กลไกราคากับการสกัดการลักลอบเข้าเมือง (ผศ.ดร.ทัศนย์)
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทัศนีย์ สติมานนท์
ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ
สถาบันบัณฑิตพัฒนนบริหารศาสตร์ (NIDA)
www.econ.nida.ac.th; cdes.nida@gmail.com
กลไกราคากับการสกัดการลักลอบเข้าเมือง
ลมหนาวมาพร้อมวันหยุดยาวในช่วงปลายปี หลายคนวางแผนเดินทางไปพักผ่อนที่จังหวัดในภาคเหนือของไทย แต่แล้วแผนการเดินทางของใครหลายคนต้องล้มเลิกไปเมื่อมีข่าวคนไทยติดโควิด19 จากประเทศเพื่อนบ้าน และเดินทางกลับเข้ามาอย่างผิดกฎหมายจึงไม่ถูกกักตัว 14 วันตามที่หน่วยงานรัฐกำหนด ซึ่งเมื่อคนกลุ่มนี้ไม่ถูกกักตัวจึงใช้ชีวิตตามสถานที่ท่องเที่ยวหรือสถานที่สาธารณะต่าง ๆ อย่างปกติ และแม้ว่าหน่วยงานภาครัฐจะช่วยกันประชาสัมพันธ์ว่า ไม่มีความเสี่ยงในการติดโรคมากอย่างที่หลายคนคิด และผู้เดินทางไปท่องเที่ยวไม่ต้องกักตัว 14 วันเมื่อกลับไปยังภูมิลำเนาของตน แต่ทว่ายอดจองที่พักของรีสอร์ทและโรงแรมในภาคเหนือยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง สร้างความเสียหายให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในภาคเหนือเป็นอย่างมาก … แล้วกลไกราคาจะแก้ปัญหาการลักลอบเข้าเมืองได้อย่างไร … มาตรการคุมเข้มพรมแดนธรรมชาติไม่ดีกว่าหรือ
การที่คนจะตัดสินใจกระทำสิ่งใดก็ต่อเมื่อได้คิดแล้วว่า ประโยชน์ที่ได้จากสิ่งนั้นสูงกว่าต้นทุน สำหรับการออกไปทำงานโดยผิดกฎหมายนั้นต้องผ่านการตัดสินใจ 2 ขั้นตอนด้วยกัน ขั้นตอนแรก ต้องคิดว่าจะออกไปทำงานในต่างแดนหรือไม่ ซึ่งรายได้ที่คาดว่าจะได้รับในต่างแดนคงสูงกว่ารายได้ที่ได้รับในเมืองไทยมากพอที่จะครอบคลุมค่าเดินทางและความเสี่ยงต่าง ๆ เมื่อคิดว่าต้องการไปทำงานต่างแดนแล้วขั้นตอนต่อไปต้องตัดสินใจว่า จะเดินทางไปทำงานโดยผ่านด่านอย่างถูกกฎหมาย หรือลักลอบเข้าไปทำงาน ซึ่งข้อเสียที่สำคัญของการผ่านด่านอย่างถูกกฎหมายคือ ต้องถูกกักตัวเมื่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน (ถ้าภาครัฐของประเทศเพื่อนบ้านอนุญาตให้เข้าประเทศ) และต้องกักตัวอีกครั้งเมื่อเข้ามาในประเทศไทย ทำให้เสียรายได้ระหว่างกักตัว ในขณะที่ข้อเสียของการข้ามแดนผิดกฎหมายคือ การเสียค่าปรับจำนวนไม่มากและโอกาสที่จะถูกจับได้ในความคิดของพวกเขาจากคำบอกเล่าของคนที่เคยเข้าไปทำงานนั้นก็ต่ำมาก คนกลุ่มนี้จึงตัดสินใจไปทำงานโดยข้ามแดนแบบผิดกฎหมาย
ฟังดูก็สมเหตุสมผล … เขาคำนึงถึงประโยชน์และต้นทุนของตนเองเท่านั้นซึ่งนับว่าเป็นธรรมชาติของคนทั่วไป เพียงแต่คนอื่นอีกหลายคนได้รับผลกระทบทางลบจากการกระทำของเขา เปรียบประดุจคนดื่มเหล้าแล้วคิดว่าตัวเองไม่เมา โอกาสเกิดอุบัติเหตุน้อย แล้วตัดสินใจขับรถกลับบ้านเอง ถ้าอุบัติเหตุเกิดขึ้นกับตนเอง เจ็บเอง จ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง ก็ยังนับเป็นภาระที่เพิ่มขึ้นของหมอและพยาบาลที่ต้องดูแลแทนที่จะใช้เวลาไปดูแลผู้ป่วยรายอื่น แต่หากอุบัติเหตุนั้นส่งผลให้เกิดความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินกับบุคคลอื่นในท้องถนน มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจไม่สามารถประมาณค่าได้ และคนขับอาจต้องโทษขังหรือจ่ายค่าเสียหายเป็นจำนวนมาก คนขับก็คงคิดว่า รู้งี้ ไม่ขับดีกว่า ปัญหาแบบนี้ทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า ปัญหาผลกระทบภายนอก (externality) … แม้ว่าจะเป็นการคุ้มสำหรับคนลักลอบไปทำงานต่างแดน แต่ไม่คุ้มสำหรับคนทั้งประเทศ … แล้วจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร
ตามชื่อบทความ คำตอบคือ การใช้ “กลไกราคา” ในการแก้ปัญหา โดยต้องแปลงต้นทุนของผู้อื่นที่ได้รับผลกระทบไปเป็นต้นทุนของผู้ข้ามแดนไปทำงานอย่างผิดกฎหมาย ((internalization) และมีการปรับให้ต้นทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นสูงจนทำให้คนกลุ่มนี้เปลี่ยนการตัดสินใจ ซึ่งดำเนินการโดย 1) การเพิ่มบทลงโทษผู้ลักลอบเข้าและออกจากเมืองอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งจำนวนค่าปรับในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพและไม่ทำให้คนกลุ่มนี้เกรงกลัวการรับโทษเมื่อถูกจับได้ 2) การเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการข้ามแดนอย่างผิดกฎหมาย เพื่อเพิ่มโอกาสในการถูกจับและทำให้คนกลุ่มนี้เกรงกลัวความผิด อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผู้เฝ้าระวังย่อมมีจำนวนจำกัด และไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึงในเชิงปฏิบัติ การเพิ่มผู้เฝ้าระวังโดยการให้เงินรางวัลจำนวนสูงแก่ผู้ชี้เบาะแสเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ใช้กลไกราคาเพื่อแก้ปัญหาการลักลอบเข้าเมืองเช่นกัน 3) ภาครัฐควรมีการติดตามขบวนการการลักลอบพาคนข้ามแดนอย่างผิดกฎหมายผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย เข้าทำนองถ้าผู้ต้องการข้ามแดนผิดกฎหมายเข้าถึงข้อมูลได้ ผู้เฝ้าระวังควรมีศักยภาพในการเข้าถึงข้อมูลได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะสื่อโซเชียลมีเดียที่มีต้นทุนในการเข้าถึงข้อมูลต่ำ และ 4) การร่วมมือกับรัฐบาลของประเทศเพื่อบ้านเพื่อลงโทษคนไทยที่ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ก็อาจเป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้คนกลุ่มนี้เปลี่ยนการตัดสินใจ เพราะ “ได้ไม่คุ้มเสีย”
หมายเหตุ :ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ที่มาภาพข่าว : https://www.posttoday.com