มะรุมมะตุ้มลงทุนลดหย่อนภาษี (รศ.ดร.ปริยดา)

รศ.ดร. ปริยดา สุขเจริญสิน

ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ
สถาบันบัณฑิตพัฒนนบริหารศาสตร์ (NIDA)

www.econ.nida.ac.th; pariyada.s@nida.ac.th


มะรุมมะตุ้มลงทุนลดหย่อนภาษี

เข้าสู่เดือนสุดท้ายของปี 2563 ปีที่มีเหตุการณ์ที่จะเป็นประวัติศาสตร์หลายเรื่อง ทั้ง COVID-19 การเลือกตั้งประธานาธิบดีของประเทศสหรัฐอเมริกา และเหตุการณ์ชุมนุมในบ้านเรา ทำให้ทั้งตลาดหุ้นและตลาดทองคำสร้างประวัติการณ์ร้อนแรงทั้งขาขึ้นและขาลงหลายจังหวะ แต่อย่าเฝ้าตลาดโน้นนี้เพลินจนลืมว่า เดือนนี้คือเดือนสุดท้ายของปีภาษี สำหรับคนที่ต้องการซื้อผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตและการลงทุนต่างๆ เพื่อลดหย่อนภาษี นี่คือโอกาสสุดท้ายแล้ว ซึ่งปี 2563 มีเงื่อนไขการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก มีการเกิดของผลิตภัณฑ์ใหม่มะรุมมะตุ้มจนทำให้บางคนเกิดความสับสนว่าอะไรดี อะไรคุ้ม เราลองมาดูรายละเอียดรายการต่างๆ ในช่วงโค้งสุดท้ายนี้กัน

สำหรับการหักลดหย่อนประกันชีวิตและการลงทุนนั้น อาจจำแนกได้เป็นในส่วนของประกันชีวิตที่มีการเพิ่มวงเงินประกันสุขภาพมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนมีแรงจูงใจในการทำประกันสุขภาพเพิ่มขึ้น แต่ทั้งประกันชีวิตและประกันสุขภาพก็มะรุมมะตุ้มอยู่ในวงเงินรวมกันไม่เกิน 100,000 บาท จึงทำให้ประชาชนที่มีการหักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตเต็มวงเงินอยู่แล้วแต่เดิม ไม่เกิดแรงจูงใจในการทำประกันสุขภาพเพิ่มเติมอีก ซึ่งหากพิจารณารายละเอียดของประกันแต่ละประเภทจะเห็นได้ว่า ประกันสองชนิดนี้มีความสำคัญ ลักษณะและความคุ้มครองที่แตกต่างกัน หากจะสนับสนุน ก็ควรจะเป็นส่วนเพิ่มเติมที่แยกวงเงินกัน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่แม้ตั้งใจจะสื่อโดยอ้อมให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการมีประกันสุขภาพ

ในอีกส่วนก็เป็นกองทุนน้องใหม่อย่างกองทุนเพื่อการออมพิเศษ (Super Savings Fund Extra Class หรือ SSF Extra) ซึ่งส่วนนี้ถือว่า Extra จริงๆ เพราะสามารถลดหย่อนภาษีได้เพิ่มเติมอีก 200,000 บาทโดยไม่ต้องรวมกับวงเงินอื่นใด เพื่อกระตุ้นการลงทุนในตลาดหุ้น ก็ดูเหมือนน่าจะบรรลุวัตถุประสงค์ได้ แต่ก็คลอดกองทุนเพื่อการออม (Super Savings Fund หรือ SSF) เกิดมาพร้อมกันอีก มะรุมมะตุ้มจนประชาชนอาจแยกไม่ออก เลือกไม่ถูก อีกทั้งเวลาตัดสินใจลงทุนใน SSF Extra นั้นมีแค่ 3 เดือน ผ่านแล้วผ่านเลย อย่างนี้จะทำให้ SSF Extra ทำภารกิจได้ตามเป้าประสงค์หรือไม่ เพราะอาจมีประชาชนบางส่วนไปลงทุนใน SSF เพราะแยกคู่นี้ไม่ออก

สำหรับค่าลดหย่อนอีกส่วนที่เราคุ้นเคยกันมานานว่ายอดรวมต้องอยู่ในวงเงิน 500,000 บาท ได้แก่ เงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund หรือ RMF) เงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการหรือกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน เงินสะสมที่สมาชิกจ่ายเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ และเบี้ยประกันแบบบำนาญ ซึ่งหากพิจารณาเงื่อนไขการลงทุนและการซื้อขายของการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีในกลุ่มนี้ แม้ว่าจะมะรุมมะตุ้มกันมากมาย แต่ต่างก็มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการออมภาคสมัครใจ สร้างแรงจูงใจและสนับสนุนให้ประชาชนชาวไทยมีเงินออมไว้ใช้ในวัยเกษียณนั่นเอง แม้ว่าปีนี้จะมีการยกเลิกเงื่อนไขการลงทุนขั้นต่ำของ RMF ไปแล้ว แต่ยังคงบังคับการซื้อต่อเนื่อง ห้ามเว้นเกินปี และยังเพิ่มอัตราให้สามารถซื้อได้ถึงร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน

