ความคุ้นเคยในการใช้ ICT ต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กเยาวชนไทย (ศ.ดร.พิริยะ,กิตติศักดิ์)
คุณกิตติศักดิ์ ศรีแจ่มดี
นักวิจัย ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ
สถาบันบันฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์
ศาสตราจารย์ได้รับเงินเดือนขั้นสูง (ศาสตราจารย์ 11) และ
ผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ
สถาบันบันฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
www.econ.nida.ac.th; piriya.pholphirul.blogspot.com
ความคุ้นเคยในการใช้ ICT ต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กเยาวชนไทย
เพื่อสนับสนุนการเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ในปัจจุบัน จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมากที่เยาวชนไทยจะต้องมีความคุ้นเคยในการใช้สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT Familiarity) ได้อย่างเหมาะสม เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า การทำงานใน
โลกอนาคตนั้นล้วนจำเป็นต้องทำประกอบไปกับการใช้ ICT แทบทั้งสิ้น หรือจะกล่าวได้ว่า ความคุ้นเคยในการใช้ ICT จึงมีบทบาทสำคัญต่อความสำเร็จในการเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ต้องใช้เทคโนโลยีและสื่อดิจิทัลเป็นตัวขับเคลื่อน (Innovative and Digital Driven-Economy) ทั้งนี้ ความสำคัญเบื้องต้นของการยกระดับความคุ้นเคยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจะส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาทุน
มนุษย์ของประเทศ โดยวัดได้จากผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา
หนึ่งข้อค้นพบจาก “โครงการการพัฒนาความฉลาดรู้ด้านสะเต็มศึกษาของเด็กไทยเพื่อให้ก้าวไกลทันยุคประเทศไทย 4.0” โดยมีศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์) เป็นหัวหน้าโครงการ โดยร่วมทำวิจัยกับอาจารย์อัครนัย ขวัญ (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) และคุณกิตติศักดิ์ ศรีแจ่มดี (นักศึกษาปริญญาโทจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์) ซึ่งโครงการศึกษานี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งผลการศึกษาได้ข้อค้นพบคร่าวๆ ว่า “ความคุ้นเคยในการใช้ ICT สามารถส่งผลทั้งทางบวกและทางลบต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กได้ ซึ่งจะส่งผลทางบวกหรือลบนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าเด็กเยาวชนไทยได้ใช้ ICT กับเรื่องใด/ที่ไหน/และใช้นานแค่ไหน
การศึกษานี้ได้วิเคราะห์จากข้อมูลการสำรวจของนักเรียนไทยอายุ 15 ปีจากทั่วประเทศภายใต้จาก Programme for International Student Assessment ที่สำรวจในปี ค.ศ. 2015 (หรือ PISA-2015) จำนวนทั้งสิ้น 8,249 กลุ่มตัวอย่าง โดยการสำรวจในปีนี้ได้เพิ่มหัวข้อคำถามที่เกี่ยวข้องกับความคุ้นเคยในการใช้สื่อ ICT ของเด็กเยาวชนไทยอยู่หลายคำถาม ซึ่งงานศึกษาได้จำแนกความคุ้นเคยในการใช้ ICT เป็น 4 ประเด็นได้แก่ 1) การเข้าถึงอุปกรณ์ที่บ้านหรือที่โรงเรียน 2) ประสบการณ์ในการใช้ 3) จำนวนนาที/ชั่วโมงในการใช้ต่อวัน และ 4) ประเภทของการใช้ซึ่งแบ่งออกได้เป็น การใช้เพื่อเล่นเกมและเพื่อความบันเทิง การใช้เพื่อติดต่อสื่อสารและค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา และการใช้เพื่อติดต่อสื่อสารและค้นหาข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องกับการศึกษา โดยงานศึกษานี้ได้พยายามประเมินปัจจัยทางด้านความคุ้นเคยในการใช้ ICT ดังกล่าวต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาจากคะแนนสอบ PISA โดยจำเป็น 3 วิชาได้แก่ 1) วิชาวิทยาศาสตร์ 2) วิชาคณิตศาสตร์ และ 3) วิชาการอ่าน
