ความยากเย็นของ “การบังคับใช้กฎหมาย” (ศ.ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์)

ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ (ศาสตราจารย์ 11)
ศาสตราจารย์ได้รับเงินเดือนขั้นสูง (ศาสตราจารย์ 11) และ
ผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ
คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า

www.econ.nida.ac.th; piriya.pholphirul.blogspot.com

ความยากเย็นของ “การบังคับใช้กฎหมาย”

               ถ้าไปถามผู้บริหารระดับสูงของประเทศ (เช่น นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีในกระทรวงที่เกี่ยวข้อง) ว่าภาครัฐมีการแก้ไขปัญหา PM2.5 ที่เกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหนแล้ว ผมเชื่อว่าทุกท่านต้องตอบว่า “ภาครัฐได้ดำเนินการแก้ไขแล้ว” โดยได้ออก 12 มาตรการเร่งด่วนออกมาซึ่งได้แก่ (1) ขยายเขตพื้นที่จำกัดรถบรรทุกเข้ากรุงเทพฯจากวงแหวนรัชดาภิเษก เป็นวงแหวนกาญจนาภิเษก (2) ห้ามรถบรรทุกเข้าพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯในวันคี่ (3) ตรวจวัดควันดำรถโดยสาร (ไม่ประจำทาง) ทุกคัน (4) กรมการขนส่งทางบกปฏิบัติการร่วมกับกองบังคับการตำรวจจราจรในการตรวจสอบ ตรวจจับรถควันดำสำหรับรถโดยสารและรถบรรทุก (5) ตรวจสอบโรงงานที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองหากไม่เป็นไปตามมาตรฐานให้สั่งปรับปรุงแก้ไข (6) กำกับให้กิจกรรมการก่อสร้างรถไฟฟ้าและก่อสร้างอื่น ๆ เป็นไปตามข้อกำหนด (7) ไม่ให้มีการเผาในที่โล่ง ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้ที่กระทำการเผา (8) จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาศัยอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องควบคุมการเผาในที่โล่งในช่วงสถานการณ์วิกฤติฝุ่นละออง (9) ลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีปริมาณกำมะถันไม่เกิน 10 PPM ซึ่งเป็นน้ำมันที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองน้อย (10) ขอความร่วมมือลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวมาทำงานและรถยนต์ของส่วนราชการต้องผ่านมาตรฐานควันดำทุกคัน (11) ให้ภาครัฐ ภาคเอกชนและสถานศึกษาสนับสนุนการจัดโครงการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องสำหรับรถยนต์ดีเซลที่มีอายุเกิน 5 ปี และ (12) สร้างการรับรู้และเข้าใจแก่ประชาชน เกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละออง

               ถึงจะมีการออกกฎหมายหรือมาตรการออกมาอย่างมากมายก็ตาม แต่สิ่งที่เป็นปัญหาสำหรับภาครัฐในการแก้ไขปัญหาในทุกเรื่อง (ไม่เฉพาะเพียงเรื่องฝุ่น PM2.5 นี้) ก็คือ “การไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายหรือมาตรการ (Enforcement)”  ที่ออกมาได้จริง อันส่งผลทำให้มาตรการหรือกฎหมายที่ออกมานั้นจึงเป็นเพียง “กระดาษ” ใบหนึ่งที่ไม่มีความศักดิ์สิทธิ์อะไร

               ขอยกตัวอย่างประสบการณ์ในการแจ้งเผาขยะและเผาที่นาแถวถนนศรีนครินทร์-ร่มเกล้าตัดใหม่ที่ผมเพิ่งประสบพบเจอในวันเสาร์ที่ผ่านมาที่กระแส PM 2.5 อยู่ในขั้นพีค ครอบครัวเรากำลังขับรถผ่านถนนศรีนครินทร์-ร่มเกล้าตัดใหม่ ซึ่งเป็นถนนที่มีการเผาไร่นาและขยะกันเป็นประจำ อันทำความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านและคนผ่านมาที่ต้องใช้ชีวิตแถวนั้นที่จะต้องเหม็นควันมาก โดยเฉพาะในช่วงบ่ายและช่วงเย็น ๆ 16.00-20.00 แทบทุกวันและหนักขึ้นมาก จนเหม็นพลาสติกด้วย

               ด้วยความที่อยากเป็นพลเมืองดี ทางเราก็เลยตัดสินใจ

  • โทรหาสถานีดับเพลิงเป็นที่แรก โดยหวังว่าดับเพลิงจะมาช่วยในการดับไฟที่เผาที่ แต่ปรากฏว่า ดับเพลิงไม่รับดับไฟ เนื่องจากบอกว่ามีคนเผาอยู่ในที่เกิดเหตุด้วยจึงไม่ใช่หน้าที่ดับเพลิง เพราะเค้าตั้งใจเผา โดยสถานีดับเพลิงจึงบอกกว่าให้แจ้งเขตแทน (ในวันเสาร์ที่ฝ่ายโยธาเขตไม่ได้ทำงาน)

