ผศ.ดร.ทองใหญ่ อัยยะวรากูล
คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
www.econ.nida.ac.th
เมื่อโจรคิดแบบนักเศรษฐศาสตร์
คุณูปการที่ยิ่งใหญ่ประการหนึ่งที่ ศาสตราจารย์ Gary Becker แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกผู้ล่วงลับไปแล้วได้ทิ้งไว้ให้กับโลกของเรา คือ การเอาวิชาเศรษฐศาสตร์ไปประยุกต์กับวิชาอื่น ๆ จนทำให้ได้นโยบายหรือมาตรการในทางสังคมศาสตร์หลายอย่างที่น่าสนใจและมีพลัง และหนึ่งในผลงานของท่านก็คือการผสมเศรษฐศาสตร์เข้ากับอาชญาวิทยา จนเกิดสาขาวิชาหนึ่งในทางเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อว่า อาชญาเศรษฐศาสตร์ (Economics of crime) หลักสำคัญของอาชญาเศรษฐศาสตร์ข้อหนึ่งมีอยู่ว่า คนที่เป็นโจรก็ไม่ต่างจากบุคคลทั่วไปที่มีพฤติกรรมเป็นเหตุเป็นผล (Rational behavior) ในเชิงเศรษฐศาสตร์ โดยโจรจะตัดสินใจก่ออาชญากรรมก็ต่อเมื่อ ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับสูงกว่าโทษที่จะคาดว่าจะได้รับจากการก่ออาชญากรรมนั้น
คำว่า คาดว่าจะได้รับ เป็นศัพท์ในเชิงเทคนิคที่ใช้เมื่อมีความไม่แน่นอนขึ้น เช่น ในการซื้อล็อตเตอรี่ แม้รางวัลที่หนึ่งจะเท่ากับเงินรางวัลหนึ่งล้านบาท แต่การซื้อล็อตเตอรี่อาจจะถูกหรือไม่ถูกรางวัลก็ได้ การคำนวณรางวัลที่คาดว่าจะได้รับจากการซื้อล็อตเตอรี่จึงต้องมีการเอาความน่าจะเป็นในการถูกรางวัลเข้าพิจารณาด้วย
หลักการเทียบประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับกับโทษที่คาดว่าจะได้รับของการก่ออาชญากรรมช่วยให้นักเศรษฐศาสตร์สามารถจำแนกปัจจัยที่ส่งผลต่อการก่ออาชญากรรมออกเป็น 4 ส่วน คือ (1) ประโยชน์ของการก่ออาชญากรรม (2) ความน่าจะเป็นที่การก่ออาชญากรรมสำเร็จ (3) โทษของการก่ออาชญากรรม และ (4) ความน่าจะเป็นที่อาชญากรถูกลงโทษ เช่น ในการตัดสินใจปล้นร้านทอง เหตุการณ์ปล้นร้านทองมักเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ราคาทองสูง (ปัจจัยที่ 1) โจรมักเลือกปล้นร้านที่มีการรักษาความปลอดภัยต่ำ (ปัจจัยที่ 2) และมักใส่หน้ากากเพื่อพรางหน้าไม่ให้คนจำได้ (ปัจจัยที่ 3) หรือในการค้ายาเสพติด แรงจูงใจที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งในการค้ายาเสพติดก็คือ ผลประโยชน์มหาศาลจากการค้ายาเสพติด (ปัจจัยที่ 1) ซึ่งมักทำได้สำเร็จเนื่องจากกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เพียงพอ และไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลการซื้อขายยาเสพติดระหว่างบุคคลซึ่งทำได้ง่ายและเป็นความลับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันซึ่งการค้าออนไลน์เป็นที่แพร่หลาย จึงเป็นที่ปรากฏว่ามีผู้ค้ายาเสพติดลักลอบส่งสินค้าทางช่องทางการส่งสินค้าปกติ เช่น ไปรษณีย์ หรือบริษัทขนส่งเอกชน เนื่องจากโอกาสถูกจับได้มีน้อยมาก (ปัจจัยที่ 2 และปัจจัยที่ 3)
