โควิดกับทางเลือกที่สุดโต่งของรัฐบาล (ผศ.ดร.ทองใหญ่)
ผศ.ดร.ทองใหญ่ อัยยะวรากูล
คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
www.econ.nida.ac.th
โควิดกับทางเลือกที่สุดโต่งของรัฐบาล
ถึงตอนนี้หลายคนคงแปลกใจและดีใจไปพร้อม ๆ กันว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่ควบคุมสถานการณ์ปัญหาการระบาดโควิดได้ดีมาก กล่าวคือ มีจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศและอัตราการตายที่ต่ำมาก ถึงแม้ว่าจะมีบางท่านที่ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับตัวเลขที่ประกาศอย่างเป็นทางการไว้ในทำนองว่า ปัญหาที่แท้จริงในประเทศไทยรุนแรงกว่านี้มาก แต่ที่ประเทศไทยพบน้อยก็เพราะตรวจน้อยบ้าง หรือปกปิดตัวเลขบ้าง ซึ่งในความเห็นของผมนั้น ผมคิดว่าไม่น่าจะใช่ เพราะหากมีการตรวจน้อยแต่มีการระบาดในประเทศมากจริง จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคน่าจะปรากฏให้เห็นกันอยู่เพราะไม่ใช่สิ่งที่จะมาปกปิดกันได้ง่าย ๆ
ปัญหาที่แท้จริงน่าจะอยู่ที่ว่า แม้ประเทศไทยจะดูเหมือนรอดพ้นจากการประสบปัญหาการระบาดของโควิดอย่างรุนแรงมาได้ ต่างจากหลายประเทศที่มีผู้เสียชีวิตนับหมื่นนับแสนคน แต่กลับไม่มีใครทราบแน่ว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยไม่รุนแรงดังเช่นในประเทศอื่น เรื่องนี้เป็นที่สนใจในระดับโลก เพราะแม้แต่หนังสือพิมพ์ชื่อดังเช่น The New York Times ก็เคยเผยแพร่บทความวิเคราะห์เรื่องนี้ไว้แล้วว่า ความโชคดีของประเทศไทยนั้น ไม่มีใครอธิบายได้ว่าเป็นเพราะปัจจัยอะไรกันแน่ แต่ถ้าจะให้เดาคร่าว ๆ ก็อาจเป็นเพราะหลาย ๆ ปัจจัย เช่น การที่คนไทย (ในช่วงแรก ๆ) มีวินัยในการใส่หน้ากากอนามัยค่อนข้างเคร่งครัด ระบบสาธารณสุขของประเทศไทยที่เข้มแข็ง ประเพณีไทยที่ไม่มีการถูกเนื้อต้องตัว สภาพอากาศของไทยที่ค่อนข้างร้อนไม่เหมาะสมกับการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส หรือแม้แต่ความเชื่ออื่น ๆ เช่น การที่คนไทยฉีดวัคซีน BCG ตั้งแต่เด็ก หรือลักษณะทางพันธุกรรมของคนในแถบภูมิภาคนี้ที่อาจมีศักยภาพต่อต้านไวรัสได้ดีกว่าคนจากที่อื่น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนแต่เป็นเพียงการคาดคะเนและยังต้องมีการศึกษาเชิงลึกต่อไปในอนาคต เนื่องจากหลายประเทศที่มีลักษณะบางข้อเหมือนประเทศไทยก็ยังประสบปัญหา เช่น ญี่ปุ่นก็เคร่งครัดเรื่องอนามัยและการใส่หน้ากากอนามัย ประเทศทางตะวันออกกลางก็มีอากาศร้อน หลายประเทศอื่นทั่วโลกก็บังคับให้ฉีดวัคซีน BCG ตั้งแต่เด็ก และคนเมียนมาร์ก็มีลักษณะทางพันธุกรรมไม่น่าจะต่างจากคนไทยมาก หรือคนไทยที่อาศัยอยู่ที่ประเทศอื่นก็มีข่าวว่าติดเชื้อจำนวนมากไม่ต่างจากคนชาติอื่น
การที่ประเทศไทยเรารอด (อย่างน้อยก็ในช่วงที่ประเทศอื่น ๆ ประสบปัญหาการระบาดรอบแรก) โดยที่เราไม่รู้ว่าเรารอดเพราะอะไรนั้น เป็นปัญหาสำคัญมากในเชิงนโยบาย เพราะนั่นเท่ากับเราไม่รู้ว่าความสัมพันธ์ในเชิงเหตุและผล (Causality) ของการที่ประเทศไทยรอดพ้นจากปัญหานั้นคืออะไร และเมื่อไม่รู้ ก็ย่อมไม่สามารถจะกำหนดนโยบายที่มีประสิทธิภาพหรือชัดเจนลงไปได้ จะทำได้ก็แต่เพียงทำสิ่งที่เคยทำมารวม ๆ ไปและหวังให้เกิดผลเหมือนเดิมเท่านั้น ต่างจากในสถานการณ์ที่หากเราสามารถระบุปัจจัยที่ช่วยให้รอดพ้นจากปัญหาโควิดได้ชัดเจน ก็จะช่วยให้ออกแบบมาตรการที่เหมาะสมได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น เช่น หากสาเหตุที่คนไทยติดโควิดน้อยเป็นเพราะพันธุกรรมของความเป็นคนไทยที่ทำให้ติดเชื้อได้ยาก การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจก็อาจเป็นนโยบายที่เหมาะสมเพราะคนไทยมีภูมิคุ้มกันโดยธรรมชาติ หรือหากสาเหตุที่คนไทยติดโควิดน้อยเป็นเพราะการใส่หน้ากากอนามัยจริง รัฐก็อาจต้องมีมาตรการที่เคร่งครัดขึ้นอาจถึงกับต้องบังคับให้ใส่หน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ และจัดสรรทรัพยากรไปกับเรื่องการผลิตและการอำนวยให้เข้าถึงหน้ากากมากกว่านี้
