เงินทองหายาก ไม่ต้องชิม ช้อป ใช้กันบ่อยๆ ก็ได้ (ผศ.ดร.สันติ)


ผศ.ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข

คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

www.econ.nida.ac.th; santi_nida@yahoo.com

เงินทองหายาก ไม่ต้องชิม ช้อป ใช้กันบ่อย ๆ ก็ได้

เป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของมาตรการอย่าง ชิม ช้อป ใช้ ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน เข้าใจ (เอง) ว่า เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ คือ ให้เศรษฐกิจขยายตัวได้มากขึ้น หรือรักษาระดับของการเติบโตไม่ให้ลดต่ำลงไปอีก ดังนั้น โดยความหมายของการกระตุ้นแล้ว เมื่อมีการดำเนินมาตรการ ย่อมต้องคาดหวังได้ว่าผลของการดำเนินมาตรการจะสร้างหรือก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการผลิตทั้งสินค้าและบริการได้มากกว่าปริมาณเม็ดเงินที่ใส่ลงไป ซึ่งก็จะเป็นการเสริมสร้างรายได้ให้กับคนในระบบเศรษฐกิจ และเมื่อรายได้เพิ่มขึ้นก็จะสามารถจับจ่ายใช้สอยได้มากขึ้น ขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้  เช่น ถ้ามาตรการเปิดให้มีผู้ลงทะเบียนและรับสิทธิ์ได้จำนวน 10 ล้านคน ๆ ละ 1,000 บาท ก็จะคาดหวังว่าผลของการใช้จ่ายจากมาตรการนั้นจะก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นมาได้มากกว่า 10,000 ล้านบาท จะมากกว่าเท่าไหร่ จะเป็น 15,000 ล้าน หรือ 18,000 ล้าน หรือ 20,000 ล้าน ก็ต้องรอดูว่าจะเป็นอย่างไร ผลที่เกิดขึ้นนั้น จะสนับสนุนให้เศรษฐกิจมีการเติบโตเพิ่มขึ้นเท่าใด ก็เป็นสิ่งที่ต้องไปประเมินกัน

อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังของการใช้มาตรการกระตุ้นดังกล่าวดูเหมือนจะส่อแววว่าจะไม่ได้เป็นไปอย่างที่ผู้กำหนดนโยบายหรือมาตรการตั้งเป้าหมายไว้ เพราะขนาดเม็ดเงินและช่องทางที่ใช้เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น (อาศัยการกระตุ้นทางด้านการบริโภคในภาคครัวเรือน) ต่างมีข้อจำกัด ทำให้ผลของการดำเนินมาตรการอาจจะไม่สามารถขับเคลื่อนให้เกิดการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นได้มาก การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจมหภาค (Macroeconomic Policy) นั้นมีความแตกต่างจากการดำเนินนโยบายเชิงพาณิชย์ (Commercial Policy) ที่ธุรกิจใช้เพื่อการบริหารธุรกิจ เช่น การใช้มาตรการทางการตลาดเพื่อกระตุ้นให้ยอดขายของธุรกิจเพิ่มขึ้น มาตรการทางเศรษฐกิจมหภาคเป็นเครื่องมือของภาครัฐที่ใช้เพื่อการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ ซึ่งการดำเนินมาตรการของภาครัฐมักจะมีผลในการแทรกแซงกลไกการทำงานในระบบเศรษฐกิจ มีความสุ่มเสี่ยงต่อการเอื้อประโยชน์ให้กับคนบางกลุ่มในขณะเดียวกันก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายกับคนอีกบางกลุ่มในระบบเศรษฐกิจ

ในกรณีมาตรการ ชิม ช้อป ใช้ ก็เช่นเดียวกัน คนที่ลงทะเบียนได้และได้รับสิทธิ์ รวมทั้งร้านค้าที่ลงทะเบียนเข้าร่วมในโครงการก็จะได้ประโยชน์ แต่ร้านค้าที่ไม่ได้ไปลงทะเบียน ก็อาจจะไม่ได้รับประโยชน์ หรืออาจจะเสียประโยชน์จากการที่ลูกค้าของตนหันไปจับจ่ายใช้สอยในร้านที่ลงทะเบียนแทน หรือแม้ว่าจะไม่มีใครเสียประโยชน์จากมาตรการก็ตาม แต่การดำเนินมาตรการก็ยังคงมีต้นทุนทั้งทางการเงินและทางสังคมที่ต้องนำมาพิจารณาด้วยอยู่ดี (ถ้าเป็นกรณีการดำเนินมาตรการเชิงพาณิชย์ อาจจะไม่ต้องนำผลกระทบทางสังคมมาร่วมพิจารณา) ดังนั้น การดำเนินมาตรการทางการคลังจึงมีความสำคัญมากที่จะต้องอธิบายให้เห็นถึงสวัสดิการทางสังคมที่เพิ่มขึ้น (Welfare Improvement) ของการดำเนินนโยบายได้อย่างชัดเจน และการกำหนดเป้าหมายของการดำเนินมาตรการ ซึ่งในทางหนึ่งก็จะเป็นการแยกแยะนโยบายที่เป็นประชานิยม กับไม่ใช่นโยบายประชานิยม แม้ว่าลักษณะของการดำเนินนโยบายจะมีความคล้ายคลึงกัน