แนวคิดข้างต้นไม่เพียงแต่ช่วยให้เราสามารถเข้าใจพฤติกรรมของอาชญากรได้อย่างเป็นระบบเท่านั้น หากยังสามารถเป็นเครื่องมือที่มีพลังที่ช่วยให้รัฐสามารถออกแบบนโยบายการป้องกันอาชญากรรมที่เหมาะสมกับอาชญากรรมแต่ละประเภทได้อีกด้วย โดยผมขอสรุปบทเรียนสำคัญจากบทความทางวิชาการในสาขาอาชญาเศรษฐศาสตร์หลาย ๆ เรื่องที่ผมคิดว่ามีประโยชน์ และตรงกับบริบทของประเทศไทยไว้ 2 ข้อ ดังนี้ครับ
-
การแก้ปัญหาอาชญากรรมควรใช้มาตรการที่ตรงกับปัจจัยที่ก่อให้เกิดอาชญากรรมนั้น ไม่ต่างกับการรักษาโรคที่ควรใช้ยาที่รักษาที่ระดับสาเหตุของโรค การใช้ยาผิดนอกจากเป็นการลดทอนประสิทธิภาพของการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมแล้ว ในบางทียังอาจไม่เกิดประสิทธิผลเลยแม้แต่น้อย ตัวอย่างเช่น ปัญหาการละเมิดกฎจราจร ซึ่งถ้าพิจารณาโดยเปรียบเทียบสัดส่วนแล้วจะเห็นได้ว่า ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์มีสัดส่วนการกระทำความผิดสูงกว่าผู้ขับขี่รถยนต์อย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากความน่าจะเป็นของผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ที่จะถูกลงโทษมีน้อยกว่าผู้ขับขี่รถยนต์มาก เพราะผู้กระทำความผิดสามารถหลบหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ง่ายกว่า อีกทั้งกล้องบันทึกภาพในท้องถนนก็มักไม่สามารถบันทึกภาพผู้กระทำความผิดได้ชัดเจน
ข้อเสนอที่ให้เพิ่มโทษผู้กระทำความผิดกฎหมายจราจรแม้จะเป็นเรื่องที่ดูเหมือนง่ายแต่ในทางปฏิบัติไม่น่าจะส่งผลเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ได้ เพราะแม้โทษจะรุนแรงขึ้น แต่หากความน่าจะเป็นในการถูกจับและถูกลงโทษน้อยมากเช่นเดิม จนผู้ขับขี่คิดว่ายังไงก็ไม่มีทางถูกลงโทษแล้ว ก็ย่อมไม่ทำให้ผู้กระทำความผิดเกิดความเกรงกลัวขึ้นได้ มาตรการที่เหมาะสมกว่าในเรื่องดังกล่าวน่าจะเป็นการแก้ไขกฎหมายให้ประชาชนทั่วไปที่มีหลักฐานการกระทำความผิด เช่น หลักฐานจากกล้องติดหน้ารถ สามารถส่งหลักฐานดังกล่าวเพื่อเอาผิดผู้กระทำความผิดเพื่อได้รับเงินรางวัลส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดมาจากค่าปรับผู้กระทำความผิด
อีกตัวอย่างหนึ่งที่ผมขอยกเพื่อเปรียบเทียบกันก็คือ ปัญหาหาบเร่แผงลอยบนทางเท้า ปัญหานี้เกิดจากทั้งประโยชน์ในการขายของบนทางเท้าซึ่งน่าจะสูงมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีคนพลุกพล่าน (ปัจจัยที่ 1) ความน่าจะเป็นในการขายของสำเร็จเพราะคนซื้อก็อยากซื้อเพราะสะดวก (ปัจจัยที่ 2) โทษปรับของการวางแผงลอยบนทางเท้าที่ต่ำมาก คือ มีโทษปรับสูงสุดเพียง 2000 บาท