คุณากร คุณาวุฒิ นักศึกษาหลักสูตรเศรษฐศาสตร์การเงิน คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) www.econ.nida.ac.th เวียดนามเสือเศรษฐกิจตัวแรงแห่งอาเซียน เวียดนามหรือชื่อเต็มในนามของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามนั้น ถือเป็นประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูง โดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือเรียกสั้นๆ ว่า OECD ระบุว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเวียดนามมีอัตราการขยายตัวที่แท้จริงของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Real GDP Growth) อยู่ในช่วงประมาณ 5%-7% ซึ่งถือได้ว่าค่อนข้างโดดเด่นเมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศ ซึ่งรวมทั้ง ประเทศไทยที่มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 4.5% ในปี 2561 ดังนั้นเชื่อว่าหลายๆ คนคงมีคำถามอยู่ในใจว่า เวียดนามเป็นประเทศที่น่าลงทุนหรือไม่ การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามมีแนวโน้มเป็นอย่างไร รวมถึงปัจจัยอะไรที่จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนศักยภาพทางเศรษฐกิจของเวียดนามในอนาคต ด้วยเหตุนี้ทางหลักสูตรเศรษฐศาสตร์การเงิน หรือหลักสูตร MFE ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ จึงจัดกิจกรรมเสริมสร้างประสบการณ์ทางด้านการเงินที่ประเทศเวียดนาม โดยทางหลักสูตรเลือกสถานที่ดูงานในแถบเวียดนามใต้อย่างนครโฮจิมินห์หรือไซ่ง่อนเดิม ซึ่งเป็นเมืองที่มีความเจริญและมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยนครโฮจิมินห์เป็นเมืองที่ยังคงมีกลิ่นอายของความเป็นเสรีนิยมภายใต้การปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม อันสืบเนื่องมาจากอิทธิพลของประเทศสหรัฐฯและกลุ่มพันธมิตรในอดีตในยุคของสงครามเวียดนาม จะเห็นได้ว่าเวียดนามค่อนข้างจะเปิดประเทศ มีการติดต่อและความร่วมมือกับหลายประเทศในภูมิภาคต่างๆ ภายใต้มาตรการและกฎระเบียบในประเทศที่ค่อนข้างเข้มงวด ใครที่เคยไปเยือนเวียดนามจะพบว่าการเดินทางโดยรถยนต์นั้นจะใช้เวลาค่อนข้างนาน เนื่องจากในเมืองคนขับจะใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และนอกเมืองไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือแม้แต่พาหนะหลักที่คนเวียดนามยังคงนิยมใช้ซึ่งก็คือรถจักรยานยนต์ คนขับขี่และคนซ้อนก็จะใส่หมวกกันน็อคทุกคน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมีระเบียบวินัยและการปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด ในขณะที่ข้างทางในนครโฮจิมินห์จะร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ใหญ่ที่มีการลงทะเบียนไว้ทุกต้นเพื่อการดูแลรักษา ซึ่งบ่งบอกถึงความใส่ใจในสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงบรรยากาศที่ครึกครื้นเต็มไปด้วยร้านกาแฟข้างทางที่ส่วนใหญ่มีเพียงเก้าอี้ตัวเล็ก ๆ ให้ลูกค้าใช้ทั้งนั่งและวางแก้วกาแฟ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นสมถะและความเรียบง่าย แต่แฝงไปด้วยความขยันและอดทนของของคนเวียดนาม อันเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จะเห็นได้ว่าภาพรวมของการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลเวียดนามนั้นเป็นไปลักษณะที่ค่อนข้างกระตือรือร้นเพื่อหาช่องทางและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเวียดนามมีการวางยุทธศาสตร์การค้าและการลงทุนที่สำคัญกับหลาย ๆ ประเทศ เช่น การให้สัตยาบันข้อตกลงความครอบคลุมและความก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก หรือ CPTPP ในปี 2561 ที่จะช่วยลดอัตราภาษีในกลุ่มสมาชิก 11 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม สำหรับประเทศไทยเองนั้นยังอยู่ในช่วงรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อพิจารณาถึงข้อดีและข้อเสียในการเข้าร่วมการค้าเสรี CPTPP นอกจากนี้ เวียดนามยังได้ลงนามความตกลงเขตการค้าเสรีเวียดนามกับสหภาพยุโรปหรือ EVFTA ในปี 2558 ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในปีนี้ นั่นหมายถึงการเปิดตลาดและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับกลุ่มประเทศสมาชิกใน