ผศ.ดร.อัธกฤตย์ เทพมงคล
คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
www.econ.nida.ac.th
ปรับโฟกัสกับเศรษฐกิจดิจิทัล
ช่วงที่ผ่านมาผู้เขียนได้รับการว่าจ้างให้ศึกษาเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital economy) ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ และเป็นคำฮิตติดรัฐบาลไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ถึงขั้นตั้งกระทรวงเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อนเศรษฐกิจและสังคมขึ้นมาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ แต่เอาจริงๆ แม้แต่ในหมู่นักเศรษฐศาสตร์เอง ภาพของเศรษฐกิจดิจิทัลก็ยังเป็นภาพเบลอๆ ต่างคนต่างมีมุมมองและคำนิยามเป็นของตัวเองกันทั้งนั้น วันนี้ถือโอกาสใช้พื้นที่ตรงนี้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัลที่ผู้เขียนได้มีโอกาสรวบรวมและสังเคราะห์มาให้ได้อ่านและทำความเข้าใจกัน
ถ้าใครลองกดดูใน Wikipedia เศรษฐกิจดิจิทัลจะหมายถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อิงกับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์แบบดิจิทัล เกิดจากการเชื่อมโยงระหว่างกันของคน องค์กร และเครื่องจักร โดยการใช้อินเทอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ และอินเทอร์เน็ตของสิ่งต่างๆ (Internet of Things: IoT) เป็นเครื่องมือ เศรษฐกิจดิจิทัลบางครั้งก็เรียกว่าเศรษฐกิจอินเทอร์เน็ต (Internet economy) หรือเศรษฐกิจใหม่ (New economy)
จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจดิจิทัลคือกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่การเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตออนไลน์มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจประเทศโดยรวม ดังนั้นมูลค่าของเศรษฐกิจดิจิทัลจะเป็นส่วนหนึ่งของมูลค่าเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมหรือ GDP นั่นเอง
แล้วเราจะแยกมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลออกจาก GDP รวมได้อย่างไร? สมมติเราปลูกข้าวแล้วเก็บเกี่ยวไปขายในตลาด มูลค่าของข้าวนี้จะต้องไม่ถูกนับเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจดิจิทัลเพราะไม่มีกระบวนการไหนที่ใช้อินเทอร์เน็ตเลย แต่ถ้าสมมติชาวนาได้รับออเดอร์ออนไลน์มาซื้อข้าว แบบนี้จะนับเป็นมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลหรือไม่ ถ้านับ ควรจะนับมูลค่าข้าวทั้งล็อตนี้มั้ย เพราะเอาเข้าจริงๆ ในกระบวนการสร้างมูลค่าเพิ่มของข้าวตั้งแต่ เตรียมคันนา ดำนา เก็บเกี่ยว และสีข้าว ไม่ได้มีอินเทอร์เน็ตมาเกี่ยวข้องแต่อย่างใด มีเพียงแค่กระบวนการสั่งสินค้าเท่านั้นเอง แต่ในอีกมุมหนึ่ง มูลค่าข้าวล็อตที่ถูกสั่งออนไลน์นี้อาจจะไม่เกิดขึ้นเลยตั้งแต่ต้นถ้าไม่มีการเข้าถึงตลาดใหม่ๆ ผ่านโลกดิจิทัล ดังนั้นก็ควรจะนับมูลค่าข้าวทั้งล็อตนี้เป็นมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลสิ นี่แหละคือประเด็นสำคัญที่ทำให้เกิดความขัดแย้งทางความคิด ความซับซ้อนนี้ทำให้ภาพของเศรษฐกิจดิจิทัลไม่ชัดเจนจนถึงปัจจุบัน