  • แต่เมื่อติดต่อไปที่เขตก็ทราบว่า เขตในพื้นที่ไม่ได้มีอำนาจในการดับไฟหรือไปลงโทษความผิดกับผู้จุดไฟเผาขยะ ดังนั้นเขตจึงเพียงทำได้แค่การรับเรื่องเท่านั้น

  • หลังจากนั้น ทางเราได้โทรหาตำรวจ 191 แต่ปรากฏว่า “ตำรวจไม่สนใจ” ซึ่งทางเราจึงต้องย้ำกับตำรวจว่า ภาครัฐได้ออกกฎหมายออกมาแล้วให้สามารถปรับคนเผาขยะได้แล้ว เราจะเป็นผู้ร้องเรียนได้หรือไม่ ด้วยความที่เป็นเรื่องใหม่หรือไม่ก็ไม่ทราบ ทางสถานีตำรวจจึงเออออบอกว่า แจ้งเหตุได้ พอเริ่มแจ้งก็ถามชื่อ ถามเบอร์โทร และขอรายละเอียดพื้นที่ที่กำลังเผาอยู่นั้นว่าอยู่ เขตพื้นที่ไหน ซอยอะไร ซึ่งปัญหาก็คือ เราไม่สามารถบอกได้ เพราะไม่ใช่พื้นที่ที่อยู่อาศัยของครอบครัวเรา แต่เป็นเพียงถนนที่ขับผ่านเท่านั้น จะทำได้ดีที่สุดก็คือ การบอกสถานที่ใกล้เคียง ซึ่งเป็นอะไรที่ยากเย็นแสนเข็ญมาก ๆ เพราะต้องอธิบายว่าถนนอะไร มีสิ่งก่อสร้างอะไรใกล้เคียง ทั้ง ๆ ที่ ถ้าตำรวจขับมาแถวนี้ก็ต้องเห็นว่าได้มีหลักฐานการเผา (เช่นควันไฟ) ให้เห็นได้อย่างชัดเจน

  • หลังจากอธิบายได้สักพัก 191 ก็โทรกลับมาว่ายังตรวจสอบสถานที่ (Location) แน่ชัดไม่ได้ เพราะเป็นพื้นที่ที่อาจคาบเกี่ยวกับเขตพื้นที่อื่นที่อยู่ในการดูแลของอีกสถานีตำรวจหนึ่ง ด้วยความพยายามที่จะเป็นคนดีของครอบครัวเรา ผมเลยต้องทำการเช็คผ่านระบบ GPS และถามคนแถวนั้น ก็พบว่าอยู่ในเขต “ลาดกระบัง”

  • หลังวางสายจากตำรวจในสาย 191 ได้สักพัก ตำรวจจากสถานีตำรวจลาดกระบังก็โทรหา และมาถามคำถามเดิมอีกครั้ง เช่น เหตุเกิดที่ไหน สถานที่ใกล้เคียงคืออะไร พออธิบายไป ตำรวจลาดกระบังก็บอกว่าสถานที่ที่มีการเผาอยู่ในความดูแลของสถานีตำรวจร่มเกล้า ไม่ใช่ความดูแลของสถานีตำรวจลาดกระบังและจะประสานกับตำรวจร่มเกล้าให้

  • รออีกสักพัก สถานีดับเพลงร่มเกล้าโทรมาบอกว่า ตำรวจร่มเกล้าให้โทรมาถามจุดเกิดเหตุว่าอยู่ที่ไหนจะได้ไปดับเพลิง จึงได้อธิบายไปเช่นเดิม จนเวลาผ่านมาสักพัก ดับเพลิงของร่มเกล้าโทรมาบอกว่ากำลังอยู่กับตำรวจในที่เกิดเหตุแล้ว แต่คำถามเด็ดคือ “พี่อยู่ไหน ต้องมาชี้จุดเพราะพี่เป็นคนแจ้งเหตุ” ถ้าเราไม่อยู่ในที่เกิดเหตุ (พื้นที่ที่กำลังเผาขยะนั้น) ก็แปลว่า “ไม่ได้มีผู้ร้องทุกข์” เพราะคนแถวนั้นไม่ได้เป็นผู้เสียหาย มีแต่เราที่เป็นผู้เสียหายและโทรไปแจ้งความ