แต่ด้วยสถานการณ์ในปัจจุบันที่ไม่มีใครทราบแน่ว่า ปัจจัยใดเป็นสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้สถานการณ์โควิดในประเทศไทยไม่รุนแรงนัก สิ่งที่รัฐบาลทำในขณะนี้คือการเลือกมาตรการในลักษณะอนุรักษ์นิยมแบบเคร่งครัดไว้ก่อน แล้วจึงค่อย ๆ ผ่อนปรนแต่ละเรื่องอย่างค่อยเป็นค่อยไปจึงน่าจะเป็นเรื่องที่เหมาะสมแล้ว แม้จะมีเสียงวิจารณ์ค่อนข้างมากว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อภายในประเทศไทยที่อยู่ในระดับศูนย์มาหลายวันนั้น ต่ำเกินไป เพราะไม่ใช่จุดที่ดีที่สุดที่จะสร้างความสมดุลระหว่างเป้าหมายเชิงสาธารณสุขและเป้าหมายเชิงเศรษฐกิจของประเทศ
ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ดีที่สุดจะเป็นเท่าใดนั้นคงยากที่จะตอบได้อย่างชัดเจน แต่สำหรับโควิดซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ที่เรามีความรู้เกี่ยวกับโรคนี้น้อยมากนั้น ผมเห็นว่า แม้เราสามารถคำนวณได้ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ดีที่สุดควรเป็นเท่าใดก็ตาม การควบคุมให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็นไปตามต้องการนั้นคงทำได้ยากหรือเป็นไปไม่ได้ และเราอาจต้องเลือกระหว่างผลลัพธ์สุดโต่ง (Corner outcome) สองแบบ คือ การทุ่มทรัพยากรเพื่อหวังรักษาตัวเลขผู้ติดเชื้อให้ต่ำที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อหวังให้เราประสบความสำเร็จในเชิงสาธารณสุขและยอมล้มเหลวในเชิงเศรษฐกิจ หรือการยอมให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงจนถึงระดับควบคุมไม่ได้อย่างที่หลาย ๆ ประเทศประสบปัญหาอยู่ซึ่งน่าจะส่งผลให้เราล้มเหลวทั้งในเชิงสาธารณสุขและเศรษฐกิจ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ ไม่ว่าจะทางเลือกใดก็ตาม ผมคิดว่าเราไม่น่าจะหลีกเลี่ยงความเสียหายในทางเศรษฐกิจพ้น การพยายามรักษาตัวเลขผู้ติดเชื้อให้ต่ำเช่นที่ผ่านมาจึงน่าจะเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสมที่สุดท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เป็นอยู่
สิ่งที่รัฐบาลควรทำในขณะนี้จึงไม่น่าจะเป็นการพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการบางอย่างที่ค่อนข้างเสี่ยงที่จะส่งผลให้เกิดการระบาด เช่น การกระตุ้นการท่องเที่ยวโดยการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติบางกลุ่มเข้ามาในประเทศ แต่ควรเน้นการบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสียหายที่เกิดกับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มผู้สูงอายุที่รุนแรงกว่ากลุ่มอื่น ในประเด็นนี้ มาตรการให้การดูแลช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาจากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาหลายมาตรการ จึงอาจเป็นมาตรการที่ไม่สามารถเข้าถึงทั้งสองกลุ่มนี้ได้ดีเท่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการที่กำหนดให้มีการลงทะเบียนออนไลน์ต่าง ๆ ซึ่งผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มผู้สูงอายุจำนวนมากยังขาดความรู้หรืออุปกรณ์เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศที่จำเป็นที่จะช่วยให้เข้าถึงประโยชน์จากมาตรการได้
เรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่รัฐบาลควรทำคือ การจัดลำดับความสำคัญของการจัดสรรงบประมาณ โดยคำนึงถึงความจำกัดของทรัพยากรที่รุนแรงยิ่งขึ้นในสถานการณ์โควิดจากการจัดเก็บรายได้ที่ลดลงและรายจ่ายที่เพิ่มมากขึ้น เรื่องบางเรื่องซึ่งแม้รัฐบาลจะให้เหตุผลว่าสำคัญและจำเป็น แต่หากมีเรื่องอื่นที่สำคัญกว่า จำเป็นกว่า และเร่งด่วนกว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ ก็อาจควรต้องชะลอเรื่องที่สำคัญน้อยกว่าไปก่อนครับ
ที่มาภาพข่าว : https://www.posttoday.com