น้อยกว่าประโยชน์คือกำไรที่อาจได้รับจากการขาย และน้อยกว่าค่าเช่าที่ในห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง (ปัจจัยที่ 4) และความน่าจะเป็นในการถูกลงโทษที่ต่ำหากเกิดการทุจริตของเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบดูแล (ปัจจัยที่ 3) จากตัวอย่างนี้คงเห็นนะครับว่าเรื่องหาบเร่แผงลอยแม้จะดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ในเชิงอาชญาเศรษฐศาสตร์เป็นปัญหาที่เกิดจากการหย่อนปัจจัยครบทั้ง 4 ข้อ มาตรการที่มีประสิทธิผลในการแก้ปัญหาก็ควรมุ่งแก้ให้ครบทุกข้อ ทั้งการเพิ่มโทษให้สูงกว่าประโยชน์ที่พ่อค้าแม่ค้าจะได้รับจากการตั้งแผง การปราบปรามปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย และที่สำคัญซึ่งผมยังไม่เห็นก็คือ ควรลงโทษผู้ซื้อด้วยครับเพื่อลดประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการกระทำความผิด ในทำนองที่ว่า พอไม่มีคนซื้อก็ไม่มีคนขาย
-
ปัจจัยหลายข้อในอาชญากรรมบางประเภทมีความสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างซับซ้อน มาตรการที่ลดปัจจัยหนึ่ง อาจเพิ่มอีกปัจจัยหนึ่งจนทำให้ปัญหายิ่งรุนแรงขึ้น เช่น ในการแก้ปัญหายาเสพติดนั้นมาตรการที่เป็นที่นิยมและถูกนำมาใช้เป็นอันดับแรกก็คือ การกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงจนในปัจจุบันโทษสูงสุดของหลายประเทศอยู่ที่การประหารชีวิต อย่างไรก็ตาม มีงานศึกษาวิจัยหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่า โทษที่รุนแรงเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ส่งผลให้ราคายาพุ่งสูงขึ้นดังที่เป็นอยู่ เช่น ยาบ้าซึ่งซื้อขายกันสูงถึงราคาเม็ดละ 500 บาทในช่วงที่มีการปราบปรามยาเสพติดอย่างเข้มงวดนั้น มีต้นทุนเพียงเม็ดละ 50 สตางค์ โทษที่รุนแรงจึงส่งผลให้ประโยชน์จากการค้ายาเสพติดสูงขึ้นถึง 1000 เท่าเมื่อเทียบกับต้นทุน ความสัมพันธ์ระหว่างโทษและประโยชน์จากการก่ออาชญากรรมบางประเภทดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าเหตุใดมาตรการแก้ปัญหายาเสพติดอย่างรุนแรงเด็ดขาด เช่น การประกาศสงครามยาเสพติด นอกจากไม่ช่วยแก้ปัญหาแล้ว ยังมักทำให้ปัญหารุนแรงยิ่งขึ้น
ในท้ายที่สุดนี้ เราต้องไม่ลืมกันนะครับว่านโยบายจากอาชญาเศรษฐศาสตร์จะประสบผลสำเร็จได้นั้น ขึ้นอยู่กับข้อสมมติสำคัญที่ว่าโจรต้องคิดแบบนักเศรษฐศาสตร์ที่รู้จักเปรียบเทียบผลที่คาดว่าจะได้กับผลที่คาดว่าจะเสียจากการกระทำของตนเองด้วยนะครับ ข้อสมมตินี้อาจะไม่สมจริงหรือใช้ไม่ได้กับพฤติกรรมของโจรไทยหรือคนไทยทั่วๆ ไปก็ได้ครับ มิเช่นนั้นสลากกินแบ่งคงไม่สร้างรายได้ให้กับรัฐบาลเป็นกอบเป็นกำอย่างที่เป็นอยู่ขณะนี้
ที่มาภาพข่าว : https://www.posttoday.com