แต่ที่น่าแปลกใจก็คือ เรามีเพื่อนใหม่โผล่เข้ามามะรุมมะตุ้มในวงเงินกองนี้ด้วย นั่นคือ กองทุนเพื่อการออม (Super Savings Fund หรือ SSF) ที่เพิ่งเกิดใหม่ปีนี้ โดยสามารถมากินส่วนแบ่งได้ค่อนข้างเยอะ เพราะสามารถซื้อได้ถึงร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมินเหมือน RMF แม้จะถูกจำกัดให้ลดหย่อนได้ไม่เกิน 200,000 บาท แต่ก็ประมาณร้อยละ 40 ของวงเงิน 500,000 บาทนี้เลยทีเดียว ซึ่งแม้ว่าการเกิดมาของ SSF จะมีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนการลงทุนให้ยาวนานขึ้น คือต้องถือครองถึง 10 ปีถึงจะขายได้แบบไม่ผิดเงื่อนไขในการลดย่อนภาษี อีกทั้งมีนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย แสดงให้เห็นว่าไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนเฉพาะตลาดหุ้นแต่อย่างใด แต่ถ้ามาวิเคราะห์กันจริงๆ แล้ว กองทุน SSF อาจจะไม่ใช่การลงทุนเพื่อการเกษียณ นอกจากว่าผู้ลงทุนจะอายุมาก เช่นอายุ 45-50 ปีขึ้นไป ถือไป 10 ปี เกษียณพอดี แต่สำหรับผู้ลงทุนกลุ่มที่อายุน้อยกว่านั้น เมื่อครบกำหนดของ SSF ก็คงขายก่อนเกษียณกันถ้วนหน้า เพื่อจะนำเงินไปใช้ หรือวนมาลงทุนต่ออะไรก็ตามแต่ จึงไม่สามารถมั่นใจได้ว่าการลงทุนใน SSF จะเกิดขึ้นเพื่อเป็นแรงจูงใจให้ออมเพื่อวัยเกษียณแม้ว่าจะต้องถือครองถึง 10 ปีก็ตาม

การนำ SSF มาคำนวณวงเงินลดหย่อนภาษีมะรุมมะตุ้มรวมในกอง 500,000 บาทนี้ ส่งผลให้ประชาชนบางกลุ่มที่เคยเลือกลงทุนใน RMF เพื่อใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี อาจจะมาสนใจ SSF แทน เพราะสามารถขายคืนก่อนอายุ 55 ปีได้ และไม่ได้บังคับการลงทุนต่อเนื่องอย่าง RMF หรือแม้แต่ในส่วนของประกันบำนาญที่ระยะเวลาที่จะได้รับผลประโยชน์ช่างยาวนาน ก็อาจจะมีประชาชนสนใจน้อยลง ซึ่งอาจจะลามไปถึงการลดเงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพอีกด้วย

หากพิจารณาตามประเด็นต่างๆ จะเห็นได้ว่า การนำกองทุน SSF ที่ไม่เข้าพวก เพราะอาจะไม่ได้มีเงื่อนไขการเกิดขึ้นมาเพื่อการเกษียณชัดๆ มารวมกับรายการอื่นๆ ที่ชัดเจนเรื่องการเกษียณอย่างรายการที่กล่าวถึงเป็นต้นนั้น อาจจะส่งผลให้ประชาชนมีสัดส่วนการลงทุนในกองทุนที่มีไว้เพื่อออมสำหรับวัยเกษียณเดิมน้อยลงไป ทำให้ภาครัฐไม่บรรลุวัตถุประสงค์ในการนำสิทธิประโยชน์ทางภาษีมาจูงใจให้ประชาชนวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ เพราะประชาชนสามารถได้สิทธิประโยชน์เท่าเดิม แต่ทดแทนด้วยกองทุน SSF ที่ยืดหยุ่นกว่า จึงทำให้ SSF ที่เกิดขึ้นมาและอาจครองสัดส่วนที่มากกว่าสัดส่วนการลงทุนเพื่อการเกษียณเดิมนั้น แม้จะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้ประชาชนมีการออมการลงทุนระยะยาวขึ้น แต่ไม่สามารถจูงใจได้ว่าประชาชนจะถือยาวนานแค่ไหน จะถึงวัยเกษียณเลยหรือไม่

ณ จุดนี้ คงต้องกล่าวประโยคยอดฮิตว่า ถ้าเขา (ประชาชน) จะลงทุนยาว ถือต่อเนื่องไปถึงเกษียณ (ภาครัฐ) อยู่เฉยๆ เขา (ประชาชน) ก็จะถือยาวเอง

 

ที่มาภาพข่าว  : https://www.posttoday.com