เมื่อการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจก้าวผ่านยุคการผลิตแบบจำนวนมาก (Moving Pass the Mass Production Era) (ผศ.ดร.สันติ)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข
ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ
สถาบันบัณฑิตพัฒนนบริหารศาสตร์ (NIDA)

www.econ.nida.ac.th; cdes.nida@gmail.com

เมื่อการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจก้าวผ่านยุคการผลิตแบบจำนวนมาก

(Moving Pass the Mass Production Era)

การระบาดของโควิด-19 เป็นเสมือนปัจจัยเร่ง (Accelerared Factor) ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจผนวกเข้ากับการพัฒนาทางเทคโนโลยีโดยเฉพาะด้านโทรคมนาคมการสื่อสารและการประมวลผล (Communication and Computing Technology) ทำให้โครงสร้างและการทำงานของกลไกตลาดเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมในหลากหลายมิติ การแข่งขันที่ถูกขับเคลื่อนโดยผลิตภาพการผลิต (Production Productivity) เพื่อให้ต้นทุนการผลิตต่ำลงจากการผลิตจำนวนมาก (Mass Production) เพื่อให้ได้ประโยชน์จากการประหยัดจากขนาด (Economies of Scale) ดูเหมือนจะไม่ใช่รูปแบบของการแข่งขันในอนาคตอีกต่อไปแล้ว การตัดสินใจทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นด้านผู้ผลิต หรือผู้บริโภคในตลาดไม่ได้เป็นการตัดสินใจบนฐานของราคาถูกอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นเป็นการตัดสินใจบนฐานความคุ้มค่ามากขึ้น ซึ่งเท่ากับว่าผู้ผลิตจะต้องคำนึงถึงการตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่มีรายละเอียดในเชิงคุณภาพมากขึ้น ในส่วนของผู้ซื้อในตลาดก็มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากเพราะเทคโนโลยีการสื่อสารในปัจจุบันทำให้การส่งผ่านข้อมูลในกระบวนการแลกเปลี่ยน (Exchange Mechanism) ในตลาด ทำให้สามารถตรวจสอบราคาได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็วอย่างทันที (Real time price revealation) ในขณะเดียวกัน ข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการสินค้าและบริการของผู้บริโภคก็สามารถส่งผ่านไปถึงผู้ผลิตได้ง่ายและมีต้นทุนที่ต่ำลง เรียกได้ว่าการส่งผ่านของข้อมูลข่าวสารที่มีความสำคัญต่อการทำงานของกลไกตลาดมีประสิทธิภาพสูงขึ้นมากจนทำให้ต้นทุนธุรกรรม (Transaction Cost) ที่เกี่ยวข้องลดลงอย่างมาก การเติบโตของกิจกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) เป็นตัวอย่างหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางทั้งในตลาดภายในประเทศและตลาดระหว่างประเทศจากการลดลงของต้นทุนธุรกรรม ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีการนำเสนออยู่ในตลาดได้อย่างกว้างขวางโดยไม่มีต้นทุนของการเดินทางเพื่อเสาะแสวงหาผลิตภัณฑ์ที่ตนต้องการมากที่สุดในราคาที่เหมาะสมที่สุด ในขณะเดียวกันผู้ผลิตก็สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตนผลิตให้กับผู้ซื้อที่สนใจได้ในวงกว้างโดยไม่จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่สูงมาก โดยรวมการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีจึงมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตลาดและการแข่งขันในตลาด ซึ่งถ้าได้รับการกำกับดูแลที่ดีและเหมาะสม ไม่ปล่อยให้เกิดการใช้ช่องว่างที่เกิดขึ้นเพื่อการแสวงหา หรือสร้างอำนาจตลาด และใช้อำนาจตลาดเพื่อการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนเกิน (หรือ Economic Rent) ก็จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของตลาดได้

