า การแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจจากโรคระบาดในครั้งนี้ ไม่สามารถแก้ได้ด้วยมาตรการกระตุ้นให้เกิดการบริโภค เพราะต้นเหตุของวิกฤติเกิดขึ้นจากการหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนขาดรายได้ จึงต้องแก้ด้วยการสร้างรายได้มากกว่าการกระตุ้นให้เกิดการบริโภค มาตรการทางด้านการบริโภคควรจะเป็นเพียงมาตรการในระยะสั้นเพื่อประคับประคองการดำรงชีพเท่านั้น การใช้มาตรการทางการคลังเพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ (โดยเฉพาะการกระตุ้นการบริโภค) ควบคู่ไปกับการใช้มาตรการทางการเงินแบบผ่อนคลาย (อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำที่สุด) พร้อม ๆ กันทั่วโลกเป็นเงื่อนไขอย่างดีที่จะสนับสนุนการเพิ่มขึ้นของราคาและอัตราเงินเฟ้อในอนาคต ดัชนีราคาหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกดูเหมือนจะไม่ได้ปรับลดลงตามสัดส่วนของความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจหรือบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แต่อย่างใด ถ้าลองไปคำนวณอัตราส่วนราคาต่อการทำกำไร (P/E ratio) ก็จะเห็นว่าราคาไม่ได้ลดลงเป็นสัดส่วนเดียวกันกับความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจเลย ทั้ง ๆ ที่ความเสี่ยงต่อการทำกำไรของธุรกิจในสภาวะทางเศรษฐกิจอย่างในปัจจุบันน่าจะสูงกว่าก่อนจะมีการระบาดของโควิด-19 มาก ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คงเป็นเพียงแค่การเตือนภัยสำหรับเศรษฐกิจไทยว่า ปัญหาทางเศรษฐกิจที่เราจะต้องเผชิญคงไม่ใช่แค่จัดการกับโควิดได้ ควบคุมโรคได้ มีวัคซีนแจกจ่ายให้กับประชาชนทุกคนอย่างถ้วนทั่วหน้ากันได้แล้ว เศรษฐกิจไทยก็จะกลับมาเหมือนเดิม วิ่งได้เร็ว แซงเศรษฐกิจของประเทศอื่นไปได้อย่างสบาย ประชาชนคงต้องทำใจ เตรียมใจรับมือกับปัญหาทางเศรษฐกิจอื่น ๆ อีกที่จะรุมเร้าเข้ามาโดยเฉพาะภาระค่าครองชีพที่กำลังคืบคลานเข้ามาใกล้จน ณ ขณะนี้ เชื่อว่ากลุ่มคนในระดับรายได้ต่ำน่าจะสัมผัสได้แล้ว

ที่มาของภาพข่าว : https://www.posttoday.com