ในด้านการเข้าถึงอุปกรณ์การใช้ (เช่นการมีคอมพิวเตอร์ใช้ที่บ้าน/โรงเรียน) พบผลการศึกษาโดยภาพรวมว่า การมีอุปกรณ์เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ประเภทต่างๆ ที่บ้าน (หรือมีแต่ไม่ค่อยได้ใช้) ไม่ได้ส่งผลบวกต่อผลสัมฤทธ์ทางการศึกษาแต่อย่างไร ตรงกันข้ามกลับส่งผลลบ โดยนักเรียนที่ใช้คอมพิวเตอร์ที่บ้านที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการศึกษาจะมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาน้อยลงในวิชาการอ่าน (ร้อยละ 1.5) ในวิชาวิทยาศาสตร์ (ร้อยละ 1.9) และน้อยที่สุดในวิชาคณิตศาสตร์ (ร้อยละ 2.1) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับนักเรียนที่ไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้ที่บ้าน ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่านักเรียนที่มีโน๊ตบุ๊คที่บ้านแต่ไม่ใช้มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาน้อยลงในวิชาคณิตศาสตร์ (ร้อยละ 1.8) ในวิชาการอ่าน (ร้อยละ 2.4) และน้อยที่สุดในวิชาวิทยาศาสตร์ (ร้อยละ 2.5) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับนักเรียนที่ไม่มีโน๊ตบุ๊คที่บ้าน แต่ตรงกันข้าม นักเรียนที่ใช้คอมพิวเตอร์ที่โรงเรียนกลับมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษามากขึ้นในวิชาคณิตศาสตร์ (ร้อยละ 1.5) ในวิชาการอ่าน (ร้อยละ 1.8) และในวิชาวิทยาศาสตร์ (ร้อยละ 1.8) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับนักเรียนที่ไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้ที่โรงเรียน
ในด้านของประสบการณ์การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารพบว่า ถ้านักเรียนมีประสบการณ์ในการใช้เทคโนโลยีตั้งแต่เด็กๆ นักเรียนจะมีความถนัดในการใช้ให้เกิดประโยชน์กับการศึกษามากกว่านักเรียนที่เพิ่งเริ่มใช้หรือไม่เคยใช้เลย โดยผลการจากประมาณการพบว่า นักเรียนที่ใช้อุปกรณ์ดิจิทัลครั้งแรกตอนอายุ 6 ปี หรือต่ำกว่า 6 ปีจะมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษามากขึ้นในวิชาการอ่าน (ร้อยละ 3.9) ในวิชาคณิตศาสตร์ (ร้อยละ 4.0) และมากที่สุดในวิชาวิทยาศาสตร์ (ร้อยละ 4.6) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับนักเรียนที่ใช้อุปกรณ์ดิจิทัลครั้งแรกตอนอายุ 13 ปีหรือมากกว่า ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่า นักเรียนที่ใช้คอมพิวเตอร์ครั้งแรกตอนอายุ 6 ปี (หรือต่ำกว่า) จะมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษามากขึ้นในวิชาการอ่าน (ร้อยละ 2.2) ในวิชาคณิตศาสตร์ (ร้อยละ 3.0) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับนักเรียนที่ใช้คอมพิวเตอร์ครั้งแรกตอนอายุ 13 ปี (หรือมากกว่า)
ในด้านของระยะเวลาในการใช้พบว่า นักเรียนที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตวันละ 1-30 นาทีต่อวัน มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษามากขึ้นในวิชาการอ่าน (ร้อยละ 1.2) ในวิชาวิทยาศาสตร์ (ร้อยละ 1.4) และมากที่สุดในวิชาคณิตศาสตร์ (ร้อยละ 2.1) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับนักเรียนที่ใช้ที่ไม่ใช้อินเทอร์เน็ตเลย และยังพบว่านักเรียนที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตวันละ 2-4 ชั่วโมงต่อวัน จะมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษามากขึ้นในวิชาวิทยาศาสตร์ (ร้อยละ 2.7) ในวิชาการอ่าน (ร้อยละ 3.0) และมากที่สุดในวิชาคณิตศาสตร์ (ร้อยละ 3.4) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับนักเรียนที่ไม่ใช้อินเทอร์เน็ตเลย
ในด้านของลักษณะประเภทของกิจกรรมที่ใช้งาน พบว่าการใช้สื่อ ICT กับการเล่นเกมออนไลน์แบบเครือข่ายสังคมทุกวัน (หรือบ่อยครั้ง) จะส่งผลทางลบต่อผลสัมฤทธ์ทางการศึกษาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยเฉพาะในวิชาการอ่าน (ลดลงร้อยละ 2.1) และวิชาวิทยาศาสตร์ (ลดลลงร้อยละ 1.6) เมื่อเทียบกับนักเรียนที่ไม่ได้เล่นเกมออนไลน์แบบเครือข่ายสังคมเลย แต่ทั้งนี้กลับพบว่านักเรียนที่เล่นอินเทอร์เน็ตเพื่อความบันเทิง เช่น ดู YouTube 1 หรือ 2 ครั้งต่อสัปดาห์จะมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษามากขึ้นในวิชาคณิตศาสตร์(ร้อยละ 2.5) ในวิชาวิทยาศาสตร์ (ร้อยละ 2.8) และมากที่สุดในวิชาการอ่าน (ร้อยละ 3.5) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับนักเรียนที่ไม่เคยหรือแทบจะไม่เคยดู YouTube เลย เนื่องจากความบันเทิงช่วยให้นักเรียนคลายความเครียดอีกทั้งก็เป็นการช่วยให้มีสมาธิในการเรียนรู้และคิดอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ในด้านการใช้เพื่อติดต่อสื่อสารในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเรียนพบว่า