ลักษณะของมาตรการ ชิม ช้อป ใช้ เป็นมาตรการส่งเสริมให้เกิดการบริโภคมากขึ้น โดยคาดหวังว่าการกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยนั้นจะทำให้เกิดกิจกรรมการผลิต มีการจ้างงาน สร้างรายได้มากขึ้น ชดเชยกับการลดลงของการส่งออกที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากสงครามทางการค้า และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม สภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมของไทยในปัจจุบันไม่ได้สนับสนุนให้ภาคครัวเรือนสามารถขยายการบริโภคได้มากนักเพราะมีข้อจำกัดทั้งในเรื่องความยากลำบากในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันโดนเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาผลิตภาพการผลิตของปัจจัยการผลิตหลัก คือ ผลิตภาพของทุน (Capital Productivity) ผลิตภาพของแรงงาน (Labor Productivity) ทำให้ผลิตภาพโดยรวม (Total Factor Product: TFP) ของประเทศเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยตลอดช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา

การกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคจึงมีความสุ่มเสี่ยงต่อการก่อให้เกิดพฤติกรรมการใช้จ่ายเกินตัว (ใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่มีความจำเป็น หรือแม้แต่ผู้ซื้อเองอาจจะไม่ได้คิดด้วยซ้ำไปว่าต้องการอะไร) เพราะเงื่อนไขคือ ได้รับเงินมาฟรี แล้วต้องรีบใช้จ่าย การกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายที่ทำต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดพฤติกรรมการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น คือ ถ้าไม่ได้รับเงินมาก็คงไม่ใช้จ่ายไปเพื่อซื้อสินค้า หรือบริการเหล่านี้ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ ในระยะยาวจะมีส่วนสนับสนุนให้ก่อหนี้เพื่อการใช้จ่าย ซึ่งภาครัฐก็ออกมาตรการในลักษณะนี้ต่อเนื่องกันมาแล้วหลายปี ตั้งแต่ ช้อปช่วยชาติ เที่ยวช่วยชาติ ฯลฯ จนครัวเรือนในระบบเศรษฐกิจเริ่มมีความคาดหวัง (มีการคาดการณ์) ว่าจะต้องมีมาตรการในลักษณะเป็นประจำทุกปี พฤติกรรมการ “เที่ยวก่อน ผ่อนทีหลัง” น่าจะเป็นตัวอย่างของการค่อยๆ ก่อตัวขึ้นของพฤติกรรมการใช้จ่ายที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นไปที่การบริโภค

การเลือกใช้มาตรการกระตุ้นการบริโภคในลักษณะมาตรการ ชิม ช้อป ใช้ นั้นต้องระมัดระวังอยู่เสมอว่าเป็นมาตรการที่ใช้ในการกระตุ้น แสดงว่าผู้ดำเนินนโยบายได้พิจารณาแล้วว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทยมีความจำเป็นต้องได้รับการกระตุ้น ถ้าจะเปรียบเทียบว่าร่างกายมนุษย์เป็นระบบเศรษฐกิจของประเทศ การที่เศรษฐกิจต้องได้รับการกระตุ้นหมายถึง เศรษฐกิจมีปัญหา เจ็บป่วย ไม่สบาย แต่การกระตุ้นไม่ได้เป็นการรักษาอาการเจ็บป่วย เพราะการเจ็บป่วยต้องรักษาด้วยยา ไม่ใช่การให้สารกระตุ้น ดังนั้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (ในครั้งที่หมายถึงการกระตุ้นไปที่การบริโภค ซึ่งภาคส่วนของการบริโภคภายในประเทศจริง ๆ แล้วก็ไม่ได้เจ็บป่วยมากมายอะไรเมื่อเทียบกับส่วนอื่น) จึงเปรียบเสมือนการให้น้ำหวาน หรือการให้น้ำเกลือ เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายมีเรียวแรง เพียงพอที่จะรับการรักษาความเจ็บป่วยของโรคจริง ๆ

การที่ร่างกายหรือเศรษฐกิจยังไม่แข็งแรง การให้ยาเพียงรักษาความเจ็บปวดอาจจะทำได้ไม่มีประสิทธิภาพ หรือทำไม่ได้เพราะร่างกายไม่แข็งแรงพอที่จะรองรับการรักษานั้นได้ แต่การกระตุ้นก็มีความสุ่มเสี่ยงอยู่มากที่จะต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดการกระตุ้นเกินขนาด ระมัดระวังไม่ไปทำให้ผู้ป่วยติดยากระตุ้น หรือที่สำคัญคือ ไม่ไปหลงเข้าใจผิดคิดว่าการกระตุ้นเป็นการรักษาความเจ็บป่วย เพียงเพราะรู้สึกดี รู้สึกแข็งแรงขึ้นชั่วขณะจากการที่ได้รับมาตรการกระตุ้น นอกจากนี้ ยังควรจะต้องตระหนักเสมอว่ามีมาตรการทางเลือกอีกหลายมาตรการที่เข้าข่ายได้ว่าเป็นมาตรการกระตุ้น ซึ่งอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นการกระตุ้นการบริโภค ซึ่งมีโอกาสที่จะมีส่วนในการสนับสนุนให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพ และการเพิ่มผลิตภาพการผลิตน้อยกว่า

*ที่มาภาพ : https://www.posttoday.com