COVID-19 กับผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวไทยในวงกว้าง (รศ.ดร.อนันต์)

รศ.ดร.อนันต์ วัฒนกุลจรัส
คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
www.econ.nida.ac.th

บทเรียน (เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์) จากโรคระบาดโควิด-19

ผลกระทบที่ไม่คาดฝันจากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 มีความรุนแรง น่ากลัว และรวดเร็วอย่างมาก ด้วยมาตรการการรับมือของทุกประเทศทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นการ Lockdown, Home-local-state-quarantine, State of emergency, Curfew, Social distancing, fit-to-fly ฯลฯ อีกทั้งพฤติกรรม ทัศนคติ รสนิยม ความอ่อนไหวส่วนบุคคล เช่น การระมัดระวังรักษาตัว ความหวาดกลัว ความกังวล ความตื่นตระหนกของแต่ละบุคคล ส่งผลให้การเดินทางและการท่องเที่ยวของคนไทยภายในประเทศและคนต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยลดลง อุปสงค์การเดินทางและท่องเที่ยวทั้งหมดในประเทศไทยจึงลดลงอย่างมากและรวดเร็ว

ในขณะที่อุปทานการท่องเที่ยวยังไม่ทันได้ปรับตัวหรือปรับตัวได้ช้ามาก แต่อุปสงค์การท่องเที่ยวลดลงอย่างมากและรวดเร็วเช่นนี้ จึงทำให้ราคาสินค้าและบริการท่องเที่ยวต่าง ๆ ลดลง หากธุรกิจท่องเที่ยวมีความอ่อนไหวสูงต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาแล้ว สัดส่วนการลดลงของปริมาณผลผลิตและการบริการท่องเที่ยวก็จะมากกว่าสัดส่วนการลดลงของราคา ในทางกลับกัน หากธุรกิจท่องเที่ยวมีความอ่อนไหวต่ำหรือไม่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาแล้ว สัดส่วนการลดลงของปริมาณผลผลิตและการบริการท่องเที่ยวก็จะน้อยกว่าสัดส่วนการลดลงของราคา อย่างไรก็ดี ยอดขายสินค้าและบริการท่องเที่ยวภายในประเทศย่อมลดลงไม่มากก็น้อย ไม่เร็วก็ช้า ส่งผลให้ธุรกิจท่องเที่ยวลดการผลิตสินค้าและลดการให้บริการต่าง ๆ อย่างที่จะหลีกเลี่ยงได้ยาก เช่น โรงแรมและที่พักต่าง ๆ ลดการเปิดห้องพักและการให้บริการอื่น ๆ และการบริการเดินทางขนส่งผู้โดยสารก็จะลดเที่ยวการให้บริการหรือยกเลิกเส้นทางการให้บริการต่าง ๆ มากกว่าที่จะเปิดให้บริการตามปกติในราคาที่ถูกลง เป็นต้น

เมื่อยอดขายสินค้าและบริการท่องเที่ยวภายในประเทศลดลง ธุรกิจท่องเที่ยวจำเป็นต้องประคองและรักษาธุรกิจให้อยู่รอดได้ในช่วงวิกฤตินี้ ธุรกิจท่องเที่ยวที่สายป่านยาวย่อมมีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอและอยู่รอดต่อไปได้ ส่วนธุรกิจท่องเที่ยวที่สายป่านสั้นมีทางเลือกเพื่อความอยู่รอดคือการปรับลดต้นทุนการผลิตและการบริการลง ไม่ว่าจะเป็นการลดปริมาณการใช้วัตถุดิบหรือปัจจัยการผลิตต่าง ๆ ตลอดจนการลดการจ้างงาน ตั้งแต่การลดการทำงานล่วงเวลา การลดชั่วโมงหรือวันในการทำงานตามปกติโดยไม่ได้รับค่าแรง การลดโบนัสและเงินเดือน การปลดพนักงาน อีกทั้งการลดการใช้ทุน อุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ การลด/การปิดการใช้สำนักงาน การลด/ยกเลิกการใช้หรือเช่าพื้นที่ ฯลฯ ซึ่งย่อมกระทบธุรกิจต่อเนื่องอื่น ๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ธุรกิจการขนส่งผู้โดยสาร (บก น้ำ ราง อากาศ) โรงแรม ร้านอาหาร บริการส่วนบุคคล นันทนาการ ฯลฯ อีกทั้งธุรกิจนอกการท่องเที่ยว อย่างเช่น เครื่องแต่งกาย เครื่องหนัง รองเท้า อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ธุรกิจเหล่านี้เป็นตัวอย่างสาขาการผลิตและบริการขั้นกลางให้กับภาคการท่องเที่ยวที่จะได้รับผลกระทบทางอ้อม

ธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของภาคการท่องเที่ยวจะปรับเปลี่ยน/ลดการใช้วัตถุดิบและปัจจัยการผลิตทั้งแรงงานและทุนเช่นกัน ซึ่งการลดกิจกรรมการผลิตสินค้าและการให้บริการต่าง ๆ ย่อมทำให้มูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจโดยรวมมีมูลค่าที่ลดลง นั่นคือมูลค่าผลตอบแทนต่อแรงงานและทุนลดลง และส่งผลกระทบต่อรายได้ของภาคครัวเรือนที่เป็นเจ้าของปัจจัยแรงงานและทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยผลกระทบจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่าปัจจัยแรงงานและทุนเหล่านั้นเป็นปัจจัยจำเพาะสาขาหรือสามารถปรับเปลี่ยนไปใช้งานในสาขาต่าง ๆ ได้ โดยถ้าเป็นปัจจัยแรงงานและทุนจำเพาะสาขาก็จะได้รับผลกระทบที่รุนแรงกว่าปัจจัยแรงงานและทุนที่สามารถใช้งานได้อย่างยืดหยุ่นในหลากหลายสาขา โดยสามารถเคลื่อนย้ายหรือปรับเปลี่ยนการใช้งานได้อย่างคล่องตัวมากกว่า

เมื่อรายได้ภาคครัวเรือนได้รับผลกระทบทางลบข้างต้น ย่อมส่งผลกระทบต่อการบริโภค การออมหรือการเป็นหนี้ของภาคครัวเรือน หากการออมหรือการเป็นหนี้ไม่เปลี่ยนแปลง ครัวเรือนก็จำเป็นต้องลดการบริโภคลง ทั้งการบริโภคที่จำเป็นและไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพ อันส่งผลต่อสวัสดิการครัวเรือนที่จะลดตามลงมา แต้ถ้าหากครัวเรือนยังคงการบริโภคให้เท่าเดิม ครัวเรือนก็จำเป็นต้องปรับลดการออมหรือเพิ่มภาระหนี้เพื่อให้คงการบริโภคที่จำเป็นและไม่จำเป็นต่อการยังชีพ ซึ่งแน่นอนจะกระทบต่อภาระหนี้ครัวเรือน ทั้งหมดนี้ย่อมกระทบการกระจายรายได้และความยากจนในสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผลกระทบต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ยังไม่นับรวมผลกระทบต่อเนื่องไปยังภาคการค้าระหว่างประเทศ ภาคการลงทุนในประเทศ และภาครายได้และรายจ่ายของภาครัฐ โดยเฉพาะการลดลงของรายได้จากการจัดเก็บภาษีต่าง ๆ ของภาครัฐ การเพิ่มขึ้นของรายจ่ายของภาครัฐจากการดำเนินมาตรการหรือนโยบายต่าง ๆ เพื่อรับมือกับ COVID-19 ไม่ว่าจะเป็นมาตรการสาธารณสุขที่สู้กับ COVID-19 โดยตรง มาตรการเยียวยาธุรกิจและครัวเรือน มาตรการช่วยเหลือแรงงาน มาตรการกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ฯลฯ

ที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นเพียงบางเสี้ยวส่วนของผลกระทบที่มาจาก COVID-19 ที่กระเทือนวงจรธุรกิจท่องเที่ยวและห่วงโซ่อุปทานของภาคการท่องเที่ยว แต่ยังมีผลกระทบต่างๆ อีกมากมายที่ยังไม่ได้กล่าวถึงในที่นี้ อย่างเช่น ผลกระทบต่อการจ้างงานในธุรกิจท่องเที่ยว 12 สาขา ในจังหวัดท่องเที่ยวที่สำคัญ 16 จังหวัดทั้ง 5 ภาคของไทย กลยุทธ์และมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานในภาคการท่องเที่ยวในภาวะวิกฤต ฯลฯ โดยเนื้อหาที่ยังไม่ได้ครอบคลุมเหล่านี้ ผู้สนใจสามารถติดตามได้ในงานเสวนาเรื่อง“โควิด-19 กับเศรษฐกิจไทย การจ้างงาน และภาคการท่องเที่ยว” ในช่วงบ่ายของวันอังคารที่ 14 กรกฎาคม 2563 ซึ่งจัดโดยคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จึงใคร่ขอเรียนเชิญผู้สนใจเข้ารับฟังการเสวนาครั้งนี้ ผ่านการลงทะเบียนด้วย QR Code ง่ายๆ นี้เลยครับ

ที่มาภาพข่าว : https://www.posttoday.com