จะเห็นได้ว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้มีผลกระทบต่อโครงสร้างตลาดและพฤติกรรมการแข่งขันในตลาดซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของผู้เล่นในตลาดที่สำคัญ ได้แก่ ผู้ขาย ผู้ซื้อ และผู้กำกับดูแลให้ตลาดสามารถดำเนินการตามกลไกการทำงานของตลาดและทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในระบบเศรษฐกิจ (Pareto Efficiency) ความคาดหวังให้เกิดการแข่งขันในโครงสร้างตลาดแบบตลาดแข่งขันสมบูรณ์ (Perfect Competition) ถูกท้าทายมากขึ้นเมื่อผู้ซื้อมีความต้องการที่หลากหลายมากขึ้น (ในภาษาทางการตลาดหมายถึงการแบ่งกลุ่มทางการตลาด หรือ Market Fragmentation) ผู้บริโภคหรือผู้ซื้อสามารถส่งผ่านความต้องการที่เฉพาะเจาะจงสำหรับกลุ่มที่มีความต้องการที่เหมือนหรือสอดคล้องกันมากขึ้นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ การสื่อสารผ่านสื่อสังคมอิเล็กทรอนิกส์ (Social Media) การจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ซึ่งครอบคลุมทั้งข้อมูลทั่วไปและข้อมูลส่วนตัว (Private Information) เป็นต้น ข้อมูลเหล่านี้ถูกสื่อสารไปยังผู้ผลิตหรือผู้ขายทำให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการนั้นได้อย่างสมบูรณ์มากขึ้น โดยผู้ซื้อมีความเต็มใจที่จะจ่าย (Willingness to pay) ให้กับผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองต่อความต้องการของตนมากขึ้น (ยินยอมจ่ายแพงขึ้น) เพื่อให้ได้รับความพึงพอใจมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้ผลิตภัณฑ์ (สินค้าหรือบริการ) มีความหลากหลายมากขึ้น (Product Differentition) ผู้ผลิตสามารถทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ตนผลิตมีความแตกต่างหลากหลายมากขึ้นเพื่อให้สอดคล้องและตอบสนองกับความต้องการของผู้บริโภคที่มีความแตกต่างหลากหลายมากขึ้นเช่นเดียวกัน ความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการ (Preferences) ของผู้บริโภคได้อย่างสอดคล้องมากขึ้นโดยผู้ผลิตต้องปรับกลยุทธ์ทางการตลาดให้สามารถระบุกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย (Targeted Customer) ใช้กลยุทธ์การตลาดแบบระบุเป้าหมาย (Target Marketing) ซึ่งทำให้ต้องอาศัยการวิเคราะห์ฐานข้อมูลใหญ่เกี่ยวกับลูกค้า (หรือผู้บริโภค) ดังนั้น การเข้าถึง การถือครอง และขีดความสามารถในการวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน และมีแนวโน้มว่าความสามารถทางด้านข้อมูล ได้แก่ การเข้าถึง การครอบครอง และการใช้ประโยชน์จากข้อมูล ที่แตกต่างกันของผู้ผลิตในตลาดอาจส่งผลต่อโครงสร้างตลาดและการแข่งขันในตลาดได้  การผูกขาดทางด้านข้อมูลกลายเป็นเงื่อนไขของการมีอำนาจตลาดและการมีอำนาจผูกขาดได้ ซึ่งก็คงจะต้องมีการกำกับดูแลเพื่อไม่ให้เกิดการใช้อำนาจผูกขาดนี้ในการแสวงหาผลประโยชน์ ขอบเขตการกำกับดูแลเพื่อให้เกิดการแข่งขันก็มีความจำเป็นต้องก้าวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี

ตลาดของสินค้าหรือบริการที่มีการแข่งขันด้วยการผลิตผลิตภัณฑ์เหมือนกัน (มีการทดแทนกันได้อย่างสมบูรณ์) เป็น Homogenous Product เน้นสร้างความได้เปรียบจากประสิทธิภาพการผลิตโดยการผลิตจำนวนมาก ๆ เพื่อให้มีต้นทุนการผลิตโดยเฉลี่ยต่ำลงจะมีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ทางเลือกหรือทางออกของผู้ผลิตทางหนึ่งคือ การสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตเพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภค หรือลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่กำหนด การตัดสินใจเลือกขนาดของการผลิต และการตั้งราคาสินค้าที่เหมาะสมกลายเป็นกลยุทธ์สำคัญของภาคธุรกิจที่ต้องตัดสินใจในยุคต่อไปของการแข่งขัน ธุรกิจขนาดใหญ่จะมีความได้เปรียบผู้ประกอบการรายอื่นเพียงบางมิติเท่านั้น ในขณะเดียวกัน ผู้ผลิตขนาดกลางขนาดย่อมจะมีทางเลือกในการแข่งขันมากขึ้น การเลือกขนาดที่เหมาะสมสอดคล้องกับตลาดเป้าหมายของธุรกิจ (พยายามกำหนด Firm-specific demand ของธุรกิจ) และการกำหนดกลยุทธ์ทางด้านราคาจะเป็นรูปแบบการแข่งขันของตลาดมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก เช่นในกรณีของผู้ส่งออก การแข่งขันเพื่อการส่งออกจะไม่ได้เป็นการแข่งขันเพื่อให้สามารถผลิตและขายได้ในราคาต่ำที่สุด แต่ผู้ผลิต (ผู้ส่งออก) ต้องสามารถเข้าใจความต้องการสินค้าของผู้บริโภคเป้าหมาย อาจจะไม่ใช่เพียงแค่ต้องการส่งออกไปที่ประเทศนี้ แต่ต้องกำหนดลงไปได้ด้วยว่าเป็นกลุ่มผู้ซื้อใดในประเทศนั้น ดังนั้น ในยุคต่อไป การแข่งขันจะไม่ได้เป็นการแข่งขันด้วยขนาดการผลิต แต่จะเป็นการแข่งขันเพื่อสร้างความแตกต่างหลากหลาย เรียกว่าเป็นการแข่งขันด้วย Economies of Scope มากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการต้องทำความเข้าใจปัจจัยที่มีผลต่อการสร้างความได้เปรียบภายใต้กลไกการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อให้สามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง

ที่มาจากภาพข่าว : https://www.posttoday.com