ถ้าเรายึดหลักตามองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาการทางเศรษฐกิจ หรือ OECD เราจะนิยามมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัล คือ มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมขั้นสุดท้ายภายในประเทศที่ผ่านธุรกรรมดิจิทัล (Digital transaction) รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริมธุรกรรมดิจิทัล (Digital enablers) โดยคำว่าธุรกรรมดิจิทัลแบ่งออกได้เป็น 3 แบบ คือ การสั่งซื้อผ่านดิจิทัล (Digitally ordered) การส่งผ่านดิจิทัล (Digitally delivered) และการผ่านตัวกลางดิจิทัล (Digital platform)
การสั่งซื้อผ่านดิจิทัล ก็คือการสั่งซื้อสินค้าและบริการผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) ซึ่งเป็นการทำรายการสั่งซื้อผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ ซึ่งไม่รวมการสั่งสินค้าผ่านโทรศัพท์ แฟกซ์ อีเมลส่วนบุคคล หรือโปรแกรมสนทนาส่วนบุคคล จะมาซื้อขายเสื้อผ้าในไอจี (Instagram application) หรือพริตตี้รับงาน N ในไลน์ (Line application) แล้วบอกว่าเป็นธุรกรรมดิจิทัลไม่ได้ (อันนี้น่าจะเป็นเหตุผลเรื่องการตรวจสอบได้ในทางปฏิบัติ เพราะไปแอบขายกันในช่องทางออนไลน์ที่ไม่เป็นทางการก็ยากที่จะไปตามเก็บข้อมูลได้หมด)
การส่งผ่านดิจิทัล ก็คือการส่งสินค้าและบริการผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เช่น การดาวน์โหลดไฟล์จากอินเทอร์เน็ตทั้งในรูปของซอฟแวร์ e-books ข้อมูลและบริการฐานข้อมูล รวมถึงการรับชมสื่อผ่านเว็บไซต์หรือ Application อย่าง Netflix เป็นต้น
การผ่านตัวกลางดิจิทัล ก็คือการผ่านตัวกลางอิเล็กทรอนิกส์ที่ทำหน้าที่เป็นพื้นที่ส่วนกลางหรือตลาดในการพบปะกันองผู้ซื้อและผู้ขาย เช่น แพลตฟอร์มที่ให้เป็นตัวกลางในด้านการให้บริการที่พัก เช่น Agoda และ Booking แพลตฟอร์มที่อำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมแบบ peer-to-peer เช่น Uber และ Airbnb และแพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลางในการแบ่งปัน
ในส่วนสุดท้ายของมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลคือมูลค่าของผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริมธุรกรรมดิจิทัล ซึ่งคือสินค้าหรือบริการที่ทำให้เกิดธุรกรรมดิจิทัล เช่น บริการอินเตอร์เน็ต สมาร์ทโฟน เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะที่ต่ออินเทอร์เน็ตได้ โดยมูลค่าของสินค้าประเภทนี้จะถูกนับเป็นมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลแบบร้อยเปอร์เซ็นต์โดยไม่ใส่ใจว่าจะผ่านธุรกรรมดิจิทัลหรือไม่ เพราะด้วยตัวมันเองมันเป็นส่วนที่ขับเคลื่อนธุรกรรมดิจิทัลเอง ซึ่งปัจจุบันได้มีการจัดกลุ่มผลิตภัณฑ์พวกนี้เป็นหมวดอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital technology industry) อันประกอบไปด้วย อุปกรณ์อัจฉริยะ (เช่น โดรน นาฬิกาอัจฉริยะ) ฮาร์ดแวร์ ซอร์ฟแวร์ บริการดิจิทัล (เช่น ออกแบบเวปไซต์ ให้คำปรึกษาออนไลน์) สินค้าและบริการเพื่อการติดต่อสื่อสาร (ICT) และงานคอนเทนต์ (เช่น ภาพยนตร์ บันเทิง)
ถ้ายึดภาพเศรษฐกิจดิจิทัลตามที่ผู้เขียนนำเสนอ จะเห็นว่าทุกวันนี้เราทุกคนใช้เวลาอยู่ในส่วนของเศรษฐกิจที่เป็นดิจิทัลเป็นอย่างมาก และจะมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างรวดเร็ว โลกดิจิทัลได้เปิดการเข้าถึงใหม่ๆ เปิดตลาดใหม่ๆ เปิดความได้ใหม่ๆ ให้กับทุกภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจแม้แต่ภาครัฐเองยังปล่อยโครงการ “ชิมช้อปใช้” ผ่านระบบดิจิทัลเลย ดังนั้นการเรียนรู้ให้ทันเทคโนโลยีใหม่ๆไม่ใช่ตัวเลือกแต่คือหน้าที่ของคนทุกคนในยุคปัจจุบัน
แล้วคุณละ ตามโลกดิจิทัล ทันหรือยัง?