CPTPP และกลุ่มสหภาพยุโรป ถือเป็นกลยุทธ์ที่แสดงถึงความมีวิสัยทัศน์และการบริหารที่มีประสิทธิภาพ ส่วนหนึ่งมาจากเสถียรภาพทางด้านการเมือง โดยมีพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามเป็นพรรคการเมืองเดียวในประเทศ ทำให้การตัดสินใจและการบริหารประเทศของรัฐบาลเวียดนามสามารถทำได้รวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์ ทั้งในส่วนของตลาดการค้าระหว่างประเทศและตลาดทุนในประเทศ ตลาดทุนของเวียดนามนั้น ประกอบไปด้วย 2 ตลาดหลัก ได้แก่ Ho Chi Minh Stock Exchange (HOSE) ซึ่งเป็นตลาดหลักทรัพย์แห่งแรกและใหญ่ที่สุดของเวียดนาม และ Hanoi Stock Exchange (HNX) โดยมีมูลค่าตามราคาตลาดหรือ Market Cap ประมาณ 138.09 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 8.73 พันล้านดอลลาร์สหรัฐตามลำดับ โดย HOSE ประกอบไปด้วยบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดประมาณ 380 บริษัท (ข้อมูล ณ วันที่ 30 เมษายน 2562) ในขณะที่ HNX ประกอบไปด้วยบริษัทจดทะเบียนทั้งที่มีการซื้อขายในตลาดแล้วและบริษัท UPCoM ซึ่งเป็นบริษัทที่ยังไม่ได้เข้าไปทำการซื้อขายในทั้ง 2 ตลาด ในปัจจุบัน Morgan Stanley Capital International (MSCI) ซึ่งเป็นบริษัทจัดทำดัชนีราคาหลักทรัพย์ทั่วโลก ได้จัดตลาดหลักทรัพย์ของเวียดนามให้อยู่ในกลุ่มของตลาดชายขอบหรือ Frontier Market แต่จากการที่ผู้เขียนรับฟังการบรรยายจากตลาดหลักทรัพย์ HOSE ของเวียดนามว่า ทางเวียดนามเองมีแผนในการรวมสองตลาดดังกล่าวเป็นตลาดเดียวภายใต้ Vietnam Stock Exchange (VSE) รวมถึงรัฐบาลมีแผนในการที่จะกำหนดกรอบและหลักเกณฑ์ในการเข้าถือครองหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติให้เสร็จสิ้นภายในปีนี้ ซึ่งจะช่วยดึงนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนมากขึ้น โดยคาดว่า MSCI น่าจะเพิ่มอันดับของเวียดนามให้อยู่ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่หรือ Emerging Market ภายในอนาคตอันใกล้นี้ อันเนื่องมาจากเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตอย่างมากของเวียดนามนั่นเอง นอกจากกลไกการบริหารประเทศของเวียดนามที่จะเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้านต่าง ๆ อาทิ ตลาดส่งออก และตลาดทุน เวียดนามยังได้รับผลกระทบเชิงบวกจากการยืดเยื้อของสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน โดยคาดว่า เวียดนามน่าจะได้รับประโยชน์จากการที่ผู้ผลิตย้ายฐานการผลิตออกจากจีนมายังเวียดนามเพื่อหลีกเลี่ยงความไม่แน่นอนจากการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ โดยเวียดนามถือเป็นประเทศอันดับต้น ๆ ที่เป็นทางเลือกของผู้ผลิต ซึ่งส่งผลมาจากศักยภาพทางด้านแรงงานและค่าแรงที่ยังถูกกว่าหลายๆ ประเทศ นอกจากนี้คาดว่าผู้บริโภคและผู้ค้าในสหรัฐฯ มีแนวโน้มในการนำเข้าสินค้าจากเวียดนามเพิ่มขึ้นทดแทนจากการนำเข้าสินค้าจากจีน อันเนื่องมาจากอุปสรรคทางการค้าจากกำแพงภาษีที่อาจจะสูงขึ้น ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นวิสัยทัศน์ในการบริหารประเทศ ความมีเสถียรภาพทางด้านการเมือง รวมถึงโอกาสที่ส่งเสริมจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน นักลงทุนรายต่าง ๆ โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติจึงจับตามองเวียดนามเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูง และเป็นตลาดที่หอมหวนชวนให้ลงทุน ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของภาคการผลิตในอุตสาหกรรมหรือตลาดทุน ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการดึงเม็ดเงินจากต่างประเทศให้ไหลเข้าสู่เวียดนาม ดังนั้นจึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่าเวียดนามจะยังคงมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงสืบเนื่องต่อไป และหลาย ๆ คนไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนและนักวิชาการเองก็มองว่าในอนาคตภายภาคหน้านั้น มีโอกาสที่เศรษฐกิจของเวียดนามจะขึ้นแซงไทยกลายเป็นพี่ใหญ่ในแถบอินโดจีน *ภาพข่าวที่มา : website posttoday.com
เวียดนามเสือเศรษฐกิจตัวแรงแห่งอาเซียน