นักเรียนที่ใช้สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อติดตามบทเรียน เช่นใช้สำหรับการติดตามบทเรียน จะมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษามากขึ้นในวิชาการอ่าน (ร้อยละ 2.1) ในวิชาวิทยาศาสตร์ (ร้อยละ 2.2) และมากที่สุดในวิชาคณิตศาสตร์ (ร้อยละ 2.3) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับนักเรียนที่ไม่เคยหรือแทบจะไม่เคยติดตามบทเรียน และนักเรียนที่ตรวจสอบเว็บไซต์ของโรงเรียนสำหรับประกาศต่างๆเกือบทุกวันจะมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษามากขึ้นในวิชาคณิตศาสตร์ (ร้อยละ 1.6) ในวิชาวิทยาศาสตร์ (ร้อยละ 2.2) และมากที่สุดในวิชาการอ่าน (ร้อยละ 2.3) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับนักเรียนที่ไม่เคยหรือแทบจะไม่เคยตรวจสอบเว็บไซต์ของโรงเรียนสำหรับประกาศต่างๆ นอกจากนี้ยังพบว่านักเรียนที่ทำการบ้านบนคอมพิวเตอร์ 1 หรือ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษามากขึ้นในวิชาการอ่าน (ร้อยละ 1.5) ในวิชาวิทยาศาสตร์ (ร้อยละ 1.8) และมากที่สุดในวิชาคณิตศาสตร์ (ร้อยละ 2.4) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับนักเรียนที่ไม่เคยหรือแทบจะไม่เคยทำการบ้านบนคอมพิวเตอร์
นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการศึกษาโดยตรงอย่างเช่น การใช้อีเมล การคุยออนไลน์ การรับข้อมูลที่สำคัญจากโลกอินเทอร์เน็ต หรือการอัปโหลดเนื้อหาที่คุณสร้างขึ้นเองเพื่อการแบ่งปันจะได้ผลลัพธ์ที่ผสมผสานกลับพบว่าจะมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาน้อยลงในวิชาการอ่าน (ร้อยละ 3.2) ในวิชาคณิตศาสตร์ (ร้อยละ 3.2) และน้อยที่สุดในวิชาวิทยาศาสตร์ (ร้อยละ 3.8) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับนักเรียนที่ไม่เคยหรือแทบจะไม่เคยอัปโหลดเลย ทั้งนี้เนื่องจากกิจกรรมที่เด็กนักเรียนอัปโหลดนั้นอาจจะหมายถึงการเต้น การร้องเพลง หรือกิจกรรมต่างๆที่ไม่ใช่เพื่อการศึกษา หรือเป็น YouTuber จึงนำไปสู่ทำให้เด็กนักเรียนละเลยหรือให้ความสำคัญกับด้านการศึกษาน้อยลงก็เป็นได้ นอกจากนี้ยังพบต่ออีกว่าเด็กนักเรียนที่แชทออนไลน์เกือบทุกวันยังส่งผลให้ได้คะแนนวิชาคณิตศาสตร์ และวิชาวิทยาศาสตร์ น้อยกว่าร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับเด็กนักเรียนที่ไม่เคยหรือแทบจะไม่เคยแชทออนไลน์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
นอกจากนี้ การอ่านข่าวบนอินเทอร์เน็ต การรับข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากอินเทอร์เน็ต การดาวน์โหลดเพลงภาพยนตร์เกมหรือซอฟต์แวร์จากอินเทอร์เน็ต และการดาวน์โหลดแอปใหม่บนอุปกรณ์มือถือ ยังไม่พบความสัมพันธ์ที่มีนัยสำคัญทางสถิติต่อผลสัมฤทธ์ทางการศึกษาแต่อย่างไร
โดยสรุป ถึงแม้ว่าความคุ้นเคยในการใช้สื่อ ICT จะมีความสำคัญต่อการพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศก็ตาม แต่การศึกษานี้ให้ข้อค้นพบว่า การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จะส่งผลบวกต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิตินั้นจำเป็นที่การใช้เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาเป็นหลัก ในขณะที่การใช้ในการติดต่อสื่อสารหรือการค้นหาข้อมูล (รวมไปถึงการแชร์ข้อมูลและอัปโหลดข้อมูลต่างๆ) นั้นกลับไม่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาแต่อย่างไร ตรงกันข้ามผลการศึกษากลับพบผลกระทบทางลบต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาได้ เช่น การใช้อีเมล การคุยออนไลน์ การรับข้อมูลที่สำคัญจากโลกอินเทอร์เน็ต หรือการอัปโหลดเนื้อหาที่คุณสร้างขึ้นเองเพื่อการแบ่งปัน
ดังนั้นในการยกระดับคุณภาพการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนของประเทศ ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (รวมถึงครอบครัว) จึงควรกำหนดให้เด็กและเยาวชนได้มีโอกาสในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่จะต้องใช้เพื่อการศึกษาเป็นสำคัญ และควรควบคุมการใช้ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการศึกษาให้เกิดการใช้อย่างเหมาะสม
ที่มาภาพข่าว : https://www.posttoday.com