  • สุดท้ายทางดับเพลิงร่มเกล้าก็ยื่นโทรศัพท์ให้ตำรวจที่อยู่ในที่เกิดเหตุนั้นได้คุยกับเรา ตำรวจถามว่า “จะคุยอะไรกับผม?” จนท้ายที่สุด เราก็ถอนหายใจและตอบไปว่า “เราผ่านมา เห็นการเผาที่นาและเผาขยะซึ่งสร้างความเสียหายเพราะให้เกิดมลพิษทางอากาศ จึงอยากเป็นคนดี เพราะคนในพื้นที่นั้นเดือดร้อน แต่เราเป็นเพียงคนแค่ขับรถผ่านเพื่อไปทำธุระ ไม่สามารถไปอยู่ในที่เกิดเหตุที่มีการเผาได้ ดังนั้นเมื่อคุณตำรวจมาถึงแล้ว จะดับไม่ดับ จะจับไม่จับก็แล้วแต่ก็แล้วกัน” เขาก็เงียบและวางสายไป

  • สุดท้าย พอเราทำธุระเสร็จ 3-4 ชั่วโมงให้หลัง ขับผ่านไปทางนั้น ควันไฟและการเผาทุกจุดก็ยังอยู่เหมือนเดิม!!!

               โดยสรุป เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า

  • ถึงแม้ว่าจะมีกฎหมายหรือมาตรการอะไรออกมาจากเบื้องบน แต่สิ่งที่ยากกว่าก็คือ การบังคับใช้กฎหมายที่มีออกมาอย่างมากมายนั้น

  • หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยิ่งมีมากเท่าไร ก็จะเกิดการโบ้ยหน้าที่และความรับผิดรับชอบมากขึ้นเท่านั้น

  • ภาครัฐที่กระทำผิด แต่กลับไม่รู้ว่าตัวเองผิดและยังไม่มีจิตสำนึก เพราะจิตสำนึกแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ดังนั้นไม่ต้องแก้ไขหรือทำอะไรเลย น่าจะมีความสุขกว่า

               12 มาตรการรัฐเร่งด่วนในการแก้ปัญหาฝุ่นพิษที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ไม่มีการบังคับใช้อย่างได้ผลเลย ถึงแม้ใช้ก็ยังยุ่งยากมาก ๆ ที่ผู้บริหารของประเทศควรมาดูงานและวิเคราะห์ปัญหาภาคปฏิบัติโดยเร่งด่วน

               สุดท้ายเป็นสิ่งจำเป็นมากที่ประชาชนประเทศนี้ต้องฉลาด ต้องเรียนรู้ในการใช้เทคโนโลยีเพื่อสามารถแจ้งสถานที่เกิดเหตุผ่านระบบ GPS ได้อย่างถูกต้องเป๊ะ ๆ !!! เพราะตำรวจประเทศเราบอกไม่ได้ว่าคนโทรอยู่ไหน (หรือจริง ๆ แล้วสามารถระบุสถานที่ได้ แต่ไม่มีความสนใจที่อยากจะทราบ)

               กรณีศึกษาที่ผมต้องประสบมานี้เป็นเพียงเรื่องง่าย ๆ อย่างการการบังคับใช้ในข้อ (7) ไม่ให้มีการเผาในที่โล่ง ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้ที่กระทำการเผา เท่านั้น แต่ยังไม่ได้ไปพูดถึง ในกรณีของการแจ้งจับเผาไร่ทางการเกษตร การแจ้งจับรถยนต์/รถบรรทุกที่ปล่อยควันดำ หรือการแจ้งดำเนินการปิดโรงงานที่ปล่อยควันพิษเกินปริมาณอย่างที่เขียนไว้อย่างสวยหรู

               ในขณะที่ ภาครัฐจำเป็นต้องเรียกความเชื่อถือของประชาชนกลับมา โดยควรตกลงให้ชัดเจนว่าใครต้องดูแลเรื่องนี้ และต้องมีบทลงโทษอย่างจริงจังต่อเจ้าหน้าที่ที่ละเลยกับการบังคับใช้กฎหมายด้วยเช่นกัน
เรื่องนี้เราต้องการความเป็นผู้นำ  เพราะเป็นปัญหาระยะยาว ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้านทุกฝ่ายต้องแสดงความจริงใจต่อประชาชน ไม่ใช่มาบอกว่า “ผมแข็งแรงดี ไม่เห็นมีปัญหาอะไรเลย ประชาชนที่เลือดกำเดาออก “อย่ามาดราม่า””  สุดท้าย ความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นแม้กระทั่งโอกาสที่จะได้รับอากาศที่ดีที่ไม่เท่ากันระหว่างคนจนคนรวย แต่ที่น่าเศร้าที่สุดคือ ผู้บริหารระดับสูงกลับไม่ได้มองว่านี่คือปัญหา และไม่จริงใจในการแก้ไขปัญหา “คนจะร่วมด้วยช่วยกันก็หมดกำลังใจ”