เวียดนามเสือเศรษฐกิจตัวแรงแห่งอาเซียน
คุณากร คุณาวุฒิ
นักศึกษาหลักสูตรเศรษฐศาสตร์การเงิน
คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
www.econ.nida.ac.th
เวียดนามเสือเศรษฐกิจตัวแรงแห่งอาเซียน
เวียดนามหรือชื่อเต็มในนามของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามนั้น ถือเป็นประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูง โดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือเรียกสั้นๆ ว่า OECD ระบุว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเวียดนามมีอัตราการขยายตัวที่แท้จริงของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Real GDP Growth) อยู่ในช่วงประมาณ 5%-7% ซึ่งถือได้ว่าค่อนข้างโดดเด่นเมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศ ซึ่งรวมทั้ง ประเทศไทยที่มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 4.5% ในปี 2561 ดังนั้นเชื่อว่าหลายๆ คนคงมีคำถามอยู่ในใจว่า เวียดนามเป็นประเทศที่น่าลงทุนหรือไม่ การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามมีแนวโน้มเป็นอย่างไร รวมถึงปัจจัยอะไรที่จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนศักยภาพทางเศรษฐกิจของเวียดนามในอนาคต
ด้วยเหตุนี้ทางหลักสูตรเศรษฐศาสตร์การเงิน หรือหลักสูตร MFE ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ จึงจัดกิจกรรมเสริมสร้างประสบการณ์ทางด้านการเงินที่ประเทศเวียดนาม โดยทางหลักสูตรเลือกสถานที่ดูงานในแถบเวียดนามใต้อย่างนครโฮจิมินห์หรือไซ่ง่อนเดิม ซึ่งเป็นเมืองที่มีความเจริญและมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยนครโฮจิมินห์เป็นเมืองที่ยังคงมีกลิ่นอายของความเป็นเสรีนิยมภายใต้การปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม อันสืบเนื่องมาจากอิทธิพลของประเทศสหรัฐฯและกลุ่มพันธมิตรในอดีตในยุคของสงครามเวียดนาม จะเห็นได้ว่าเวียดนามค่อนข้างจะเปิดประเทศ มีการติดต่อและความร่วมมือกับหลายประเทศในภูมิภาคต่างๆ ภายใต้มาตรการและกฎระเบียบในประเทศที่ค่อนข้างเข้มงวด
ใครที่เคยไปเยือนเวียดนามจะพบว่าการเดินทางโดยรถยนต์นั้นจะใช้เวลาค่อนข้างนาน เนื่องจากในเมืองคนขับจะใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และนอกเมืองไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือแม้แต่พาหนะหลักที่คนเวียดนามยังคงนิยมใช้ซึ่งก็คือรถจักรยานยนต์ คนขับขี่และคนซ้อนก็จะใส่หมวกกันน็อคทุกคน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมีระเบียบวินัยและการปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด ในขณะที่ข้างทางในนครโฮจิมินห์จะร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ใหญ่ที่มีการลงทะเบียนไว้ทุกต้นเพื่อการดูแลรักษา ซึ่งบ่งบอกถึงความใส่ใจในสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงบรรยากาศที่ครึกครื้นเต็มไปด้วยร้านกาแฟข้างทางที่ส่วนใหญ่มีเพียงเก้าอี้ตัวเล็ก ๆ ให้ลูกค้าใช้ทั้งนั่งและวางแก้วกาแฟ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นสมถะและความเรียบง่าย แต่แฝงไปด้วยความขยันและอดทนของของคนเวียดนาม อันเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
จะเห็นได้ว่าภาพรวมของการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลเวียดนามนั้นเป็นไปลักษณะที่ค่อนข้างกระตือรือร้นเพื่อหาช่องทางและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเวียดนามมีการวางยุทธศาสตร์การค้าและการลงทุนที่สำคัญกับหลาย ๆ ประเทศ เช่น การให้สัตยาบันข้อตกลงความครอบคลุมและความก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก หรือ CPTPP ในปี 2561 ที่จะช่วยลดอัตราภาษีในกลุ่มสมาชิก 11 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม
สำหรับประเทศไทยเองนั้นยังอยู่ในช่วงรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อพิจารณาถึงข้อดีและข้อเสียในการเข้าร่วมการค้าเสรี CPTPP นอกจากนี้ เวียดนามยังได้ลงนามความตกลงเขตการค้าเสรีเวียดนามกับสหภาพยุโรปหรือ EVFTA ในปี 2558 ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในปีนี้ นั่นหมายถึงการเปิดตลาดและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับกลุ่มประเทศสมาชิกใน CPTPP และกลุ่มสหภาพยุโรป ถือเป็นกลยุทธ์ที่แสดงถึงความมีวิสัยทัศน์และการบริหารที่มีประสิทธิภาพ ส่วนหนึ่งมาจากเสถียรภาพทางด้านการเมือง โดยมีพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามเป็นพรรคการเมืองเดียวในประเทศ ทำให้การตัดสินใจและการบริหารประเทศของรัฐบาลเวียดนามสามารถทำได้รวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์ ทั้งในส่วนของตลาดการค้าระหว่างประเทศและตลาดทุนในประเทศ
ตลาดทุนของเวียดนามนั้น ประกอบไปด้วย 2 ตลาดหลัก ได้แก่ Ho Chi Minh Stock Exchange (HOSE) ซึ่งเป็นตลาดหลักทรัพย์แห่งแรกและใหญ่ที่สุดของเวียดนาม และ Hanoi Stock Exchange (HNX) โดยมีมูลค่าตามราคาตลาดหรือ Market Cap ประมาณ 138.09 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 8.73 พันล้านดอลลาร์สหรัฐตามลำดับ โดย HOSE ประกอบไปด้วยบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดประมาณ 380 บริษัท (ข้อมูล ณ วันที่ 30 เมษายน 2562) ในขณะที่ HNX ประกอบไปด้วยบริษัทจดทะเบียนทั้งที่มีการซื้อขายในตลาดแล้วและบริษัท UPCoM ซึ่งเป็นบริษัทที่ยังไม่ได้เข้าไปทำการซื้อขายในทั้ง 2 ตลาด
ในปัจจุบัน Morgan Stanley Capital International (MSCI) ซึ่งเป็นบริษัทจัดทำดัชนีราคาหลักทรัพย์ทั่วโลก ได้จัดตลาดหลักทรัพย์ของเวียดนามให้อยู่ในกลุ่มของตลาดชายขอบหรือ Frontier Market แต่จากการที่ผู้เขียนรับฟังการบรรยายจากตลาดหลักทรัพย์ HOSE ของเวียดนามว่า ทางเวียดนามเองมีแผนในการรวมสองตลาดดังกล่าวเป็นตลาดเดียวภายใต้ Vietnam Stock Exchange (VSE) รวมถึงรัฐบาลมีแผนในการที่จะกำหนดกรอบและหลักเกณฑ์ในการเข้าถือครองหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติให้เสร็จสิ้นภายในปีนี้ ซึ่งจะช่วยดึงนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนมากขึ้น โดยคาดว่า MSCI น่าจะเพิ่มอันดับของเวียดนามให้อยู่ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่หรือ Emerging Market ภายในอนาคตอันใกล้นี้ อันเนื่องมาจากเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตอย่างมากของเวียดนามนั่นเอง
นอกจากกลไกการบริหารประเทศของเวียดนามที่จะเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้านต่าง ๆ อาทิ ตลาดส่งออก และตลาดทุน เวียดนามยังได้รับผลกระทบเชิงบวกจากการยืดเยื้อของสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน โดยคาดว่า เวียดนามน่าจะได้รับประโยชน์จากการที่ผู้ผลิตย้ายฐานการผลิตออกจากจีนมายังเวียดนามเพื่อหลีกเลี่ยงความไม่แน่นอนจากการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ โดยเวียดนามถือเป็นประเทศอันดับต้น ๆ ที่เป็นทางเลือกของผู้ผลิต ซึ่งส่งผลมาจากศักยภาพทางด้านแรงงานและค่าแรงที่ยังถูกกว่าหลายๆ ประเทศ นอกจากนี้คาดว่าผู้บริโภคและผู้ค้าในสหรัฐฯ มีแนวโน้มในการนำเข้าสินค้าจากเวียดนามเพิ่มขึ้นทดแทนจากการนำเข้าสินค้าจากจีน อันเนื่องมาจากอุปสรรคทางการค้าจากกำแพงภาษีที่อาจจะสูงขึ้น
ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นวิสัยทัศน์ในการบริหารประเทศ ความมีเสถียรภาพทางด้านการเมือง รวมถึงโอกาสที่ส่งเสริมจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน นักลงทุนรายต่าง ๆ โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติจึงจับตามองเวียดนามเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูง และเป็นตลาดที่หอมหวนชวนให้ลงทุน ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของภาคการผลิตในอุตสาหกรรมหรือตลาดทุน ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการดึงเม็ดเงินจากต่างประเทศให้ไหลเข้าสู่เวียดนาม ดังนั้นจึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่าเวียดนามจะยังคงมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงสืบเนื่องต่อไป และหลาย ๆ คนไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนและนักวิชาการเองก็มองว่าในอนาคตภายภาคหน้านั้น มีโอกาสที่เศรษฐกิจของเวียดนามจะขึ้นแซงไทยกลายเป็นพี่ใหญ่ในแถบอินโดจีน
*ภาพข่าวที่มา : website posttoday.com